บันได 5 ขั้นได้ใจทีม


สมัยข้าพเจ้าจบใหม่ๆนั้น มีความทุกข์จากความรู้สึกโดดเดี่ยว จะทำสิ่งใดก็ติดขัด พูดสิ่งใดก็เหมือนไม่มีใครเข้าใจ...รู้สึกโหยหาความรู้สึกเป็น "ทีม"-- ในแบบที่ข้าพเจ้าต้องการ
 
   จนวันหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากครอบครัวผู้ป่วยรายหนึ่ง.. 

ผู้ป่วยรายนี้เป็นคุณยาย อัมพาตจากเส้นเลือดในสมองแตก  มีภาวะสมองเสื่อม และไตวายจากเป็นเบาหวาน 
ผู้ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ นอนติดเตียงต้องคอยพลิก และ ป้อนอาหาร
...

ครอบครัวนี้มีพี่คนโตที่เป็นพยาบาล ซึ่งดูแลคุณแม่เก่งมาก ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเลย
แต่วันหนึ่งเธอก็ถือเอกสิทธิ์นำแม่ไปเข้า รพ. เอกชนราคาแพง
แล้ววางกฎ ให้ทุกคนผลัดกันมาเฝ้าแม่และป้อนอาหารที่ รพ.
น้องชายซึ่งเป็นช่างกล กลัวจะทำแม่สำลัก เลยจ้างคนมาดูแลแทน
ก็สร้างความไม่พอใจให้กับพี่น้อง มองว่าขี้เกียจเหมือนพ่อ ซึ่งตอนหนุ่มกินแต่เหล้า แม่เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว
ให้ทุกคนออกเงินค่ารักษาเฉลี่ยกัน ปรากฎ  น้องคนที่เป็นแม่บ้าน มีปัญหาการเงิน
ส่วนน้องคนสุดท้องก็เข้ากับฝ่ายพี่คนโตตลอด พี่น้องเลยแตกออกเป็นสองขั้วไม่พอใจกัน
แถมตอนนอนใน รพ. ผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ
จนต้องเข้าไปอยู่ใน ICU
.
วันหนึ่ง
พี่สาวคนโต เลยบอกกับน้องๆ ว่า “พี่รู้สึกเหนื่อยจัง..บางที พี่อาจจะเชื่อตัวเองมากไป”
“ใจจริงพี่ไม่อยากเอาแกเข้าๆ ออกๆ รพ. เลย แต่พี่อยากเห็นแกลุกขึ้นกินข้าวจริงๆ”
.
แล้วนั่นคือ จุดเปลี่ยนสำคัญคะ
พี่สาวคนโต ยังได้รับความเคารพ ในฐานะวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ตัดสินใจเซ็นพาแม่ออกจาก รพ.
น้องชายคนรอง ซึ่งมีความรู้ด้านกลศาสตร์ เลยช่วยออกแบบอุปกรณ์ช่วยปรับนั่ง
น้องคนที่เป็นแม่บ้าน  ช่วยคิดสูตรอาหารเหลว ปั่นเองได้
น้องคนที่เป็นนักธุรกิจ ก็ช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด เพราะน้อยกว่าตอนเข้า รพ.มาก
พี่น้องกลับมาสามัคคีกัน พร้อมๆ กับ นวัตกรรมการดูแลแม่..

###
—T ย่อมาจากคำว่า Together           : ไปด้วยกัน
E ย่อมาจากคำว่า Everyone           : ทุกคนคือส่วนสำคัญ
A ย่อมาจากคำว่า Achievement      : ความสำเร็จร่วมกัน
M ย่อมาจากคำว่า More                : ไม่หยุดยั้ง สร้างนวัตกรรม
.

ความเป็นทีม
ไม่สามารถเกิดได้ด้วยการทำไปก่อนคนเดียว แล้วหวังให้คนอื่นเข้ามาช่วย
ไม่สามารถเกิดได้ หากตัวเราต้องการเป็นคนสำคัญที่สุด
ไม่สามารถเกิดได้ หากตัวเราไม่สื่อสารเป้าหมายให้คนอื่นรับรู้
ไม่สามารถเกิดได้ หากตัวเรา(และผู้อื่น) ต้องการเพียงอยู่รอดไปวันๆ
###

ในหนังสือ The Five dysfunction of a team โดย Patrick Lencioni 
ได้ให้แนวคิด เหตุที่ทีมไม่ประสบความสำเร็จไว้ 5 ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นส่งผลให้เกิดขั้นต่อไปดังภาพ

ข้าพเจ้าชื่นชมในการวิเคราะห์ ยกตัวอย่าง ในหนังสือเล่มนี้ แต่แทนที่จะมองปัจจัยลบ
อยากลองมอง ปัจจัยบวก ดูบ้าง พร้อมกับถอดเป็นภาษาไทยง่ายๆ ไว้ใช้เองดังนี้ 


 

เรามักคาดหวัง ให้ทีมเป็นสัญลักษณ์ความร่วมใจ ที่ก้าวข้ามขอบเขต "งานฉันงานเธอ"
เป็น "งานของเรา"
แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น ก็ต้องมีขั้นที่เป็นฐานก่อน
.
โดยเฉพาะขั้นแรก "ความเชื่อใจ" เกิดจากสิ่งที่อาจขัดสามัญสำนึก
ความเชื่อใจ ไม่ได้เกิดเมื่อ ต่างพยายามอวดเด่น กลบด้อย
ความเชื่อใจ  เกิดเมื่อ ต่างยอมรับความจริงว่ามีทั้งจุดเด่น และจุดด้อย
.
เมื่อไม่มี การ์ดปกปิดตัวตนของกันแล้ว
ขั้นต่อไป คือ ความจริงใจ ที่จะแสดงความเห็นต่างจึงเกิดได้
การรับฟังความต่าง ด้วยความสงสัย  ไม่ด่วนตัดสิน 
แม้เราไม่อาจทำตามใจทุกคนได้ แต่ความเห็นทุกคน "ได้ยิน"

เมื่อไม่ต้องกลัวว่าใครในทีมจะต่อต้านจากการไม่มีส่วนร่วมแล้ว
จึงตัดสินใจเลือกเป้าหมายที่ชัดเจนได้ 
.
เป้าหมายที่ชัดเจน
ช่วยให้การติดตามประเมินผลทำได้อย่างโปร่งใส
ส่งผลให้แต่ละคนในทีมต่างพยายามรักษามาตรฐานการทำงานของตน

ผลงานที่ออกมา ในนามของทีม
เป็นแบบทวีคูณ
มากกว่าผลบวกของงานที่ออกมาแบบต่างคนต่างทำ
ทำให้แต่ละคนเห็นคุณค่าของการทำงานเป็นทีม

###

ในโลกอันสับสนวุ่นวาย ทฤษฎีนี้อาจจริงแค่บางส่วน
แต่ประสบการณ์ย้ำกับข้าพเจ้าว่า
เพื่อให้เป็น TEAM ต้องไม่ใส่ I

หมายเลขบันทึก: 480379เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2012 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

อาจารย์ครับ...

ชอบบันทึกนี้ เพราะได้เห็นมุมมองหนึ่งในความเป็นทีม

และเรียนรู้กับการเป็น TEAM ต้องไม่ใส่ I ครับ

ขอบคุณครับ

  ***...ขอบคุณข้อคิดอันเป็นประโยชน์ในการสร้างทีมงาน....รากฐานแห่งความจริงใจ เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาที่ดีนะคะ ...***

                   
                                        

สวัสดีครับอาจารย์ หมอ ป. เรื่องของทีมอจารย์ที่สอนเรื่องการทำงานเป็นทีม ได้ให้บทกลอนสอนใจ ให้การทำงานเป็นทีม ไว้ดังนี้

"หนึ่งต้นไม้ไม่เป็นป่าพนาสนฑ์

หนึ่งหยาดชลไม่เป็นทะเลหลวง

หนึ่งคนเก่งแม้เก่งกว่าคนทั้งปวง

ก็ไม่อาจล่วงงานใหญ่ได้ลำพัง

ต้องอศัยคนหมู่มากมาเป็นหลัก

ต้องรู้จักหน้าที่ให้ซึ่งจึงสมหวัง

หากทุกคนไม่ปรองดองคงต้องพัง

งานทุกอย่างสวยเด่นทำเป็นทีม"

เป็นบทกลอนที่ผมมักนำมาปิดการประชุมให้กับการทำงานเป็นกลุ่มแทบทุกครั้ง

(I think) we know this essential :

"...เป้าหมายที่ชัดเจน

ช่วยให้การติดตามประเมินผลทำได้อย่างโปร่งใส

ส่งผลให้แต่ละคนในทีมต่างพยายามรักษามาตรฐานการทำงานของตน..."

The book emphasizes "negatives" (or blocks or opposing weaknesses);

You offer "positives" (or channels or supported strengths)

We can that both blocks and channels are useful as guidance to get to the "goal" (or target).

We sometimes see how blocks make water flow around into channels -- much faster -- ;-)

---

I+ have been proposed to denote (school) "food with iodised salt added".

(It will take more effort to make school food iodised without "I" in person ;-)

จริงใจ แตกต่าง อย่างสร้างสรรค์

ขอบคุณและสุขสันต์ส่งท้ายเดือนแห่งความรักนะคะ

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านวอญ่าสำหรับกลอนมากคะ

วันนี้ ขออนุญาตนำกลอนพร้อมอ้างอิง ปิดท้าย การพูดในหัวข้อนี้

ในงานมหกรรมสุขภาพชุมชนลำปาง

...

วันนี้ พิจารณาตนเอง ก็ยังทำหน้าที่วิทยากรไม่ดีนัก
เพราะพูดเกินเวลาไปถึง 30 นาที
เพราะมีแค่ 16 สไลด์  ตอนซ้อม เป็นแบบพูดคนเดียว
แต่พอมีผู้เข้าฟังก็อดเดินไป เดินมา ซักถาม เลยกินเวลาท่านอื่นไป
ครั้งหน้าคงต้องติดนับถอยหลังไว้ที่สไลด์แล้วคะ

ขอบคุณคะ

เมื่อก่อน เวลาจะชวนใครทำงานร่วมกัน
ขึ้นต้นด้วย I -"ฉันอยากจะ"
ส่วนมากก็ชวนไม่สำเร็จหรอกค่ะ
ตอนหลังหันมา ME (มีใน tEaM นะคะ :)  คุณอยากให้ฉันช่วยอะไร
ก็ดูได้ผลมากขึ้นค่ะ

ขอบคุณค่ะ

...

สังเกตสีหน้าผู้เข้าฟัง
เมื่อกล่าวถึง ความเชื่อใจ คือ การยอมรับว่ามีจุดอ่อน
หลายท่านหน้าฉงน
พอกล่าวว่า ความจริงใจ คือ กล้าที่พูดความเห็นแตกต่าง
ยิ่งฉงนเข้าไปใหญ่

...

ในหนังสือเล่มนี้ ฝรั่งเขียนไว้
แต่จะเข้ากับบริบทไทยมากน้อยเพียงไร ยังไม่มีหลักฐานประจักษ์
ฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง ของท่านที่ลุยงานในชุมชนมา
พบว่า ความเชื่อใจ ของเราคือ "ตัวบุคคล" เป็นหลัก
เอ่ยชื่อนี้ ทุกคนยอมรับ พูดมาทุกคนฟัง ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม

ทีม มีความหมายมาก เยี่ยมเลยค่ะ ขอบคุณมากนะคะสำหรับบทความดีๆ นี้

อย่างที่อาจารย์ว่าคะ

อย่าทำดีเพราะติดการได้ชื่อเป็น - คนดี -

เพราะนี่ก็สร้างทุกข์ได้เหมือนกัน

 

* ขอบคุณค่ะTeam Spirit เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จอย่างยั่งยืน

* การขับเคลื่อนเรื่องนี่้ต้องเริ่มจากผู้นำองค์กรก่อนเป็นแบบอย่างในแนวทางที่น้องหมอ ป.เล่าไว้ค่ะ ได้ใจและได้งานอย่างแท้จริง

ขอบคุณค่ะ ที่ให้แง่คิด
ทั้งหมดทั้งมวลนั้น
เป็นการ "ตั้งข้อสมมติฐาน"
เพื่อว่า เวลามีประสบการณ์ชีวิต
จะได้มีหลักพิจารณาว่าจริงหรือไม่ กับบริบทที่เราอยู่ค่ะ

 



 

ส่งท้ายเดือนแห่งความรักค่ะคุณ poo

เป็นเดือนที่ทั้้งมีดอกไม้บาน และหมอกควัน

เหมือนชีวิตการทำงาน

บางครั้งก็ชื่นใจ ตื้นตันใจ

บางครั้งก็อึมครึม เหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง

อย่างไรก็ขอเป็นกำลังใจให้กันและกันนะค่ะ 

ขอบคุณค่ะ
ในวันงานมหกรรมฯ
ก็ได้เรียนรู้ จากวิทยากรอีกสองท่าน ที่นำภาพ นำเรื่องราวจากการทำงานจริงๆ มาเล่า
ช่วยให้เรื่องนามธรรม เป็นรูปธรรมขึ้นมา
...
จบงานแล้วก็ได้คำถามว่า
บทบาท ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ในโรงเรียนแพทย์นั้นอยู่ตรงไหน?
จริงดั่งที่ ท่านอาจารย์พัชรินทร์ รพศ.ลำปาง ว่า
"ทำงานลงแต่ครอบครัว ไม่ประสานกับชุมชน มักไม่ได้ผล และไม่สนุก"

 

จิตวิญญาณความเป็นทีม คือรากฐาน ของความยั่งยืน
...

เชื่อมั่นกับคำกล่าวนี้ทุกๆ คำ เลยค่ะ
ได้แต่หวังว่า
คงยังไม่สาย..

ขอบคุณที่หมอ ป.เขียน ดีใจที่ได้มาอ่านค่ะ ยังต้องการเรียนรู้อีกมากนัก ขอบคุณที่ไปให้กำลังใจ ทำให้ได้ตามมาอ่านเรื่องดีๆ..

เป็นภาคทฤษฏีที่อธิบายความเป็นไปในหน่วยงานพี่โอ๋ได้ตรงมากเลยค่ะ ทำให้เห็นว่าพวกเราทำงานสนุกสนานกันได้เพราะอะไร

ขอบคุณค่ะ คุณเภสัชปราณี

ชีวิตคือการเรียนรู้ พิสูจน์สมมติฐาน
บันได 5  ขั้น  ที่ถอดบทเรียนมาจากสังคมตะวันตก
น่าจะเหมาะกับ สังคมที่ต่างคนต่างมีความเป็นตัวเอง (ปัจเจก)
และต่างภูมิใจในตนเองระดับหนึ่ง
เช่น สังคมคนทำงานในหน่วยงานรัฐ  มหาวิทยาลัย
สำหรับ คนในชนบท..อันนี้ยังไม่แน่ใจค่ะ 

ขอบคุณค่ะพี่โอ๋ อยากมีชีวิตทำงานจริงที่สนุกสนาน แบบนั้นบ้างจังค่ะ :)

1 เดือนผ่านไป

ทอดถอนใจ ก่อนก้าวต่อไป

"ฉันยืนอยู่ตรงไหน และทีใดเป็นเจ้าของฉัน"

คุณหมอครับ เห็นภาพชัดเจนมากเลยครับ ขอบคุณครับที่แบ่งปัน

ขอบคุณค่ะ อ.ขจิต
นักคิดทฤษฎี หยิบยกเรื่องธรรมดาๆ มาทำให้ไม่ธรรมดา
(เหมือนอาจารย์ที่ทำให้การเรียนภาษา ไม่ธรรมดา)
ก็ด้วยความเป็น "นักสร้างภาพ" -- ความหมายในที่นี้ หมายถึงทำให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นนะค่ะ :)

ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงประสบการณ์ครับ

    จากประสบการณ์จริง  ขอยกมา ๒ กรณีครับ  ระหว่างทีมที่สำเร็จ และ ทีมที่ล้มเหลว

     ทีมที่สำเร็จ  เป็นความตระหนักร่วมกันของทุกคน ว่า "เราต้องช่วยกัน"  ความตระหนักมาจากไหน  มาจาก  "ปัญหาภายนอก" ที่กระทบถึงทุกคนในทีม  ตรงนี  ทุกคนจะรวมตัวเป็นทีมโดยอัตโนมัติครับ

     ทีมที่ล้มเหลว  เป็นทีมที่ไม่มีความไว้วางใจกันครับ ส่วนใหญ่  เป็นการสร้างทีม "เพื่อพัฒนาองค์กร เพื่อพัฒนางาน"  ตรงนี้จะมี  "อำนาจและผลประโยชน์" แฝงอยู่ในการทำงานเป็นทีม   บางคน  แม้ืำงานเป็นทีม แต่ "ทำงานเพื่อเอาหน้า"

     คล้ายๆ กับว่า  ต้องมีศัตรู มาจากข้างนอก ถึงจะเป็นทีมได้ครับ   แต่ถ้าอยู่กันเอง ก็สร้างศัตรูกันเองครับ 

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ small man พิจารณาประสบการณ์ที่ผ่านมา มีส่วนจริงอยู่ค่ะ
"ยามศึก เราร่วมรบ
 ยามสงบ เรารบกันเอง :)"
มองว่า สาเหตุเกิดจากความไม่ไว้วางใจกันและกัน
และ มองการพัฒนาเป็นเรื่องผิดปกติ
ใครตั้งธงทำสิ่งใหม่ๆ มักมีแรงต้าน เคลือบแคลงว่ามีประโยชน์แอบแฝง 
...
ทางที่แก้ไขได้เท่าที่นึกออก
หนึ่งคือ รอให้ฝีสุกเสียก่อน
สอง คือ หา common ground จากประสบการณ์ "ร่วมทุกข์" 

ต้องบอกว่าได้ใจมาก..ตอนนี้กำลังหาทีมอยู่พอดี

แต่ว่าภาระงานที่หนัก..น้องๆที่ยังเด็กๆเขามักอ่อนล้า

แต่ว่าเราอยากเห็นเขาเติบโต.....และพัฒนา

เลยต้องยอมรับว่า...เหนื่อยจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท