เยี่ยม รพ.ครบุรี (ตอนที่ 2)


หลักการของการทำแผลเบาหวานนอกจากการทำความสะอาดแผล (cleaning) แล้ว ต้องทำให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมในเรื่องของการ Healing ดี

          เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2549 ดิฉันได้บันทึกเรื่อง เยี่ยม รพ.ครบุรี (ตอนที่ 1) ไว้และสัญญาตอนท้ายว่าจะมาเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเยี่ยม รพ.ครบุรี ต่อในวันนี้ ดังนั้นดิฉันก็จะขอบันทึกต่อเลยนะค่ะ

          เสร็จการตรวจผู้ป่วยกลุ่มเท้าชาประมาณ 11.30 น. อาจารย์สมเกียรติก็เริ่มสอนการตรวจคนไข้ในกลุ่มที่ 2 ต่อ คนไข้กลุ่มนี้เป็นคนไข้ที่มีเท้าผิดรูป บางคนก็เท้างอ บางคนไม่มีนิ้วเท้าบางนิ้วแล้ว อาจารย์สมเกียรติขอให้คุณหมอฝนเตรียมชุด dressing ซึ่งประกอบด้วย กรรไกรปลายโค้ง Blade (ที่ รพ.ครบุรีมีเบอร์ 20)  และ Curette ให้ และขอคนไข้อาสาสมัคร 1 คน ก่อนอาจารย์จะเริ่มสาธิตวิธีทำแผลอาจารย์ได้แนะนำถึงการทำ Dessing ทั่วๆ ไป คือใช้เบตาดีน หรือ NSS 20% ทำความสะอาดบาดเสร็จแล้วก็ปิดแผล แต่ในแผลผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ขอบแผลจะมีลักษณหนาและแข็ง ดังนั้นหลักการของการทำแผลเบาหวานนอกจากการทำความสะอาดแผล (cleaning) แล้ว ต้องทำให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมในเรื่องของการ Healing ดี นั่นคือต้องกำจัดหนังแข็ง (Callus) โดยการขูดออก เพื่อทำให้ขอบแผลไม่หนา ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณแผลเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจารย์ก็ให้ tip ในการ trim callus ออกเช่นกัน อาจารย์บอกว่าต้อง trim callus ออกให้หมด ถ้าขูดแล้วมีเลือดออกซิบๆ แสดงว่าถึงเนื้อดีแล้ว หรือใช้มือค่อยๆ กดดูว่าบริเวณที่ขูดนุ่มแล้วหรือยัง ถ้านุ่มก็หยุดขูดได้ นอกจากนั้นอาจารย์ยังกล่าวถึงสาเหตุของการเกิดแผลซึ่งมีด้วยกัน 2 สาเหตุคือ จากปัจจัยภายนอก เช่น การเหยียบเศษแก้ว หิน ตะปู และปัจจัยภายใน เช่น การเดินนานๆ การมี callus ที่เท้า

          อาจารย์สมเกียรติเริ่มสาธิตกับผู้ป่วย และให้คำแนะนำขั้นตอนไปด้วยดังนี้
               1. ดูว่าเท้าผู้ป่วยชาหรือไม่ ด้วยวิธีที่สอนในกลุ่มที่ 1
               2. ทำความสะอาดแผลให้เรียบร้อย
               3. ดูแผลผู้ป่วย โดยใช้ Probe ตรวจดูบริเวณรอบๆ แผล ดูว่าแผลลึกขนาดไหน มี Ulcer หรือเปล่า
               4. ทำการขูด callus เพื่อให้แผล Healing ดี ก่อนขูดให้ใช้สำลีชุบ NSS วางไว้บริเวณที่จะขูดซักพัก จะทำให้บริเวณที่ขูดนิ่มขึ้น ขูดง่าย และเห็นความแตกต่างของหนังที่ดี กับหนังที่ไม่ดี (หนังที่ไม่ดีเมื่อถูกน้ำจะซีด และดูพองขึ้นมา) การขูดให้วางมีดขนานไปกับเนื้อบริเวณที่จะขูด ค่อยๆ ขูดเหมือนขูดเทียน
               5. สอนเรื่องการเดิน / การ rest เท้าให้กับผู้ป่วย หรือหาวิธีให้ผู้ป่วยได้ rest บริเวณที่มีบาดแผล เช่น การทำ off loading การเข้าเฝือก เป็นต้น

          มีพยาบาลท่านหนึ่งถามอาจารย์สมเกียรติว่าถ้าสอนให้ผู้ป่วยขูด callus เองได้หรือไม่ อาจารย์บอกว่าก็แล้วแต่กรณี ที่ รพ.ของอาจารย์ก็มีกรณีที่คนไข้แอบไปซื้อมีดแล้วขูด callus เอง เมื่อเราตรวจดูเห็นว่าเขาทำได้ดี เราก็ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนเขา หลังจากนั้นอาจารย์ก็ให้พยาบาล และแพทย์ที่มาอบรม ไปทดลองขูด callus กับผู้ป่วยท่านอื่นๆ โดยอาจารย์ให้ทีมคอยช่วยเหลือ ระหว่างที่ทำกลุ่มเท้าผิดรูป ทาง รพ.ครบุรีก็ได้เตรียมข้าวต้มเครื่องมาเลี้ยงผู้ป่วยด้วย กว่าทีมจะดูผู้ป่วยครบหมด เวลาก็ล่วงเลยมีถึง 13.30 น. ทาง ทางทีม รพ.ครบุรีจึงนำเราไปทานอาหาร

          ระยะทางระหว่างที่ไปรับประทานอาหารนั้น ดิฉันได้ชมว่าที่ รพ.ครบุรีดูกว้างขวาง และร่มรื่น สามารถปลูกอาคารได้หลายอาคาร คุณพยาบาลที่พาเราไปรับประทานอาหารบอกว่า รพ.ครบุรีมีพื้นที่กว่า 40 ไร่ เคยมีคนไข้ขอให้ทาง รพ.ติดแอร์ให้ อากาศจะได้เย็นๆ ผู้อำนวยการก็ติดแอร์ให้จริง ติดแอร์โดยการปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้หลายๆ จุด จึงทำให้อากาศชุ่มชื้น เย็นสบาย

          พวกเรารับประทานอาหารกลางวันเสร็จเวลา 14.00 น. ก็กลับไปที่ห้องประชุมต่อ พอไปถึงพบว่ามีจำนวนผู้เข้าประชุมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทราบทีหลังว่ามีโรงพยาบาลอื่นๆ และ นพ.พัฒนา เบ้าสาทร (ผู้อำนวยการ รพ.ครบุรี และเป็นหมอศัลยกรรมคนเดียวของที่นี่) เข้ามาร่วมฟังด้วย อาจารย์สมเกียรติฉายสไลด์เกี่ยวกับการดูแลและการตรวจสุขภาพเท้า อุปกรณ์เกี่ยวกับเท้าต่างๆ และสรุปปิดท้ายสั้นๆ ได้ใจความสำคัญในการดูแลรักษาเท้าไว้ 3 ข้อคือ 1) cleaning 2) rest และ 3) protect และสาธิตการเข้าเฝือกให้กับผู้ป่วยที่ทาง รพ.ครบุรีเตรียมไว้

          เสร็จสิ้นการประชุมเวลา 17.00 น. ดิฉันมีโอกาสได้ซักถามคุณสุพรรณี ถึงเรื่องที่ทีม รพ.ครบุรี ได้เรียนรู้จากกิจกรรม peer assist ไปทำต่อ เธอเล่าว่าในเรื่องของการดูแลเท้า เธอได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการดูแลเท้าที่ PCU นาราก ทุกวันพุธ และที่ รพ.ครบุรี ทุกวันพฤหัสบดี (สลับกันเรื่องยา การรับประทานอาหาร และอื่นๆ) ส่วนเรื่องอาหารนั้น คุณหมอฝนได้นำทีมที่มาอบรมเรื่องอาหารที่ รพ.เทพธารินทร์ ไปประชุมกันในแพ เพื่อคิด model อาหาร ที่จะนำไปแสดงให้ผู้ป่วยดู (ให้เป็นแบบเดียวกันทุกโรงพยาบาล) ดิฉันต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม แต่คุณสุพรรณีต้องรีบไปเรียน ดิฉันจึงขอให้คุณสุพรรณีบันทึกลงใน blog เพื่อเล่าให้สมาชิกท่านอื่นๆ ฟัง

          เราเดินทางออกจาก อ.ครบุรี เวลา 18.00 น. ถึง รพ.เทพธารินทร์ประมาณ 22.30 น. เนื่องจากฝนตกตลอดทางที่เรากลับค่ะ

   
 รูปที่ 1: สาธิตการขูด callus

 รูปที่ 2: อาจารย์สมเกียรติบรรยายเรื่องการดูแลเท้า

 

 รูปที่ 3: สาธิตการเข้าเฝือก

 

 

 

 

 

 เล่าโดย สุภาพรรณ ตันติภาสวศิน

หมายเลขบันทึก: 48429เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีคะอาจารย์  ขอมาเก็บเกี่ยวความรู้จากบันทึกของอาจารย์นะคะ  (เคยแอบเข้ามาอ่านบ่อยค่ะ)
  • ขอบคุณอาจารย์ที่เป็นขุมความรู้ให้ได้เรียนรู้ และทบทวน อยู่ตลอดเวลา ขอบคุณอาจารย์สมเกียรติด้วยค่ะ.....ทับทิมค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท