โลกนี้ไม่มีพรมแดน


เมื่อกี้โปรแกรมเมอร์เข้ามาทำงานครับ เขาบอกว่าตอนนี้กำลังดูร้านกาแฟของพ่ออยู่ด้วยแล้วจะทำงานไปด้วย มีความสุขเสียจริงนะ ลูกชายร้านกาแฟกลางกรุงจากาต้าร์ แต่รับงานทั้งจากอเมริกาและไทยแล้วก็ดูกิจการร้านกาแฟแบบคลาสสิคของตัวเองไปพลาง

ส่วนผมก็นั่งทำงานข้างๆ เจ้าต้นไม้ที่กำลังดูวิดีโอดิสนีย์จาก YouTube ผ่าน "Smart TV" ซึ่งแน่นอนว่าส่งตรงผ่านอินเทอร์เน็ตจากอเมริกา

ผมเลือกลงทุนซื้อ "Smart TV" เพื่อปกป้องเจ้าต้นไม้จาก "Dumb TV" ของไทย ผมคิดว่าน่าจะคุ้มค่าในระยะยาวครับ

ส่วนผมเองกำลังจัดการเครื่องแม่ข่ายซึ่งอยู่ที่ data center ที่ Virginia และระบบปรับปรุงส่วนให้บริการไฟล์ผ่าน Content Delivery Network (CDN) ให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ไฟล์ต่างๆ ใน GotoKnow ไปถึงผู้อ่านที่มาจากที่ต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างเร็ว โดย CDN นี้ให้บริการโดย Amazon เอง ทำให้ไฟล์ไม่ว่าสมาชิกจะอับโหลดจากที่ไหนก็จะ "ไปอยู่ใกล้ๆ" ผู้อ่านไม่ว่ามาจากที่ไหนในโลกโดยอัตโนมัติ

แล้วผมก็คิดไปพลาง "โลกนี้ไม่มีพรมแดนแล้วจริงๆ"

ที่จริงแล้วคำว่า "ส่งตรงจากอเมริกา" ที่ผมใช้ในย่อหน้าก่อนนั้นสมัยผมเด็กๆ คำนี้มีความหมายมาก เพราะถ้าเราเปิดทีวีแล้วมีรายการเช่นนี้ หมายความว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งน่าดูมากจริงๆ ทางสถานีต้องลงทุนมหาศาลที่จะส่งรายการจากต่างประเทศมาให้ดูในประเทศไทยได้ เท่าที่จำความได้ก็รู้สึกจะมีน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดกีฬา

ผมยังจำทีวีที่บ้านตอนผมเด็กๆ ได้ เครื่องขาวดำจอขนาดเกือบยี่สิบนิ้วได้ ตัวเครื่องเป็นไม้เนื้อดีทีเดียว มีม่านไม้บานพับให้ดึงเพื่อเปิดเครื่อง ปุ่มต่างๆ กดไม่ได้เพราะมีไว้หมุนเพื่อปรับให้รับสัญญาณต่างๆ ตามลักษณะของทีวีอนาลอคยุคแรกๆ

ความใหญ่ของตัวทีวีนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเรื่องใหญ่คือเพื่อจะให้ดูทีวีได้จากชุมพรในปี พศ. สองพันห้าร้อยยี่สิบกว่าๆ นั้นต้องขึ้นเสาทีวีขนาดสูงมาก วัดคร่าวๆ ว่าบ้านผมเป็นบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนสองชั้น เสาทีวีก็น่าจะสูงเท่ากับตึกสี่ห้าชั้นได้ครับ

สาเหตุที่ต้องสูงมากขนาดนี้เพื่อรับสัญญาณที่ส่งมาจากประจวบฯ หรือเพชรบุรีนี่ล่ะ ผมก็จำแน่นอนไม่ได้ เรียกว่าไกลมากทีเดียวครับ แต่ไม่ใช่รับสัญญาณจากกรุงเทพฯ เพราะยังไงสัญญาณก็คงไม่ถึง

บ้านผมอยู่กลางนา ลมพัดแรงมาก เวลาลมพัดแต่ละทีก็จะได้ยินเสียงสายลวดขนาดใหญ่ที่ใช้ขึงเสาทีวีสั่นตามลมเป็นจังหวะ เสียงไม่ได้น่ากลัว ย้อนคิดกลับไปดูแล้วก็เพราะไปอีกแบบหนึ่ง

คิดดูแล้วพ่อผมลงทุนจริงๆ สำหรับการรับสื่อโทรทัศน์ในยุคนั้น ผมเองก็ไม่เคยถามว่าพ่อคิดอย่างไรถึงลงทุนขนาดนั้น พ่อผมซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือเรื่องความมัธยัสถ์ (แปลว่าขี้เหนียว) ต้องมีเหตุผลที่น่าสนใจแน่นอน

ตอนนั้นที่ชุมพรจะดูได้เพียงสองสามช่อง ในช่วงแรกๆ มีช่องสาม และช่องเจ็ดหรือช่องเก้าอีกช่อง ภายหลังจะดูช่องห้าได้ แต่ไม่ใช่ ททบ 5 เป็นช่อง อสมท. ของชุมพร เป็น "ช่องห้า" ที่จัดรายการเองบ้าง เอารายการจากกรุงเทพฯ มาบ้าง สถานีโทรทัศน์นี้ตั้งอยู่บนภูเขาหน้าบ้านผมเอง

จำได้ว่าตอนผมจบ ม.6 มาเรียน มอ. แล้วนั้น ชุมพรยังรับสถานีโทรทัศน์ได้ไม่ครบเลยครับ

ตั้งแต่เด็กจนจบ ม.6 เมื่อปี พ.ศ. 2532 ชีวิตผมดูทีวีขาวดำมาตลอด ภายหลังเริ่มมีทีวี 14" ขาวดำอีกเครื่องที่ซื้อมาแทนทีวีเครื่องเดิมที่พังไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังไม่ได้มีทีวีสีในบ้าน

และพ่อผมก็รักษาชื่อเสียงความ "มัธยัสถ์" ไม่ซื้อทีวีสีมาดู จนผมมาซื้อให้เมื่อปี พ.ศ. 2537

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปเร็วมากจริงๆ เป็นช่วงก้าวกระโดดของการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ความทรงจำของคนรุ่นผมต่อเทคโนโลยีสมัยเด็กๆ กับเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นแตกต่างกันอย่างมหาศาล และเทคโนโลยีการสื่อสารนี้เองที่นำพาการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายให้กับโลกนี้

พวกเราที่ได้มีชีวิตอยู่ใน "ช่วงรอยต่อของวัฒนธรรมโลก" นี้เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้และมีความสุขกับประวัติศาสตร์ของโลกที่กำลังพลิกโฉมให้เราได้ดูต่อหน้าต่อตาในทุกๆ วันครับ

หมายเลขบันทึก: 484304เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2012 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์เล่าได้เห็นภาพเลยครับ แม้ผมจะเป็นเด็กปี 20 หมายถึงเกิดปี 2520 นะครับ แต่ก็ยังทันเห็นทีวีที่มีม่านปิดตู้ใหญ่ ๆ และทีวีขาวดำที่ต้องใช้มือหมุนหาช่อง และนิ่วจิ้มปุ่มเปลี่ยนช่องนะครับ แต่ทันเห็นเฉพาะตอนไปดูบ้านคนอื่น ตอนนั้นยังไม่มีกำลังหามาใช้ที่บ้านตัวเอง ความไร้พรมแดนเป็นสิ่งดีที่สุดในชีวิตผมนะครับ ผมเคยห่างพ่อ แม่ มาทำงาน กทม. ส่วนพ่อแม่ อยู่สงขลา ถ้าตอนนั้น ไม่มีเทคโนโลยีที่ทำให้โลกไร้พรมแดนอย่างเช่น โทรศัพท์ มือถือ ชีวิตผมช่วงนั้นคงจะทุกข์ใจเป็นที่สุดเลยครับ...

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์
  • ผมตั้งใจแวะมาเรียนรู้กับอาจารย์
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่าพวกเราที่ได้มีชีวิตอยู่ใน "ช่วงรอยต่อของวัฒนธรรมโลก" นี้เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้และมีความสุขกับประวัติศาสตร์ของโลกที่กำลังพลิกโฉมให้เราได้ดูต่อหน้าต่อตาในทุกๆ วันครับ
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์

สมัยพี่แก้วเป็นเด็ก ที่บ้านไม่มีทีวี เพราะพ่อกับแม่ไม่ต้องการให้ลูกดูหนัง ดูละคร ต้องแอบไปดูบ้านญาติ ทีวีเครื่องแรกของบ้านเป็นทีวีขาวดำ มีคนเอามาบริจาค จนบัดนี้ แม่ไม่เคยซื้อทีวี ต้องมีคนซื้อไปบริจาคเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท