การเปิดตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตอนที่ 2


ตอนนี้เพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศของเราเริ่มเรียนภาษาและเตรียมพร้อมกับการปรับตัวสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในภูมิภาคกันแล้ว ไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เพื่อนบ้านโดยรอบให้ความสนใจเข้ามาประกอบอาชีพเพราะปัจจัยเรื่องค่าแรงกับค่าครองชีพที่ไม่สูงเหมือนในสิงคโปร์และมาเลเซีย

มีชีวิตทำงานอยู่กับนักวิชาการหลายคนของประเทศไทยช่วงนี้ แทบจะทุกคนมุ่งทำงานเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ประเด็นหลักที่หลายคนพูดถึงคือการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของแรงงานในภูมิภาคและความกังวลต่อการพัฒนาและยืนหยัดของแรงงานไทยในเวทีอาเซียน สืบเนื่องจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลไทยวันนี้สร้างความชอกช้ำและการปรับตัวปรับใจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างมาก มีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนถ่ายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการลดกำลังคน เลิกจ้าง รุนแรงที่สุดถึงการปิดกิจการของสถานประกอบการบางแห่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและผลของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังตามมาทั้งหลายนี้ จะส่งผลต่อตำแหน่งการยืนของแรงงานไทยและกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเวทีอาเซียนในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้าไปโดยปริยาย 

แรงงานโดยรอบๆ ประเทศไทย จะแบ่งได้ง่ายๆ เป็นกลุ่มตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียตนามจะเป็นกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุดในภูมิภาค รองลงมา คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และไทย จะจัดอยู่ในกลุ่มปานกลาง ที่สูงขึ้นมาอีกหน่อย คือ บรูไน มาเลเซีย และที่สูงลิ่วแตกต่างจากคนอื่นในภูมิภาคเลยคือสิงคโปร์ ตอนนี้เพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศของเราเริ่มเรียนภาษาและเตรียมพร้อมกับการปรับตัวสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในภูมิภาคกันแล้ว ไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เพื่อนบ้านโดยรอบให้ความสนใจเข้ามาประกอบอาชีพเพราะปัจจัยเรื่องค่าแรงกับค่าครองชีพที่ไม่สูงเหมือนในสิงคโปร์ บรูไนและมาเลเซีย ฐานที่ตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางของอาเซียน การคมนาคมไปมาสะดวกสบาย อีกทั้งคนไทยที่มีอัธยาศัยดี มียิ้มสยามและเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเพื่อนบ้านรอบข้างของเราเสมอมา  

ถึงวันนี้รัฐบาล ผู้ประกอบการ และแรงงานไทยจึงต้องเตรียมพร้อมกับเรื่องราว การเปลี่ยนแปลง กำหนดแผนพัฒนาแรงงานฝีมือ คาดการณ์ผลดีผลเสียและปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ซึ่งรวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ในวันข้างหน้าที่อาจมีเพื่อนชาวต่างชาติหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรมเข้ามาปะปนในชีวิตประจำวัน อาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อรองรับการหลอมรวมเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเดียวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีคนอยู่รวมกันถึงกว่า 600 ล้านคน ความคาดหวังนี้ยังรวมไปถึงการกำหนดกลยุทธ์และทิศทางที่เป็นระบบให้แรงงานและผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาไปสู่จุดที่ยืนอย่างสง่างามในอาเซียนได้ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน

คนไทยเองก็อยู่ในฐานะที่สามารถย้ายไปทำงานในประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกได้เช่นเดียวกับแรงงานในประเทศอื่นๆ หลายคนก็เริ่มมองอาชีพเสริมในการเป็นครูภาษาไทยให้กับเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ แลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกันบ้างแล้ว แต่จะมีอาชีพบางอาชีพที่จะจัดอยู่ในประเภทของวิชาชีพตาม “ข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement: MRA)” ซึ่งจะมีรายละเอียดที่อยากเล่าให้ฟังอีกหลายๆ ประเด็นในครั้งหน้า 

 

 

หมายเลขบันทึก: 484653เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ช่วงนี้ ผู้เขียนมีเวลาเขียนบทความยาวๆ ในรูปแบบบล็อคน้อยลง สำหรับท่านที่ต้องการทราบข้อมูล หรือต้องการการแบ่งปันความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการค้าขายกับประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สามารถเขียนอีเมลมาพูดคุยกันหรือติดตามเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ในการทำการค้าต่างประเทศผ่าน https://www.facebook.com/pages/International-Trade-Focus ในระหว่างที่ยังไม่มีบทความยาวฉบับใหม่ออกมาค่ะ จะพยายามเขียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้าในจีนหรืออาเซียนที่น่าจะเป็นประโยชน์ให้มากขึ้นเร็วๆ นี้ค่ะ.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท