เด็กชล Apiculture
นางสาว เสาวลักษณ์ เจี๊ยบ พลอยงาม

โรคผึ้ง


โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย
โรคผึ้ง โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย 1. โรคหนอนเน่าอเมริกัน (American Foulbrood Disease, AFB) สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacillus larvae) โรคนี้มีผลเฉพาะตัวอ่อนเท่านั้น สปอร์จะเจริญในช่องทางเดินอาหารของตัวอ่อนที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไป ตัวอ่อนจะตายในเวลาต่อมา ( 5-6 วันหลังจากรับเชื้อ) โรคนี้จะแพร่กระจายภายในรังผึ้ง และกระจายสู่รังอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการขโมยน้ำผึ้งระหว่างผึ้งด้วยกัน อาการ ตัวอ่อนจะตายภายในหลอดรวงที่มีลักษณะของการปิดฝาผิดปกติ ได้แก่ ฝาบุ๋มลงไป และมีรูเล็ก ๆ มีกลิ่นเหม็นรุนแรง เมื่อมีการเน่าสลายจะมีลักษณะเป็นยางเหนียวสีน้ำตาลเกือบดำ ทดสอบง่าย ๆ ด้วยวิธี stretch test โดยใช้ปลายไม้เล็ก ๆ เขี่ยตัวหนอนที่เน่าตาย แล้ว ค่อย ๆ ดึงก้านไม้ออก ตัวหนอนที่ตายจะยืดติดมากับปลายไม้ออกมา ตัวหนอนที่ตายและแห้ง จะเป็นสะเก็ดติดอยู่กับส่วนล่างของพื้นหลอดรวง เป็นสีดำหรือสีน้ำตาลดำ การป้องกันกำจัด โรคนี้เป็นโรคที่มีปัญหามาก มักจะใช้วิธีการทำลายผึ้งที่เป็นโรคพร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 2. โรคหนอนเน่ายูโรเบียน (Europian Foulbrood Disease, EFB) สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Streptococcus pluton) มีรูปร่างกลม อยู่รวมกัน เป็นสายเหมือนลูกปัด เป็นเชื้อที่ไม่มีสปอร์ มีการแพร่กระจายของโรคเช่นเดียวกับหนอนเน่าอเมริกัน อาการ ตัวอ่อนที่ตายด้วยโรคนี้มีอายุไม่เกิน 4-5 วันหลังจากฟักออกจากไข่ เป็นระยะที่ยังขดตัวอยู่ที่ก้นของหลอดรวง ตัวอ่อนที่เป็นโรคจะมีสีเหลือง เทา หรือน้ำตาล ขณะที่เน่าสลายจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว การตรวจสอบให้ทำโดยใช้ไม้เขี่ยลงบนตัวหนอนที่กำลังเน่าสลาย ยกขึ้นช้า ๆ ตัวหนอนจะไม่ยืดออกมาเหมือนตัวหนอนที่เป็นโรคหนอนเน่าอเมริกัน เมื่อตัวหนอนแห้งตาย สะเก็ดของตัวอ่อนที่ตายจะไม่ติดกับผนังของหลอดรวง มีลักษณะเป็นแผ่นขนาดเล็ก ไม่เปราะหรือแตก สามารถถูกเคลื่อนย้ายได้ง่าย การป้องกันกำจัด กรณีเมื่อตรวจพบการระบาดในระดับปานกลาง สำหรับรังที่ อ่อนแอจะมีการเปลี่ยนผึ้งแม่รังตัวใหม่ หรือการเพิ่มจำนวน 2-3 คอน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและการ วางไข่ให้มากขึ้น จะเป็นการเพิ่มประชากรในรังและเพิ่มจำนวนผึ้งที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดรัง ขนย้ายตัวที่เป็นโรคออกจากรัง และเป็นการเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผึ้งด้วย ในกรณีที่พบว่าโรคนี้ เข้าทำลายมาก อาจจะมีการใช้สารออกซีเตตราไซคลิน ผสมกับน้ำตาลผงให้กับผึ้งในรังบริเวณเหนือคอนตัวอ่อน โดยใช้อัตราส่วน 1:20 หรือใช้สารโซเดียมซัลฟาไทอะโซล (sodium sulpha tiazole) 0.5-1.0 กรัม หรือใช้สารสเตรปโตมัยซิน (streptomysin) 0.2-0.6 กรัม ผสมกับน้ำเชื่อม 4 ลิตร ให้กับ รังผึ้งที่เป็นโรค โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา โรคชอลช์คบรูค (Chalkbrood, CB) สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา (Ascosphaera apis) ที่พบในประเทศไทยมีทั้งสายพันธุ์ที่สร้างสปอร์ (spore cyst) ทำให้ตัวหนอนผึ้งที่ตายถูกปกคลุมด้วยเส้นใยของเชื้อรา และสปอร์มีลักษณะเหมือนแท่งสี่เหลี่ยมสั้น ๆ สีดำ ส่วนอีกสายพันธุ์ไม่สร้างสปอร์ ทำให้ตัวหนอนผึ้งที่ตายถูกปกคลุมด้วยเส้นใยของเชื้อรา มีลักษณะคล้ายแท่งชอล์คสีขาว โดยปกติสปอร์จะไม่ทำให้เกิดโรคจนกว่าจะมีการเติบโตเป็นเส้นใย ซึ่งจะเจริญได้ดีที่อุณหภูมิ 30-35 ?C ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติในรังผึ้ง อาการ ผึ้งที่ถูกเชื้อเข้าทำลายมีทั้งตัวอ่อนและดักแด้ ตัวอ่อนอายุ 3-4 วัน จะสังเกตเห็นอาการของโรคได้ โดยตัวอ่อนจะถูกปกคลุมด้วยเส้นใยของเชื้อราสีขาว และกลายเป็นมัมมี่ เมื่อเชื้อรามีการสร้างสปอร์สีดำขึ้น หรือมีลักษณะคล้ายเศษชอล์ค และเมื่อมีอาการระบาดอย่างรุนแรง จะมีตัวอ่อนที่ปิดฝาตายและแห้งอยู่ภายในหลอดรวง รังที่เป็นโรคนี้ในระดับที่รุนแรง จะพบว่ามีตัวอ่อนที่เป็นโรคแห้งตายตกอยู่ที่พื้นรังเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถตรวจพบโรคนี้ได้ง่าย การป้องกันกำจัด ยังไม่มีวิธีการควบคุมที่เชื่อถือได้ แต่ก็มีหลายวิธีที่ให้ผลในการป้องกัน ด้วยการรักษาผึ้งไว้ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคนี้ การทำให้รังผึ้งมีประชากรที่แข็งแรง ระบายอากาศที่ดี ไม่ให้มีความชื้นภายในรังสูง มีการเพิ่มตัวเต็มวัยที่เพิ่มออกจากหลอดรวงใหม่ ๆ ให้กับรังที่เพิ่งเริ่มเป็นโรคนี้ เพื่อช่วยทำความสะอาดรัง โรคแซคบรูด (Sacbrood) อาการ เป็นการยากในการตรวจสอบดูเชื้อไวรัส ลักษณะอาการของโรค หลังจาก ที่ผึ้งเป็นโรคเข้าดักแด้ได้ 4 วัน หลอดรวงจะปิดฝาเรียบร้อย บริเวณส่วนหัวของตัวที่ตายจะมีสีดำ ลำตัวที่เป็นสีขาวใสจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีด ๆ จนเป็นสีน้ำตาลและสีดำในที่สุด เมื่อดึงตัวอ่อนออกจากหลอดรวงมาตรวจสอบ จะพบว่าตัวอ่อนตายอยู่ในถุง (sac) ภายในตัวอ่อนเต็มไปด้วยน้ำ และเมื่อแห้งจะเป็นสะเก็ดที่ติดอยู่อย่างหลวม ๆ กับผนังของหลอดรวง การป้องกันกำจัด ยังไม่มีสารเคมีใดที่ใช้ในการควบคุมกำจัดโรคชนิดนี้ได้ ผู้เลี้ยงผึ้งจึงควรจัดการสภาพภายในรังให้ดี มีการเปลี่ยนผึ้งแม่รังใหม่ การจัดการประชากรผึ้งให้แข็งแรง การเพิ่มประชากรผึ้งงาน โรคที่มีสาเหตุมาจากโปรโตซัว โรคโนซีมา (Nosema disease) สาเหตุ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว (Nosema apis) ซึ่งสืบพันธุ์โดยการใช้สปอร์ สปอร์เหล่านี้จะเข้าทำลายผึ้งเมื่อผึ้งกินเข้าไป เชื้อจะเจริญในทางเดินอาหาร สามารถเพิ่มจำนวนสปอร์ได้อย่างรวดเร็ว เชื้อนี้สามารถอยู่ในผึ้งแม่รังและแพร่กระจายได้โดยผึ้งแม่รังเป็นพาหะ อาการ ผึ้งที่เป็นโรคนี้ อาจมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต ปล้องท้องยืดและบวมผิดปกติ ถ้าจับตัวที่เป็นโรคนี้มา ค่อย ๆ ดึงส่วนหัวและอกออกจากกันอย่างระมัดระวัง จะพบทางเดินอาหารบวมโต สีขุ่น แตกต่างจากผึ้งปกติ การป้องกันกำจัด แยกรังผึ้งที่เป็นโรคออกจากรังอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปสู่รังอื่น ๆ และใช้สารฟูมาจิลิน (fumagilin) อัตรา 25 มิลลิกรัมสารออกฤทธิ์ กับน้ำเชื่อม 1 ลิตร ในช่วงเวลาที่ผึ้งเกิดความเครียด จะเป็นการลดและป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อนี้ได้  
คำสำคัญ (Tags): #คนเรียนผึ้ง
หมายเลขบันทึก: 48363เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท