ครูในดวงใจ....และมดแดงในขวดพลาสติก


ผมได้ฟังแล้ว ก็รู้สึกทึ่งและแปลกใจกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในครั้งนี้

 

 

 

 บันทึกการเดินทาง :

ครูในดวงใจ...และมดแดงในขวดพลาสติก

 

 

 

คุณครูวิราช - คุณครูกาญจนา   กองแก้ว

 

(๑)

 

 

          เมื่อวันที่  22  มีนาคม  2555  ที่ผ่านมา  ผมพาครอบครัวไปเยี่ยมพ่อบุญธรรมของผมที่บ้านหนองเก่า ต.พราน  อ.ขุนหาญ  จ.ศรีสะเกษ โดยพ่อบุญธรรมได้พาผมและครอบครัวไปเยี่ยมชมสวนผลไม้ของท่านด้วย

          พ่อบุญธรรมของผม ชื่อ  คุณครูวิราช  กองแก้ว  เป็นข้าราชการครูสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านพราน(ประชานุเคราะห์) ต.พราน  อ.ขุนหาญ  จ.ศรีสะเกษ

          เดิมทีท่านเป็นชาวอำเภอหัวตะพาน  จังหวัดอุบลราชธานี  แต่สอบบรรจุได้ที่โรงเรียนบ้านพราน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม จากนั้นท่านก็สอนอยู่ที่นี่ตลอด จนกระทั่งแต่งงานกับครูโรงเรียนเดียวกัน และสอนอยู่ที่โรงเรียนนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น กว่า 30 ปีแล้ว

          สมัยที่ผมเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมอยู่ที่นี่ ท่านรักและห่วงใยผมเหมือนลูกแท้ๆ ของท่าน คอยช่วยเหลือผมและครอบครัวตลอดเวลา  แม้เมื่อตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม ท่านก็เป็นคนอุปการะค่าเล่าเรียนให้ผมทั้งหมด....ผมก้าวมาถึงวันนี้ได้ ก็เพราะท่านนี่แหละ ที่คอยอุปถัมภ์และช่วยเหลือผมมาตลอดและอย่างยาวนาน

          ทุกๆ ปี เมื่อผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ศรีสะเกษ  ผมก็จะเดินทางไปเยี่ยมท่านเสมอทุกครั้ง ....แต่บางครั้งท่านก็จะเป็นฝ่ายเดินทางมาเยี่ยมผมและครอบครัวที่เชียงใหม่ด้วยเช่นกัน

          ผมกับท่าน....จึงมีความรักและความผูกพันต่อกันตลอดเวลา  ไม่ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปยาวนานสักเพียงใดก็ตาม

 


(๒)

 

          วันนั้น พ่อบุญธรรมพาผมและครอบครัวเดินชมสวนอย่างมีความสุข และเด็กๆ ต่างก็พากันสนุกสนานและอิ่มท้องไปตามๆ กัน  เนื่องจากมีผลไม้หลายอย่างที่กำลังสุกอยู่พอดี

          ในขณะที่กำลังเดินชมสวนผลไม้อยู่นั้น  ผลเหลือบไปเห็นขวดพลาสติกที่พ่อบุญธรรมดัดแปลงขึ้นสำหรับใช้เป็น "กับดักแมลงวันทอง" ซึ่งชอบเจาะกินผลไม้และวางไข่อยู่ในผลไม้จนทำให้ผลไม้เน่าและเสียหาย

          ช่วงหนึ่ง ผมมองเห็นมดแดงไต่และวางไข่อยู่ในขวดพลาสติกสำหรับดักแมลงวันทองดังกล่าว 

          ผมเกิดความสงสัยจึงถามพ่อบุญธรรมว่า ทำไมมดแดงถึงเข้าไปวางไข่อยู่ในนั้นได้

          พ่อบุญธรรมท่านบอกว่า.... เดิมทีก็ทำไว้ดักแมลงวันทองนั่นแหละ  แต่ไปๆ มาๆ มดแดงกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้นแทน แถมยังวางไข่ไว้เต็มอีกต่างหาก ซึ่งเป็นความบังเอิญที่น่ามหัศจรรย์มากๆ เลยทีเดียว  ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกที่หาดูได้ยาก  ก็เลยปล่อยไว้อย่างนั้น  โดยไม่รบกวนมันแต่อย่างใด ปล่อยให้มันได้แพร่พันธุ์ต่อไป จะได้ช่วยในการกำจัดศัตรูผลไม้ลงได้บ้าง เช่น  หนอน และเพลี้ย  เป็นต้น

           ผมได้ฟังแล้ว ก็รู้สึกทึ่งและแปลกใจกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในครั้งนี้

          วันนี้ ผมก็เลยเก็บภาพมดแดงในขวดพลาสติกมาให้เพื่อนๆ ใน GTK  ได้ชมกันนะครับ

 

 

 เด็กๆ โพสต์ท่าถ่ายรูปใต้ต้นมะยงชิด

 หวาน อร่อย และเก็บมาจากต้นสดๆ   คิคิคิ

 สวนยางพาราอันร่มรื่น

 รถเก๋งคันเล็กของผมกำลังพักผ่อนอยู่ใต้ร่มยางพาราอย่างมีความสุข

 ระวังลูกทุเรียนตกใส่หัวเด้อ  เด็กๆ   555 

 น้องแพรวพราวขี่หลังแม่ชมสวนอย่างมีความสุขที่สุด

 ละไม...ออกลูกดกเต็มต้น

 ลองกองกำลังออกดอก

ถนนลูกรังที่ตัดผ่านสวนยางพาราอันร่มรื่น

 

มดแดงเข้าไปทำรังอยู่ในขวดพลาสติก

 

 

เพลง   "ครูในดวงใจ"

ร้องโดย   "ไมค์   ภิรมย์พร"


หมายเลขบันทึก: 483577เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

ทั้งลองกองทั้งยางพาราถ้าไม่บอกผมไม่รู้เลยว่าเป็นที่ศรีสะเกษครับ

สวัสดีค่ะ

นี่น่าจะเป็นนวัตกรรมสำหรับผู้หาไข่มดแดงนะคะ

จากผุ้หาเป็นผู้เลี้ยง....

น่าสนใจนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ห้ามจอดใต้ต้นทุเรียนนะครับ

มดแดงทำรังอยู่ในขวดพลาสติก....เพิ่งเคยเห็น

..

ขอบคุณมากนะครับ

สวนร่มรื่นๆไม่แพ้ที่ปัหษ์ใต้เลยนะครับ

ถนนลูกรังที่ตัดผ่านสวนยางพาราอันร่มรื่น...สวยมากครับ

น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนเรื่องสั้นสักเรื่องที่เกี่ยวกับคนชีวิตได้ครับ

...คนที่รักและระลึกถึงครูจะเจริญทุกคนครับ

...ไม่น่าเชื่อว่า...บ้านพี่จะร่มรื่น เต็มไปด้วยผลไม้ มากมาย...อย่างนี้ครับ

...เด็กเขาเหมาะกับธรรมชาติ ต้นไม้ และความรักของพ่อและแม่...ความทรงจำจะอยู่กับเขาไปชั่วชีวิตครับ

...นวัตกรรมไม่ตั้งใจเกิดขึ้นแบบไม่ตั้งใจ แต่มีประโยชน์มากมายมหาศาล เช่น การค้นพบยาปฏิชีวะโดยบังเอิญ

มดแดงกินได้ไหมครับ ?

Happy ครับ ขอให้เป็นทริปแห่งความประทับไม่รู้ลืมครับ

เพราะได้พบกับสิ่งล้ำค่าหลายสิ่งด้วยกัน

จบแบบวกกลับไปกลับมาครับ

ตื่นเต้นจนเขียนไม่ถูก...สนุกครับ

แต่ ก็มีซาบซึ้งด้วย ฯลฯ ครับ

อย่างนี้หากคนที่หาไข่มดแดงขายก็ง่ายต่อเขามากเลย แล้วเจ้ามดแดงที่เข้าไปไข่นี้ สงสัยจะไม่ขยันทำรังเองแน่ๆ ไข่ในที่โปร่งแสงเสียด้วย หากมีผู้เลียนแบบเพื่อให้มดแดงไข่เพื่อนำไปขายได้เงินใช้ อย่างไม่ต้องแหงนคอสอยสูงๆก็สบายไป ทำให้คิดถึงสวนมะม่วงบ้านสุพรรณ ก็แขวนไว้แต่มดแดงไม่มาไข่ค่ะ 

 

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

 

-หากย้อนหลังกลับไปถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้แถวๆ นี้ชาวบ้านต่างก็พากันปลูกพืชเชิงเดี่ยวทุกปีนะครับ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และถั่วลิสง ....แต่ตอนหลังมามีชาวบ้านบางคนลองนำเงาะและทุเรียนไปปลูกดู ปรากฏว่าโตเร็วและได้ผลเป็นอย่างดี ต่อมาชาวบ้านแถวนั้นก็เลยมีการนำเอาผลไม้นานาชนิดไปปลูกตามบ้าง ทั้งเงาะ ทุเรียน ลองกอง ลางสาด มะปราง มะยงชิด ส้มโอ มะขามหวาน มะม่วง เกาลัด และสตอ เป็นต้น ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี จนกลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษกิจที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ

โดยปัจจุบันนี้ได้มีการจัดเทศกาลผลไม้ของจังหวัดศรีสะเกษขึ้นประจำทุกปี ซึ่งผลไม้ที่นำไปแสดงโชว์ก็นำไปจากตำบลที่เป็นบ้านเกิดของผมนี่เอง

-ก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคิดหรอกนะครับว่ายางพาราจะสามารถปลูกได้ในภาคอีสาน แต่พอมีคนนำไปทดลองปลูกดู แล้วได้ผลดี ตอนนี้ก็เลยมีคนปลูกยางพาราเต็มไปหมด ทำให้ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และทำให้ชาวบ้านแถบนั้นไม่ต้องลงไปหางานทำที่ กทม.เหมือนอย่างเมื่อก่อนอีก

-ปัจจุบันนี้ ศรีสะเกษได้กลายเป็นแหล่งรวมของพืชและผลไม้ที่สำคัญระดับประเทศไปแล้วนะครับ อะไรที่ปักษ์ใต้มี ที่นั่นก็มีเช่นกัน เช่น ลองกอง ยางพารา และสตอ เป็นต้น....อะไรที่ภาคตะวันออกมี ที่นั่นก็มีเช่นกัน เช่น เงาะ ทุเรียน มะปราง มะยงชิด เป็นต้น.....และผลไม้ของทางภาคเหนือ ที่นี่ก็มีเช่นกันครับ ทั้งลำใยและลิ้นจี่.....เรียกได้ว่า ที่นี่มีครบทุกอย่างเลยนะครับ

สวัสดีครับ คุณป้าลำดวน

 

หากเป็นที่อื่น มดแดงในขวดพลาสติกที่เห็นคงกลายเป็นเมนูอาหารไปเรียบร้อยแล้วละครับ แต่พ่อบุญธรรมของผมท่านเป็นคนใจบุญมากๆ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลก ก็เลยปล่อยอย่างนั้น โดยไม่รบกวนมันแต่อย่างใด

อีกอย่าง....มดแดงเองก็คงจะรู้ด้วยแหละว่าตรงนี้คือที่ๆ ปลอดภัยที่สุดสำหรับมัน มันก็เลยทำรังและวางไข่ไว้ในขวดพลาสติกแบบหน้าตาเฉย โดยไม่ต้องมีความกังวลใดๆ เลย.....ช่างน่ารักและน่าอัศจรรย์ใจเสียจริงๆ

สวัสดีครับ อาจารย์โสภณ เปียสนิท

 

ใต้ต้นทุเรียน....ไม่เหมาะสำหรับการจอดรถ

แต่เหมาะสำหรับการไปนอนเพื่อทดสอบทฤษฏีโน้มถ่วงแบบไอแซค นิวตัน มากๆ เลยนะครับ   คิคิคิ

สวัสดีครับ คุณแสงแห่งความดี

 

-ผมก็เคยมดแดงในขวดพลาสติกเป็นครั้งแรกเช่นกันนะครับ ก็เลยเก็บภาพมาฝากด้วยครับ

-ปัจจุบันนี้ที่นั่นมีพืชและผลไม้ทุกชนิด เหมือนที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และปักษ์ใต้มีอยู่นะครับ

ไปที่ศรีสะเกษที่เดียว เหมือนกับไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยเลยละครับ

แสดงว่าที่ศรีสะเกษดินอุดมสมบูรณ์มากครับ

สวนยางพาราดูร่มรื่นมากเลยนะคะ สวนสวยและผลไม้เยอะจริงค่ะ

สวัสดีวันแดดร้อนค่ะ

  • เป็นบันทึกที่ได้ทั้งความรู้ ความแปลก และได้ความงดงามด้วยครับ
  • มดรังนี้มองการณ์ไกลมากเลยนะครับ
  • เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เตรียมลูกหลานให้มีทักษะทำรังในสภาพที่ไม่ต้องใช้ใบไม้ ใช้พลาสติกเสียเลย
  • ศรีสะเกษเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของสองเกษตรกรจากฟาร์มไอดินฯ ค่ะ ซึ่งได้ไปเที่ยวชมและหาซื้อพันธุ์ไม้ที่ศรีสะเกษมาหลายครั้ง หลายแหล่งค่ะ
  • คุณครูวิราชบอกว่า ชาวสวนทุเรียนจากภาคตะวันออก ได้ไปขอเช่าต้นทุเรียนที่อ.ขุนหาญ เพื่อผลิตผลจำหน่ายในท้องที่ใกล้เคียงโดยอ้างว่าเป็นทุเรียนจากภาคตะวันออก ทั้งนี้ได้ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อเร่งให้ต้นให้ผลผลิตในปริมาณมากๆ ในเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นต้นก็ทรุดโทรมหมด
  • นับเป็นการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของมดแดงนะคะ ที่มีวิธีหาที่อยู่อาศัยแบบไม่ทำลายต้นไม้ มี่ฟาร์มก็มีที่ดักแมลงศัตรูพืชคล้ายๆ ที่สวนคุณครูวิราช แต่มดแดงที่นั่นไม่มีความคิดริเริ่ม ยังทำรังจากใบไม้เหมือนบรรพบุรุษพาทำ ต้นไม้ที่ฟาร์มจึงมีรังมดแดงเต็มไปหมด แต่ก็ไม่ได้ไปเก็บมากิน เพราะรู้สึกว่าเป็นการทำลายบ้านของเขา และการกินแต่ละครั้งก็ต้องกินชีวิตเขาเป็นจำนวนมาก พี่สาวคนติดกันเล่าให้ฟังว่า เคยดูมดแดงทำรัง เขาต้องต่อตัวกันเป็นทอดๆ กว่าจะดึงใบไม้ให้ม้วนเข้าหากันเป็นรัง หลังจากนั้นเธอก็ไม่กินไข่มดแดงอีก
  • คุณครูวิราชสะกดให้ฟังว่า ภรรยาเปลี่ยนชือใหม่เป็น "กัญญจนา" นะคะ
  • ฝากรูปตอนที่ไปเยี่ยมคุณครูวิราชมา เพื่อแสดงว่ายังระลึกถึงน้ำใจของคุณครูทั้งสองมิรู้ลืม
  • เมื่อไหร่ละไม ลองกอง และทุุเรียนแก่ จะไปเยี่ยมท่านอีก (อิอิ...กะไปกินอย่างเดียว) จริงๆ แล้วก็คือรอให้มีผลผลิตจากฟาร์มไอดินฯ ไปฝากท่านถึงจะไปเยี่ยมท่านอีกค่ะ

 

สวัสดีครับ คุณหมออดิเรก(ทิมดาบ)

 

-สมัยก่อนแถวๆ บ้านผมจะมีสภาพแห้งแล้งมากๆ เลยนะครับ บรรยากาศไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเลย สมัยนั้นชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ปีละครั้งเท่านั้น แถมยังเป็นการปลูกตามยถากรรมอีกต่างหาก ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลยค่อนข้างจะยากจนตามไปด้วย

แต่ต่อมาชาวบ้านที่มี "หัวก้าวหน้า" ได้พากันทดลองปลูกผลไม้และพืชชนิดต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี ก็เลยมีการทำตามๆ กัน จนทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง....จากพื้นที่ๆ เคยแห้งแล้ง ก็กลับเป็นพื้นที่ๆ มีความอุดมสมบูรณ์และมีความเขียวชะอุ่ม....จากหมู่บ้านที่เคยยากจน ก็กลายเป็นหมู่บ้านที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

-ผมมีคุณครูในดวงใจอยู่ 2 ท่าน นะครับ คือ คุณครูวิราช กองแก้ว ผู้ที่คอยสนับสนุนและอุปการะผมมาตั้งแต่วัยเยาว์ และ อาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ครูใหญ่ผู้คอยดูแลผมตอนเป็นผู้ใหญ่และเป็นต้นแบบแห่งการดำเนินชีวิตของผมในปัจจุบัน....ซึ่งทั้งสองท่านนี้ต่างก็ดำรงอยู่ในความทรงจำของผมอยู่เสมอ....ตราบนิรันดร์

-การเดินทางเที่ยวนี้ มีความสุขมากกว่าปีก่อนๆ นะครับ เนื่องจากไม่ได้เร่งรีบ รถไม่ติด แวะเที่ยวหลายแห่ง และเตรียมตัวไปค่อนข้างดี เลยทำให้มีความสุขกันทุกคนครับ

-พ่อบุญธรรมของผมท่านใจดีครับ และเห็นเป็นเรื่องแปลกที่มดแดงวางไข่ไว้ในขวดพลาสติก เลยไม่ทำอะไรมัน ปล่อยให้มันได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยกำจัดแมลงศัตรูของผลไม้ได้อีกด้วย เช่น หนอน และเพลี้ยต่างๆ เป็นต้น

-บางครั้ง....สิ่งมหัศจรรย์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ก็สามารถสร้างความสุขที่ยิ่งใหญ่ให้กับผู้พบเห็นได้เสมอนะครับ

สวัสดีครับ พี่กานดา น้ำมันมะพร้าว

 

-มดแดงในขวดพลาสติกที่เห็นนั้น เป็นปรากฏการณ์หรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและโดยบังเอิญนะครับ แม้แต่พ่อบุญธรรมของผมเองก็ยังรู้สึกแปลกใจมากๆ เลยทีเดียว

-หากใครสามารถเพาะเลี้ยงมดแดงในขวดพลาสติกแบบนี้ได้ ต้องยอมรับว่า เจ๋งมากเลยนะครับ และคงจะช่วยสร้างรายได้ให้พอสมควรเลยทีเดียว....แต่ผมว่ามันคงจะยากอยู่นะครับ พี่ดา!

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

 

-ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่อาจารย์กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมบันทึกนี้เป็นรอบที่ 2

-ดินแถวๆ บ้านเกิดของผมเป็น "ดินแดง" นะครับ เวลาโดนน้ำจะเหนียวหนึบเลย สมัยก่อนแถวๆ นั้นจะแห้งแล้งมาก ชาวบ้านจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ปีละครั้งเท่านั้น เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และถั่วลิสง เป็นต้น แถมยังเป็นการปลูกตามยถากรรมอีกต่างหาก ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลยค่อนข้างจะยากจนตามไปด้วย

แต่ต่อมาชาวบ้านที่มี "หัวก้าวหน้า" ได้พากันทดลองปลูกผลไม้และพืชชนิดต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี ก็เลยมีการทำตามๆ กัน จนทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง....จากพื้นที่ๆ เคยแห้งแล้ง ก็กลับเป็นพื้นที่ๆ มีความอุดมสมบูรณ์และมีความเขียวชะอุ่ม....จากหมู่บ้านที่เคยยากจน ก็กลายเป็นหมู่บ้านที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัจจุบันนี้แถวๆ บ้านผมกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญระดับประเทศไปแล้วนะครับ

เดี๋ยวนี้ พ่อค้าแม่ค้าทางระยองหรือจันทบุรี จะพากันมาเหมาเงาะและทุเรียนจากที่นี่ไปขายที่ภาคตะวันออกทุกปี เนื่องจากเนื้อดี ลูกสวย และรสชาติดีกว่าที่จันทบุรีหรือระยอง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเสียอีก....แม้แต่ลูกสะตอ ก็ยังเม็ดใหญ่กว่าสะตอทางปักษ์ใต้ซึ่งเป็นต้นตำรับอีกด้วยนะครับ

-ที่กล่าวมาทั้งหมด คือเรื่องจริงนะครับ .....ไม่ได้โม้เลย 555

สวัสดีครับ คุณ ...ปริม pirimarj...

 

-ในอนาคตคุณปริมสามารถทำสวนผลไม้เป็นของตัวเองที่เชียงใหม่ได้นะครับ

เดี๋ยวจะขอให้พ่อบุญธรรมของผมมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ครับ เพราะท่านขึ้นมาเยี่ยมผมที่เชียงใหม่อยู่บ่อยๆ ครับ

-ร้อนหรือเย็น....อยู่ที่ใจนะครับ คิคิคิ

สวัสดีครับ คุณนงนาท สนธิสุวรรณ

 

ขอบคุณคุณป้าใหญ่มากๆ นะครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาทักทายและให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ

สวัสดีครับ อาจารย์ ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์


-ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ

-เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ กับสิ่งที่อาจารย์กล่าวมาว่า....."มดรังนี้มองการณ์ไกลมากเลยนะครับ.... เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เตรียมลูกหลานให้มีทักษะทำรังในสภาพที่ไม่ต้องใช้ใบไม้ ใช้พลาสติกเสียเลย"

-อาจจะเรียกได้ว่า มดกลุ่มนี้คือ "มดแดงหัวก้าวหน้า" หรือ "มดแดงกบฏ" ก็ได้นะครับ  ที่กล้าทำอะไรแหกกฏจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของตนเอง   555

สวัสดีครับคุณ อักขณิช......

เห็นมะยงชิดปลิดมากินกันเห็นเห็น ทั้งทุเรียน ละไมก็ดกดื่น ไม่แพ้ เมืองจันทร์ หรือภาคใต้

ยางพาราก็คงปลูกมาหลายปี เปิดหน้ากรีด เปลือกหน้าแรกไกล้หมดแล้ว ฟังมาว่า สะตอที่ศรีษะเกษก็อร่อยรสจัดจ้านไม่น้อย

สวัสดีครับ อาจารย์ ผศ.วิไล แพงศรี

 

-ขอบคุณป้าวิมากๆ เลยนะครับ ที่กรุณาช่วยเพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนให้ ซึ่งทำให้บันทึกนี้มีความสมบูรณ์และน่าสนใจมากยิ่งๆ ขึ้น

-ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า "แม่บุญธรรม" ของผมเปลี่ยนชื่อใหม่(แต่ความหมายยังคงเดิม) ใกล้เกลือกินน้ำปลาแท้ๆ เลยนิ 555

-เงาะและทุเรียนจะแก่และสุกช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นะครับ ถึงตอนนี้ก็ขอให้ป้าวิกับลุงสอโทรไปหาพ่อบุญธรรมของผมได้เลยนะครับ ซึ่งคงจะต้องรีบๆ โทรไปหน่อยนะครับ ก่อนที่เงาะและทุเรียนจะหมดเสียก่อน

สวัสดีครับ ท่านวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

-ตอนนี้ที่ศรีสะเกษกลายเป็นแหล่งรวมผลไม้ของทุกภาคเลยนะครับ เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง ลางสาด มะปราง มะยงชิด ส้มโอ มะขามหวาน มะม่วง เกาลัด กล้วย ส้มเขียวหวาน ลำใย ลิ้นจี่ และสตอ เป็นต้น ซึ่งทะยอยให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ไปที่นี่ที่เดียวเหมือนกับไปเที่ยวมาทั่วประเทศเลยละครับ

-ยางพาราเริ่มปลูกที่ศรีสะเกษประมาณ 15 ปีที่แล้วนะครับ ปัจจุบันนี้ไปทางไหนก็เห็นสวนยางพาราอยู่เต็มไปหมด ส่วนใหญ่สามารถกรีดได้แล้ว ทำให้ชาวบ้านที่นั่นมีราคาได้ที่มั่นคง ทั้งเจ้าของสวนยางและคนงานที่รับจ้างกรีดยาง ทำให้ไม่ต้องลงไปทำงานที่ กทม.เหมือนอย่างในอดีต

  • คุณอักขณิช "ใกล้เกลือกินน้ำปลา" แต่ถ้าเป็นป้าวิ จะเป็น "ใกล้เกลือกินปลาร้าต่วง" ค่ะ 

สวัสดีครับ อาจารย์ ผศ.วิไล แพงศรี


-วันนั้นผมไม่ค่อยได้คุยกับป้าวิมากนัก เนื่องจากป้าวิมัวแต่เห่อหลานๆ มากกว่านั่นเอง 555

-เจ้าแพรวพราว....ป่วนตลอดทางเลยนะครับ ทั้งขาไปและขากลับ แต่ก็สนุกและมีความสุขมากๆ เลยละครับ

ร่มรื่นและเป็นสุขออกมาจากสีหน้าเลยค่ะ :)

ต้นละไม..เพิ่งเคยเห็น ลูกมันกินได้ไหมคะ

สวัสดีครับ คุณหมอ ป.

-เดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดคราวนี้รู้สึกสนุกและมีความสุขมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมานะครับ เนื่องจากเตรียมตัวพร้อมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสได้แวะเที่ยวหลายที่ด้วย เลยทำให้มีเรื่องราวที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังหลายเรื่องด้วยกัน

- "ละไม"....เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับ "มะไฟ" นะครับ ต้นและใบเหมือนกันเป๊ะเลย แต่แตกต่างกันตรงที่ผล ซึ่งผลของละไมจะมีลักษณะรีๆ ในขณะที่ผลของมะไฟจะมีลักษณะกลมๆ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นผลไม้ที่รับประทานได้นะครับ

ตอนไปบรรจุครูครั้งแรกที่ร.ร.บ้านพรานได้รู้จักกับครูวิราชและครูกาญจณา(ครูกุหลาบ) พอย้ายมาไม่มีโอกาสได้ติดต่อเลยแต่ยังระลึกถึงครูทุกท่านอยู่เสมอ ครูทุกท่านใจดีมากๆ หากมีเวลาจะไปเยี่ยมทุกท่าน สมัยที่เป็นครูที่นั่นยังไม่เจริญเท่านี้เลย .ตอนนี้ครูทุกท่านคงเป็นเศรษฐีกันหมดแล้วนะ ดีใจด้วยคะ...ครูอ้อย ลำพูน 


สวัสดีค่ะ...พี่อักขณิช...แต่ แจงขอเรียก พี่เพลิน

     เป็นความบังเอิญมาก มาก มาก ที่เข้ามาเห็นบล็อกนี้.....พ่อเพิ่งขับรถออกไปตะกี้  เลยหยิบโทรศัพท์โทรถามพ่อทันที "พ่อ พ่อ พ่อเคยได้อ่านบล็อกนี้หรือยัง" พ่อตอบว่า "บล็อกอะไร ยังไง ยัง ยัง" เลยบอกพ่อไปว่า "รีบกลับมาอ่านเลยนะ" ( พ่อเพิ่งจะสนใจเทคโนโลยี ตอนนักเรียนมีแทบเล็ดเนี่ยล่ะค่ะ) อ่านทุกข้อความแล้วก็ยิ้มน้ำตาคลอเบ้า ไม่รู้จะอธิบายยังไง  พ่อแจงโชคดี ที่มีบุตรอย่างพี่เพลินค่ะ

 อ่านมาถึงข้อความสุดท้าย.....น้าอ้อย ลำพูน !!!! แจงจำได้ ภาพเก่าๆ ลางๆ ตอนเรียนอนุบาล ที่ ร.ร.บ้านพราน กลับมาเล็กน้อย เพราะตอนนั้นยังเด็กมาก

     กว่าจะมาเห็นโพสต์นี้มันก็นานเป็นปี แต่ก็คงไม่สายที่จะโพสต์ แสดงความดีใจนะคะ  ฝากข่าวด้วยว่า วันที่ 25 กันยายน 2556 จะมีงานเลี้ยงเกษียณของพ่อวิราช กองแก้ว (ตอนนี้พ่อเปลี่ยนชื่อเป็น วิราธ ) ที่โรงเรียนบ้านพราน นะคะ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท