สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น (2)


ความคิดเห็นตรง ๆ / รับได้เพราะมีไมตรีจิต / ช่วยกันสร้างบ้านเมือง

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากเสร็จสิ้นการบรรยายเรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการสอนงาน ในช่วงครึ่งวันเช้าที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ผมก็เดินทางไปโรงเรียนเมืองชุมพรตามที่ได้รับเชิญจากคณะผู้จัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชุมพร เขต 1 เพื่อพิจารณาผลการจัดทำ เอกสารกรอบการจัดการเรียนรู้สาระท้องถิ่น ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2549 ซึ่งได้เคยนำเสนอไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/buildchumphon/41410

ที่ประชุมซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเช้ากำลังพิจารณารายละเอียดในตัวเอกสาร โดยให้ความสำคัญกับการใช้คำ (Wording) ประกอบการเขียนสิ่งที่เรียกว่า มาตรฐานการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับสาระท้องถิ่นจังหวัดชุมพร

ผมได้รับเอกสารดังกล่าวมา 1 เล่ม มีความหนาประมาณ 60-70 หน้า เมื่อพลิกอ่านไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกบอกตัวเองว่า คณะผู้จัดทำซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิกำลังติด กับดัก ของแบบฟอร์มตารางที่ถูก ส่งตรง มาจากส่วนกลางเสียแล้ว

จากจุดเริ่มต้นของการพิจารณา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โดยตั้งหลักอยู่ที่ 8 กลุ่มสาระวิชา คือ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี, ภาษาต่างประเทศ มาบัดนี้ผลการจัดทำได้ออกมาเป็นการกำหนด หัวข้อ ที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในท้องถิ่นแยกย่อยลงไปใน 8 กลุ่มสาระวิชา แยกย่อยลึกลงไปอีกในช่วงชั้นที่ 1 4

ดูเหมือนว่าคณะผู้จัดทำฯ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ วางกรอบ-คิดแทน-ชี้นำ-กำหนดประเด็น-ออกแบบเนื้อหา โดยเข้าใจว่า นี่คือการ ช่วยเหลือ ให้ครูได้นำไปใช้จัดทำแผนการสอนตามธรรมเนียมปฏิบัติที่คุ้นเคย

นี่คือการทำงานในรูปแบบที่ผมเรียกว่า Education Mode ซึ่งเมื่อนำไปปฏิบัติ มรรควิธี ที่เลือกใช้ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็น การสอน (Teaching) โดยครูเป็นผู้ถ่ายทอด ให้นักเรียนเป็นผู้รับ มีกิจกรรมเสริมอยู่บ้างก็คงจะเป็นการทำรายงาน, ชิ้นงาน ตามโจทย์ที่ครูกำหนด

ภูมิปัญญาชาวบ้าน, แหล่งเรียนรู้ และหน่วยงานในท้องถิ่น อาจจะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการสอนเพราะได้ชื่อว่าเป็นเรื่องของท้องถิ่น แต่ก็คงจะทำหน้าที่ ตอบให้ตรงคำถาม ก็เป็นที่พอใจแล้ว เพราะสิ่งที่ครูบาอาจารย์เป็นห่วงก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ได้มาตรฐาน, ครบถ้วน, ถูกต้อง ฯลฯ ออกข้อสอบมาวัดผลในลักษณะ ถูก-ผิด ได้ เพราะคำตอบมีอยู่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

คำว่า There isn’t only one solution for each problem. คงจะนำมาใช้ไม่ได้

ผมนิ่งเงียบไม่ออกความเห็นไปชั่วขณะใหญ่ เพราะพยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขและการทำงานของคณะผู้จัดทำฯ พยายามอ่าน กระบวนทัศน์ ที่เป็นตัวผลักดันให้ ผลผลิต ของการจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นออกมาในลักษณะนี้ โดยไม่ได้ติดตามการแก้ไข Wording ซึ่งเป็นเรื่องที่ที่ประชุมกำลังดำเนินการอยู่

ผมสังเกตว่า การนิ่งเงียบ ของผมสร้าง สภาวการณ์ บางอย่างให้ที่ประชุมได้ รับรู้ ใน ความแตกต่างทางความคิด จนในที่สุดก็นำมาสู่ คำถาม เพราะมีความต้องการทราบ คำตอบ (มากกว่าความรู้สึกว่า เสียเวลา)

นี่คือ ทักษะ KM ประการหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องฝึก และนำมาใช้ให้ถูก กาละ-เทศะ

ผมเริ่มต้นด้วยคำพูดตรงไปตรงมาว่า Wording ที่กำลังเป็นห่วงกันอยู่ ในการเลือกใช้คำเรียกชื่อ พระอาวุโสที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ซึ่งถ้าเป็นภาษาใต้จะขึ้นต้นด้วยคำว่า พ่อหลวง หรือจะเขียนลงไปในเอกสารเป็นภาษากลางว่า หลวงพ่อ เป็นสิ่งที่เลือกใช้คำใดก็ไม่ผิด เพราะเมื่อส่งเอกสารชิ้นนี้ไปที่กรม, กระทรวง ก็จะไม่มีใครมานั่งจับผิด อาจจะไม่มีใครอ่านด้วยซ้ำ เพียงแต่รับรู้ว่าเมื่อสั่งให้ทำเขาก็ทำส่งมาแล้ว เล่มหนาดี

ผมย้ำความเชื่อของผมอีกครั้งหนึ่งว่า การออกแบบหลักสูตรสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น จะต้องคำนึงถึง กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share Learning) ควบคู่กันไป โดยเป็นการเรียนรู้จากครูผู้สอนในห้องเรียนภายใต้ Education Mode เพียง 20% อีก 80% เป็นการเรียนรู้แบบ KM-Mode เรียนรู้จากกิจกรรมนอกห้องเรียนโดยภาคีต่าง ๆ ณ แหล่งเรียนรู้ในชุมชน

การเรียนรู้แบบนี้ต้องไม่เริ่มต้นด้วยการผูกขาด เนื้อหาสาระ (Content) เพราะใน KM-Mode เราให้ความสำคัญกับค่านิยมว่า ความรู้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ

เนื้อหาสาระ หลั่งไหลออกมาจากชุมชนได้ในรูปแบบของ เรื่องเล่า (Storytelling) และเป็นสิ่งที่นักเรียนจะต้องฝึกทักษะเพื่อ คว้า และ จับ น้อมนำมาใส่ในสมองและมโนสำนึกของตนเอง

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากจะทำให้นักเรียนได้ความรู้จาก ฐานคิด ของชุมชนแล้ว ยังเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการบ่มเพาะความรัก ความศรัทธา ตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณีในชุมชนให้เกิดขึ้นในจิตสำนึกของนักเรียน

เราจะต้องระวัง อย่าขึ้นรถไฟผิดขบวน ระหว่างขบวน Teaching และขบวน Learning

เพราะถ้าขึ้นขบวน Teaching โดยเข้าใจผิดว่า นี่คือ มรรควิธี พาเราไปสู่เป้าหมาย การเรียนรู้ท้องถิ่น ผลจะออกมาว่า เราจะไปไม่ถึงสถานีปลายทาง เสียเวลาเพราะหลงทาง

เราต้องเลือกขึ้นรถไฟขบวน Learning เพราะนี่คือ มรรควิธี พาเราไปสู่เป้าหมาย การเรียนรู้ท้องถิ่น ได้ในที่สุด.

หมายเลขบันทึก: 48285เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขออนุญาต  copy นำไปให้คุณครู(ที่บ้าน)อ่าน....อนุญาตนะครับ

อนุญาต...ครับ

ว่าแต่ว่า ตำแหน่งเกษตรอำเภอ กับตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ อันไหนเป็นงานหลัก-งานรอง อันไหนหนักกว่ากัน

เ่ล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ.

กำลังจะเปิดโรงเรียนมัธยม  ในต้นปีหน้า 

เป็น Boarding school ที่ อ.ปากช่อง นครราชสีมา

กำลังหาครูมาร่วมทีมทำหลักสูตรและเป็นครูในปีหน้า

รบกวนแนะนำครูพันธุ์แท้ให้ด้วยนะคะ

อยากได้ที่พอจะบูรณาการกระบวนการสอนตามวิถีพุทธได้ด้วย

ติดต่อมาที่ครูเอ  ๐๘๕-๑๖๑๘๑๙๐ หรือ ๐๒-๗๑๓๐๒๖๐-๑

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท