ซิลิคอน : ธาตุอาหารเสริมประโยชน์ช่วยให้เซลล์พืชแข็งแกร่ง กระตุ้นการเจริญเติบโต


บทบาทที่เกี่ยวข้องกับซิลิคอนเริ่มมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในวงการเกษตรบ้านเรา

เนื่องด้วยบทบาทที่เกี่ยวข้องกับซิลิคอนเริ่มมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในวงการเกษตรบ้านเรา มีการใช้กลุ่มของหินแร่เขาไฟที่มีองค์ประกอบของแร่ธาตุซิลิกอนหรือซิลิก้า ที่อยู่ในในรูปที่ละลายน้ำ(monosilisicacid)ได้นำไปใช้ในพืชไร่ไม้ผล ไม้ยืนต้น ปาล์ม ยางอีกทั้งยังมีการนำไปใช้ในสัตว์น้ำอย่างเช่นปลากัด ปลาคาร์บเพื่อเสริมสร้างให้สีสันสวยสดงดงาม เกร็ดมีความแข็งแรง นอกนั้นยังมีการนำ ซิลิคอนที่อยู่ในรูปของหินแร่ภูเขาไฟ ที่ชื่อว่า สเม็คไทต์, ไคลน็อพติโลไลท์นำไปคลุกผสมกับอาหารสัตว์เพียง 3 เปอร์เซ็นต์เพื่อช่วยจับอฟลาท๊อกซินที่ติดค้างในอาหารสัตว์(ศุภสิทธิ์ ปัททุม, 2542. ผลของการผสมซีโอไลท์ในอาหารไก่กระทงเพื่อเป็นท็อกซินไบเดอร์:มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และบทบาทในด้านอื่นๆ อีกค่อนข้างมากและในวันนี้จึงอยากให้ท่านสมาชิกและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับซิลิคอนอีกแง่มุมหนึ่งที่เกี่ยวกับแร่ธาตุหรือสารอาหารพืชโดยท่าน รศ.ดร.ยงยุทธ์ โอสถสภา ดังนี้

ธาตุซิลิคอน Silicon

โดย รศ.ดร.ยงยุทธ์ โอสถสภา

ธาตุเสริมประโยชน์(Beneficial mineral elements) หมายถึง ธาตุที่ช่วยกระตุ้น (stimulate)การเจริญเติบโตของพืชแต่

1)มิใช่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชตามคำนิยามที่ได้กล่าวแล้วในบทที่ 1หรือ

2)เป็นเพียงธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชบางชนิด ธาตุที่จัดเป็นธาตุเสริมประโยชน์ ได้แก่ซิลิคอน โซเดียม โคบอลต์ ซีลีเนียม และอลูมิเนียมสำหรับพืชบางชนิดที่ต้องการธาตุดังกล่าวธาตุใดธาตุหนึ่งอย่างแท้จริงก็ถือว่าธาตุนั้นเป็นธาตุอาหารจุลภาคเฉพาะพืชในอนาคตเชื่อว่าจำนวนธาตุอาหารจุลภาคจะเพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวนธาตุเสริมประโยชน์จะลดลงเนื่องจากการพัฒนาในสามด้านต่อไปนี้คือ 1)เทคนิคการขจัดสิ่งเจือปนในวัสดุทดลองเช่น สารเคมี น้ำ และภาชนะปลูกพืช 2) เคมีวิเคราะห์เพื่อให้ทราบชนิดและปริมาณของธาตุที่เจือปนในวัสดุหรือมีในเนื้อเยื่อพืช และ 3)ชีวเคมี เพื่อเพิ่มความกระจ่างในเรื่องบทบาทของธาตุต่าง ๆ ในเมแทบอลิซึมของพืช

1. ซิลิคอน

1.1ซิลิคอนในดิน

แม้ซิลิคอน (silicon) จะเป็นธาตุซึ่งมีมากที่สุดในชั้นผิวโลกแต่ปริมาณที่ละลายได้และอยู่ในสารละลายดินมีเพียงเล็กน้อยรูปของธาตุนี้ในสารละลายดินส่วนมาก คือ กรดโมโนซิลิซิก [monosilicic acid, Si(OH)4] สภาพละลายได้ของกรดดังกล่าวในน้ำ (25 OC) ประมาณ 2 มิลลิโมลาร์ หรือ 56 มิลลิกรัม Si ต่อ 3.5-4.0 มิลลิกรัม) หากมีค่าเกิน 56มิลลิกรัม Si/ลิตร ถือว่าเป็นสารละลายอิ่มตัวอย่างยิ่งหรือกรดดังกล่าวเริ่มตัวกันเป็นพอลิเมอร์ความเข้มขันของกรดซิลิซิกในสารละลายดินอาจลดลงเนื่องจากสาเหตุ 2 ประการคือ 1)พีเอชของดินสูงกว่า 7 และ 2) เมื่อมีเซสควิออกไซด์ (sesquioxides) ในดินมากเป็นเหตุให้เกิดการดูดซับแอนไอออนสูง ซึ่งพบมากในดินเขตร้อน (Marschner,1995)

กรดซิลิซิก มีความคล้ายคลึงกับกรดบอริก [B(OH03] หลายประการเช่น 1) เป็นกรดอ่อน 2)ทำปฏิกิริยากับเพกทินและพอลิฟินอลในผนังเซลล์ได้ดี 3) ส่วนใหญ่อยู่ในผนังเซลล์อย่างไรก็ตามซิลิคอนเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชบางชนิดและมีผลด้านเสริมประโยชน์แก่พืชส่วนมากในบางสถานการณ์ (Epstein, 1994)

1.2การดูดของราก ความเข้มข้นและการกระจายในพืช

พืชชั้นสูงดูดซิลิคอนจากดินมาใช้ได้มากน้อยแตกต่างกันอาจแบ่งพืชออกเป็นสามกลุ่มโดยพิจารณาความเข้มข้นของซิลิคอนในส่วนเหนือดิน(%SiO2 คิดจากน้ำหนักแห้ง) ดังนี้ 1) พืชที่มีซิลิคอนสูงเป็นพืชในวงศ์ Cyperaceae เช่น Equisetumarvense และพืชในวงศ์ Gramineae ซึ่งอยู่ในดินน้ำขังเช่น ข้าวมี 10-15%SiO2 2) พืชที่มีซิลิคอนปานกลางเป็นพืชวงศ์ Gramineae ซึ่งอยู่ในดินไร่ เช่น อ้อยกับธัญพืชส่วนมากและพืชใบเลี้ยงคู่บางชนิด มี 1-3%SiO2 และ 3) พืชที่มีซิลิคอนต่ำ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชตระกูลถั่วมีน้อยกว่า 0.5%SiO2 นอกจากนี้ยังอาจจำแนกพืชออกได้เป็นสองกลุ่ม คือพืชสะสมซิลิคอน (siliconaccumulators) กับพืชไม่สะสมซิลิคอน (siliconnonaccumulators) โดยถือเกณฑ์ดังนี้คือ 1) พืชสะสมดูดซิลิคอนมากกว่าที่มากับน้ำซึ่งพืชดูดได้ แสดงว่ากลไกการดูดเป็นแบบแอกทีฟ และ 2) พืชไม่สะสมดูดซิลิคอนเท่ากับหรือน้อยกว่าที่มากับน้ำซึ่งพืชดูดได้ตารางที่ 10.1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างชนิดพืชความเข้มข้นของซิลิคอนในเนื้อเยื่อและการดูดซิลิคอน โดยเสนอข้อมูลความเข้มข้นของธาตุในพืชจากการวัดจริงและการคำนวณค่าจากการคำนวณ คือปริมาณธาตุที่ละลายน้ำและสะสมในพืชในสัดส่วนเดียวกับทีพืชดูดน้ำมาใช้สำหรับข้าวไม่ว่าซิลิคอนในสารละลายภายนอกจะต่ำหรือสูงก็สะสมได้มากแสดงว่ากลไกการดูดธาตุนี้ส่วนหนึ่งเป็นแบบแอกทีฟ (Takahashi and Miyake,1977)

ตารางที่ 10.1ความเข้มข้นของซิลิคอนในส่วนเหนือดินจากการ วัดและคำนวณเมื่อปลูกพืชในสารละลายธาตุอาหารที่มีความเข้มข้นของซิลิคอนแตกต่างกัน

การดูดการเคลื่อนย้าย และการสะสมซิลิคอนของพืชแต่ละชนิดแตกต่างกันดังนี้

1) ถั่วเหลืองซึ่งเป็นพืชที่ไม่สะสมซิลิคอนเมื่อความเข้มข้นของธาตุนี้ในสารละลายธาตุอาหารสูงการดูดและการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ไซเลมเวสเซลมิได้เพิ่มเป็นสัดส่วนกับความเข้มข้นดังกล่าวแสดงว่ามีกลไกบางอย่างทำหน้าที่ขับซิลิคอนออกจากรากบ้าง (Vorm, 1980)

2)อัตราการดูดซิลิคอนของรากข้าวสาลีมีความสัมพันธ์กับอัตราการคายน้ำดังนั้นจึงอาจใช้ค่าความเข้มข้นของธาตุนี้ในส่วนเหนือดินเป็นพารามิเตอร์สำหรับคำนวณประสิทธิภาพการใช้น้ำของพืชได้ทางหนึ่งอย่างก็ไรก็ตามต้องตระหนักด้วยว่าอัตราการดูดซิลิคอนรวมทั้งโบรอนของพืชต่างพันธุ์ก็มีความแตกต่างกัน(Nable et al., 1990)

3) พืชสะสมซิลิคอนเช่น ข้าวและพืชชนิดอื่นๆมีอัตราการดูดธาตุนี้ที่สัมพันธ์กับเมแทบอลิซึมของรากแต่ไม่เกี่ยวข้องกับอัตราการคายน้ำการเคลื่อนย้ายไอออนในรากข้าวฟ่างซึ่งเป็นพืชในกลุ่มนี้จะใช้กักซิลิคอนเอาไว้และสะสมมากเป็นพิเศษที่ผนังเซลล์ด้านใน ส่วนปลายรากจะมีธาตุนี้มากกว่าโคนรากจึงเชื่อว่าการสะสมซิลิคอนในผนังเอนโดเดอร์มิสดังกล่าวอาจเป็นกลไกป้องกันมิให้เชื้อโรคล่วงล้ำเข้าไปในสทิลของรากพืช(Hudson and Sangster, 1989)

ซิลิคอนเคลื่อนย้ายจากรากสู่ส่วนเหนือดินทางไซเลมและสะสมอยู่ในผนังของไซเลมเวสเซลค่อนข้างมาก ช่วยให้ไซเลมแข็งแรงและไม่ยุบตัวขณะที่พืชมีอัตราการคายน้ำสูงส่วนปริมาณการสะสมซิลิคอนในแต่ละอวัยวะของส่วนเหนือดินขึ้นอยู่กับอัตราการคายน้ำของอวัยวะนั้นๆโดยสะสมที่อะโพพลาสติของเซลล์และมีมากขึ้นตามอายุของอวัยวะการสะสมจะเกิดขึ้นเสมอตรงปลายทางของกระแสการคายน้ำ ซึ่งได้แก่ 1)ด้านนอกของผนังเซลล์ชั้นผิวใบทั้งด้านบนและล่าง 2) ใบประดับ (bracts) ของดอกหญ้า 3) ขนหรือไตรโคม (trichomes) และ 4)เซลล์ม้วนหรือเซลล์ยนต์ (buliform cells) ของใบพืชตระกูลหญ้าซิลิคอนที่สะสมในพืชอยู่ในรูปซิลิคาอสัณฐาน (amorphous silica, SiO2.nH2O)จัดเรียงเป็นชั้นในผนังเซลล์ จึงมีประโยชน์ต่อพืช 2 ประการคือ 1)ลดการคายน้ำผ่านผิวเคลือบคิวทิน (cuticle) และ2) เป็นสิ่งขัดขวางการล่วงล้ำของเชื้อโรคเข้าไปในเซลล์ (balasta et al.1983)

1.3 บทบาทในเมแทบิลิซึม

ซิลิคอนเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นของไดอะตอมซึ่งเป็นพืชเซลล์เดียวและพืชที่ชอบซิลิคอน(silicophile species) เช่น Equisetum arvense และพืชตระกูลหญ้าที่อาศัยในที่น้ำขัง ข้าวซึ่งขาดธาตุนี้มีการเจริญในช่วงวัฒนภาคต่ำและผลผลิตลดลงมาก ใบเหี่ยวง่ายและเนื้อใบบางส่วนตาย แต่ข้าวที่มีอาการดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ จึงถือว่าธาตุนี้ช่วยเสริมการเจริญเติบโต แต่ในเมื่อข้าวยังมีชีวิตต่อไปได้ซิลิคอนจึงมิใช่ธาตุอาหาร อย่างไรก็ตามข้าวต้องการธาตุนี้ในช่วงวัฒนะภาคเพียงเล็กน้อย แต่ต้องการปริมาณมากขึ้นในช่วงเจริญพันธุ์ก่อนข้าวตั้งท้องซิลิคอนจะเคลื่อนย้ายไปสะสมในใบธง หากขาดแคลนในช่วงนี้ช่อดอกข้าวจะไม่สมบูรณ์(Maet al., 1989)

อ้อยเป็นอีกพืชหนึ่งที่ตอบสนองดีมากเมื่อได้รับซิลิคอน กล่าวคือใบอ้อยปกติซึ่งปลูกในไร่ควรมี1%Si (2.1%SiO2) แต่ถ้ามีน้อยเพียง 0.25 % Si ผลผลิตจะลดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง ใบซึ่งรับแสงเต็มที่จะพิสูจน์ว่าธาตุนี้จำเป็นสำหรับอ้อย (Anderson, 1991) สำหรับพืชอื่น เช่น มะเขือเทศ แตงกวา ถั่วเหลืองและสตรอเบอรี่ ก็มีผู้รายงานว่าต้องการซิลิคอน หากขาดธาตุนี้จะแสดงอาการผิดปกติ เช่น ลดผลผลิต ใบที่แตกใหม่มีรูปทรงบิดเบี้ยวและเหี่ยวง่าย ละอองเรณูไม่งอกและไม่ติดผล อย่างไรก็ตามเมื่อมีการทดสอบซ้ำในแตงกวาซึ่งเป็นพืชที่ไม่สะสมซิลิคอน พบว่าอาการขาดธาตุนี้จะปรากฏเมื่อพืชได้รับ 1) ฟอสฟอรัสมากเกินไป และ 2) สังกะสีน้อยเกินไป หรือเมื่อพืชอยู่ในภาวะขาดสังกะสีและเป็นพิษจากฟอสฟอรัส จึงเชื่อว่าซิลิคอนช่วยแก้ไขสภาพดังกล่าวขณะเดียวกันก็ช่วยให้สังกะสีในพืชมีบทบาททางสรีระมากกว่าเดิม (Marschner et al., 1990)

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การพิสูจน์บทบาทของซิลิคอนในแง่ธาตุอาหารพืชเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ก็คือ น้ำที่ขจัดสิ่งเจือปนออกอย่างเต็มที่แล้วยังมีซิลิคอนถึง 20 นาโนโมลาร์ และพืชพวกสะสมซิลิคอนซึ่งปลูกในสารละลายธาตุอาหารที่ไม่เติมธาตุนี้ก็ยังมีในใบ 1-4 มิลลิกรัม SiO2 ต่อใบพืชแห้งหนึ่งกรัม อย่างไรก็ตามผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านเมแทบอลิซึมเมื่อไม่ใส่ซิลิคอน ในสารละลายปลูกพืชหรือการใส่กรดเยอมานิก (Germanic acid) ซึ่งเป็นสารยับยั้งเมแทบอลิซึมของซิลิคอนอย่างจำเพาะเจาะจง พบว่า

1) เมื่อขาดซิลิคอนปฏิกิริยาการสังเคราะห์ ATP, ADP และน้ำตาลฟอสเฟตุจากฟอสเฟตไอออนของใบอ้อยมีอัตราลดลง

2) สัดส่วนของลิกนินในผนังเซลล์ของรากข้าวสาลีต่ำลงส่วนสารฟีนอลลิกสูงขึ้นกว่าปกติบทืบาทของซิลิคอนในผนังเซลล์มีความสำคัญเนื่องจาก ก) ซิลิคอนในผนังเซลล์อยู่ในรูปอนุพันธ์ของซิลิซิกเอสเทอร์ (R1-O-Si-O-R2) ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้พอลิยูโรไนด์(Polyuronides) มีโครงสร้างที่เหมาะสมและ ข) ซิลิคอนมีอิทธิพลต่อเมแทบอลิซึมของพอลิฟินอลในผนังเซลล์ กล่าวคือ กรดซิลิสิค แอซิดคล้ายกรดบอริกในแง่มีสัมพรรคภาพสูงต่อ O-diphenols เช่นกรดแคฟเฟอิก และเอสเทอของกรดนี้ จึงทำปฏิกิริยาได้โมน-, ได- และพอลิเมอริกซิลิคอนคอมเพล็กซึ่งมีสเถียรภาพสูงและสภาพละลายน้ำต่ำ ดังภาพ ที่ 10.1

3) ซิลิคอนมิใช่มีบทบาทเพียงแต่เป็นองค์ประกอบในผนังเซลล์และทำให้ผนังเซลล์มีเสถียรภาพสูงขึ้นเท่านั้น ยังช่วยลดการสังเคราะห์ลิกนินอีกด้วย การมีซิลิคอนเข้าเสริมในผนังเซลล์ทำให้ผนังแข็งแรงโดยใช้พลังงานต่ำกว่าการสังเคราะห์ลิกนิน หากต้องการลิกนิน 1 กรัม ต้องอาศัยพลังงานจากกลูโคสถึง 2 กรัม และเมื่อเทียบความสิ้นเปลืองพลังงานสำหรับสร้างลิกนินกับการใช้ซิลิคอนเพื่อการนี้คิดเป็นสัดส่วนได้ 20 : 1 ซึ่งแสดงว่าซิลิคอนช่วยเสริมความแข็งแรงให้เซลล์พืชด้วยกระบวนการที่ประหยัดพลังงานอย่างมาก (Raven, 1983)

4) ซิลิคอนช่วยให้ผนังเซลล์มีสภาพยืดหยุ่น (elasticity) ระหว่างที่เซลล์กำลังขยายขนาด ธาตุนี้ในผนังปฐมภูมิจับอยู่กับเพกทิน และพอลิฟินอลในลักษณะเชื่อมไขว้ (crosslinks) ซึ่งช่วยให้ผนังมีสภาพยืดหยุ่นที่ดีจึงขยายขนาดเซลล์ได้ตามปกติ สำหรับเส้นใยฝ้ายในช่วงที่มีการยืดยาวนั้นจะมีซิลิคอนมาก (0.5%Si โดยน้ำหนัก) แต่ธาตุนี้จะลดลงเมื่อมีการสะสมเซลลูโลสเพื่อสร้างผนังทุติยภูมิ ฝ้ายที่มีเส้นใยยาวจะยิ่งมีซิลิคอนสูง นอกจากซิลิคอนแล้วโบรอนก็มีบทบาทด้านความมั่นคงของโครงสร้างผนังปฐมภูมิเนื่องจากพืชใบเลี้ยวเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่มีองค์ประกอบของผนังเซลล์และความต้องการโบรอนต่างกัน ความสามารถในการดูดซิลิคอนและตอบสนองต่อการได้รับธาตุนี้ก็แตกต่างกันด้วย (Boylstom et al., 1990)

1.4 ผลด้านเสริมประโยชน์

ซิลิคอน มีผลด้านเสริมประโยชน์ต่อพืชหลายประการ เช่นช่วยให้ใบตั้งชัน (erectness)ลำต้นแข็งไม่ล้มง่าย ป้องกันการล่วงล้ำของเชื้อโรคเข้าไปในรากและใบ และป้องกันความเป็นพิษของแมงกานีสหรือเหล็กหรือทั้งสองธาตุ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1) ช่วยให้ใบตั้งชัน แปลงที่มีพืชค่อนข้างหนาแน่นหรือใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูงใบพืชส่วนปลายมีแนวโน้มที่จะโค้งลงจึงบังแสงกันเอง เมื่อพืชได้รับซิลิคอนเพียงพอก็เคลื่อนย้ายมาสะสมที่ผนังเซลล์ชั้นผิวนอกของใบ แผ่นใบก็จะแข็งและตั้งชันจึงรับแสงได้ดีขึ้น นอกจากนั้นบางพืช เช่น แตงกวายังมีปริมาณคลอโรฟิลล์สูงขึ้น และยืดอายุใบทำให้ใบร่วงหล่นช้าลง(Adatia and Besford, 1986)

2) ลดการล้ม ข้าวที่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูงมักมีลำต้นอ่อนและล้มง่าย ซิลิคอนช่วยให้ลำต้นข้าวแข็งแรงขึ้นและล้มน้อยลง (Idris et al., 1975)

3) ป้องกันการล่วงล้ำของเชื้อโรคเข้าไปในรากและใบ ความแข็งแรงของเซลล์ผิวนอกที่มีซิลิคอนสูงช่วยป้องกันมิให้เชื้อราสาเหตุโรคพืชบางชนิดล่วงล้ำเข้าไปในเซลล์ และแมลงก็กัดกินใบน้อยลง (Marschner, 1995)

4) ป้องกันความเป็นพิษของแมงกานีสหรือเหล็ก ภาพที่ 10.2 แสดงว่าเมื่อถั่วได้รับแมงกานีส 5.0 ไมโครโมลาร์ ซิลิคอนช่วยป้องกันมิให้เป็นพิษ แต่ถ้าได้รับแมงกานีสสูงขึ้น (10.0 ไมโครโมลาร์) ซิลิคอนลดความเป็นพิษของแมงกานีสลงได้บ้างส่วนบทบาทของซิลิคอนที่แท้จริงคือช่วยให้พืชทนต่อแมงกานีสได้ดีขึ้น เนื่องจากในสภาพดังกล่าวพืชยังดูดแมงกานีสได้มาก เพียงแต่ซิลิคอนช่วยให้แมงกานีสกระจายในใบอย่างทั่วถึงไม่สะสมบริเวณใดบริเวณหนึ่งมากเกินไป แต่ถ้าพืชไม่ได้รับซิลิคอนจะพบแมงกานีสสะสมอยู่ในใบบางบริเวณมากจนเป็นพิษและเกิดจุดสีน้ำตาล หรือเนโครซิส (necrosis) (Horst and Marschner, 1978)

ภาพที่ 10.2 ผลของแมงกานีสต่อน้ำหนักแห้งของถั่วเมือ่ไม่ใส่หรือใส่ซิลิคอน (1.55มก.Si/ลิตร) เส้นตั้งฉากบนกราฟแท่ง คือ ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ที่มา : ปรับปรุงจาก Horst and Marschner (1987)

ซิลิคอนช่วยให้ข้าวทนอยู่ได้แม้สารละลายที่ใช้ปลูกจะมีแมงกานีสและเหล็กสูงดังนี้คือ ก) ลดการสะสมเหล็กและแมงกานีสในส่วนเหนือดิน และ ข) เพิ่มอำนาจการออกซิไดส์ (Oxidising power) ของราก กล่าวคือ ซิลิคอนช่วยเพิ่มปริมาตรและความแข็งแรงของแอเรงคิมา(aerenchyma, คอร์เทกซ์ซึ่งมีช่องอากาศมาก) ทั้งในรากและส่วนเหนือดิน ออกซิเจนจึงเคลื่อนย้ายลงไปถึงรากสะดวกและออกซิไดส์แมงกานีสกับเหล็กมิให้เป็นอันตรายต่อราก

5) ซิลิคอนยังมีผลในด้านอื่นๆ อีก เช่น ช่วยปลดปล่อยฟอสเฟตที่ถูกตรึงในดินไร่ ลดการคายน้ำผ่านผิวเคลือบคิวทินของใบข้าว และช่วยให้เมล็ดข้าวสาลีงอกดีขึ้นเมื่อสารละลายที่ใช้เพาะเมล็ดมีโซเดียมคลอไรด์มากกว่าปกติ (Marschner, 1995)

ที่มา : ยงยุทธ โอสถสภา. 2543. ธาตุอาหารพืช. –กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 424 หน้า.

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 484767เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2012 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท