เลี้ยงโคอย่างพอเพียง


แนวทางการเลี้ยงโคอย่างพอเพียง คือเลี้ยงอย่างเหมาะสมกับตัวเอง เหมาะสมกับบริบทที่ตัวเองมีและไม่เบียดเบียนใคร

แนวทางการเลี้ยงโคตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ซาฮิวาล(ก๋วยเจ๋งกับฉัตรตรี)กำลังยอกเหย้ากันที่สวนครูบาสุทธินันท์

          1.  ยึดหลักประหยัด  พยายามเลี้ยงโคโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นและที่ตนเองมีให้คุมค่า เช่น

              -  การเลือกพันธุ์โค ควรใช้พันธุ์ไทย หรือพันธุ์ลูกผสม จะเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศและต้านทานต่อโรคในเขตร้อนได้ดีกว่าพันธุ์ต่างประเทศ  ซึ่งดูแลยากอาจจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของโคได้

             -   วิธีการเลี้ยง  อาจจะใช้ทั้งรูปแบบการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งให้โคได้ออกกำลังกาย  แต่ให้ผสมผสานกับการเลี้ยงระบบฟาร์ม ใช้อาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่นและที่สามารถจัดหาได้เองโดยไม่ลำบาก เช่น การเลี้ยงด้วยใบไม้ในฤดูแล้งในกรณีที่มีพื้นที่ป่าธรรมชาติ หรือการทำแปลงหญ้าในพื้นที่ว่างเปล่าข้างบ้าน หรือบนขอบบ่อ บนคันนาใหญ่ นอกจากนั้นอาจจะให้อาหารข้นที่ผสมเองโดยใช้วัสดุที่มีและปลูกเองได้ อาทิ มันเส้น รำ ใบกระถิน ใบมันสำปะหลัง โดยผสมในอัตราส่วนตามหลักวิชาการ  โคก็จะได้อาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต กล่าวคือรู้จักบริหารจัดการดิน น้ำ เวลา เงินทุน และกำลังคนในการเลี้ยงโคอย่างลงตัวนั่นเอง

          2.  เลี้ยงโดยสุจริต  โดยการเลี้ยงโคให้เป็นอาชีพสุจริต ไม่ไปลักขโมยทั้งโคและอาหารโคจากคนอื่น ไม่สร้างความรำคาญให้คนรอบข้าง

          3.  ไม่เน้นการแก่งแย่งแข่งขัน เบียดเบียนผู้อื่น  ให้เลี้ยงโคด้วยความรัก หรือรักที่จะเลี้ยง เพราะจะทำให้อาชีพเลี้ยงโคเป็นอาชีพที่มีความสุขที่ได้เห็นโคโตวันโตคืน เลี้ยงพอเหมาะกับกำลังที่มีแต่อย่าเลี้ยงเพราะหวังที่จะขายให้ร่ำให้รวย เพราะเมื่อหวังรวยจะลงทุนมากเกินกำลัง ถ้าหากผิดพลาดมาเลี้ยงไม่ได้จะทุกข์หนัก หรือเลี้ยงแบบรักมากจนไม่ยอมขายก็จะจนได้เพราะหมดกำลังเลี้ยง เพราะนอกจากเราจะเบียดเบียนโคแล้วโคก็จะเบียดเบียนเรากลับ  นั่นคือ เอาให้เหมาะกับตัวเองเป็นดีที่สุด

          4.  แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ  คนที่เลี้ยงโคต้องขวนขวายหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ ทั้งในด้านวิธีการเลี้ยง การให้อาหาร การผสมพันธุ์ การดูแลรักษา การตลาด  เพราะทุกอาชีพจะมีความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เสมอ จะต้องติดตามข่าวสารและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา  อย่างสักแต่ว่าเลี้ยงไปตามมีตามเกิด

          5.  ปฏิบัติตนเป็นคนดี  รักและเมตตาต่อโคต่อคนที่เลี้ยงโคและเพื่อนบ้าน

          จากแนวทางนี้สามารถนำไปปฏิบัติได้กับทุกอาชีพถ้าต้องการให้มีชีวิตอยู่กับความพอเพียง

          แต่หลายท่านอาจมีข้อกังขาว่า เราในฐานะคนนอกที่ไม่ได้เลี้ยงโคเอง อาจตั้งแนวปฏิบัติซะเริดหรู แต่เอาเข้าจริงกลับทำไม่ได้ หรือชาวบ้านอาจไม่สนใจที่จะทำ

          ก็อาจจะจริง เพราะมีชาวบ้านหลายคนที่เลี้ยงโคในปริมาณมาก แต่เขาก็ไม่ลำบาก วัน ๆ ก็ปล่อยวัวให้หากินตามที่สาธารณะอิ่มบ้าง อดบ้างตามสภาพ จะขายหรือไม่ขายก็ได้ไม่เดือดร้อน

          นั่นแหละคือปัญหา ปัญหาที่เราๆ นักวิจัย นักพัฒนาทั้งหลายต้องไปมองไปสำรวจว่า จริง ๆ แล้วปัญหาของคนเลี้ยงโคที่แท้จริงคืออะไร  ปัญหาของคนเลี้ยงอาจจะเป็นปัญหาที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ เหมือนที่นักเรียน อ.ศิริพงษ์มากันสงสัยว่า มูลโค กับมูลควาย อะไรคุณภาพดีกว่ากัน หรือมีสรรพคุณแตกต่างกันอย่างไร หรือทำไมชาวบ้านชอบเลี้ยงโคพันธุ์ขี้มากกว่าโคพันธุ์เนื้อ    

     

หมายเลขบันทึก: 48246เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2006 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
 ทุกอย่างถ้าไม่มี"การจัดการความรู้"ที่ดีและเหมาะสม ไม่ว่างานอะไรก็ตาม คงจะประสบผลสำเร็จอยากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท