จัดอันดับ50มหาลัยมธ.ประท้วง-ถอนตัว


จัดอันดับ50มหาลัยมธ.ประท้วง-ถอนตัว

จัดอันดับ50มหาลัยมธ.ประท้วง-ถอนตัว

สกอ.ประกาศการจัดอันดับ 50 มหาวิทยาลัยไทย จุฬาฯ มหิดล มช. ครองตำแหน่งดีเลิศ ทั้งด้านการเรียนการสอนและด้านการวิจัย ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาต้องปรับปรุง หนักไปทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ ขณะที่ธรรมศาสตร์ไม่ยอมรับการจัดอันดับ จึงขอไม่ให้เปิดเผยอันดับของตัวเอง "ภาวิช"ยันสกอ.มีสิทธิ์จัดอันดับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่สมศ.ทำได้คนเดียว ยันไม่ใช่การตีบาปให้สถาบันไหน แต่เพื่อบอกจุดอ่อนจุดแข็ง จุดไหนต้องนำไปปรับปรุง

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยผลการจัดอันดับ (Ranking) มหาวิทยาลัยไทย 50 อันดับ ตามโครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย ว่า การจัดอันดับและประเมินศักยภาพมหาวิทยาลัยไทยประจำปี 2548 เป็นการนำข้อมูลจากมหาวิทยาลัยที่ส่งข้อมูลมายังสกอ.ประมาณ 60-70 แห่ง จากมหาวิทยาลัยทั้งหมดของรัฐและเอกชนประมาณ 200 แห่ง เพื่อนำข้อมูลมาประเมินศักยภาพใน 2 ด้าน คือ ด้านการเรียนการสอน และด้านการวิจัย ซึ่งสกอ.ได้นำมาเผยแพร่ใน 50 อันดับแรก โดยแยกมหาวิทยาลัย ออกเป็น 5 กลุ่ม เรียงตามลำดับศักยภาพแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการฐานข้อมูลออนไลน์ จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากขณะนี้อุดมศึกษาไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องการจัดระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัย เมื่อมีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและจัดอันดับขึ้น ก็จะเป็นข้อมูลให้นักศึกษาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อ อีกทั้งอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะได้ทราบว่าตนเองจะต้องปรับปรุงและพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของตนเองไปในแนวทางใด

"ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในแต่ละกลุ่ม ไม่ได้เรียงตามคะแนน แต่จัดเรียงตามลำดับตัวอักษร โดยความแม่นยำของการจัดกลุ่มจะขึ้นอยู่กับความครบถ้วนและความถูกต้องของข้อมูลดิบที่กรอกโดยแต่ละมหาวิทยาลัย ในส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)นั้น ได้ให้ข้อมูลมหาวิทยาลัยมายังสกอ. แต่ไม่ยินดีให้เปิดเผยลำดับ ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนส่วนใหญ่ประมาณ 60 แห่ง ไม่ได้ให้ข้อมูลมายังสกอ.จึงไม่ได้นำมาประเมินผลในการจัดอันดับครั้งนี้ด้วย" นายภาวิช กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ. ระบุว่า มธ.และมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับผลการจัดอันดับในครั้งนี้ เนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้ในการชี้วัดไม่ครอบคลุมภารกิจของมหาวิทยาลัยนั้น นายภาวิช กล่าวว่า ไม่ยอมรับก็คงไม่เป็นไร ทั้งนี้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจัดอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งสกอ.เห็นว่าแทนที่จะปล่อยให้หน่วยงานต่างๆ จัดทำกันเอง มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นผู้ให้ข้อมูลและนำมาวิเคราะห์จัดลำดับน่าจะถูกต้องกว่า อย่างไรก็ตามดัชนีที่สกอ.นำมาชี้วัดไม่ได้หยุดนิ่งอยู่เพียงจุดเดียว เพราะเข้าใจดีว่าดัชนีบางตัวใช้วัดได้บางเวลา บางสถานการณ์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป และยืนยันว่าจะทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปีต่อๆ ไป เพราะสถาบันอุดมศึกษาเป็นสมบัติสาธารณะและมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลกับสังคม

"หากมหาวิทยาลัยปล่อยให้หน่วยงานเหล่านี้นำข้อมูลที่ผิดๆ ไปเผยแพร่ก็คงไม่ดี โดยเฉพาะปีที่มีผ่านมามีข่าวกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ แอบจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย และมีข้อมูลเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อดูว่านักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยไทยมาจะเข้าเรียนต่อได้เลยหรือไม่ อีกทั้งบริษัทเอกชนก็เป็นที่ทราบดีว่ามีการทำโพยอันดับมหาวิทยาลัยอยู่แล้วว่า นักศึกษาที่จบมาในสาขาเดียวกัน แต่ต่างมหาวิทยาลัย อาจจะไม่รับเข้าทำงาน หรือรับ แต่ได้เงินเดือนแตกต่างกัน สกอ.ห่วงว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้ได้ข้อมูลมาอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ประเมินตามประสบการณ์ของตนเอง" นายภาวิชกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ระบุว่า สกอ.ไม่มีหน้าที่จัดอันดับมหาวิทยาลัย ควรให้เป็นหน้าที่ของสมศ.ดำเนินการดีกว่า นายภาวิช กล่าวว่า อยากให้ สมศ.เลิกพูดว่าไม่ใช่หน้าที่ของสกอ.ที่จะจัดอันดับมหาวิทยาลัย เพราะกฎหมายการจัดตั้งสมศ.เองก็ไม่มีหน้าที่ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ในขณะสกอ.มีหน้าที่จัดอันดับมหาวิทยาลัย เพื่อติดตามและประเมินผลศักยภาพของมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน เรื่องนี้เห็นว่าหากหลายหน่วยงานช่วยกันทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพของมหาวิทยาลัยก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวนมากที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มต้องปรับปรุง คงต้องหารือกันในเรื่องคุณภาพและปรับเปลี่ยนโดยอาจจะลดเรื่องปริมาณลง แต่พัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น นอกจากนี้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยยังสามารถนำไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ด้วย

"การจัดอันดับมหาวิทยาลัยไม่ใช่การตีบาปให้กับสถาบันอุดมศึกษา แต่เป็นการบอกว่าคุณอยู่ตรงไหน อะไรอ่อน อะไรแข็ง เพื่อจะได้พัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น" นายภาวิชกล่าว

นายภาวิช กล่าวอีกว่า สำหรับผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัย ปรากฏว่ากลุ่มดีเลิศ คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป เรียงตามตัวอักษร คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.มหิดล ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และม.เทคโนโลยีสุรนารี กลุ่มดีเยี่ยม คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 70-75 เรียงตามตัวอักษร คือ ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ม.นเรศวร และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กลุ่มดี คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 65-69 เรียงตามตัวอักษร คือ ม.บูรพา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.ศิลปากร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่มพอใช้ คะแนนร้อยละ 55-64 เรียงตามตัวอักษร คือ ม.ทักษิณ ม.แม่โจ้ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.มหาสารคาม ม.วลัยลักษณ์ ม.อุบลราชธานี ม.ราชภัฏนครราชสีมา ม.ราชภัฏเลย ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ม.ราชภัฏอุดรธานี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

และกลุ่มต้องปรับปรุง คะแนนร้อยละ 55 ลงไป เรียงตามตัวอักษร คือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ม.ราชภัฏจันทรเกษม ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ม.ราชภัฏเทพสตรี ม.ราชภัฏธนบุรี ม.ราชภัฏนครปฐม ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ม.ราชภัฏนครสวรรค์ ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ม.ราชภัฏพระนคร ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ม.ราชภัฏยะลา ม.ราชภัฏราชนครินทร์ ม.ราชภัฏสกลนคร ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาลัยตาปี และวิทยาลัยบัณฑิตบริหารธุรกิจ

ส่วนการประเมินโดยใช้กลุ่มดัชนีชี้วัดตามด้านการเรียนการสอน ปรากฏว่า กลุ่มดีเลิศ คะแนนร้อยละ 75 ขึ้นไป เรียงตามตัวอักษร คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และม.มหิดล กลุ่มดีเยี่ยม คะแนนร้อยละ 70-74 เรียงตามตัวอักษร คือ ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กลุ่มดี คะแนนร้อยละ 65-69 เรียงตามตัวอักษร คือ ม.ทักษิณ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.วลัยลักษณ์ ม.ศิลปากร ม.สงขลานครินทร์ ม.อุบลราชธานี ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กลุ่มพอใช้ คะแนนร้อยละ 60-64 เรียงตามตัวอักษร ดังนี้ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.มหาสารคาม ม.แม่โจ้ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

และกลุ่มต้องปรับปรุง คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 60 เรียงตามตัวอักษร คือ ม.ราชภัฏเทพสตรี ม.ราชภัฏนครปฐม ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ม.ราชภัฏจันทรเกษม ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ม.ราชภัฏธนบุรี ม.ราชภัฏนครราชสีมา ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ม.ราชภัฏนครสวรรค์ ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ม.ราชภัฏพระนคร ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ม.ราชภัฏยะลา ม.ราชภัฏราชนครินทร์ ม.ราชภัฏเลย ม.ราชภัฏสกลนคร ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ม.ราชภัฏอุดรธานี ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาลัยบัณฑิตบริหารธุรกิจและวิทยาลัยตาปี

ส่วนการจัดอันดับของคณะต่างๆ ที่มีศักยภาพด้านการวิจัย 5 อันดับแรก แยกตามกลุ่มสาขา มีดังนี้ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล, สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ ม.มหิดล, คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มสาขาเทคโนโลยี ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, คณะพลังงานและวัสดุ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.มหิดล, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

กลุ่มสาขาชีวการแพทย์ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล, วิทยาการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ ได้แก่ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล, โครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล, คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มสาขาเกษตรศาสตร์ ได้แก่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.สงขลานครินทร์, สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.เทคโนโลยีสุรนารี, คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่

กลุ่มสาขาศึกษาศาสตร์ ได้แก่ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะศึกษาศาสตร์ ม.นเรศวร, คณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา, คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ม.มหาสารคาม

ส่วนการจัดอันดับของคณะต่างๆ ที่มีศักยภาพด้านการเรียนการสอน 5 อันดับแรก แยกตามกลุ่มสาขา มีดังนี้ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล, วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่, คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล

กลุ่มสาขาเทคโนโลยี ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะพลังงานและวัสดุ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

กลุ่มสาขาชีวการแพทย์ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ ได้แก่ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล

กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดลและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มสาขาเกษตรศาสตร์ ได้แก่ คณะเกษตร กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์, คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์, สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ม.แม่ฟ้าหลวง, คณะเกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตปทุมธานี ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

คำสำคัญ (Tags): #edu104
หมายเลขบันทึก: 48572เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท