การจัดการความรู้และงานวิจัย กรณีการแก้ปัญหาสารหนูที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช


การจัดการความรู้และงานวิจัย กรณีการแก้ปัญหาสารหนูที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 การจัดการความรู้และงานวิจัย กรณีการแก้ปัญหาสารหนูที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผศ.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้

                 จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีแหล่งแร่ดีบุก พลวง วุลแฟลม และแร่อาร์เซไนไรด์ ซึ่งมีสารหนูเป็นเพื่อนแร่ปะปนอยู่มาก โดยเฉพาะในเขตตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการทำเหมืองแร่ดีบุกมานานมากกว่า 60 ปี น้ำทิ้งจากกระบวนการทำเหมืองแร่ดีบุกดังกล่าว ถูกปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้มีการบำบัด ทำให้สารหนูปนเปื้อนสู่แหล่งธรรมชาติและสะสมในสิ่งแวดล้อม

                 จากการปนเปื้อนดังกล่าวมีผลทำให้ประชาชน โดยเฉพาะในตำบลร่อนพิบูลย์ ซึ่งได้รับสารหนูจากการอุปโภคน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และบ่อน้ำตื้นป่วยเป็นโรคพิษสารหนูเรื้อรัง (Chronic Arsenic) โดยมีอุบัติการณ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2530

                  จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามบทบาทภารกิจที่รับผิดชอบได้แก่ การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคไข้ต่ำหรือพิษสารหนูเรื้อรัง การจัดหาน้ำสะอาด การจัดกลบกองขี้แร่ การค้นหาและตรวจรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการปนเปื้อนของสารหนูเป็นต้น

                    ในส่วนของการศึกษาวิจัยนั้น มีนักวิจัยทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ในสถาบันต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษาได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารหนูในประเด็นต่างๆ มากมาย เช่น การศึกษาด้านวิทยาการระบาดของสารหนู, ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม, ด้านพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน, ด้านการป้องกัน ควบคุม การเฝ้าระวัง และการรักษาผู้ป่วย ฯลฯ โดยในการศึกษาวิจัยดังกล่าว แต่ละครั้งเกิดผลสัมฤทธิ์จากการวิจัยและผู้วิจัยได้มีสรุปและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาโรคพิษสารหนูในประเด็นต่างๆ ไว้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ

                     สวรส.ภาคใต้ มอ. ได้รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลรายงานการวิจัยทางด้านสุขภาพ ที่ได้รับการตีพิมพิ์เผยแพร่และที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาสารหนูในร่อนพิบูลย์ จำนวน 75 เรื่อง(จาก 100 กว่างานวิจัย) แบ่งเป็นประเด็น ได้ดังนี้ lระบาดวิทยา 13 เรื่อง lการปนเปื้อน 12 เรื่อง lการบำบัด 29 เรื่อง lผลกระทบ 11 เรื่อง lพฤติกรรม 7 เรื่อง lประเด็นอื่น 3 เรื่อง ซึ่งท่านสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่  http://www.ptho.moph.go.th/arsenic/index.htm

                    จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า เรามีองค์ความรู้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
  • ความเป็นมาและเหตุแห่งปัญหา
  • ระบาดวิทยาโรคพิษสารหนู
  • การปนเปื้อน
  • ปัจจัยเสี่ยง
  • พฤติกรรมเสี่ยง
  • ผลกระทบต่อสุขภาพ และต่อสิ่งแวดล้อม
  • แนวทางการแก้ปัญหา เช่นการบำบัดสารหนูในสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำดื่ม

                    แต่เชื่อไหมครับว่า ปัญหาสารหนูที่ร่อนพิบูลย์ ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่ เนื่องจาก ข้อสรุปและองค์ความรู้ที่ได้จากผลการศึกษาวิจัยและข้อเสนอแนะดังกล่าวนั้น มักไม่ได้นำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังในพื้นที่

        สาเหตุเนื่องมาจาก

  • หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีข้อมูลหรือไม่ทราบผลการศึกษาวิจัย
  • องค์ความรู้นั้นไม่สอดคล้องกับสภาพความจริงในปัจจุบัน
  • ผู้เกี่ยวข้องนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ยาก
  • การแก้ปัญหาตามข้อแนะนำต้องใช้การลงทุนสูง
  • การแก้ปัญหาตามข้อแนะนำต้องใช้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน แต่ยังขาดการประสานงานที่ชัดเจน หรือขาดหน่วยงานที่จะเป็นตัวหลักในการประสานงาน
  • ขาดความเข้าใจในบริบทของวิถีชีวิตและสังคมของคนในชุมชนที่สัมพันธ์กับการแก้ปัญหา นำไปสู่การขาดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

        จะเห็นว่า เรามีองค์ความรู้อยู่แต่ขาดการจัดการความรู้  ซึ่งเป็นสภาพที่พบอยู่ทั่วไปในแวดวงวิชาการคือขยันสร้างความรู้ แต่ไม่รู้จักวิธีการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดมรรคผล

         สวรส.ภาคใต้ ได้พัฒนาโครงการ ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อำเภอร่อนพิบูลย์ โดยให้หน่วยงานและคนในพื้นที่มีปฏิบัติการในการจัดการความรู้ร่วมกัน  มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินงานคือ

       1. ดำเนินการเพื่อการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร

       2. เพื่อการประสานงานให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแหล่งทุน

       3. เพื่อเฝ้าระวังด้านสุขภาพและด้านสิ่งแวดล้อม

       4. เพื่อจัดทะเบียน และดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสารหนู

       5. เพื่อจัดการความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการศึกษาวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่

       6. คลินิกโรคพิษสารหนู

       ขณะนี้ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อำเภอร่อนพิบูลย์ ยังอยู่ในระยะตั้งไข่ (ไม่รู้จะฟักเป็นตัวได้เมื่อไร) เพราะหน่วยงานที่เข้ามาร่วมทำงานยังติดกรอบคิดแบบราชการไทยแท้ ต้องรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ขณะที่คนในพื้นที่มีความพร้อมพอสมควรและกำลังรอไฟเขียวจากท่านผู้มีอำนาจ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องพยายามทำต่อไป การมีเวทีพูดจากันแบบสานเสวนาบ่อยๆคงจะช่วยได้

       สุดท้าย คงต้องให้กำลังใจ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ เทศบาลร่อนพิบูลย์ นายอำเภอร่อนพิบูลย์และเครือขายชุมชน ที่จะเป็นแกนสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ในอำเภอร่อนพิบูลย์ ต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4834เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2005 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     จะบอกอาจารย์ว่า link ถูกแล้วครับ http://www.ptho.moph.go.th/arsenic/index.htm แต่ไม่ขึ้นครับ

     ผมถูกใจกับตอนนี้ของอาจารย์มาก "จะเห็นว่า เรามีองค์ความรู้อยู่แต่ขาดการจัดการความรู้  ซึ่งเป็นสภาพที่พบอยู่ทั่วไปในแวดวงวิชาการคือขยันสร้างความรู้ แต่ไม่รู้จักวิธีการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดมรรคผล" แล้วเราควรทำอย่างไรอยากให้อาจารย์ชี้แนะด้วยครับ โดเฉพาะที่พัทลุง จะมีประเด็นการจัดการความรู้ผมว่าอยู่ในระดับน้อยนะครับ (คิดเห็นส่วนตัว) คืออย่างที่ที่ผมมำงาน ผมเป็นคณะทำงานฯ KM ที่ตั้งขึ้นด้วย ประชุมได้ครั้งเดียวกลับมุ่งแต่จะใช้งบไปปรับปรุงห้องสมุด (มีการสอบถามความคิดเห็นใน web มีคนตอบ 2-3 คนแล้งเงียบไป) ในส่วนที่เสนอไว้ไม่มีการดำเนินการต่อเนื่อง ผมไปถามเลขาฯ เพื่อจะเอาบันทึกการประชุมมาลง blog คำตอบคือ "วันนั้นประชุมไม่ทราบใครจดฯ"

     จะบอกอาจารย์ว่า link ถูกแล้วครับ http://www.ptho.moph.go.th/arsenic/index.htm แต่ไม่ขึ้นครับ

     ผมถูกใจกับตอนนี้ของอาจารย์มาก "จะเห็นว่า เรามีองค์ความรู้อยู่แต่ขาดการจัดการความรู้  ซึ่งเป็นสภาพที่พบอยู่ทั่วไปในแวดวงวิชาการคือขยันสร้างความรู้ แต่ไม่รู้จักวิธีการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดมรรคผล" แล้วเราควรทำอย่างไรอยากให้อาจารย์ชี้แนะด้วยครับ โดเฉพาะที่พัทลุง จะมีประเด็นการจัดการความรู้ผมว่าอยู่ในระดับน้อยนะครับ (คิดเห็นส่วนตัว) คืออย่างที่ที่ผมมำงาน ผมเป็นคณะทำงานฯ KM ที่ตั้งขึ้นด้วย ประชุมได้ครั้งเดียวกลับมุ่งแต่จะใช้งบไปปรับปรุงห้องสมุด (มีการสอบถามความคิดเห็นใน web มีคนตอบ 2-3 คนแล้งเงียบไป) ในส่วนที่เสนอไว้ไม่มีการดำเนินการต่อเนื่อง ผมไปถามเลขาฯ เพื่อจะเอาบันทึกการประชุมมาลง blog คำตอบคือ "วันนั้นประชุมไม่ทราบใครจดฯ"

เข้าใจว่า Web ของ สสจ.พัทลุง คงกำลังปรับปรุงอยู่ครับ
เห็นด้วยครับ   การจัดการความรู้จะไม่มีประโยชน์ซักเท่าใดนัก  หากรู้แล้วเอาไปใช้กับงานไม่ได้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท