อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์


คนที่รู้ว่าความรู้ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ย่อมได้เปรียบ

ในวงการสาธารณสุขมีคำอยู่คำหนึ่งที่ชาวสาธารณสุขน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะรู้จักหรือสนใจ

พูดเป็นภาษาอังกฤษว่า critical appraisal แปลตรงๆก็ว่าการประเมิน อย่างจริงจัง

ความหมายที่ใช้กันในวงการก็คือหมายถึงการอ่านอย่างพิเคราะห์พิจารณ์ หมายความว่า เวลาอ่านบทความวิชาการ หรืองานวิจัย หรือความรู้ข้อมูลไม่ว่าจากแหล่งไหน ผู้อ่านจำเป็นต้องอ่านไปตั้งคำถามไป

เพื่อประเมินว่าบทความหรือความรู้ชุดนั้นใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ตรงไหนอย่างไร

การประเมินอย่างจริงจังในที่นี้ จึงมีความหมายว่า ให้อ่านไปตั้งคำถามไป

บางคนบอกว่า อ่านไปให้คอยจับผิดไป ซึ่งหลายคนบอกว่าแบบนี้ไม่ดี

เพราะถ้าทำบ่อยๆจะกลายเป็นโรคขี้ระแวง ไม่เชื่อใจใคร อ่านอะไร ฟังอะไรก็จะเห็นเขาผิดไปหมด เพราะมัวแต่จับผิด

แต่จริงๆก็คือว่า โดยทั่วไปถ้าเป็นงานวิจัย ผลการวิจัยก็ขึ้นกับวิธีการวิจัย ถ้าเราอ่านแต่ผลการวิจัยไม่อ่านว่าเขาทำอย่างไร จึงได้ข้อสรุปนั้น ถ้าเกิดวิธีที่เขาใช้มันผิด เราก็จะสรุปผิดไปด้วย

หรือถ้าวิธีของเขาไม่ถึงกับผิด แต่มีข้อจำกัดบางอย่าง เราก็อาจจะตีความมากเกินไป

แต่ถ้ารู้ข้อจำกัดในการทำวิจัยก็ทำให้ตีความได้เหมาะกับผลงานนั้น

ตัวอย่างเรื่องนี้ที่ผู้คนในสังคมไทยคงคุ้นเคย คือการออกมาโต้กันไปกันมาว่า โพลล์สำนักนี้เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เพียงไร

ถามคนแค่ 5 พันคนแล้วบอกว่าเป็นตัวแทนคนไทยทั้ง 60 ล้านมันเป็นไปได้ไง

นี่เป็นตัวอย่างของการอ่านและประเมินอย่างจริงจัง ประเภทหนึ่ง

ไม่รีบเชื่อ หรือไม่เชื่อ

และถ้าทำอย่างถูกต้องก็จะใช้ประโยชน์ได้แม้ความรู้ที่มาจากวิธีการวิจัยที่ไม่ได้ถูกต้อง 100%

เพราะจริงๆก็คือไม่มีอะไร 100 % อยู่แล้ว

ความรู้ที่ว่าถูกวันนี้ พรุ่งนี้ก็มีที่ถูกมากว่ามาอีก

อย่างกรณีการใช้ยาฮอร์โมนในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้สุขภาพดีเหมือนก่อนวัยหมดประจำเดือน อย่างน้อยก็ 2 เรื่อง คือลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด กับทำให้กระดูกแข็งแรง หรือลดภาวะกระดูกผุ ที่มาคู่กับหญิงวัยหมดประจำเดือน

ก่อนหน้าปี 2545 มีการวิจัยในผู้หญิงจำนวนมาก ในหลายประเทศ เพื่อดูว่าจะมีปัญหามากน้อยแค่ไหนในการกินฮอร์โมนหลายปีติดต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม หรือโรคหัวใจขาดเลือด

ซึ่งผลการวิจัยส่วนใหญ่ก็ไม่อาจฟันธงได้ชัดๆว่า การให้กินยาฮอร์โมนในหญิงวัยหมดประจำเดือน ได้ประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจมากน้อยแค่ไหนเพียงไร

แต่ที่แน่ๆคือทำให้เป็นมะเร็งมดลูกได้ง่ายขึ้นถ้ากินฮอร์โมนตัวเดียว ถ้าจะให้ดีต้องกินฮอร์โมนเพศหญิง 2 ตัวคู่กัน

แต่เมื่อปี 2545 นักวิจัยจากโครงการวิจัยสุขภาพสตรีที่รู้จักกันในนาม women health initiative (WHI) ได้ออกข่าวผลการวิจัยในเรื่องเดียวกันนี้ โดยใช้วิธีการวิจัยที่ไม่เหมือนกับที่ผ่านมาเพราะใช้วิธีทดลองให้กินยาโยแบ่งคนไข้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งในทางวิชาการถือว่าเป็นการวิจัยที่มีมาตรฐานสูง ไม่ใช่คอยตามดูผลจากคนไข้ที่ตัดสินใจกินยาเอง เทียบกับคนที่ตัดสินใจไม่กินยาเอง

ปรากฏได้ข้อสรุปออกมาว่าการให้ฮอร์โมนในหญิงวัยหมดประจำเดือนจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น และยังมีความเสี่ยงอื่นๆเช่น เส้นเลือดสมองตีบตันหรือแตก และอุบัติการของเส้นเลือดดำที่อื่นๆอุดตันมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ถ้ากินต่อเนื่องกันนานกว่า 5 ปี

และนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าวิธีการวิจัยของกลุ่มWHI มีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าในการตอบคำถามเรื่องนี้ ถึงขนาดนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทดลองในหนูแล้วพบว่าการให้ฮอร์โมนในหนูที่ไม่มีฮอร์โมนตามธรรมชาติจะทำให้เส้นเลือดของหนูมีปัญหาน้อยกว่าพวกที่ไม่ได้ให้ฮอร์โมน ต้องกลับมาถามตัวเองว่าผลการทดลองในหนูมันไม่ตรงกับการศึกษาในคน เพราะเหตุผลอันใด

การที่ผลการวิจัยของ WHI ออกมาแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าวิธีการวิจัยที่มีมาก่อนหน้านี้ผิด แต่การใช้วิธีวิจัยที่เรียกกันว่า การวิจัยโดยการสังเกต (ไม่ได้ทดลอง) หรือการทำการทดลองแต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ นั้นตอบคำถามเรื่องอันตรายระยะยาวจากการใช้ฮอร์โมนในหญิงวัยหมดประจำเดือนไม่ได้ดีพอ ถ้าใช้วิธีการศึกษาแบบ WHI จะดีกว่า

แต่ที่ไม่มีคนทำมาก่อนเพราะมันต้องใช้เวลามาก และใช้งบประมาณสูง แบบนี้คนทั่วไปที่ไม่มีฐานวิชาการคงงง และไม่รู้ว่าควรจะเชื่อกลุ่มไหน ยิ่งมาอ่านเจอว่าวิธีการวิจัยของกลุ่มแรกก็ไม่ผิดหลักวิชาการ แต่ไม่ดีเท่าวิธีการที่กลุ่มหลังใช้กัน

เราจึงยังเห็นคนที่พอใจจะใช้ฮอร์โมนต่อไป โดยไม่สนใจผลการศึกษาใหม่ที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า ในแง่ความเป็นจริงแล้วมันเป็นการค้นพบว่าการใช้ฮอร์โมนอาจทำให้ความเสี่ยงต่อโรคบางอย่างสูงกว่าคนไม่ใช้ ไม่ได้แปลว่าคนใช้ฮอร์โมนต้องเป็นโรคพวกนั้นแน่ๆ ในขณะเดียวกันคนที่ใช้ฮอร์โมนก็ได้รับประโยชน์อื่นๆ เช่นกระดูกหักน้อยกว่า (ผู้หญิงหมดประจำเดือนจะมีกระดูกผุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) และอาการร้อนๆหนาวๆก็ไม่มี

เขายินดีแบกรับความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะเขาได้ประโยชน์อื่นๆจากการใช้ฮอร์โมน พูดง่ายๆว่าเป็นไรเป็นกัน

ส่วนคนที่เชื่อการวิจัยของ WHI และพากันเลิกใช้ก็บอกว่าที่เลิกใช้เนื่องมาจาก การใช้ฮอร์โมนก็ไม่ได้เพิ่มประโยชน์อะไร ถ้าต้องมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นโดยประโยชน์ไม่มากเท่าไหร่ ขอลดโอกาสเสี่ยงลงจะดีกว่า พูดง่ายๆว่า ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า

พวกนี้มีมากจนยอดขายฮอร์โมนเพศหญิงใน ประเทศที่ร่ำรวยแล้ว อย่างอเมริกา อังกฤษ หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น ตกลงไปมากหลังผลการวิจัยออกมาในปี 2545

แต่สิ่งสำคัญคือมีคนจำนวนไม่น้อยก็ยังคงใช้ หรือเลิกใช้โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน แต่อาจจะบอกว่า เพราะหมอบอกว่าเลิกเถอะ หรือเพื่อนบอกว่าชั้นยังใช้เลย เธอจะไปกลัวอะไร

คนที่รู้ว่าความรู้ที่แท้จริงเป็นอย่างไร และตัดสินใจโดยรู้เท่าทันความรู้และข้อจำกัดของความรู้ ย่อมได้เปรียบคนที่ไม่รู้แม้กระทั่งว่าความรู้ที่มีอยู่มีข้อจำกัดแค่ไหน

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่น่าจะมองผ่านไปด้วยการสรุปง่ายๆว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ใครจะไปมีปัญญาทำให้คนทุกคนฉลาดรู้ทันไปซะทุกเรื่อง ยิ่งเรื่องยากๆอย่างการวิจัย หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราก็ต้องเชื่อผู้มีความรู้อยู่แล้ว จะต้องไปศึกษาให้เข้าใจเองน่าจะเป็นความฝันซะล่ะมากกว่า

ลองสมมุติตัวเองเป็นผู้หญิงที่กำลังใช้ฮอร์โมน แล้วถามตัวเองว่าถ้ารู้อย่างที่ผมเล่ามานี้ แล้วเรายังจะมอบการตัดสินใจไว้ที่หมอที่เป็นคนรักษาเราอยู่หรือเปล่า หรือว่าเราจะไปถามคนที่สอง คนที่สาม ถ้าถามแล้วจะได้ข้อสรุปดีขึ้นไหม หรือว่าต้องถามสัก 10 คน แล้วดูว่า ส่วนใหญ่ (มากกว่าครึ่ง) เขาว่าไง แล้วเชื่อตาม หมอส่วนใหญ่ (ซึ่งอาจจะหมายถึงตั้งแต่ 5 ใน 10 จนถึง 9 ใน 10 คน)

หรือว่าจะใช้วิธีรอให้จิ้งจกทัก หรือจะรอดูดวงดาว หรือดูหมอว่ามีเคราะห์หรือไม่

การอ่านอย่างพิเคราะห์ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคนที่ไม่อยากถูกคนมีความรู้มากกว่าหลอก

แต่บางทีคนที่มีความรู้ก็อาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

หมายเลขบันทึก: 48060เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2006 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท