โรงเรียนทางเลือก...การเรียนรู้แบบวงจรป้อนกลับ


ถ้าเราเอานิคมคนชรามาตั้งอยู่ใกล้ๆ คัดเลือกหน่อย เอาเฉพาะคนมีปัญญาความรู้ ให้คนแก่ผู้สะสมความรู้ไว้มากหลาย มาเป็นครูสอนเด็กพวกนี้ มันจะมิไปโรจน์ยิ่งหรือ

ใน usa มีรร.ทางเลือกมากมาย สำหรับเด็กที่มีปัญหา แต่ประเทศไทยเรามีน้อยมาก ถ้ามีก็กลายเป็นคุกไปฉิบ เช่น บ้านเมตตามหาโหด  วันนี้ผมลองพิมพ์คำว่า alternative school เข้าไปพบ 108 ล้านฮิท

 

แต่รร.ที่ผมชอบมากที่สุดคือ รร. ของพวก friends ....บอกแค่นี้คงไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าบอกว่า พวกให้ทุน AFS ไง ก็จะร้องอ๋อกันทุกคน

 

กลุ่มคริสต์กลุ่มนี้เป็นพวกรักสันติ ใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีแบบพวกอามิช หรือ เมนอนไนท์ เพื่อนรักผมแกสนด้านนี้เลยเคยตามก้นแกไปนั่งสมาธิกับเขาในโบสต์ที่ usa  แปลกดี คือไม่มีพระมาสอน แต่ให้นั่งสมาธิกันเอง ถ้าใครได้รับแรงบันดาลใจอะไร ก็จะไปขึ้นโพเดียมพูดให้คนอื่นฟัง ในขณะที่คนอื่นๆ ก็นั่งหลับตากันต่อไป

 

รร.ทางเลือกของ friends นี้เขาเรียนทฤษฎีเพียงครึ่งเดียว ในตอนเช้า ตอนบ่ายออกภาคสนาม ทำเกษตร และปศุสัตว์ เพื่อประยุกต์วิชาชีว ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ที่เรียนในห้องเรียน แม้แต่วิชาวาดเขียน เขาก็ให้ไปเขียนภาพต้นข้าวโพด ไก่ วัว ในฟาร์มนั่นแหละ

 

ภารโรงก็ไม่มี เพราะให้นร. ผลัดเวรกันทำ

 

http://www.scattergood.org/

 

ผมอยากทำรร.ทางเลือกแบบนี้ในเมืองไทยมาก  คิดอะไรไว้หลากหลายว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่าเขาเสียอีก  และแน่นอน รร. นี้ต้องเป็นวิถีพุทธ การทำงานทุกอย่างต้องบูรณาการกับหลักศาสนา ต้องฝึก สติ สมาธิ วิปัสสนา ในการงาน การเล่น พร้อมกันไป เน้นการใช้ชีวิตแบบสมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ก็ไม่คลั่งไคล้ไหลหลง

 

จะมีการเชื่อมโยงต่อวงจร (ป้อนกลับ) กับนิคมคนชราวิถีพุทธด้วย  (อธิบายภายหลัง)

 

 

 

 หลักสูตรทางเลือกที่คิดไว้คือ

จะให้มีการศึกษาทางทฤษฎีในห้องเรียนให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เน้นไปที่หลักการ ส่วนวิธีการรายละเอียดเอาแต่น้อย

 

นักเรียนทุกคน ต้องสะสมเครดิท การทำงานช่วยเหลือโรงเรียน คนละ  5 วิชา เช่น ถูพื้น ล้างส้วม  ช่วยทำอาหาร  ล้างจาน ปลูกผัก ตัดหญ้า เป็นต้น  โดยเป้าหมายไม่ได้หวังเพื่อลดรายจ่าย แต่เป็นวิชาปฏิบัติหรือห้องทดลองเพื่อฝึกฝนทฤษฎีทีเรียนมา  ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้มหาศาล  นอกจากนี้ยังเป็นมาตรการสำคัญในการสร้างพฤติกรรมที่ดีให้แก่เด็ก  ที่ทำให้เป็นคนติดดิน  ไม่หยิบโหย่ง และเห็นคุณค่าของแรงงาน

 

ตอนผมเป็นนักเรียนนายเรือ กว่าจะจบออกไปได้ต้องเรียนทฤษฎีหนักมาก ด้านวิทยาศาสตร์ ห้าปี และต้องออกไปฝึกภาคทะเลสิบครั้ง เป็นเวลาประมาณ 30 เดือน (ใช้เวลาช่วงปิดภาคการศึกษา) ตอนไปฝึกภาคเรือ ต้องทำงานภาคปฏิบัติหนักมาก ท่ามกลางแดด ฝน ลม คลื่น  ต้องแบกขนสารพัดเช่น เสบียง ไหน้ำปลา ต้องทำเวรส้วม ต้องล้วงคอห่านที่อุดตัน เช็ดถูเครื่องยนต์ เครื่องจักรต่างๆ  หลายคนเป็นลูกผู้รากมากดี ไม่เคยทำงานแบบนี้ ถึงกับทำไปอาเจียรไป บางคนเป็นหม่อมฯ  ก็ต้องทำเหมือนกันหมดแบบเท่าเทียม ก่อนลงเรือตัวขาวกลับมาตัวดำปื๋อ ขนาดพ่อมารับที่ท่าเรือจำลูกตัวเองไม่ได้ทั้งที่เดินผ่านระยะใกล้  ปรากฏว่าส่วนใหญ่จบออกมาเป็นนายทหารที่ติดดินติดน้ำกันทุกคน

 

งานภารโรงจะฝึกเด็กมัธยมได้ดีที่สุด ดังนั้นต้องบังคับเลือกหนึ่งวิชา จากทั้งหมด 3-4 วิชา ที่เหลือเลือกตามที่ใจชอบ เช่น ผู้หญิงอาจเลือกทำอาหาร ผู้ชายอาจเลือกเกษตร

 

ภาคสนามทำการเกษตร มีปลูกข้าว ปลูกพืชผักอาหารทั้งหลาย ซึ่งนักเรียนจะต้องบูรณาการกับวิชาการที่เรียนในห้อง คือ ชีวะ เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ การค้าพาณิชย์  ต้องมีการจดบันทึกรายวัน วิเคราะห์วิจัยสิ่งต่างๆ จากนั้นเอาสมุดมาตรวจให้คะแนน โดยไม่ต้องมีการสอบ

 

ชีวะ นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงอยู่แล้ว ตั้งแต่จุลินทรีย์ในดิน ไปจนถึงการเจริญ การผสมพันธุ์ ของพืชผัก

เคมี ก็มีเรื่องดิน เรื่องปุ๋ย แร่ธาตุ  การสังเคราะห์แสง

ฟิสิกส์ ก็มีเรื่องการเจริญเติบโต ของต้นพืช มีระบบการลำเลียงน้ำ และสารอาหารจากรากไปเลี้ยงส่วนต่างๆอย่างไร  เป็นต้น  ยังการสังเคราะห์แสง  ฯลฯ

 

คณิตศาสตร์ก็ให้คำนวณสัดส่วนของพืชผัก การคำนวณต้นทุน ราคาขาย  คำนวณปริมาณการใส่ปุ๋ย

 

 

การเป็นผู้ช่วยแม่ครัวทำอาหาร  จะมีครูด้านอาหารกำกับการสอนตลอดเวลา แบบนี้ได้ประโยชน์หลายต่อ คือ ประหยัดค่าจ้าง และเป็นการเรียนรู้ ฟิสิกส์เคมีชีวะ อย่างดีที่สุด แถมได้ฝึกการพัฒนาตนจากการใช้แรงงาน 

 

การส่งผ่านความร้อนจากเปลวไฟ ผ่านภาชนะ ไปสู่อาหาร เหล่านี้เป็นฟิสิกส์ เราก็สอนฟิสิกส์ได้มาก แล้วให้เขาประยุกต์วิชามาทำการประหยัดเชื้อเพลิง  อาหารสุก เกิดรสชาติต่างๆ เป็นเคมี ชั้นสูง การเปลี่ยนสภาพโมเลกุลทางชีวจากการโดนความร้อน  ธาตุอาหารต่างๆ เป็น ชีวเคมี เรียนได้ถึงปริญญาเอกเลย   ส่วนคณิตศาสตร์การอาหารก็มากมายที่ต้องคำนวณ เช่น ปริมาณส่วนประกอบอาหารต่างๆ

 

ยิ่งการทำอาหารหมักดอง ยิ่งเป็นการเรียนรู้ชีวะ เคมีเป็นอย่างดี รร. จะสอนการทำอาหารหมักหลากหลาย จากพืชผลการเกษตรที่ปลูกเอง ที่เหลือกิน อาจเปิดร้านขาย เพื่อฝึกการพาณิชย์ให้นักเรียนอีกด้วย

 

กิจกรรมทุกอย่างแม้แต่ถูพื้น ราดส้วม ก็ถือเป็นกระบวนเรียนรู้ได้หมด  เช่น การราดส้วมเป็นฟิสิกส์อย่างยิ่ง ที่จะทำให้ของเสียถูกดันออกไปได้อย่างไร ทำอย่างไรจะออกแบบโถส้วมเสียใหม่ ให้ประหยัดน้ำมากขึ้น  การถูพื้น พื้นสะอาดขึ้นได้อย่างไร ผ้าเปียกดูดฝุ่นเข้ามาได้อย่างไร จงอธิบายตามหลักการทางฟิสิกส์ (ซึ่งไม่ง่ายเลย)  จะถูพื้นให้สะอาดที่สุด โดยใช้น้ำให้น้อยที่สุด และออกแรงถูให้น้อยที่สุดได้อย่างไร ก็สามารถออกโจทย์ให้นักเรียนไปทำได้ ไปฝึกคิด โดยครูให้แต่หลักการกว้างๆ รายละเอียดนักเรียนไปทดลองทำ แล้วเขียนรายงานมาส่ง

 

แล้วถ้าเราเอานิคมคนชรามาตั้งอยู่ใกล้ๆ  คัดเลือกหน่อย เอาเฉพาะคนมีปัญญาความรู้ ให้คนแก่ผู้สะสมความรู้ไว้มากหลาย มาเป็นครูสอนเด็กพวกนี้ มันจะมิไปโรจน์ยิ่งหรือ

โดยนิคมคนชรานี้ก็วิถีพุทธด้วยนะ

คนแก่ก็ไม่เหงา มีกิจกรรมทำ ทำให้รู้สึกว่าตนเป็นคนมีคุณค่า  เด็กๆก็ได้รับการสอนจากครูที่มีประสบการณ์สูงสุด นี่คือการต่อวงจรชีวิตสังคม ที่เราลืมนึกถึงกันไป

ค่าเล่าเรียนก็จะถูก เพราะคนแก่เหล่านี้มีเงินสะสมเลี้ยงชีพพอเพียงแล้ว หลายคนจะบริจาคการสอนให้ฟรีๆ แถมบริจาคเงินให้รร. เสียอีกนะ โดยเฉพาะเงินพินัยกรรม

วัดก็เอามาอยู่ใกล้ๆ กัน พอคนแก่ตาย เด็กๆก็ได้เรียนรู้สัจธรรมแห่งความไม่เที่ยงอีกด้วย ว่า สักวันคุณก็ต้องแก่ ต้องตายแบบนี้แหละ ดังนั้นอย่าซ่า บ้ามากไป หัดทำดี เตรียมตัวตายเสียแต่บัดนี้เถิด

นี่คือวงจรของการเรียนรู้ที่สำคัญ เมื่อก่อนมันเป็นวงจรเปิด ไม่มีกระแสป้อนกลับ ปล่อยให้ความรู้ตายไปกับคนแก่  ถ้าเราเอาคนแก่เก่งๆมาสอนเด็กได้ ก็จะเป็นวงจรปิดที่กระแสไหลป้อนกลับมาเพิ่มพลังให้สังคมได้ดีกว่าเดิมมาก

 

นอกจากระดับมัธยมแล้ว ในสรอ.  ยังมีการเรียนระดับป.ตรี ที่เรียนฟรีอีกด้วย แต่ต้องทำงานให้มหาลัยเป็นการแลกเปลี่ยน

นั่นคือสิ่งที่ผมขอคิดและค้นฝากไว้ ท่านใดจะเอาไปทำก็ขอสาธุมาล่วงหน้า  และขอให้จำเริญยิ่งๆ ไป ว่าไปแล้วเหมาะกับ รร.วัด มาก  ผมเคยเดินทางไปดูรร. วิถีพุทธแบบนี้ มีที่โคราชบ้านผมนี่แหละ แต่มีแต่คนจนๆ ไปเรียน ส่วนของ สรอ. มีแต่คนรวยๆ ไปเรียน ค่าเล่าเรียนแพงอีกต่างหาก

 

...ทวิช จิตรสมบูรณ์ (มิย ๒๕๕๔)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 481157เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2012 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถูกใจค่ะ เป็นครั้งที่สองที่ได้ยินคำว่า โรงเรียนทางเลือก ค่ะ ครั้งแรกได้ยินจากคุณหมอสุภกร สสค.

เอ...ทำไมเอาแต่คิด..เอาแต่เขียน..."เริ่มต้นทำ"...กันซะ.ที..ดีไหมเนี่ยะ...(จาได้ไปเป็นครูแก่ต้นแบบฝึกวิธี...ตายก่อนตายให้เด็กๆดู.ยายธี...

ที่ร.ร.ของเราก็ทำแบบที่คุณทวิชโพสเหมือนกัน ชื่อร.ร.มารดาดรุณีรักษ์ เป็นร.ร.เอกชนการกุศล ประเภทการศึกษาสงเคราะห์ อยู่ที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นักเรียนเรียนฟรีทุกคน ไม่ถึงกับเป็นโรงเรียนทางเลือก เพรามีนักเรียนที่ไปกลับ และมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เป็นเด็กกำพร้ายากจน มาเรียน และมาพักกินอยู่ที่ร.ร. โดยผ่านการฝึกแบบที่คุณทวิชพูดค่ะ ทำมาหลายสิบปี แต่เป็นการทำเองกันภายในครอบครัว เห็นคุณทวิชพูดแล้วมีกำลังใจ เท่าที่ทำมาไม่ค่อยมีคนเห็นด้วย เขาว่าบ้าด้วยซ้ำไป

คุณสุภาพรครับ ขออนุโมทนาครับ กรุณา ติดต่อผม ผ่านอีเมล์ด้วยครับ อยากขอนุญาตไปเียี่ยมชมน่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท