ประวัติศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของคนต่างด้าวในประเทศไทย


กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

ประวัติศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของคนต่างด้าวในประเทศไทย

ในอดีตประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศโดยการส่งสินค้าออกไปจำหน่าย และขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ซึ่งรวมทั้งการที่คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและประกอบธุรกิจในประเทศไทยด้วย  ซึ่งแต่เดิมยังมีจำนวนไม่มากนัก ปัญหาต่าง ๆ จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น ประเทศไทยจึงยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ใช้ควบคุมการประกอบธุรกิจเหล่านั้น   คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจจึงสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยชอบโดยไม่ต้องมีการขออนุญาตจากทางราชการ  กฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในขณะนั้น คงมีเพียงกฎหมายจารีตประเพณีและหลักกฎหมายทั่วไป  ต่อมาคนต่างด้าวได้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น  ดังนั้น ในปี พ.ศ.2515  รัฐบาลผู้บริหารประเทศมีแนวนโยบายว่าหากไม่มีการควบคุมการประกอบธุรกิจกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ จะเป็นการแย่งงานคนไทยและกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ   ดังนั้น  จึงได้มีการออกประกาศคณะปฏิวัติที่ 281  เพื่อจัดระเบียบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว    ซึ่งต่อมาแนวนโยบายแห่งรัฐทางการค้าได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่การค้าเสรีตามกรอบความตกลงการค้าเสรีขององค์การการค้าโลก  ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี  ทำให้ประเทศไทยถูกผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามกรอบความตกลงที่ได้ทำไว้  ดังนั้น  ต่อมาจึงได้มีการยกเลิก ปว.281  และได้ออกพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับแทน   กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ แม้จะมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน แต่ในรายละเอียดของกฎหมายนั้นมีความแตกต่างกันหลายประการ  เช่น แนวความคิดของการออกกฎหมาย ความจำเป็นของการมีกฎหมาย อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองทำในประเทศและระหว่างต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งการค้าเสรีมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยถูกผูกพันจากพันธะกรณีจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี



ในการศึกษาเรื่อง “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของคนต่างด้าวในประเทศไทยนั้น จึงกำหนดขอบเขตของการศึกษาลักษณะและสาระสำคัญของตัวกฎหมายแต่ละฉบับ โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบจากกฎหมายปว. 281 และพ.ร.บ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 เป็นหลัก ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจสถานะภาพของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีอยู่อย่างไร และในอนาคตอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและผู้ที่สนใจในการประกอบธุรกิจร่วมกับคนต่างด้าว ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น อันเป็นผลจากที่ประเทศไทยได้มีการเจรจากับนานาประเทศเพื่อเปิดเสรีทางการค้า




            


การศึกษาจะเริ่มจาก ปว.281 และ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542  เหตุผลของการมีและบังคับใช้กฎหมาย คำนิยามของคนต่างด้าว ประเภทธุรกิจ เงินที่นำเข้ามาลงทุน การสนับสนุนให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี  ต่อจากนั้นจะศึกษาถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม

I. ปว. 281 กับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
1. เหตุผลของการมีและบังคับใช้กฎหมาย

ปว.281 กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นมาเพื่อรักษาดุลยอำนาจทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ (ดูจากบทนำปว. 281) เพราะแต่เดิมก่อนปี 2515 ประเทศไทยไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไว้เป็นการเฉพาะ รัฐบาลสมัยนั้นซึ่งเป็นทหารและได้อำนาจมาโดยวิธีทำรัฐประหาร จึงมีแนวความคิดว่า หากปล่อยให้ต่างด้าวเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจมากๆจะเป็นการแย่งงานของคนไทย จึงได้ออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา โดยกำหนดประเภทธุรกิจบางประเภทเพื่อสงวนให้คนไทย และห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

พ.ร.บ ปี 2542
    เหตุแห่งการยกเลิก ปว. 281 เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้มาเป็นเวลานาน และมีหลักบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การค้าและการลงทุนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งการที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนมีการแข่งขันอย่างเสรีในการประกอบธุรกิจทั้งประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก  (WTO), การเจรจาทวิภาคีในการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ (FTA) (ที่มาจากหมายเหตุท้ายพ.ร.บ. ปี 2542)

    นอกจากนั้น บทบัญญัติของปว. 281 ยังมีช่องว่างบางประการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าแบบเสรีในปัจจุบัน และไม่เอื้อประโยชน์กับคนไทย เช่นในเรื่องเงินทุน ไม่มีกฎระเบียบบังคับให้คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจต้องนำเงินลงทุนมาจากต่างประเทศ ไม่มีบทบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้สิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาที่ไทยทำไว้กับต่างประเทศแต่ฝ่ายเดียว แต่คนไทยกับไม่ได้รับประโยชน์จากหลักต่างตอบแทนทำให้ต้องมีการออกพ.ร.บ. ปี 2542 นี้ขึ้นมา




2.  คำนิยามของคนต่างด้าว


    จากปว. 281 ข้อ 3 กำหนดไว้ว่าคนต่างด้าวหมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และให้รวมถึงนิติบุคคลในประเทศไทย ซึ่งมีคนต่างด้าวลงทุนร้อยละ 50  หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าว ห้างหุ้นส่วนที่มีหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นคนต่างด้าว
    พ.รบ. ปี 42 มาตรา 4 ได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวไว้คล้ายกับที่กำหนดไว้ในปว. 281 แต่จะตัดเรื่องการมีหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นจำนวนครึ่งหนึ่ง  โดยกำหนดว่าบุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นคนต่างด้าว
(1) บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
(2) นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย
(3) นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยที่มีทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งเป็นของบุคคลหรือนิติบุคคล
       ตาม (1) หรือ (2)
(4)  นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยที่มีทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งเป็นของ (1) , (2) หรือ (3)

3. ประเภทธุรกิจ


    ตามปว. 281 กำหนดบัญชีในการสงวนอาชีพหรือธุรกิจออกเป็น 3 บัญชี โดยอาชีพที่ปรากฏอยู่ในบัญชี.ก และข นั้นจะห้ามคนต่างด้าวเข้าประกอบธุรกิจโดยเด็ดขาด เว้นเสียแต่ว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาออกมาอนุญาต ซึ่งอาชีพเหล่านั้นได้แก่  การประกอบธุรกิจทางการเกษตร  การประกอบธุรกิจทางพาณิชย์ในด้านการค้า ผลผลิตทางการเกษตรสินค้าพื้นเมือง การค้าที่ดิน การประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ กฎหมาย การประกอบธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการก่อสร้างเป็นต้น ส่วนธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชี.ค นั้น รัฐเปิดโอกาสให้คนต่างด้าวเข้ามาทำได้แต่ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้า

   พ.ร.บ. ปี 42  ตามาตรา 8 ได้กำหนดบัญชีในการสงวนอาชีพหรือธุรกิจออกเป็น 3 บัญชี เป็นต้น แต่จะเรียกเป็นบัญชี 1-3 โดย
    บัญชี 1 กำหนดธุรกิจที่ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ เพราะมีเหตุผลพิเศษที่ต้องการสงวนไว้ให้คนไทย


    บัญชี 2 ธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศหรือมีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี หัตถกรรมพื้นบ้าน หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจตามบัญชีสองนี้ คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจได้เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี

        

    บัญชี 3 ธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว ธุรกิจตามบัญชีนี้ คนต่างด้าวจะสามารถประกอบธุรกิจได้เมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
ตามบัญชีที่ 3 นี้เปิดโอกาสให้ชาวต่างด้าวได้เข้ามาทำธุรกิจ ซึ่งแต่เดิมไม่เคยอนุญาตให้ทำ เช่น การบริการทางบัญชี บริการทางกฎหมาย บริการสถาปัตยกรรม โดยธุรกิจเหล่านี้ แต่เดิมจัดอยู่ในบัญชี.ก ของปว. 281 ซึ่งก็เป็นธุรกิจที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด

4. การส่งเสริมและบังคับให้มีการนำเงินลงทุนเข้ามาจากต่างประเทศ


    ปว. 281 ข้อ 8(2) มีขอบเขตควบคุมเฉพาะคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งสงวนตามบัญชีเท่านั้น ส่วนธุรกิจอื่นๆที่อยู่นอกเหนือบัญชี คนต่างด้าวสามารถถือหุ้นได้ 100% และประกอบธุรกิจได้โดยอิสระโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายฉบับนี้ ส่วนเงื่อนไขของคนต่างด้าวที่จะต้องปฏิบัติก็คือการนำเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจประเภท สำนักงานผู้แทน สำนักงานภูมิภาค ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถสร้างรายได้ในประเทศ (ข้อมูลจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอตั้งสำนักงานผู้แทนของนิติบุคคลต่างประเทศในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539)
    พ.ร.บ.ปี 42 มาตรา 14 มีการกำหนดให้ชาวต่างด้าวต้องนำเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจในทำนองเดียวกับปว. 281  แต่จะเพิ่มในเรื่องของทุนขั้นต่ำที่บังคับให้ต้องเป็นเงินลงทุนจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นเงินลงทุน โดยมีขอบเขตครอบคลุมถึงการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวทุกประเภทที่อยูในบัญชีควบคุม
    ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจต้องมีทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 25% ของค่าเฉลี่ยต่อปีของประมาณการรายจ่าย 3 ปี เช่น หากประมาณการรายจ่าย 3 ปีเท่ากับ 100 ล้านบาท ทุนขั้นต่ำจะเท่ากับ 25 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยที่ทุนจดทะเบียนไม่ถึง 25 ล้านบาท ต้องเพิ่มทุนให้ถึง

5. สนับสนุนให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการลงทุน


    ปว. 281 ข้อ 8(3) กำหนดอัตราส่วนเงินลงทุนของคนไทยกับคนต่างด้าวในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต
    พ.ร.บ.ปี 42 มาตรา 15 กำหนดให้คนต่างด้าวที่จะประกอบธุรกิจในบัญชี 2 จะต้องมีคนไทยร่วมลงทุนร้อยละ 40 และต้องมีกรรมการคนไทยไม่น้อยกว่า 2ใน 5 ของกรรมการทั้งหมด





            


6. ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี


ปว. 281 ไม่ได้มีการกำหนดในเรื่องนี้ไว้
    พ.ร.บ.ปี 42 มาตรา 18 กำหนดให้คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือมีการนำหรือเปลี่ยนเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในการประกอบธุรกิจ
    คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจึงได้อาศัยมาตรา 5  มาเป็นเงื่อนไขและปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทย  โดยกำหนดให้ต้องมีการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน  รูปแบบ และวิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยี  โดยต้องยื่นแบบงานดังกล่าวพร้อมกับคำขออนุญาต  โดยแผนงานดงกล่างต้องประกอบด้วยสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี  การวิจัยและพัฒนา  การฝึกอบรมให้บุคคลากรในหน่ายงาน  การแต่งตั้งคนไทยปฏิบัติงานในตำแหน่งแทนคนต่างด้าว  การส่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้แก่บุคคลากรในหน่วยงาน  เป็นต้น

            7. กรณีคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจภายใต้สนธิสัญญา


    ปว.281  ข้อ 2  ได้กำหนดไว้ว่าจะไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจในราชอาณาจักร  โดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกาล  หรือโดยความตกลงที่รัฐบาลไทยได้กระทำกับรัฐบาลต่างประเทศ  ซึ่งในขณะนั้น หมายถึง สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511
    พ.ร.บ. ปี 2542 มาตรา 10 วรรคแรก  กำหนดว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกาล
    วรรค 2 กำหนดว่า  คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้โดยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี  ให้ได้รับการยกเว้นจากการบังคับใช้บทบัญญัติแห่งมาตราต่าง ๆ  ในกฎหมายฉบับนี้   ซึ่งหมายถึง สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511, สนธิสัญญาที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในองค์การการค้าโลก (WTO)  และสามารถรวมถึงความตกลงเขตการค้าเสรีที่จะมีขึ้นในภายหน้า



        

II. กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว


1. สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา ลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2509


        ไทยมีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาดังกล่าว ณ กรุงวอชิงตัน  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2511  ซึ่งข้อ 4.1  แห่งสนธิสัญญาดังกล่าวระบุว่า “คนชาติ และบริษัทของภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้รับผลประโยชน์ในวิสาหกิจทุกประเภทเพื่อประกอบกิจการพาณิชย์ อุตสาหกรรม การคลัง และธุรกิจอื่นภายในอาณาเขตของภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง”   
แต่ข้อ 4.2  กำหนดไว้ว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติอเมริกัน ไม่มีสิทธิขอรับความคุ้มครองภายใต้สนธิสัญญาฉบับนี้เพื่อประกอบธุรกิจ  ดังต่อไปนี้
(1) การคมนาคม    
(2) การขนส่ง
(3) การหน้าที่รับดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
(4) การธนาคารที่เกี่ยวกับการหน้าที่รับฝากเงิน
(5) การแสวงหาประโยชน์จากที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น
(6) การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมือง
ซึ่งต่อมาเมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281  ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515  กำหนดมาตรการควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อรักษาดุลอำนาจทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ  และเพื่อให้การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในราชอาณาจักร  โดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกาลหรือโดยความตกลงที่รัฐบาลไทยได้กระทำกับรัฐบาลต่างประเทศ (ตามนัยของข้อ 2. แห่ง ปว.281)  จึงส่งผลให้คนสัญชาติหรือบริษัทอเมริกัน มีสิทธิที่จะประกอบธุรกิจในประเทศไทย  โดยการขอรับความคุ้มครองตามสนธิสัญญา โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
    ดังนั้น   ผู้ที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครอง  ก็เพียงแต่ขอให้สถานเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  มีหนังสือถึงกรมทะเบียนการค้ารับรองว่าผู้ขอรับความคุ้มครองเป็นบุคคลสัญชาติหรือบริษัทอเมริกัน ซึ่งมีสิทธิประกอบธุรกิจภายใต้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511  พร้อมกับให้แจ้งด้วยว่า ประสงค์จะขอให้บุคคลสัญชาติหรือบริษัทอเมริกันนั้นประกอบธุรกิจในประเทศไทย  ก็จะได้รับความคุ้มครองตามสนธิสัญญาดังกล่าว (ดูจากประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง การประกอบธุรกิจภายใต้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511)



2. ความตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรี (FREE TRADE AREA, FTA)  ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย


    ผลจากการเจรจาตกลงเปิดการค้าเสรีส่งผลให้ประเทศไทยให้ประโยชน์แก่ออสเตรเลียมากกว่าสมาชิกอื่นๆ  ใน WTO ในการเข้ามาลงทุนได้  ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้


    -  คนออสเตรเลีย สามารถเข้ามาลงทุนทางตรงได้ไม่เกิน 50%  ในธุรกิจทุกประเภทที่ไม่อยู่ในบัญชี 1 และ 2   ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542   โดยการประกอบธุรกิจทุกประเภทดังกล่าวและการให้บริการผ่านสื่ออิเล็คทรอนิกส์ ต้องมีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
    - นอกจากนี้  ได้เปิดตลาดให้กับออสเตรเลียมากกว่าที่ให้แก่สมาชิกอื่น ๆ ใน WTO  (โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อหลัก MFN และ NT   เพราะเป็นกรณีเข้าขอยกเว้นตามมาตรา 24 ของ WTO)  โดยเปิดตลาดในบางธุรกิจที่ระบุไว้ให้คนออสเตรเลียเข้ามาถือหุ้นในองค์การธุรกิจได้ไม่เกิน 60%  แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งในไทยและมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity ratio )  ไม่เกิน 3 ต่อ 1  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และใช้เงินลงทุนสูง อันเป็นกิจการที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว (ที่มา: ข้อมูลเปรียบเทียบข้อตกลงการค้าเสรี US-AUSTRALIA FTA และ THAILAND-AUSTRALIA FTA   โดยทิวรัตน์ ลาภวิไล, ประภาภรณ์ เชื้อเจริญกิจ  โครงการ WTO WATHCH  จับกระแสองค์การการค้าโลก ได้รับการอุดหนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)


    ธุรกิจภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย มีทั้งหมด 18 ธุรกิจ  ซึ่งเมื่อพิจารณาประเภทธุรกิจกับบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2522 และจำนวนหุ้นที่คนออสเตรเลียสามารถถือได้ภายใต้ความตกลง (หลักเกณฑ์ในการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542  ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์)  ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้


    1)  สาขาบริหารธุรกิจ  ได้แก่ ที่ปรึกษาด้านการจัดการทั่วไป (เฉพาะที่จัดตั้งเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ให้บริษัทในเครือหรือสาขา คนออสเตรเลียถือหุ้นได้ 100%)   หอประชุมขนาดใหญ่ และศูนย์แสดงสินค้านานาชาติขนาดใหญ่  คนออสเตรเลียถือหุ้นได้ 60%   โดยจัดอยู่ในบัญชีสาม (21) การทำธุรกิจบริการ
2)  สาขาบริการสื่อสาร  แบ่งออกเป็น
ก) บริการที่ออสเตรเลียถือหุ้นได้ไม่เกิน 50%  ได้แก่บริการขายอุปกรณ์โทรคมนาคม
เช่าอุปกรณ์สถานีโทรคมนาคม และที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคม โดยจัดอยู่ในบัญชีสาม (14)  ค้าปลีก
(15) ค้าส่ง


        


ข) บริการที่ให้ออสเตรเลียถือหุ้นได้ไม่เกิน 40%   ได้แก่
ธุรกิจสื่อสารผ่านดาวเทียมภายในประเทศผ่านจานดาวเทียมขนาดเล็ก (Domestic Very
small Aperture Terminal)   เฉพาะที่ใช้บริการระบบเครือข่ายภายใต้
กำกับของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.)
      ค)     บริการให้ออสเตรเลียถือหุ้นได้ไม่เกิน 25%   ได้แก่
        Database Access Services  เฉพาะที่ใช้บริการระบบเครือข่ายภายใต้กำกับของ กทช.
3) สาขาบริการก่อสร้าง ได้แก่ บริการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคขนาดใหญ่
คนออสเตรเลียเข้ามาถือหุ้นได้ 100%  โดยจัดอยู่ในบัญชีสาม (10) การก่อสร้าง
4)   สาขาบริการจัดจำหน่าย   ออสเตรเลียสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ 100%  ในบริการจัดจำหน่าย
และติดตั้งผิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานออสเตรเลียในไทย
5) สาขาบริการศึกษา  สถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการสอนและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต
เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีนาโน  คนออสเตรเลียเข้ามาถือหุ้นได้ 60%  โดยจัดอยู่ในบัญชีสาม (21)  การทำธุรกิจบริการ
6) สาขาบริการท่องเที่ยงและเดินทาง  ได้แก่ โรงแรมหรูขนาดใหญ่และภัตตาคารเต็มรูปแบบ
คนออสเตรเลียเข้ามาถือหุ้นได้ 60%
7) สาขาบริการนันทนาการ  วัฒนธรรม และกีฬา  ได้แก่ สวนสาธารณ (Theme Park)   และ
อุทยานสัตว์น้ำ Aquarium   คนออสเตรเลียเข้ามาถือหุ้นได้ 60%
8) สาขาบริการขนส่ง ได้แก่  ที่จอดเรือท่องเที่ยว   คนออสเตรเลียเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน 60%
9) สาขาการลงทุนเหมืองแร่  ได้แก่  การทำเหมืองแร่บนและในทะเล   คนออสเตรียเข้ามาถือหุ้น
ได้ 60%  โดยจัดอยู่ในบัญชี 2 หมวด 3(4)  การทำเหมืองแร่

จากการศึกษาเบื้องต้น โดยวิธีการเปรียบเทียบกฎหมาย ปว.281 และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542   ทำให้พบว่า ประเทศไทยมีนโยบายที่จะเปิดตลาดการค้าแบบเสรีมากขึ้น (โดยดูได้จากกฎหมายทั้งสองฉบับที่จะไม่ใช้บังคับกับคนต่างชาติที่มีสนธิสัญญาหรือความตกลงพิเศษกับไทย  และดูได้จากประเภทของธุรกิจที่เปิดกว้างมากขึ้นจากบัญชีท้ายกฎหมาย) ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพันธะกรณีของการที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศ  เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) ที่เน้นการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกให้มากที่สุด รวมถึงจากการที่ประเทศไทยมีการเจรจาแบบทวิภาคีกับชาติต่าง ๆ เพื่อจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)

        


              บรรณานุกรม

1. ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281
2. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอตั้งสำนักงานผู้แทนของนิติบุคคลต่างประเทศในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539
3. พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
4. สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511
5. ประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง การประกอบธุรกิจภายใต้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511
6. ความตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
7. ข้อมูลเปรียบเทียบข้อตกลงการค้าเสรี US-AUSTRALIA FTA  และ THAILAND-AUSTRALIA FTA   โดยทิวารัตน์ ลาภวิไล, ประภาภรณ์ เชื้อเจริญกิจ  โครงการ
WTO WATCH  จับกระแสองค์การการค้าโลก ได้รับการอุดหนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
8. หลักเกณฑ์ในการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542  ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย,
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

                __________________________    

หมายเลขบันทึก: 48412เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท