ลักษณะต้นฉบับของไม้บอนไซ


ต้นฉบับบอนไซ

    

                    ลักษณะต้นฉบับของไม้บอนไซ

 

 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นิยมการเลี้ยงบอนไซกันมากในปัจจุบันจึงได้แบ่งลักษณะบอนไซออกตามรูปทรงที่ตกแต่งให้เป็นแบบต่างๆตามลักษณะของลำต้น 5 ชนิด และแบ่งย่อยอีกหลายแบบ

1. Chokkan หมายถึง ไม้บอนไซที่มีส่วนของลำต้นตั้งตรง ทำมุมกับแนวระดับประมาณ 90 องศาเป็นมุมตั้งฉาก

2.Tachiki หมายถึง ลักษณะบอนไซที่มีส่วนของลำต้นเอนไปทางซ้ายและขวาข้างใดข้างหนึ่งเล็กน้อย ซึ่งจะคงรูปแบบแนวตั้งตรงของลำต้น ซึ่งพุ่มใบที่แตกออกมาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน

3.Shakan หมายถึง ลักษณะบอนไซที่มีลำต้นเอนจากแนวระดับมาทางด้านข้างมากขึ้น โดยทำมุมกับแนวระดับประมาณ 45 องศา

4.Han-kengai เป็นบอนไซที่มีลักษณะลำต้นเอนพับลงเกือบจดบริเวณปากกระถาง

5.Kengai เป็นบอนไซที่มีลักษณะลำต้นเอนห้อยย้อยต่ำกว่าปากกระถาง ส่วนยอดเลื้อยกลับไปกลับมาต่ำกว่าปากกระถาง

 

 

 

และแบบ บอนไซที่นำเสนอต่อไปนี้เป็นแบบที่เราพบเห็นกันบ่อย

ซึ่งเป็นการแบ่งย่อยจากทั้ง 5 ลักษณะข้างต้นอีกทีหนึ่ง คือ


 

 

แบบลำต้นตั้งตรง ( Formal Upright )

   คือบอนไซที่มีลักษณะลำต้นตั้งตรงทำมุมกับแนวระดับ 90 องศา บอนไซรูปแบบนี้ลักษณะที่ดีเลิศลำต้นต้องตรง มีลำต้นเดียว มีกิ่งและช่อใบแตกเป็นพุ่มสองข้างของลำต้นเท่ากัน กิ่งที่ยื่นออกมาจะรับกับลำต้นได้สัดส่วน ช่อใบจะแตกเป็นพุ่มทรงพุ่มแบนแหลม ให้ความรู้สึกมีพลัง มีรากแข็งแรงแตกรอบต้นทุกทิศทาง ให้ความรู้สึกมั่นคง รวมความรู้สึกทั้งหมดที่ได้ให้บรรยากาศสง่า ภูมิฐาน ดังหอคอยตั้งสูงตระหง่าน

 

 

แบบลำต้นตั้งไม่ตรง( Informal Upright)

   ลำต้นอาจจะไม่ตรงทีเดียวเหมือนแบบแรก แต่รูปทรงทั้งหมดอยู่ในแนวตั้งเป็นเส้นตรงเดียวกัน มีลักษณะของลำต้นส่วนกลางเอนมาทางขวาเล็กน้อยแล้วกลับงอใหม่เป็นเส้นตรง พุ่มใบที่แตกออกจากลำต้นอาจไม่เท่ากันทั้งสองข้างของลำต้นเหมือนแบบแรก มีลำต้นเดียว

 

 

 

แบบลำต้นโน้มเอียง (Sianting)

  ลำต้นจะเอนลงจากแนวตั้งเล็กน้อย หรือเอนทำมุม 45 องศากับแนวระดับ จะเป็นทางซ้ายหรือทางขวาก็ได้ การแต่งบอนไซประเภทนี้มักจัดให้รากและกิ่งอยู่เพียงด้านเดียว พุ่มใบอาจแต่งให้สมดุลกับลำต้นหรือเป็นรูปอื่นๆที่ทำให้เห็นว่าต้นไม้นั้นเอนจากแนวตั้งด้วยก็ได้ ลักษณะให้ความรู้สึกเหมือนไม้ขึ้นบนที่สูงตามหน้าผาที่มีลมแรง

 

 

 

แบบลำต้นคู่ ( Twin Trunk)

   เป็นไม้ตอแอบ คือมีลำต้นตั้งแต่ 2 ต้นขึ้นไปต้นหนึ่งอาจเล็กกว่าอีกต้นก็ได้ ลำต้นอาจไม่ได้เกิดจากตอเดียวกันก็ได้ ตัดแต่งให้มีขนาด และความสูงของลำต้นสัมพันธ์ได้สมดุล ประกอบเป็นรูปทรงสวยงาม ถ้ากิ่งช่อใบที่แตกยื่นออกมารับกับลำต้น ก็จัดว่าอยู่ในบอนไซชั้นดี

 

 

 

แบบลำต้นเอนมาก( Semi Cascade)

    คือลำต้นจะเอนลงจากแนวตั้งฉากมากกว่า 45 องศาหรือเกือบถึงขอบกระถางก็ได้ พุ่มใบอาจแตกออกตามส่วนยอดของลำต้นที่เอนไปด้วย ลำต้นอาจเอนไปข้างใดข้างหนึ่งของแนวตั้งก็ได้ แต่นิยมให้เอนไปทางเดียวกัน สร้างความรู้สึกเหมือนต้นไม้ริมหน้าผาถูกลมแรงพัด

 

 

 

แบบตกกระถาง (Cascade )

   ลำต้นเอนต่ำลงจากขอบกระถางและแตกกิ่งแตกพุ่มใบห้อยลงอยู่ต่ำกว่าระดับขอบกระถาง อาจห้อยยาวลงมาจากขอบกระถางมาก จนทำให้ต้องหาที่ตั้ง หรือรองกระถางบนม้าสูง ไม่สามารถตั้งกระถางบอนไซประเภทนี้บนโต๊ะหรือบนพื้นราบธรรมดาได้ ต้องใช้ม้าสูงๆ หรือโต๊ะตั้งเล็กๆที่มีส่วนสูงพอรับกิ่งใบที่ห้อยย้อยลงมาได้พอดีไม่กองพื้น

 

 


แบบบิดเกลียว ( Coiled )

   เป็นต้นที่ดัดให้โค้งเป็นรูปวงกลม หรือลำต้นบิดเป็นเกลียวไปมาการแตกกิ่งจัดให้แตกในทิศทางสมดุลแลน่าดูกับลำต้น ให้บรรยากาศมีลมพายุพัดหมุนแรงจัดรอบต้น สร้างความรู้สึกมีพลัง สวยงาม ส่วนใหญ่รากจะมีขนาดใหญ่ เปลือกหยาบแตกสะเก็ด กิ่งก้านจะต้องบิดงอ ให้รูปทรงสมดุลกับลำต้นด้วย

 

 

แบบกลุ่มกอ ( Sinuous )

   เป็นไม้กอที่ถูกแบ่งแยกมาจากกอเดิม มีหลายลำต้นซึ่งเป็นกอเดียวกัน อาจมีลักษณะทรวดทรงของลำต้นต่างๆกัน แล้วแต่การดัดแปลงแล้วแต่การตกแต่ง มองดูคล้ายป่าจำลองเล็กๆในกระถาง

 

 

 

แบบโผล่ราก  (Exposed Root)

    ลักษณะของลำต้นลอยสูงขึ้น โดยมีรากดันให้ลำต้นสูงขึ้น เห็นรากโผล่สูงขึ้นเหนือพื้นดินคล้ายๆไม้ตลกรากไม้ดัดไทย ลำต้นมีลีลาอ่อนช้อย และงอกรวมเป็นกอขึ้นมา

 

 

 

แบบลู่ลม ( Windswept)

   ลักษณะลำต้นไปตามลม ลำต้นจะเอนไปทางด้านหนึ่งเหมือนถูกลมพัด กิ่งและพุ่มใบจึงแตกในด้านที่ถูกลมพัดไปด้านเดียว ดูคล้ายต้นไม้ริมหน้าผา ริมทะเล ที่ถูกลมพัดไปด้านเดียวตลอดปี

 

แบบอักขระ (Literati )

   ลักษณะลำต้นสูงขึ้นเรียวเอนออกจากแนวตั้งเล็กน้อย แล้วยอดหักกลับลงดิน แล้วปลายยอดหักขึ้นอีก คล้ายตัวหนังสือจีน

 

 

 

แบบปลูกบนหิน ( Rock – Grown)

   ไม้งอกบนหิน บอนไซแบบรากเกาะก้อนหินมีอยู่หลายชนิด และเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น Root over rock เป็นการปลูกบนหินหรือข้างก้อนหินให้รากเกาะหินก่อนจะเลื้อยลงดิน รูปร่างของลำต้นอาจเป็นได้หลายแบบ แล้วแต่ก้อนหินที่เกาะอยู่ และลักษณะของลำต้นแบบ  clinging to a rock เป็นการปลูกพันธุ์ไม้ตามก้อนหินแต่ไม่เห็นรากเกาะอยู่กับหินเหมือนแบบราก อาจมีพันธุ์ไม้หลายอย่างหรือพันธุ์ไม้หลายต้นเกาะอยู่บนก้อนหิน บอนไซแบบนี้นอกจากเลือกพันธุ์ที่งามประกอบกันไปด้วย บรรยากาศที่ได้จะเหมือนกับไม้ขึ้นบนหินใหญ่หรือยอดเขา และ หากใช้กระถางที่ค่อนข้างแบนใส่น้ำท่วมรอบกระถาง ก็จะได้บรรยากาศดังต้นไม้ขึ้นบนเกาะกลางทะเล

 

     


แบบไม้กวาด ( Broom)

   เป็นไม้ทรงคล้ายแบบต้นตั้งตรง แต่ปล่อยให้การแตกกิ่งแขนงและการแตกใบออกเป็นพุ่มคล้ายไม้กวาด ความสวยงามอยู่ที่การแตกกิ่งแขนงซึ่งต้องใช้ศิลปะในการตกแต่งอยู่บ้าง

 

 

 

แบบแบน (Raft)

  ลำต้นจะราบไปกับดิน กิ่งก้านที่แตกออกมาตั้งตรงแลดุคล้ายกับไม้ขึ้นเป็นกลุ่ม จัดให้ก่งพุ่มใบแยกห่างออกจากกันพอควรเพื่อให้เห็นลำต้นที่งอกออกมาหลายลำต้นได้ถนัด ยิ่งเป็นไม้ที่มีสภาพ คดงอตามธรรมชาติจะสวยงามมากยิ่งขึ้น

 

 


แบบหลายลำต้น (Multiple Trunk )

   บอนไซแบบนี้เป็นไม้กอมีลำต้นหลายๆต้นงอกขึ้นมาจากรากเดียวจากลำต้นเดียว ตัดแต่งให้ดูเหมือนมีหลายลำต้นตั้งแต่ 3 ลำต้นขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่มักจะแต่งให้มีจำนวนเป็นคู่ ก่อความรู้สึกเป็นป่าเล็กๆหรือป่าละเมาะ

 

 

 

แบบปลูกเป็นกลุ่ม ( Multiple Tree )

   บอนไซประเภทนี้ กระถางหนึ่งๆจะมีต้นไม้ตั้งแต่ 9 ต้นขึ้นไป ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นไม้พันธุ์เดียวกัน แล้วจัดตัดแต่งให้ดูเหมือนกับสภาพป่า โดนจัดให้มีความสมดุลต่อเนื่องกัน โดยทั่วไปแล้วจะต้องใช้พันธุ์ไม้เดียวกันหรืออยู่ในกรุ๊ปเดียวกัน ควรเลือกไม้ที่มีพุ่มใบสีเขียวสดตลอดกาล และเปลี่ยนใบหรือผลัดใบในบางฤดูกาล ผสมกัน ถ้าเป็นไม้คนละพันธุ์แล้วการจัดแต่งจะทำได้ยากขึ้น

 

 


แบบ Split-Trunk

    เป็นบอนไซกอใหญ่ที่ต้นตอมีแก่นไม้ตายโผล่ให้เห็น ดูคล้ายตอไม้ตายที่แตกแขนงใหม่ (แอบตอ)

 

 


แบบ Prif Wood

    เป็นบอนไซคล้ายแบบ Split Trunk แต่จะมีลำต้นอายุมากกว่าลำต้นเหมือนไม้ตายแล้ว มีลวดลายและบิดไปมา มีตามีปุ่มที่ตอไม้

 

 


ขอบคุณ ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ

จาก หนังสือ คู่มือบอนไซ โดย พรรณทวี พรประเสริฐกุล


 

 

ขอบคุณ ภาพบอนไซจากอินเตอร์เน็ต............กานดา  แสนมณี



หมายเลขบันทึก: 480331เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 07:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

รูปทรงสวยงามดีจังเลยครับ

ราคาอาจถึงหลายหมื่นบาท 

สวัสดีครับ

คงแพงเหมือนครูใหญ่ท่านพูดไว้ข้างบนครับ

และคงใช้เวลานานและความใส่ใจในการดูแลนะครับ

สวัสดีค่ะ

ต้องมีเวลาดูแลรักษาอย่างดีด้วยนะคะ

เป็นพรรณไม้แห่งศาสตร์ ศิลป์ และจินตนาการอย่างแท้จริงนะคะ

เป็นต้นไม้ที่เหมือนงานปฏิมากรรมค่ะ

สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากนะคะ ดอกไม้และกำลังใจ

           ที่มอบให้บันทึก ลักษณะต้นฉบับไม้บอนไซ

 

สวัสดีค่ะ  Ico48    Ico48    Ico48    Ico48    Ico48

 

อาจารย์โสภณ  Ico48  

ราคาไม้บอนไซ มีทั้งราคาสูงและไม่สูง หากเราปลูกเองเริ่มจากเมล็ดก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อต้นไม้เลยค่ะ เช่นเราทาน มะขามเทศ มะขามหวาน หรือเปรี้ยว เราก็เพาะเมล็ด พอขึ้นก็ดูแลและเอาใจใส่ ทำเป็นแบบไม่ป่าก็ได้ หรือต้นไม้ในบ้านใบเล็กหน่อย ตัดแต่ง ตามแบบต่างๆหรือเราคิดแบบเอง เราก็ได้ไม้บอนไซ ได้เช่นกัน ตอนหรือชำออกมาจากต้นใหญ่ ก็ได้อีก เพียงแต่ใช้เวลาเลี้ยงกิ่งให้สวยงาม ก็ได้บอนไซสวยงามได้ค่ะ ลองเริ่มนะคะ

 

คุณทินดาบ Ico48

ใช่แล้วค่ะ ต้องใช้เวลา ใจเย็นรอคอยให้กิ่งใบแตกกิ่งแขนงย่อยในแต่ละกิ่ง ส่วนราคานั้นหากเราเริ่มปลูกด้วยตัวเอง ได้ทั้งความภูมิใจและราคาไม่แพง ต้นเดียวในโลกของเรา หาซื้อไม่ได้ ขอเพียงให้เริ่มปลูกเลี้ยงเท่านั้น

 

คุณKRUDALA  Ico48

ช่วงที่เราปลูกยังไม่ได้นำขึ้นกระถางบอนไซ ก็ยังดูแลไม่บ่อยนักก็ได้ค่ะ แต่ถ้านำขึ้นกระถางบอนไซ การดูแลก็ต้องเพิ่มขึ้น การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย เปลี่ยนดิน ฯ แต่ให้ความยินดีมีความสุขมากๆกับการที่ทำต้นไม้ต้นหนึ่งจบเป็นไม้บอนไซได้เอง  มองๆต้นไม้ในบ้านไว้บ้างนะคะ

 

คุณพี่ใหญ่  Ico48 

ค่ะถูกต้องอย่างที่คุณพี่ใหญ่กล่าว การปลูกเลี้ยงต้นไม้ที่ให้เป็นบอนไซ ผู้ปลูกจะได้ หลายๆอย่างมากค่ะ ไม่ว่าจะ ความอดทน ความใจเย็น ใจร้อนไม่ได้ ได้สมาธิ ได้ความภูมิใจ ฯ และบางครั้งต้องตัดสินใจให้ได้ ในการตัดแต่งกิ่ง รูปแบบที่จะให้ต้นไม้เป็นแบบไหน หากไม่ตัดไม่จบ  ดาละเป็นคนเสียดายต้นไม้ จะตัดกิ่งทีคิดแล้วคิดอีกค่ะ

 

น้องอาจารย์ศิลา  Ico48

น้องบอกว่าเป็นต้นไม้ที่เหมือนงานปฏิมากรรม  ค่ะบางต้นผู้ปลูกเลี้ยงๆได้อย่างเยี่ยมทุกอย่างของการเป็นบอนไซอย่างแท้จริงอยู่ได้นานหลายสิบ หลายร้อยปีก็ไม่ตาย อายุมากกว่าคนๆหนึ่งหลายเท่า หากได้ชมภาพบอนไซอายุมากๆแล้วพี่ดาดีใจและชอบมากมายค่ะ  น้องมาอยู่สวนที่เชียงใหม่ แล้วอย่าลืมปลูกไว้บ้างนะคะ เพราะเนื้อที่กว้าง ปลูกเลี้ยงในดินก่อนแล้วค่อยนำขึ้นกระถางก็ได้

 

 

 

เป็นงานศิลป์่ที่ต้องใช้ความอดทน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท