ตามรอยพระพุทธเจ้า


ตามรอยพระพุทธเจ้า

โดย พาโนรามา

ประเภท สารคดี

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=bookkii&month=20-06-2010&group=29&gblog=60

ก่อนอื่นผมขอสารภาพว่า ผมศรัทธาพระพุทธเจ้ากับศาสนาพุทธในแง่ปรัชญาที่เป็นวิทยาศาสตร์ เข้าใจได้ในระดับสากล ไม่สนอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ใด ๆ ทั้งสั้น ในความศรัทธาของผู้คนที่นับถือศาสนาพุทธและพระพุทธเจ้าจนสามารถสร้างงานศิลปกรรมอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาเป็นพุทธบูชา ไม่ศรัทธาในการบนบานขอพรใด ๆ ความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ของพระพุทธรูปมากไปว่าศรัทธางานศิลปะ ดังนั้น สารคดีตามรอบพระพุทธเจ้าจึงตอบสนองผมได้อย่างดีที่สุด

เชื่อว่าหลายท่านยังคงประทับใจกับสารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า โดยทีมงาน พาโนรามา ทางช่อง ๙ อสมท ออกอากาศ ตอนละ ๑ ชั่วโมง รวม ๑๓ ชั่วโมง ๑๓ ตอน นับว่าเป็นสุดยอดสารคดีเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยเคยสร้าง ทุ่มทุนสร้างกว่า ๑๐ ล้านบาท ใช้เวลาเตรียมงานนานกว่า ๖ ปี ถ่ายทำในประเทศอินเดียนานกว่า ๒ ปี ผมประทับใจความตั่งใจจริงของทีมงานที่ดั้นด้นไปตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพุทธประวัติทั่วแผ่นดินชมพูทวีป ประทับใจในการค้นคว้าข้อมูล การหาวิทยากรที่มีความสามารถน่าเชื่อถือมาบรรยายในสถานที่ต่าง ๆ ภาพกราฟฟิกประกอบ และรวมถึงพิธีกร คุณ นิรุตติ์ ศิริจรรยา

ผมนั่งดูสารคดีชุดนี้ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดูแบบต่อเนื่อง ประมาณ ๓ วัน ขนาดเรียนประวัติศาสตร์มา ขอบอกตรงๆ ว่า เมื่อดูจบแล้วจำอะไรแทบไม่ได้เลย ที่แน่ ๆ ผมประทับใจกับทุกภาพที่เห็น

พาโนรามา ได้นำ ตามรอยพระพุทธเจ้า มาอยู่ในรูปแบบของหนังสือ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๙ แพรวสำนักพิมพ์ ราคา ๒๒๕ บาท ถึงแม้ว่ารูปภาพต่าง ๆ จะน้อยกว่าในภาพยนตร์สารคดีแต่เนื้อหาสาระหรือบทเหมือนกับในภาพยนตร์ทุกประการ หากท่านใดประทับใจกับภาพยนตร์แล้วแต่ยังจำเนื้อหาไม่ได้ หรืออะไรก็ตาม ควรจะซื้อหนังสือเล่มนี้เอาไว้เป็นคู่มือ เอาไว้คอยหยิบจับเปิดหาเมื่อต้องการนึกถึงชื่อเฉพาะและสถานที่ต่าง ๆ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอินเดียและพระพุทธศาสนา เพราะเนื้อหาไม่ได้พูดถึงแต่หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เน้นไปที่หลักฐานสนับสนุนที่จับต้องได้ ดั่งเช่นคำโปรยในปกหลังว่า

“ “ตามรอยพระพุทธเจ้า” เล่มนี้จึงเป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดีและมานุษยวิทยา ที่สมบูรณ์แบบที่สุดท่ามกลางกลิ่นอายของชมพูทวีป เพื่อค้นหาคำตอบอย่างถึงแก่น ซึ่งถูกถ่ายทอดจากบทโทรทัศน์มาเป็นหนังสือ ซึ่งชาวพุทธและผู้สนใจสามารถใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองไปสู่สิ่งดีงามสูงสุด โดยให้ความสนในตัว “ธรรม” มากกว่า “พิธีกรรม” ”

หนังสือเริ่มต้นด้วยการเดินทางไปร่วมงานรำลึกถึงวันประกาศตนเป็นพุทธมามะกะของ ดร.อัมเพทการ์ ที่นาคปุระประเทศอินเดีย เพื่อศึกษาว่า อะไรทำให้ผู้คนนับแสนคนต้องชุมนุมกันในวันนี้ ทั้งที่พระพุทธศาสนาเสื่อมลงไปจากอินเดียเกือบสี่ร้อยปีมาแล้ว

หนังสื่อแบ่งออกเป็น ๑๒ บท

บทที่ ๑ ค้นหาต้นกำเนิดแม่น้ำคงคา ว่าด้วยการค้นหาต้นกำเนิดของอารยธรรมอินเดีย เดินทางไปยังต้นแม่น้ำคงคาแม่น้ำแห่งความศรัทธา ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ บ่อเกิดแห่งปรัชญาอินเดียมากมาย

บทที่ ๒ ค้นหาแผ่นดินเกิดพระพุทธเจ้า สวนลุมพีนีวัน สถานประสูติอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าเสด็จไปเผยแพร่พระธรรมอย่างไร สถานที่ปรินิพานอยู่ส่วนไหน พูดถึงเสาและจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เป็นหลักฐานยืนยันสถานที่ต่าง ๆ ตามพุทธประวัติ ซากเมืองโบราณ กบิลพัสดุ์ ที่ติเลาราโกต ประเทศเนปาล เมืองกบิลพัสดุ์ที่กานวารี ประเทศอินเดีย ท่านวิมาลานันท์ เจ้าอาวาทวัดพุทธเนปาลและครอบครัวผู้มีสกุลศากยะ สถูปรามคาม ที่เทวทหะ จำไดว่าผมอ่านพในหนังสือ อโศกาวทาน กล่าวว่า นี่คือสถูปหนึ่งเดียวที่ไม่ได้ถูกเปิดออกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเพื่อทำการวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อในไปบรรจุในสถูปที่พระเจ้าอโศกสร้างใหม่ ผมจึงคิดเล่น ๆ ว่า หากในหนังสือ อโศกาวทาน กล่าวไว้จริง พระบรมสารีริกธาตุที่เป็นของจริงที่สุดน่าจะยังคงบรรจุอยู่ที่นี่

บทที่ ๓ ความจริงอันยิ่งใหญ่ที่พุทธคยา กล่าวถึงวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี วันที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ปัจจุบันเรียกว่า พุทธคยา ความขัดแย้งกันระหว่างชาวพุทธกับนักบวชมหันต์ การเรียกร้องวิหารมหาโพธิ์ พุทธคยาให้กลับมาอยู่ในการดูแลของชาวพุทธโดยท่านธรรมปาละ การสัมภาษณ์หัวหน้านักบวชมหันต์คนปัจจุบัน (ลำดับที่ ๑๘) และบทบาทวัดไทยพุทธคยา

บทที่ ๔ พาราณสี นคร ๔,๐๐๐ ปี กล่าวถึงเมืองพาราณสี เมืองที่เปรี่ยมไปด้วยสีสรรแห่งศรัทธาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เมืองที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ความดั่งเดิมของอินเดียไว้ได้มากที่สุด เมื่องที่แม้แต่พระพุทธเจ้ายังเลือกที่จะไม่เผยแพร่พระพุทธศาสนา

บทที่ ๕ เปิดประตูเมืองราชคฤห์ ในที่นี้ขอยกบทเกริ่นนำในบทนี่ซึ่งน่าจะอธิบายภาพรวมเกี่ยวกับเมืองราชคฤห์ได้ดีที่สุด พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ในหนังสือศาสนาสากลว่า “วิธีการประกาศและประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า มิได้ทรงประกาศจากคนโง่เข้าหาคนฉลาด มิได้ทรงประกาศจากชาวป่าเข้ามาหาชาวเมือง แต่ได้ทรงเข้าโจมตีจุดสำคัญที่สุด ในถิ่นที่ชุมนุมของเหล่านักปราชญ์และคณาจารย์มากที่สุด นั่นคือกรุงราชคฤห์” และกล่าวถึงศาสนาเชน

บทที่ ๖ การเดินทางครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า กล่าวถึงมหาสถูปเกสรียา อยู่บนเส้นทางที่จะไปเมืองกุสินารา ว่ากันว่าเป็นมหาสถูปที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียและอาจจะยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (ผู้เขียน) มีหลักฐานการสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ราวพุทธศตวรรษที่ ๓) ไปจนถึงสมัยคุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๑) ปัจจุบันนักโบราณคดียังหาคำตอบว่า เหตุใดสถูปขนาดใหญ่จึงมาอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ บนเส้นทางที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปปลงสังขารที่เมืองกุสินารานี่ นอกจากนี้ยังกล่าวถึง พระวิหารกุสินารา สังเวชนียสถานที่ระลึกถึงการดับขันธ์ปรินิพพาน กล่าวถึง วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ กล่าวถึงวัดอโสการามและอโรคยาวิหาร ที่เมืองปัฎนา

บทที่ ๗ กองทัพธรรมพระเจ้าอโศก วันที่โลกได้รู้จักพระพุทธเจ้า บทนี้กล่าวถึงพระราชประวัติพระเจ้าอโศกมหาราช ศาสนูปถัมภกบุคคสำคัญของโลก ผู้มีบทบาทให้โลกรับรู้ว่าพระพุทธเจ้าว่ามีตัวตนอยู่จริง และถานที่ต่าง ๆ ในพุทธประวัติ ตั้งอยู่ที่ไหน โดยผ่านจารึกที่จารึกบนเสาหินที่เรียกกันว่า เสาอโศก กล่าวถึงโบราณสถานสำคัญในพระพุทธศาสนาเช่น มหาสถูปเมืองสาญจี ตัวอย่างสำคัญของศิลปะอินเดียโบราณ ถ้ำอชันตา รัฐมหาราษฎระ วัดถ้ำที่แสดงความสวยงามและยิ่งใหญ่ของศิลปะสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๑) ทั้งงานจิตกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม มีหลักฐานการเข้ามาอยู่ของพระสงฆ์ในลัทธิเถรวาทและมหายาน กฤษณะคีรี หมู่ถ้ำที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ที่มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตที่สุดในอินเดียตะวันตก มีหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยและการสร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๔ – ๑๔

บทที่ ๘ ปรัชญาที่เปลี่ยนไป กล่าวถึงการแตกออกของพุทธศานาเป็นหลายนิกาย การกำเนิดพระพุทธรูปซึ่งปัจจุบันยังถกเถียงกันอยู่ว่า พระพุทธรูปศิลปะคันฐาราช เจริญที่ตอนเหนือของอินเดีย และพระพุทธรูปศิลปะมถุราเมืองมถุรา ว่าศิลปะแบบใดสร้างพระพุทธรูปก่อนกัน กล่าวถึง ถ้ำเอโลรา รัฐมาราษฎระ ศาสนาสถานหลายศาสนา แหล่งงานศิลปกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของอินเดีย กล่าวถึง มหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยทั้งหลายของโลก ศูนย์กลางการศึกษาทางพุทธศาสนาที่สำคัญตั้งแค่สมัยพระเจ้าอโศกจนถึงสมัยคุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๑๑) ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่ง พระถังซัมจั๋ง เดินทางมาศึกษาที่นี้เป็นเวลา ๕ ปี

บทที่ ๙ วันที่พุทธหายไปจากอินเดีย นับตั่งแต่สมัยราชวงศ์คุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ เป็นต้นไป) เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมอินเดีย ศาสนาพราหมณ์ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยจนกลายเป็นศาสนาฮินดู มีความคิดเรื่องนารายณ์อวตาร หนึ่งในการอวตารคือ พุทธาวตาร หรือการอวตารครั้งที่ ๙ ของพระนารายณ์มาเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดการกลืนกันทางศาสนา ศาสนาพุทธค่อย ๆ จางหายไปจากอินเดีย จนในที่สุด เมื่อศาสนาอิสลามเข้ามาเจริญในอินเดียภายใต้ราชวงศ์โมกุลพุทธศานาก็ศุนย์หายไปจากอินเดีย มีการกล่าวถึงศาสนสถานฮินดูศิลปะราชวงศ์โจฬะที่ยิ่งใหญ่ที่เมือง คาชูรโห เมืองชัยปุระ รักล่าวถึงรัฐราชสถาน ที่มั่นของนักรบกษัตริย์ตระกูลราชปุต เมืองที่สถาปัตยกรรมโดดเด่นขี้นชื่อมรดกโลก

บทที่ ๑๐ เมืองพุทธแห่งหิมาลัย กล่าวถึงเมืองลาดัก ศูนย์กลางพุทธศาสนาแบบมหายานสายวัชรยานหรือตันตระยานที่สำคัญแห่งหนึ่งในรัฐแคชเมีย ตอนเหนือของอินเดีย กล่าวถึงวิธีชีวิตของชาวลาดักที่ยังผูกพันกับพุทธศาสนาสืบต่อมาตั้งแต่พุทธศาสนาล่มสลายในแผ่นดินใหญ่ของอินเดีย กล่าวถึงงาน ประเพณีบูชาทังคาพระปทุมสมภพที่วัดเฮมิส (ภาพที่เขียนรูปพระโพธิสัตว์ขนาดใหญ่) ประเพณีสำคัญทาสุดประเพณีหนึ่งของชาวลาดัก ประเพณีแห่พระคัมภีร์วัดติกเซ

บทที่ ๑๑ การกลับมาของสาวกพระพุทธเจ้า กล่าวถึงการกลับมาขององค์กรพระพุทธศาสนาหลังจากที่ล่มสลายไปนานกว่าสี่ร้อยปี กล่าวถึงบุคคลสำคัญที่มีส่วนฟื้นฟูพุทธศาสนา เช่น ตระกูลบารัว ดร.อัมเพการ์ ท่านทะไลลามะ องค์ปัจจุบัน กล่าวถึงบทบาทของพระธิเบตที่ธรรมศาลาในธิเบต

บทที่ ๑๒ ไขปริศนาการค้นพบอันยิ่งใหญ่ บทสัมภาพย์นักวิชาการพุทธศาสนาเกี่ยวกับการเผยแพร่พระพุทธศานาของพระพุทธเจ้า วิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ ที่ทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งของโลก โดย รศ.ดร.สมภาร พรมทา พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ศ.ดร.จำนงค์ ทองประเสริฐ

ภาคผนวก ลำดับเหตุการณ์สำคัญ นับตั้งแต่แรกเริ่มอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เมืองโมเฮนโจดาโรและเมืองฮารัปปา เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งแง่มุม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประวัตศาสตร์ศิลปะ ปรัชญา และบุคคลสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมพุทธศาสนา

นับว่าหนังสือตามรอยพระพุทธเจ้าเป็นคู่มือสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีอินเดียโดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นตัวนำเรื่อง หนังสือมีความน่าเชื่อถืออันเนื่องมาจากข้อมูล นักวิชาการ และหนังสืออ้างอิงจำนวนมากที่เชื่อถือได้ มีรายชื่อหนังสืออ้างอิงให้ตรวจสอบและค้นคว้าเพิ่มเติม จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนนักศึกษานำไปใช้อ้างอิง หรือต่อยอดในงานวิจัย สำหรับประชาชนคนทั่วไปแล้วเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขเข้าไปถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

สารคดีตามรอยพระพุทธเจ้า ตอบสนอง ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกได้อย่างดี

บทความนี้ ผู้เขียนขอมอบความดีให้กับ อ.ผะอบ จึงแสงสถิตพร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ประสาทวิชาอินเดียศึกษาให้กับผู้เขียน

วาทิน ศานติ์ สันติ

๒๒ เมษายน ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 485788เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2012 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2016 00:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

พี่สันติทำเรื่องจบหรือยังพี่

เป็นเรื่องดีๆ ที่ควรรู้ ศาสนาประจำชาติ ควรถูกเผยแพร่ให้ถูกวิธี และควรยิ่งที่จะบำรุงรักษาเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในปัจจุบัน

เออคนว่างทำอะไรก็ได้เน้อ ไปดูหนังงี้ เที่ยงงี้ ผมกำลังนั่งรอเกรดอยู่เลยคร้าบบบ ไม่รู้จะออกเมื่อไหร่เนี่ย พอออกแล้วมันทำไงบ้างพี่....บอกขั้นตอนก็ได้ เอาแบบง่ายๆนะ

สนใจอยากเก็บไว้ดูซ้ำและวื้อเป็นของขวัญ มีผลิตออกวางขายที่ไหนบ้างคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท