ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมช่วยตรวจดูพื้นที่ป่า แก้ปัญหาการบุกรุกและความจน


(เก็บไว้)

ปัญหาการบุกรุกป่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น กล่าวคือ ประเทศไทยเคย มีการสำรวจปริมาณป่าไม้เมื่อปี 2516 พบว่า มีเนื้อที่ป่าเหลืออยู่ 138,578,125 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 43.21 ของเนื้อที่ประเทศ แต่การสำรวจล่าสุดเมื่อ 2541 ป่าไม้ลดลงเหลือเพียง 81,076,428 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 25.28 ของเนื้อที่ประเทศ ทำให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลา 25 ปี มีการบุกรุกพื้นที่ป่าถึง 57,501,697 ไร่ หรือ เฉลี่ยปีละ 2,300,067.88 ไร่ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการเพิ่ม ของจำนวนประชากร การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของราษฎร

สิ่งที่ตามมา คือ การปัญหาการทำลายป่าโดยการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา ปัญหาเรื่องไฟป่า โรค และแมลง การแผ้วถางป่าเพื่อการเพาะปลูก เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่ความเสียหายต่อเนื่องทั้งชีวิต และทรัพย์สินประชาชนจำนวนมาก ในแต่ละปี เช่น การเกิดแผ่นดินถล่ม (Land Slide) และ น้ำท่วมพัดพาซุงลงจากที่สูงไปทับชาวบ้าน การเกิดภาวะอากาศแปรปรวน ฝนตกหรือฝนแล้ง ไม่เป็นไปตามฤดูกาลเป็นต้น


นายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนของ ประชาชน อันมีสาเหตุจากปัญหาการขาดที่ดินทำกิน นายกฯ จึงเน้นย้ำว่า ต้องให้ราษฎรที่มีฐานะยากจนมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองเร็วที่สุด ทางก.ทรัพยากรฯ จึงมีแนวคิดที่จะนำภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง มาใช้ประกอบเอกสารสิทธิทำกิน (ส.ท.ก.๑ก) ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสำรวจ และออกเอกสารสิทธิฯ ได้เร็วขึ้น อีกทั้งประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย


รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ เล่าอีกว่า กระทรวงฯ พิสูจน์แล้วว่าแนวคิดนี้นำมาใช้งานได้จริง เห็นได้จากการนำ ภาพถ่ายดาวเทียม รายละเอียดสูงไอโคนอส (IKONOS) มาตราส่วน 1: 4000 ที่มีความละเอียดหลักเมตร มาออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้กับ ประชาชนที่ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ผ่านมาได้ผลน่าพอใจ เพราะนอกจากแก้ปัญหาความยากจนได้แล้ว ยังช่วยก้องกันการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ และป่าสงวนได้แบบมีประสิทธิภาพ โดยหากนำภาพถ่ายทางอากาศที่มีอยู่ ที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2544-45 มาเทียบกับภาพในขณะนิ้ จะพบว่าพื้นผิวหน้าดิน มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น การใช้ภาพเพื่อออกเอกสารสิทธิฯ จึงต้องใช้ภาพที่ใหม่ถ่ายไว้ไม่เกินปี 2548

“ที่ผ่านมาแผนที่ของหน่วยงานต่างๆ มีมาตรฐานต่างกันเกินไป เมื่อนำของแต่ละหน่วยมาเทียบกันก็ใช้ไม่ได้ จึงต้องกำหนดไว้ว่าภายในเดือน มี.ค. 2549 ทุกหน่วยงานต้องใช้แผนที่มาตราส่วน 1: 4000 เหมือนกันหมด ใครไม่มีใช้ก็ให้นำของคนอื่นมาใช้แทน ส่งผลให้แผนที่ของภาครัฐกับประชาชนมีเส้นแบ่งอันเดียวกัน ไม่ทับซ้อน เนื่องจากใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและการลงสำรวจพื้นที่พร้อมๆ กัน โดยคณะกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติ ที่มี รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธาน และเป็นผู้จัดการมารกของชาติ จะเป็นรผู้จัดการเรื่องเอกสารสิทธิฯ เหล่านี้เอง” นายยงยุทธ กล่าว


รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ อธิบายว่า การออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินรูปแบบใหม่ที่ อ.อาจสามารถ นี้ มีเป้าหมายก็เพื่อ ให้เกิดความมั่นคงว่าผู้ทำกินจะไม่ย้ายถิ่นฐาน และ ที่ดินทุกแปลงต้องสร้างรายได้แก่ประชาชน หากรายใดใช้ที่ดินไม่คุ้มค่าต้องให้ชาวบ้านคนอื่นเช่าที่ดินทำกิน หากใครใช้ที่ดินป่าสงวนต้องออกใบอนุญาต ระบการใช้ให้พอเพียงเหมาะกับอาชีพ กำลังการผลิต และสมาชิกในครัวเรือน รวมทั้งจะต้องไม่ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา ภายในระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้ 5 ปี หากอีก 5 ปีนำภาพมาเปรียบเทียบแล้วไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง หรือมีการรุกพื้นที่ป่ามากกว่าเดิม จะได้ถอนกรรมสิทธิ์แล้วดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นายยงยุทธ อธิบายเสริมว่า การที่ อ.อาจสามารถมีการออกเอกสารได้เร็ว เพราะนโยบายบังคับ และรูปแบบการทำงานอยู่ที่นั่น จึงต้องเริ่มที่จุดนั้นก่อน แต่รัฐบาลต้องทำทั้งประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีให้ยุทธศาสตร์มาแน่ คาดว่าไม่เกิน 3 ปีโครงการนี้คงจะแล้วเสร็จ เพราะมีทั้งคนที่อยากได้เอกสารสิทธิฯ คนไม่มีที่ดินทำกิน รวมทั้ง คนที่อยู่ในที่ดินรวมก็ต้องออกเอกสารสิทธิฯ ในที่ดินรวมเช่นกัน ปัญหา คือ เจ้าหน้าที่บางรายแอบรับสินบนมา จึงออกเอกสารสิทธิฯ ให้แก้ผู้ร้องขอโดยมิชอบ ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน เช่น เกาะช้าง มีเอกชนรุกล้ำก็ไปจัดการให้เจ้าของรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไป


รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรภาพถ่ายดาวเทียมว่า เนื่องจากทางกระทรวงฯ ได้ไปขอภาพถ่ายดาวเทียมจากคลังภาพของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สอภท. (GISDA) ที่มีสถานีควบคุมดาวเทียมรายละเอียดสูงตั้งอยู่ในประเทศไทย ที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ของเหล่านี้เขาถ่ายไว้อยู่แล้วจึงไปเอามาใช้ฟรีๆ นอกจากนี้ มีแผนที่จะนำเอา เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) และ ระบบการบริหารจัดการข้อมูล (MIS) ใช้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจต่างๆ ถือเป็นการเอาระบบไอทีมาใช้ให้เกิดประโยชน์


จากเอกสารเผยแพร่ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ระบุว่า รัฐบาลควรจะมี ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง เพื่อการบริหารและ การจัดการภัยพิบัติต่างๆ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะการมี ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง จะทำให้สามารถทราบสภาพพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงโดยละเอียด ทำให้สามารถวางแผนการป้องกันภัย


เช่น การวางแผนการติดตั้ง เสาสัญญาณเตือนภัย เพื่อให้กระจายในตำแหน่งที่เหมาะสม การวางแผนการอพยพประชาชน ไปในทิศทางและตำแหน่งที่เหมาะสม หากมีสัญญาณเตือนภัยขึ้น เป็นต้น และเมื่อเกิดอุบัติภัยต่างๆ ขึ้นแล้ว จะช่วยให้สามารถ ประเมินความเสียหาย และ ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยตามความจำเป็น ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ในเอกสารยังระบุอีกว่า ขณะนี้ ความต้องการของนักบริหาร นักวิชาการและประชาชนทั่วไป ที่ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงด้วยระบบ “กูเกิล เอิรธ์” (Google Earth) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีความสนใจที่จะนำมาใช้ในกิจการต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนทำให้เกิดชมรมต่างๆ ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ โดยสร้างข้อมูลและโปรแกรมประยุกต์ต่อเนื่องขึ้นจำนวนมาก
แต่ปัญหาที่ประสบ คือ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงต่างๆ มีจำนวนน้อย ไม่ทันสมัย ทำให้มีการเรียกร้องหาข้อมูลที่ยังขาดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยหากประชาชนมีข้อมูลภาพ เหล่านี้แล้ว จะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจจากส่วนภาคเอกชนในโอกาสต่อไป ดังนั้น การที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการจัดหาภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง จะช่วยให้เยาวชนและสังคม รู้จักสิ่งแวดล้อมของแผนดินเกิด อันที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานอื่นๆ ที่เหมาะสมออกมาให้บริการแก่สังคมต่อไป


เชื่อว่า แนวคิดดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนที่นับวันจะถูก บุกรุกมากขึ้น เนื่องจากการถ่ายภาพครั้งเดียวข้อมูลที่ได้ก็นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการพัฒนาประเทศ และใช้วางแผนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้คุ้มค่าแล้ว มีของดีทั้งทีก็ต้องเอามาใช้ ไม่ใช้เก็บใส่ตู้ไว้ดูให้เพลินตาเท่านั้น...


ที่มาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
จุลดิส รัตนคำแปง
[email protected]

http://203.146.249.195/PointAsia/news_detail.asp?newsID=11

*จากข่าวย้อนหลัง PointAsia.com

 

 

คำสำคัญ (Tags): #แผนที่
หมายเลขบันทึก: 48068เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2006 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
คำถาม: ส.ท.ก. คืออะไร
คำตอบ : ส.ท.ก. คือหนังสืออนุญาตให้ทำกินในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว ออกโดยกรมป่าไม้
 คำถาม: ส.ป.ก. จัดที่ดินให้นายทุน ได้หรือไม่
คำตอบ : "การได้รับที่ดินโดยวิธีการปฏิรูปที่ดิน จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่ คปก.กำหนด โดยขั้นตอนการปฏิบัติ ผู้ได้รับการจัดที่ดินจะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ และต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ
1. ต้องนำชี้แปลงที่ตนทำประโยชน์ให้ช่างรังวัดจัดทำแผนที่ 2. ต้องให้ถ้อยคำในการสอบสวนสิทธิต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามความเป็นจริง หากให้ความเท็จอาจถูกดำเนินคดีอาญาได้ 3. ต้องได้รับการรับรองจากผู้ปกครองท้องที่ คือ ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันว่าเป็นเกษตรกรผู้ทำประโยชน์จริง 4. ต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการคัดเลือกเกษตกรซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ และผู้แทนเกษตรกรในอำเภอเป็นอนุกรรมการ

5. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน"

 
คำถาม: ส.ป.ก.มีวิธีการควบคุมสิทธิในที่ดินอย่างไรบ้าง
คำตอบ : "ส.ป.ก.มีวิธีการควบคุมสิทธิในที่ดิน 2 ช่วง คือ
1. ช่วงก่อนได้รับกรรมสิทธิในที่ดิน ในช่วงนี้ เกษตรกรหรือผู้ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่อง หรือผู้ได้รับอนุญาตในการประกอบการ ยังอยู่ในขั้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์สิทธิตามสัญญาเช่าและสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ได้รับสิทธิยังไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การโอนการตกทอดทางมรดกสิทธิและบทลงโทษ 2. ช่วงหลังจากได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เกษตรกรที่ได้ชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าชดเชยครบถ้วนแล้ว จะได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเอง สามารถจัดการทำประโยชน์ในที่ดินได้ตามประสงค์ แต่จะต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายปฏิรูปที่ดินมาตรา 39 กล่าวคือ เกษตรกรจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรอาชีพเกษตรกรรม ก็อาจขายที่ดินให้กับ ส.ป.ก. เพื่อจะได้นำไปจัดให้กับเกษตรกรรายใหม่ที่มีความต้องการที่ดินประกอบเกษตรกรรมต่อไป " คำถาม: ส.ป.ก. 4-01 คืออะไร
คำตอบ : ส.ป.ก.4-01 คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในที่ของ รัฐไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

คำถาม: นส.3 กับ สปก. มีความแตกต่างกันอย่างไร มีสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง
คำตอบ : น.ส.3 เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทหนึ่งที่ออกตาม ป.กฎหมายที่ดิน ไม่ต้องห้ามการทำนิติกรรม ส่วน ส.ป.ก.4-01 เป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งที่ดินนั้นไม่อาจออกหนังสือแสดงสิทธิตาม ป.กฎหมายที่ดินได้ เป็นหลักฐานชั่วคราว เมื่อจัดให้เช่าซื้อก็จะให้กรมที่ดินรังวัดเปลี่ยน 4-01 เป็นโฉนดที่ดินให้กับผู้เช่าซื้อต่อไป แต่เป็นโฉนดที่มีข้อจำกัดสิทธิ ข้อมูลโดย : สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

http://moac.go.th/builder/moac06/inside.php?link=faq&c=faq

ส.ป.ก.4-01 คืออะไร ช่วยบอกรายละเอียดมากกว่านี้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท