การออกแบบห้องควบคุมเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดสำหรับนักรังสีเทคนิค


work design

การออกแบบห้องควบคุมเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดสำหรับนักรังสีเทคนิค
 DSA control room work design for radiologic technologist

อภิชาต กล้ากลางชน           อนุ.รังสีเทคนิค
ปฏิยุทธ ศรีวิลาศ                วท.บ.รังสีเทคนิค
สุรชาติ การประเสริฐ           วท.บ.รังสีเทคนิค
เอนก สุวรรณบัณฑิต            วท.บ., ศศ.ม.

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อภิชาต กล้ากลางชน, ปฏิยุทธ ศรีวิลาศ, สุรชาติ การประเสริฐ. การออกแบบห้องควบคุมเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดสำหรับนักรังสีเทคนิค.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2554; 5 : 14-26

 

การออกแบบงาน (work design) ที่เหมาะสมย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุข รู้สึกสบาย ปราศจากความเครียดกังวลและความเมื่อยล้า สถานที่ทำงานที่มีการออกแบบงานที่ไม่เหมาะสม ปรับแต่งได้ไม่เข้ากับรูปร่างและคุณลักษณะต่างๆ ของตัวผู้ปฏิบัติงานแล้ว ก็ย่อมจะมีผลทำให้ผู้ปฏิบัติงานนั้นไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ การออกแบบสถานที่ทำงานตามหลักเออร์กอนอมิกส์ (ergonomics) จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับการออกแบบงานด้วย อย่างไรก็ตาม การออกแบบงานสำหรับนักรังสีเทคนิคประจำห้องควบคุมเครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือดจะเป็นไปโดยการออกแบบของบริษัทผู้ติดตั้งเครื่อง มิได้พิจารณาลักษณะการทำงานจริง รวมไปถึงสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวผู้ปฏิบัติงานต่างๆ เช่น จุดปฏิบัติงาน โต๊ะ เก้าอี้ เคาน์เตอร์ทำงาน แผงควบคุม ชั้นวางของ พื้น ทางเดิน เป็นต้น

ความสำคัญของการออกแบบงาน มี 2 ประการ ได้แก่

  1. ลดอุบัติเหตุ เช่น การสะดุด การถูกหนีบ การชน รวมไปถึงการบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานที่ฝืนเกินความสามารถทางกายภาพที่เป็นไปได้ของบุคคล
  2. เพิ่มประสิทธิภาพและลดความผิดพลาดในการทำงาน เกิดความสะดวก และง่ายในการปฏิบัติงานปกติ

ผลที่ได้จากการออกแบบงาน

  1. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือการผลิตให้สูงขึ้น
  2. ปรับปรุงสุขภาพ อนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน
  3. เพิ่มคุณภาพของงาน
  4. ลดการสูญเสียเวลาในการทำงานเนื่องจากปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานอาชีพ

ลักษณะทั่วไปของการทำงาน

ผู้ปฏิบัติงานใช้ร่างกายในการทำงานในลักษณะการเคลื่อนไหวเชิงเส้นโค้ง (angular movement) เช่น การงอเข้า (flexion) การเหยียดออก (extension) การกางออก (abduction) และ การหุบเข้า (adduction) และการเคลื่อนไหวเชิงวงกลม (circular movement)  เช่น การหมุน (rotation) การหมุนควง (circumduction) โดยเฉพาะอวัยวะหลักซึ่งก็คือแขนและข้อมือ ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญต่อพิสัยของการเคลื่อนไหว (range of body motion) ได้แก่โครงสร้างของผิวสัมผัสข้อต่อ (joint surface) ขนาดและการเรียงตัวของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น (flexibility) ของกล้ามเนื้อ เอ็น และลิกาเมนต์ (ligament) บริเวณข้อต่อนั้นๆ หากมีความยืดหยุ่นสูงก็จะทำให้สามารถมีองศาของพิสัยการเคลื่อนไหวที่สูงขึ้น นั่นคือมีความคล่องตัวสูง

ผลเสียของการออกแบบสิ่งต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมกับขนาดสัดส่วนร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน

  1. ผลเสียเชิงกลศาสตร์ชีวิภาพ (biomechanics)
    1. เกิดแรงเค้น (strain) จากท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง
    2. เกิดอาการปวดหลัง ( lower back pain)
    3. เกิดการออกแรงกล้ามเนื้อที่เกินพิกัด หรือเกิดขีดความสามารถ
    4. สูญเสียการเคลื่อไหวร่างกายโดยเปล่าประโยชน์
    5. เกิดความไม่สะดวกสบายจากการทำงาน
  2. ผลเสียเชิงผลการทำงาน (work obstacles)
    1. อาจเกิดอันตรายจากตัวเครื่องเอง (machine safety hazard)
    2. อาจเกิดการบดบังสายตา ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน และนำไปสูอุบัติเหตุต่างๆ ได้
    3. ประสิทธิภาพและคุณภาพในการทำงานลดลง
    4. เกิดปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความเหนื่อยล้า ความเบื่อหน่าย เป็นต้น

หลักทั่วไปของการออกแบบงาน

การออกแบบงานจะต้องคำนึงถึงตัวผู้ปฏิบัติงานเป็นหลักใหญ่ (operator in mind) ซึ่งการออกแบบจะต้องเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในท่วงท่าการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม มีความสุข สะดวกสบาย และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางเออร์กอนอมิกส์แนะนำหลักการง่ายๆ เรียกว่า NEWS ซึ่งจำแนกได้เป็น

N = neutral posture          การรักษาท่าทางการทำงานให้สมดุล
E = elbow height              การทำงานที่ระดับความสูงข้อศอก ไม่ว่าจะเป็นงานนั่ง
                                      หรืองานยืน
W = work area                 การมีพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อการเคลื่อนไหวส่วนร่างกายที่
                                      พอเพียง
S = stretching                  ตำแหน่งที่ไม่ต้องมีการยืด เหยียดแขน ขา หัวไหล่ และ
                                      ลำตัวในขณะทำงานจนเกินขีดความสามารถของอวัยวะ
                                      นั้นๆ ในร่างกาย

หลักการสำคัญในการออกแบบงาน

  1. เน้นให้สถานที่ปฏิบัติงานเอื้อต่อการทำงานแบบไดนามิก (dynamic load) หลีกเลี่ยงพื้นที่การทำงานแบบ (static load) เช่น หากปกตินั่งทำงาน พื้นที่ปฏิบัติงานต้องไม่สูงจากข้อศอกมากเกินไป และแป้นควบคุมต้องไม่ไกลเกินเอื้อม จนต้องเลื่อนเก้าอี้หรือลุกขึ้นระหว่างการทำงาน
  2. การกำหนดระดับความสูงของพื้นผิวปฏิบัติงานให้ขึ้นกับตัวผู้ปฏิบัติงาน หรือ ประเภทของงาน โดยมีหลักพิจารณาได้แก่
    1. ถ้าเป็นงานเบา ความสูงของพื้นผิวปฏิบัติงานต้องสูงกว่าระดับข้อศอกในท่านั่งเล็กน้อย
    2. ถ้าเป็นงานที่ต้องออกแรงพอควร ความสูงของพื้นผิวปฏิบัติงานต้องสูงเท่ากับระดับข้อศอกในท่านั่ง
    3. ถ้าเป็นงานที่ต้องออกแรงมาก ความสูงของพื้นผิวปฏิบัติงานต้องต่ำกว่าระดับข้อศอกในท่านั่งเล็กน้อย
  3. การออกแบบงานต้องทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้เปรียบเชิงกล (mechanical advantage) ตัวผู้ปฏิบัติงานต้องอยู่ในพื้นที่ทำงานและใช้ร่างกายอย่างได้เปรียบเชิงกลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  4. หลีกเลี่ยงการออกแบบที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องยืดร่างกายหรืออวัยวะเพื่อทำงาน เช่น ต้องเอื้อมจนสุดมือเพื่อกดปุ่ม
  5. ควรออกแบบการทำงานให้สามารถใช้มือทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้อย่างสมดุล และอย่าพยายามให้มือข้างใดข้างหนึ่งทำงานหนักอยู่ข้างเดียว
  6. ควรออกแบบให้มีการเคลื่อนไหวของมือทั้งสองข้างเป็นไปตามธรรมชาติและสมมาตรกัน มือขวาควรเคลื่อนไหวจากขวาไปซ้าย และมือซ้ายเคลื่อนจากซ้ายไปขวา

  7. แป้นทำงานและปุ่มกดต้องพิจารณาถึงความแข็งแรงและความสามารถในการทำงานของนิ้วมือแต่ละนิ้ว หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วมือใดนิ้วมือหนึ่งเพียงนิ้วเดียว

  8. การออกแบบจะต้องให้ใช้งานระบบกล้ามเนื้อเพียง 30 % ของความสามารถสูงสุด แต่หากเป็นการทำงานระยะสั้น อาจพิจารณาให้ใช้งานระบบกล้ามเนื้อได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 50% ของความสามารถสูงสุดของร่างกาย

  9. ควรออกแบบให้มีการใช้ foot switch ร่วมด้วย

  10. หลีกเลี่ยงการออกแบบงานที่ก่อให้เกิดท่าทางการทำงานที่ไม่เป็นท่าทางตามธรรมชาติ เช่น ถ้านั่งก็ไม่ควรต้องเลื่อนเก้าอี้ไปยังอีกตำแหน่งเพื่อกดปุ่มๆ หนึ่ง

  11. สถานที่ปฏิบัติงานจะต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับการเปลี่ยนอิริยาบถพอควร การนั่งทำงานนานเกิน 1 ชม. หรือยืนทำงานเกิน ½ ชั่วโมง จะทำให้เกิดความเมื่อยล้าได้อย่างมาก

  12. ปุ่มควบคุม และแป้นทำงานจะต้องใช้งานได้ง่าย อยู่ในพื้นที่ทำงานปกติ (normal working area) อุปกรณ์และเครื่องมือที่ไม่ค่อยได้ใช้สามารถจัดวางไว้ในตำแหน่งขอบเขตของพื้นที่ทำงานสูงสุดได้ (maximum working area)

  13. ควรออกแบบให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถดำรงท่าทางการทำงานที่ดีและเหมาะสมไว้ได้ตลอดเวลา เช่น เก้าอี้สามารถปรับความสูงได้

  14. สถานที่ทำงานต้องออกแบบให้รองรับการทำงานของคนที่มีร่างกายใหญ่ หรือคนทำงานมากกว่าหนึ่งคนได้

  15. การออกแบบงานจะต้องเป็นไปตามหลักแรงโน้มถ่วงของโลก (gravity) อย่าให้ผู้ปฏิบัติงานต้องออกแรงสวนทาง หรือมีแรงต้านสูง 

  16. ต้องฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานรู้จักเปลี่ยนท่าทาง และปรับการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสม

  17. ควรวางจุดปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงความยาก-ง่าย กับการติดต่อสื่อสาร หรือโทรศัพท์

 

ผู้เขียนขอนำเสนอตารางข้อมูลสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ (ไทย) ในเฉพาะค่าตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังสีเทคนิคในห้องควบคุมเครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือด ดังนี้

ตารางแสดงข้อมูลสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ (ข้อมูลประชากรชาวไทย[1]) จากการสำรวจในปี 1990

ตำแหน่ง
ค่าสัดส่วนร่างกาย (ซม.)
ค่าเฉลี่ย
ค่าต่ำสุด
ค่าสูงสุด
ความสูงยืน
160.60
148.30
173.27
ความสูงระดับสายตา
149.83
138.36
161.66
ความสูงเอื้อมมือขึ้นบน
210.55
186.11
217.45
ความสูงศีรษะขณะนั่ง
83.99
77.56
90.62
ความสูงระดับสายตาขณะนั่ง
73.87
68.21
79.70
ความสูงระดับไหล่ขณะนั่ง
56.85
52.49
61.33
ความสูงจากระดับที่นั่งถึงระดับข้อศอก
22.96
21.20
24.77
ความยาวของขาเหยียดตรง
100.54
92.83
108.46
ระยะเอื้อมแขนไปข้างหน้า
78.85
72.81
85.07
ความกว้างกางแขน
154.13
151.56
177.08
ความกว้างระยะศอก
52.07
38.85
45.37
 

[1] สมชัย จึงรักเสรีชัย.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. เอกสารประกอบการสอน มสธ ชุดวิชาเออร์กอนอมิกส์และจิตวิทยาในการทำงาน, 2534 อ้างใน สุทธิ์ ศรีบูรพา หน้า 100-1

 

แนวทางการประยุกต์ใช้หลักเออร์กอนอมิกส์ในการออกแบบห้องควบคุมเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด  

            การประยุกต์ใช้มี 2 แนวทางคือการออกแบบสำหรับค่าเฉลี่ย ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ไม่วิกฤติ (non critical design) ได้แก่พื้นที่นั่งรอ เก้าอี้นั่งรอ แต่สำหรับห้องควบคุมนั้นถ้าออกแบบสำหรับค่าเฉลี่ยจะทำให้ไม่มีใครสามารถทำงานได้อย่างสะดวกเลย ควรที่จะใช้การออกแบบเพื่อค่าสูงสุดหรือต่ำสุด (design for extreme value) โดยหากต้องการความสะดวกสบาย การเคลื่อนผ่าน หรือช่องว่าง (clearance requirement) จะต้องใช้ค่าสูงสุด ขณะเดียวกันหากต้องการความง่ายในการสัมผัส หยิบจับ แตะ กดปุ่ม (reach requirement) จะต้องใช้ค่าต่ำสุดเพื่อให้ใกล้และง่าย และคนที่ตัวเล็กกว่ายังสามารถทำงานได้

 

ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางการในออกแบบห้องควบคุมบางประการ คือ

  1. การติดตั้งกระจกตะกั่ว จะต้องมีความสูงขอบบนของตะกั่วมากกว่าค่าสูงสุดของความสูงยืน และเกินกว่าพิสัย 5 องศาของค่าสูงสุดของความสูงระดับสายตาเฉลี่ย
  2. เคาน์เตอร์ทำงาน (work station) ขอบล่างจะต้องมีความสูงจากพื้นมากกว่าค่าความสูงนั่ง (45-53ซม.)   พื้นผิวหน้างานรวมแป้นควบคุมจะต้องสูงไม่เกินพิสัย 5 องศาบนของความสูงระดับข้อศอกขณะนั่ง
  3. ความยาวของเคาน์เตอร์ทำงาน เพื่อวางอุปกรณ์ แป้นควบคุมหลัก จะต้องกว้างไม่เกินความกว้างกางแขนต่อผู้ทำงาน 1คน หากสร้างเคาน์เตอร์ยาว จะต้องวางอุปกรณ์ แป้นควบคุมหรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานไม่บ่อย อยู่นอกระยะนั้น
  4. ความกว้างของเคาน์เตอร์ทำงาน จะต้องกว้างกว่าระยะเอื้อมแขนไปข้างหน้า แต่การวางอุปกรณ์ แป้นควบคุมหลักจะต้องอยู่ในระยะเอื้อมแขนไปข้างหน้า ระยะที่เกินกว่านั้นสำหรับการวางสายเคเบิลต่างๆ หรือรางปลั๊กไฟฟ้า และต้องมากกว่าระยะความยาวของขาเหยียดตรง เพื่อที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้เปลี่ยนอิริยาบทระหว่างทำงานได้
  5. การวางตำแหน่งแป้นควบคุมหลักจะต้องอยู่ในระยะความกว้างระยะศอกเฉลี่ยของตำแหน่งที่นั่งทำงานหลัก แป้นควบคุมที่ใช้ไม่บ่อย ให้อยู่นอกระยะได้
  6. การจัดตำแหน่งอุปกรณ์ จอมอนิเตอร์ จะต้องไม่สูงจนบดบังระดับสายตาขณะนั่ง เพราะจะทำให้ไม่สามารถมองผ่านกระจกตะกั่วเข้าไปสังเกตห้องปฏิบัติการได้
  7. การสร้างชั้นวางหรือชั้นแขวนจะต้องไม่สูงเกินกว่าระยะเอื้อมมือขึ้นบน ระยะที่สูงกว่านั้นจะต้องใช้บันไดเพื่อช่วยหยิบของ หากติดตั้งควรไว้เก็บของที่ไม่ค่อยได้ใช้
  8. ความกว้างของห้องควบคุมจะต้องกว้างกว่าระยะความกว้างกางแขนรวมกับความกว้างของเคาน์เตอร์ทำงาน จึงจะสะดวกในการลุกนั่ง เดิน ของผู้ปฏิบัติงาน

 

ลักษณะการทำงานที่ถูกต้อง (Good posture of working )

นักรังสีเทคนิคที่ปฏิบัติงานในห้องควบคุม ลักษณะการทำงานหลักจะเป็นการนั่ง (sitting down) ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการนั่งเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว และเกิดอาการปวดหลังได้ ดังนั้นจะต้องพิจารณาเก้าอี้ที่เน้นความสะดวกสบาย สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและจำเพาะต่อลักษณะงาน ประการสำคัญคือรักษาสภาพแนวกระดูกสันหลังให้อยู่ในลักษณะ lordosis นั่นคือกระดูกสันหลังระดับเอวโค้งไปด้านหน้า หากเก้าอี้นั่งทำให้เกิดแนวกระดูกสันหลังลักษณะ kyphosis จะทำให้เกิดแรงเค้นไปยังหมอนรองกระดูกสันหลัง เก้าอี้ที่ดีจะต้องมีลักษณะขอบด้านหน้ามีปลายกลมมนและโค้งลง โดยอยู่ในระดับต่ำกว่าระยะจากพื้นถึงต้นขาในท่านั่ง  (popliteal height) ระหว่าง 35-44 ซม. หากผู้ปฏิบัติงานประจำเป็นคนตัวสูง อาจเพิ่มความสูงได้อีก 5 ซม. โดยที่เมื่อนั่งแล้วท่อนขาบนจะต้องขนานกับพื้นราบ ส่วนต้นขาล่างอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นได้ ปลายเท้าสามารถวางราบกับพื้นหรือที่พักเท้าได้พอดี เบาะนั่งจะต้องออกแบบไว้สำหรับคนตัวเล็กนั่งแล้วสามารถพิงพนักได้ ดังนั้นความลึกของเบาะจึงอยู่ระหว่าง 38-43 ซม. ความกว้างที่สามารถรับการกระจายน้ำหนักขณะนั่งได้ จะต้องกว้างมากกว่า 40 ซม. โดยถ้าเป็นการทำงานกับคอมพิวเตอร์จะต้องมีความกว้างอย่างน้อย 45 ซม. สำหรับเก้าอี้นั่งยาก จะต้องเพิ่มความกว้างไว้สำหรับระยะศอก เพื่อไม่ให้เกิดการนั่งเบียดกัน (sardine effect) โดยทั่วไปเก้าอี้จะออกแบบให้เบาะนั่งเอียงขึ้นไปทางด้านหลัง 5-10 องศา และเบาะไม่ควรเป็นลักษณะห่อตัวจากด้านข้าง แม้จะทำให้เกิดการกระจายน้ำหนักได้ดี แต่เมื่อนั่งไปสักพักจะรู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งจะพบได้จากเบาะโซฟาที่อ่อนยวบมากเกินไป สำหรับพนักพิงนั้นจะต้องเอนทำมุม 95-105 องศากับเบาะนั่ง

โต๊ะหรือเคาน์เตอร์ทำงานนั้นจะต้องพิจารณาความสูงของพื้นผิวการทำงาน (หน้าโต๊ะ) และความสูงทำงาน (แป้นควบคุม) หากความสูงพื้นผิวการทำงานต่ำเกินไป จะทำให้ต้องก้มตัว โค้งตัวเพื่อทำงาน หากสูงเกินไปจะต้องยกไหล่ระหว่างการทำงานซึ่งจะทำให้เกิดการปวดหลัง ปวดคอ ปวดหัวไหล่ ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาสุขภาพได้ ข้อยกเว้นสำคัญคือ หากโต๊ะทำงานเป็นโต๊ะชนิดโต๊ะเขียนแบบที่ปรับความสูงและการลาดเอียงของพื้นโต๊ะได้ จะต้องปรับให้เหมาะสมกับคนนั้นๆ โดยที่เก้าอี้ที่ใช้คู่กันจะต้องปรับความลาดเอียงให้ขอบเบาะด้านหน้าเอียงขึ้นได้เช่นกัน ลักษณะนี้จึงจะทำให้เกิดความได้เปรียบทางชีว
กลศาสตร์

 

แนวทางในการทำงานตามหลักเออร์กอนอมิกส์

นักรังสีเทคนิคประจำห้องควบคุมจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดการเสียเปรียบเชิงกลในการทำงานนั้นจะต้องพิจารณารูปแบบการทำงานในพื้นที่ทำงานนั่งในแนวราบ (horizontal work area)  ซึ่งมี 2 รูปแบบได้แก่

  1. พื้นที่ทำงานปกติ (normal working area) เป็นพื้นที่ที่สามารถกวาดมือและแขนท่อนล่างทั้ง 2 ข้างเป็นรูปวงกลม 2 วงเกยกันได้ โดยให้จุดหมุนอยู่ที่ข้อศอก ซึ่งกำหนดง่ายๆ โดยเมื่อนั่งทำงานแล้วให้ข้อศอกทั้ง 2 ข้างอยู่แนบลำตัวแล้วกวาดเป็นวง พื้นที่ทั้งหมดจึงเป็นพื้นที่ทำงานปกติ เหมาะสมสำหรับการวางอุปกรณ์ แป้นควบคุม ปุ่มบังคับ ซึ่งจะสามารถใช้มือหยิบ กด บังคับได้โดยสะดวก และไม่เกิดความล่าช้าเนื่องจากการเอื้อม (reaching delay)
  2. พื้นที่ทำงานสูงสุด (maximum working area) เป็นระยะเอื้อมมากที่สุดจากท่านั่ง โดยให้เหยียดแขนออกทั้ง 2 ข้างแล้ววาดเป็นวงเกยกัน เป็นพื้นที่ทำงานที่สามารถวางแป้นควบคุม ปุ่มบังคับที่ใช้งานบ้าง แต่ไม่บ่อย  

การทำงานตามหลักเออร์กอนอมิกส์นั้นจะต้องคำนึงถึงหลัก ERCS คือ

  1. Elimination กำจัดการเคลื่อนไหวที่เปล่าประโยชน์ เช่น ลักษณะการทำงานที่ไม่เหมาะสม การจัดวางสิ่งของเฉพาะที่เป็นประโยชน์ไว้ในพื้นที่ทำงานปกติ
  2. Combination รวมการเคลื่อนไหวและอุปกรณ์เข้าด้วยกัน ในการบังคับปุ่มควบคุมใดๆ ควรที่จะเป็นปุ่มที่อยู่ใกล้ๆ กัน สามารถใช้การเคลื่อนไหวเดียวหรือสองมือบังคับได้พร้อมๆ กัน ไม่ต้องกางแขนมาก หากใช้คอมพิวเตอร์ก็ควรที่จะสามารถพิมพ์สัมผัสได้ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของมือลง
  3. Rearrangement การจัดวางตำแหน่งงานและการเคลื่อนไหวร่างกายใหม่ โดยจัดให้ชุดแป้นควบคุมงานหลักอยู่ใกล้ๆ กัน การบังคับเป็นไปในทิศทางเดียว ไม่ย้อนไปมา หากต้องใช้สองมือจะต้องเคลื่อนไหวได้อย่างสมดุลกัน
  4. Simplification การเคลื่อนไหวที่ง่าย นั่นคือพยายามให้เกิดการเคลื่อนที่แบบวงโค้ง ไม่ต้องเอื้อมมือไปไกล ลดระยะการมองกวาดของสายตา เพื่อที่จะไม่ต้องหันคอไปดู โดยเน้นการใช้พื้นที่ทำงานปกติ

สรุป

การทำงานตามหลักเออร์กอนอมิกส์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเนื่องจากมีหลักการหลายข้อ แต่จุดสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความสะดวกสบายของร่างกายและการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ ไม่สูญเปล่าโดยต้องเน้นหลัก NEWS และออกแบบงานให้เป็นไปตามหลัก ERCS ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นักรังสีเทคนิคจะต้องใส่ใจและปรึกษาหารือกับทีมสถาปนิกที่ปรับปรุงห้อง ซึ่งจะในการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือดใหม่แล้วมีการปรับปรุงห้องควบคุมร่วมด้วย จะทำให้ได้การออกแบบที่มีประสิทธิภาพ หากละเลยและมอบหมายให้คนอื่นที่ไม่เข้าใจแนวทางเออร์กอนอมิกส์ดูแล ห้องควบคุมที่เสร็จออกมาก็จะมีข้อบกพร่อง มีความไม่สะดวกต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งการตามแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการป้องกันโดยการร่วมออกแบบหรือให้ข้อมูลรูปแบบการทำงานแก่ทีมออกแบบอย่างครบถ้วนก็จะทำให้ได้ห้องควบคุมและลักษณะการทำงานที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตในการทำงานอีกด้วย

 

 บรรณานุกรม

  1. สุทธิ์ ศรีบูรพา. เออร์กอนอมิกส์: วิศวกรรมนุษยปัจจัย. บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด. 2540  
  2. สมาคมการยศาสตร์ไทย. www.est.or.th

 

คำสำคัญ (Tags): #dsa#work design
หมายเลขบันทึก: 481094เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2012 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท