สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนจบ


ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

ตอนจบ

 [อ่านพระราชประวัติ ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๑.๑, ตอนที่ ๑.๒, ตอนที่ ๑.๓, ตอนที่ ๑.๔, ตอนที่ ๑.๕, ตอนที่ ๑.๖ตอนที่ ๒, ตอนที่ ๒.๑, ตอนที่ ๒.๒, ตอนที่ ๒.๓, ตอนที่ ๒.๔ ]

ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนกรมงานถวายพระเพลิงพระศพ

            ก่อนที่สมเด็จพระบรมราชชนกจะเสด็จทิวงคตนั้น ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจะเลื่อนกรมถวาย ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น “กรมหลวง”

            ในงานพระเมรุถวายพระเพลิงพระศพในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ราชบัณฑิตยสภาได้จัดพิมพ์หนังสือชุด “เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์” ซึ่งเป็นหนังสือสอนเด็กให้มีความรู้ทางสุขศึกษาแจกในงานนั้น

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

               ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการแพทย์ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มีผู้ได้ลองประมาณพระราชทรัพย์ที่พระราชทานและค่าก่อสร้างต่างๆ เท่าที่ทราบเป็นเงินประมาณ ๑ ล้าน ๔ แสนบาท และทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลัง เพื่อการแพทย์โดยแท้ กล่าวคือ ทรงพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า ซึ่งมีผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณไปแล้วอย่างน้อย ๓๔ คน ทรงพระราชทานเงินเพื่อก่อสร้างตึกต่างๆ ในโรงพยาบาลศิริราช

           ในด้านสาธารณสุขทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพฯ   เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ที่ทรงศึกษามาและนอกจากจะทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑลดังกล่าวแล้ว เคยทรงปรารภกับ ดร. เอลลิส  ว่าจะให้มีการเผาศพด้วยไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรสุขาภิบาล

             ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหือจากการแพทย์เป็นต้นว่า ทรงพระราชทานทุน ๑ แสนบาท แก่กรมประมง เพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศและพระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอนอีก ๑ คน

เฉลิมพระเกียรติ

                  ปัจจุบันทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก” เมื่อ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓

             บรรดาผู้ที่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาต่อต่างประเทศ   ได้รวบรวมทุนทรัพย์ตั้งเป็นทุน เรียกว่า “ทุนมหิดลอดุลยเดช” เก็บดอกผลเพื่อช่วยนักศึกษาแพทย์ที่ขัดสนในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

              ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โรงพยาบาลศิริราช ได้สร้างตึกคนไข้พิเศษขึ้นเป็นหลังแรก ได้ให้นามว่า “ตึกมหิดลวรานุสรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดตึกด้วยพระองค์เอง

                ในปีนี้เอง ศาสตราจารย์ A.G. Ellis ได้เขียน บทความเทิดพระเกียรติ The Service to Medicine in Siam Rendered by H.R.H. Prince Mahidol of Songkla, C.P.H., M.D. [Bulletin of the Institute of the History of Medicine. IV: 2 (February 1936)]

             Dr. Smith ได้ศึกษาปลาบู่   ซึ่งได้ตัวอย่างมาจากตำบลแหลมสิงห์ จ. จันทบุรี    ได้ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mahidolia normani    เพราะทรงมีอุปการคุณแก่กิจการสัตว์น้ำของประเทศและถวายราชสดุดีว่า

“The genus is named in honor of His Royal Highness Prince Mahidol of Songkla decased, in appreciation of his substantial interest in the fishes and fisherness of Siam. This interest was manifested in various ways, notably by setting aside of a large fund for sending young Siamese abroad for special training I fishery work”

               วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศ เป็น "สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์"

                ที่เชียงใหม่ บรรดาพ่อค้าประชาชนได้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สร้างตึกคนไข้พิเศษ “มหิดล” ขึ้นที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค และได้เปิดเมื่อ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

                พ.ศ. ๒๔๙๓ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปของสมเด็จพระบรมราชชนก ประดิษฐานไว้ในบริเวณโรงพยาบาลใกล้ตึกเสาวภาคย์ ที่อดีตซึ่งเคยเสด็จทรงปฏิบัติงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓

            นับแต่นั้นมา ได้มีการวางพวงมาลาสักการะพระราชานุสาวรีย์ ในวันที่ ๒๔ กันยายน ทุกปี และถือเป็น “วันมหิดล” ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาเป็นราชสักการะ    ด้วยนอกจากนั้นคระแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังได้จัดให้มีการขายธงและชักชวนให้ประชาชนบริจาคเงินช่วยในการรักษาพยาบาลคนไข้อนาถาและได้ตั้งทุน “วันมหิดล”     ต่อมาเรียกชื่อว่า “ทุนสมเด็จพระบรมราชชนก” เพื่อใช้ในการสนับสนุนการศึกษาต่อในต่างประเทศของคณาจารย์ในศิริราชพยาบาล ดังที่เคยทรงพระราชดำริไว้เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ แต่มีอันต้องเลิกไปเมื่อเสด็จทิวงคตแล้ว

                   พ.ศ. ๒๕๐๕ โรงพยาบาลศิริราชได้จัดงานฉลองครอง ๗๒ ปี คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลได้หล่อพระบรมรูปขนาดเล็กขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ปรารถนาจะมีไว้ลักการะบูชาระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

               พ.ศ. ๒๕๐๖ โรงพยาบาลประสาท กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอพระบรมราชานุญาตในการจัดทำพระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชชนก เพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติในการที่ได้ทรงริเริ่มการวิจัยทางการแพทย์ ทรงพระราชทานและเสด็จประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปที่โรงพยาบาลประสาท เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗

                  นอกจากนี้ ตึกสภาสังคมสงเคราะห์ที่พญาไทก็ได้นามว่า “ตึกมหิดล”

                 พ.ศ. ๒๕๐๘ ประชาชนในจังหวัดสงขลาได้ร่วมใจกันบริจาคเงินเพื่อสร้างตึกคนไข้ขึ้น และขอพระราชทานนามตึกว่า “มหิดลอดุลยเดช” และได้จัดการสร้างพระบรมรูปขึ้น โดยพระบรมราชานุญาตและได้รับพระราชทานเงินเป็นทุนเดิม ๑๐,๐๐๐ บาท และมีผู้ร่วมบริจาคสมทบ โดยเสด็จพระราชกุศล เมื่อสร้างพระบรมรูปแล้ว ยังมีเงินเหลือจึงทูลเกล้าถวายเพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิ และขอพระราชทานนามมูลนิธิว่า “มหิดลสมขลา” ทั้งนี้เพื่อระลึกถึงพระอุปการคุณที่มีต่อโรงพยาบาลเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และจังหวัดสงขลาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ใช้เป็นพระนามทรงกรมของสมเด็จพระบรมราชชนก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประกอบพิธีเปิดในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

                 พ.ศ. ๒๕๑๐ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ใช้พระนามของ สมเด็จพระบรมราชชนก “มหิดล” เป็นนามของมหาวิทยาลัยสืบแทนของเดิม เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์ได้ทรงมีพระราชกรณียกิจเกื้อกูลแก่การแพทย์ของประเทศไทยมาตั้งแต่ดั้งเดิม

                 พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ โดยได้นำพระนาม กรมที่ทรงอยู่เป็นชื่อของมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”

                ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก”

                พ.ศ. ๒๕๑๘ สมเด็จพระบรมราชินาถ เสด็จแทนพระองค์เพื่อทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนกที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทรงประกอบพิธีเททองเมื่อ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

               พ.ศ. ๒๕๒๑ เดือนกันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งประดิษฐานในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

                พ.ศ. ๒๕๒๓ ข้าราชการกรมประมงได้วางพวงมาลาสักการะพระบรมรูป ณ ศิริราชพยาบาลเป็นครั้งแรกและถวายราชสดุดีว่าเป็น “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่เคยพระราชทานทุนการศึกษาด้านประมง เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

                 พ.ศ. ๒๕๑๘ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานฉลองศิริราชครบ ๘๔ ปีขึ้น ในงานนี้ได้มีการออกดวงตราไปรษณียากร ราคาดวงละ ๗๕ สตางค์ เป็นภาพชุดพระราชานุสาวรีย์ที่โรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้ ได้มีการทำเหรียญที่ระลึกของงานเป็น โลหะ ๓ ชนิด คือ ทองคำ, เงิน, ทองแดง โดยได้อัญเชิญพระรูปของพระบรมราชชนกไว้ด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นพระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

                พ.ศ. ๒๕๒๕ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำการปฏิสังขรณ์ฐานพระราชานุสาวรีย์ โดยทำการหล่อผ้าทิพย์ และแผ่นจารึกด้วยโลหะ และปรับปรุงบริเวณฐานพระรูปขึ้นใหม่ และในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี คณะกรรมการจัดงานได้หล่อพระรูปครึ่งพระองค์เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแก่ผู้สนใจ เป็นโลหะ ๒๐ องค์ และเป็นปูนพลาสเตอร์ ๑๐๐ องค์........

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

*********************************

                            พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก   ที่ไม่ทรงยินยอมให้พระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์อันสูงยิ่ง  ของพระองค์มาขวางกั้นการปฏิบัติพระองค์ตามพระปณิธานที่มั่นอยู่ในอุดมการณ์ที่เชิดชูชีวิต   ศักดิ  และฐานะของบุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์  เป็นข้อที่น่าปลื้มปิติ   และน่าภาคภูมใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับประชาชนคนไทย   เพราะปรากฎต่อมาภายหลังว่าอุดมการณ์ที่พระองค์ทรงยึดถือปฏิบัตินี้   องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป็นหลักการข้อหนึ่งของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ค.ศ. ๑๙๔๘  และก็ด้วยพระราชกรณียกิจข้อนี้   ซึ่งมีความสำคัญในความหมายของชุมชนนานาชาติ  ประกอบกับพระกรณียกิจอื่น  ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น    องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (UNESCO)  โดยคณะกรรมการบริหารและที่ประชุมใหญ่ของบรรดารัฐสมาชิกได้มีมติให้ร่วมกับประเทศไทยในการเฉลิมพระเกียรติ  ของพระองค์ในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญของโลก  เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๑๐๐ ปี ของพระองค์

                        สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก   ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว    แต่พระราชกรณียกิจต่างๆ  และพระคุณลักษณะแห่งบุคลิกภาพอันประเสริฐของพระองค์จะยังสถิตย์อยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทยตลอดไป

 

************************************

หมายเลขบันทึก: 48361เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท