ตารางเรียนตารางสอนกับการบริการงานวิชาการ


"การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองที่ดี ย่อมก่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า แต่ที่ดียิ่งไปกว่านั้น ก็คือ กระบวนการคิดแบบดั้งเดิม ได้วิวัฒนาการไปสู่สิ่งที่ชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม และกำลังดำเนินไปสู่อนาคตด้วยมุมมองที่คล้ายคลึงในทิศทางเดียวกัน มีคุณค่าต่อการพัฒนาการให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยหลายเท่านัก"

                  อาศัยประสบการณ์ที่สะสมมานานเกือบ 15 ปี หรือเกือบที่จะพร้อมๆ กับการที่ มศว.พิษณุโลก เปลี่ยนวิทยฐานะเป็น ม.นเรศวร  และกับประสบการณ์การดูแลด้านการจัดตารางเรียนตารางสอนมหาวิทยาลัยนเรศวร เท่าๆ กับระยะเวลาที่มาอยู่ใน ม.นเรศวร ทำให้ได้เห็นถึงวิวัฒนาการของงานวิชาการในมหาวิทยาลัยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เติบโตไปพร้อมกับความก้าวหน้าทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ในบทบาทหลัก 4 ด้าน คือ (1) ด้านการผลิตบัณฑิต ที่มีคุณภาพ  (2) ด้านการวิจัย ที่มุ่งสู่การปฏิบัติด้วยวิธีการวิจัยและพัฒนา  (3)  ด้านการบริการวิชาการ ด้วยวิธีการและรูปแบบที่หลากหลาย และ (4) ด้านการทำนุบำรุงด้านศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อความอยู่ร่วมกันของประชาคมโลก อย่างมีศักดิ์ศรีและให้เป็นเอกลักษณ์ของการเสริมสร้างวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นกับองค์กรและบุคลากร  ซึ่งทั้ง 4 ภารกิจหลักดังกล่าว ยังคงขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับการเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่งของมหาวิทยาลัย

                   ด้วยความที่ผู้เขียนเองเป็นนักวิชาการศึกษา ที่ค่อนข้างทำงานเพื่อมุ่งหวังให้งานก้าวไกลไปข้างหน้า  เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยของเราก้าวหน้าขึ้นไปมาก  จากอดีตที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ สมัยที่อาจารย์และบุคลากรมีไม่มากนัก ทรัพยากรด้านการอำนวยความสะดวกสำหรับการเรียนการสอน ก็มีอยู่อย่างจำกัด อาคารเรียน ห้องเรียน มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้สอย  บีบให้การบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอนเป็นไปด้วยความยากลำบาก  จากที่เคยเป็น มศว.พิษณุโลก ซึ่งเหมือนกับเป็นวิทยาเขตของ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ขยับขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ ทั้งอาจารย์ ทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่  จากที่เคยสอนนิสิตเพียงไม่กี่ร้อยคน ขยับขึ้นมาหลายเท่าตัว ปัจจุบันเรามีนิสิตหลายหมื่นคน ชี้ให้เห็นว่า การบริหารจัดการงานด้านวิชาการเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง  จากอดีต การจัดการด้านการเรียนการสอน ใช้วิธี "เอื้ออำนวยตามความสะดวกของอาจารย์และนิสิต"  พัฒนาขึ้นมาเป็น "ต้องยึดนโยบายและหลักการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย" เป็นหลัก  ทำให้รู้ว่าจากการที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินงานและกระบวนการบริหารจัดการ ไม่ยุ่งยากเท่ากับ การต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดและการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้อง  อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่หลายๆ ท่าน ยอมรับได้ในเวลาอันรวดเร็ว หลายท่านต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้าใจในวิถีของการเปลี่ยนแปลง  และอีกหลายท่านที่ยังต้องอาศัยเวลาต่อไปเพื่อความเข้าใจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

                   ระบบของการจัดตารางเรียนตารางสอน ก็เช่นเดียวกัน ได้เติบโตขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าทางวิชาการของมหาวิทยาลัย จากอดีตที่ใช้ manual ทั้งอุปกรณ์และ manual ทั้งกระบวนการ ประยุกต์มาเป็น software ที่สามารถรองรับได้จากต่างประเทศ  ถึงแม้ว่าจะเป็นโปรแกรมที่ทำงานในลักษณะของ stand alone แต่ก็ช่วยให้การบริหารจัดการง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ความผิดพลาดอันเกิดจากการหลงลืมบันทึกหรือลบทิ้งของข้อมูลมีน้อยลง ในขณะที่ต้องสวนกระแสหรือทวนความคิดเดิมๆ ของบุคลากรรุ่นบุกเบิกมากขึ้น จากที่สามารถเลือกวันเวลาสอนหรือปฏิบัติงานได้ กลับกลายเป็นต้องปฏิบัติการสอนตามที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ซึ่งบางครั้งไม่ตรงกับความต้องการของผู้สอนมากนัก แต่ด้วยความที่มหาวิทยาลัยเติบโตอย่างรวดเร็ว นิสิตมีมากขึ้นทวีคูณ การบริหารจัดการงานวิชาการต้องอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด  ระบบจึงช่วยให้ผู้สอนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของวิถีประชาคมไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้โปรแกรมจึงช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น ในขณะที่โปรแกรมก็ช่วยให้เราต้องคิดค้นวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของเราด้วยเช่นกัน

                      ด้วยการขับเคลื่อนที่ไม่อยู่นิ่งในวงการวิชาการของมหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับการพัฒนาการให้บริการงานวิชาการที่สอดคล้องกัน ปัจจุบันงานบริการวิชาการทั้งระบบ ตั้งแต่การรับเข้าศึกษาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา ถูกบริหารจัดการด้วย ICT ไม่เว้นแม้กระทั่งการดำเนินงานด้านการจัดตารางเรียนตารางสอนของมหาวิทยาลัย  การจัดตารางเรียนตารางสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ช่วยให้พวกเราทั้งมหาวิทยาลัยบริหารจัดการงานด้านการจัดตารางเรียนตารางสอนของตนเองได้รวดเร็วและผิดพลาดน้อยลง  หลังจากที่เรานำระบบฯ ผ่านเครือข่ายเข้ามาใช้  ส่งผลให้ส่วนกลางกับคณะ สามารถคุยเรื่องเดียวกันให้เข้าใจตรงกันได้ง่ายขึ้น หลายคนอาจปฏิเสธ ICT ในระยะเริ่มต้น  แต่สุดท้ายก็ยอมรับ ICT ที่เข้ามาบริหารจัดการให้วิถีการทำงานของตนเองง่ายขึ้น  "การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองที่ดี ย่อมก่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า  แต่ที่ดียิ่งไปกว่านั้น ก็คือ กระบวนการคิดแบบดั้งเดิม ได้วิวัฒนาการไปสู่สิ่งที่ชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม และกำลังดำเนินไปสู่อนาคตด้วยมุมมองที่คล้ายคลึงในทิศทางเดียวกัน มีคุณค่าต่อการพัฒนาการให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยหลายเท่านัก"               

หมายเลขบันทึก: 47991เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2006 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท