สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน


สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน

          การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน น้ำ แร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการขยายตัวของประชากร ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด หากมีการจัดการที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากไม่มีการเข้ามาจัดการที่เหมาะสมแล้ว อาจทำให้ชุมชนต่างๆไม่สามารถดำรงอยู่ได้ซึ่งส่งผลต่อประเทศชาติด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาดูแลจัดการทรัพยากรร่วมกัน  ซึ่งสิทธิชุมชน (community rights)เป็นแนวคิดหนึ่งที่ได้ให้อำนาจกับชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม                                                          

          เสน่ห์ จามริก  ได้ให้ความหมายของ “สิทธิชุมชน คือ การให้ชุมชนชาวบ้านมีสิทธิในการเลือกอนาคตของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระโดยตัวเองในสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านจำเป็นจะต้องเรียนรู้ชุมชนที่เขาอยู่ ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังจ้องอยู่ หนึ่ง เขาต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อมสิ่งที่เขามีอยู่กับความต้องการ ความคาดหวังจากโลกภายนอกเท่าทันที่จะปกป้องสิทธิของเขา ในขณะเดียวกัน ก็ใช้สิทธิที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเขาสามารถทำประโยชน์ให้กับโลกได้ อย่างน้อยที่สุดปกปักรักษาทรัพยากรของโลก สอง อาจจะบอกว่าเขาก็สนใจอยากจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมที่จะทำวิจัย สาม อาจจะบอกว่า เขายินดีที่จะร่วมมือทำอะไรต่อมิอะไรที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นประโยชน์ยั่งยืน ในเวลานี้เราต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนแค่เรื่องสิทธิทำกินว่าต้องให้อยู่ตรงนี้ ถ้าเป็นแค่นี้ไม่พอ มีอะไรหลายอย่างที่เราต้องคิด วิจัย ศึกษา”                                                                                                                                     

              ยศ สันตสมบัติ กล่าวว่า “สิทธิชุมชน หมายถึง  สิทธิร่วม เหนือทรัพย์สินของชุมชน สมาชิกของชุมชน ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าเท่านั้น จึงจะมีสิทธิใช้และได้ประโยชน์จากป่า โดยนัยนี้ สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เพื่อส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้วสมาชิกของชุมชนทั้งหมดจะมีสิทธิตามธรรมชาติในการใช้ทรัพยากรรวม แต่ชุมชนก็สามารถใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคมเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ชุมชนหลายแหล่งมีกฎเกณฑ์อนุญาตให้แต่ละเฉพาะครัวเรือนที่แต่งงานใหม่และยากจนเท่านั้นจึงจะมีสิทธิตัดไม้เพื่อใช้ส่วนตัว ในขณะที่ครัวเรือนที่มีฐานะดีจะไม่ได้สิทธิอันนั้น”

                ซึ่งกล่าวได้ว่า สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับผู้ที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของชุมชนเป็นอันดับแรก    ชุมชนตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรชุมชนในการดำรงอยู่ ซึ่งทรัพยากรชุมชน (Community Resources) หมายถึง สรรพสิ่งที่อยู่ในชุมชน ซึ่งอาจจะแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบใหญ่ๆคือ 1) ทรัพยากรชุมชนทางชีวภาพ ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก 2) ทรัพยากรชุมชนทางกายภาพ ได้แก่ ทรัพยากรตามธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ แร่ธาตุ ป่าไม้ พลังงาน อากาศ และแสง 3) ทรัพยากรที่ชุมชนสร้างขึ้น ได้แก่ สิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา กลุ่ม และองค์กรชุมชนต่างๆ เป็นต้น   การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดชุมชน ซึ่งชุมชนต้องร่วมกันรักษาทรัพยากรชุมชนให้สามารถดำรงอยู่ได้ ทั้งนี้การมีสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรชุมชนนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน คือ สิทธิภายใน นั่นคือ การจัดความสัมพันธ์ต่อการใช้ทรัพยากรของสมาชิกในชุมชนและสิทธิภายนอก ซึ่งก็คือ การอ้างสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและดำเนินการปกป้องฐานทรัพยากรไม่ให้ภายนอกเข้ามาทำลายหรือมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของชุมชน  การดูแลรักษาทรัพยากรชุมชนจึงขึ้นอยู่กับชุมชนเป็นหลัก เนื่องด้วยชุมชนมีความสามารถในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์  การกำหนดแนวทางดูแลรักษา ให้เข้ากับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น บริบทของชุมชน  ทำให้การดูแลรักษาทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ และการยอมรับสิทธิชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินการในการจัดการทรัพยากรชุมชนให้เป็นไปได้ด้วยดี

                ปัจจุบันได้มีกฎหมายรองรับสิทธิชุมชน โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 12 ว่าด้วยสิทธิชุมชน ในมาตรา 66 บัญญัติไว้ว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน  และ มาตรา 67  บัญญัติไว้ว่าสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ  หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม  การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ  จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน  และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน  รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมแลสุขภาพ  และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ  ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญกับชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร อนุรักษ์ บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน และสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

                จากประสบการณ์การฝึกงานการพัฒนาชุมชน เห็นได้ว่า มีหลายชุมชนในหลายพื้นที่ อาทิ  พื้นที่ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งชุมชนได้มีการจัดการทรัพยากรชุมชน คือ การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีการทำข้อตกลง กติการ่วมกันในการใช้เครื่องมือประมง  การจับสัตว์น้ำ รวมทั้งการร่วมกันดูแลรักษา อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน ออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหินว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2553  ซึ่งข้อบัญญัติเป็นกฎหมายท้องถิ่นที่ตราโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอาศัยอำนาจจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  นอกจากนี้แล้วในขณะนี้ตำบลบ่อหินได้มีการดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยของชุมชน ตลอดจนทรัพยากรอื่นๆในชุมชน  มีการสร้างกฎกติการ่วมกันในการจัดการดูแล   การใช้ประโยชน์ทรัพยากร  ทั้งนี้เรียกว่า ผังชุมชน   โดยอาศัยความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน มูลนิธิอันดามัน แกนนำชาวบ้าน หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ในการดำเนินงานร่วมกัน   นอกจากนี้แล้วพื้นที่ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ก็เป็นตำบลหนึ่งที่เริ่มมีการจัดการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินการสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชน การร่างกติกาการดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากร การปลูกจิตสำนึกที่ดีในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าชายเลน เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อบัญญัติตำบล เพื่อใช้เป็นกฎกติกาในการปฏิบัติร่วมกันและรองรับการดำเนินการจัดการทรัพยากรของชุมชน  จะเห็นได้ว่าชุมชนได้มีการตื่นตัวกับการจัดการปัญหาและทรัพยากรชุมชน เช่น ที่ดิน ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ภาครัฐ   องค์การพัฒนาเอกชน   หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคนในชุมชนเอง ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกัน โดยมีการออกข้อบัญญัติตำบลเพื่อใช้เป็นกฎหมายท้องถิ่นในการปฏิบัติร่วมกัน    แสดงให้เห็นถึงบทบาทของชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน  ทั้งนี้ชุมชนเชื่อว่า คนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้  โดยสัญญาร่วมกันว่าจะดูแลรักษาทรัพยากรร่วมกัน  

              กล่าวโดยรวมแล้ว ทรัพยากรชุมชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชุมชน เพราะคน ในชุมชนต่างก็ต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการและความอยู่รอดของชุมชน  และนอกจากการใช้ประโยชน์แล้วในอีกด้านหนึ่งชุมชนก็ต้องร่วมมือกันดูแลรักษาทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลายด้วยเช่นกัน   ดังนั้น สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน นั่นก็คือ การที่ชุมชน ซึ่งดำรงชีพด้วยการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรชุมชนร่วมกัน  อาศัยอำนาจทางกฎหมายและจิตสำนึกที่ดีของชุมชนร่วมมือกันบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน โดยเห็นได้จากกรณีพื้นที่ตำบลบ่อหินและตำบลเกาะสุกรที่มีการตื่นตัว เห็นความสำคัญของการจัดการทรัพยากร สร้างข้อตกลง กติกา และการปฏิบัติร่วมกันในการจัดการทรัพยากรชุมชน  รูปธรรมที่เห็นได้ชัดจากการนำสิทธิชุมชนมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์สุขของชุมชนและการจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งทางระบบนิเวศ  เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสร้างความเป็นธรรมในชุมชน  โดยมีองค์กรต่างๆของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนให้เป็นไปตามความต้องการร่วมกันของชุมชน  ซึ่งชุมชนอาศัยอำนาจตามสิทธิทางกฎหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน   แต่ทั้งนี้สิทธิชุมชนก็ต้องได้รับการยอมรับและคนในสังคมให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน จึงจะทำให้สิทธิชุมชนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง  ในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งนั้นคือการดูแลรักษาทรัพยากรชุมชนให้เกิดความสุมดุลและยั่งยืน ให้สามารถดำรงอยู่สืบต่อไป

 

 

อ้างอิง  

                                                                                                                                          

        กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2550). สิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน. กรุงเทพฯ :   สำนักพิมพ์วิญญูชน.                                                                                                  

        โกวิทย์  พวงงาม. (2551). การจัดการตนเองของชุมชนและท้องถิ่น. กรุงเทพฯ :  บพิธการพิมพ์.                                                                                                  

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550. เข้าถึงได้จาก:    www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf                                                            

         เรวดี ประเสริฐเจริญสุข.(2552). สิทธิชุมชนมิติประมงพื้นบ้าน. เข้าถึงได้จาก www.sdfthai.org/public/สิทธิชุมชน%20ประมงพื้นบ้าน.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 479902เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2012 05:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าจัดสรร และจัดการให้ดี ก็จะได้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่า มากที่สุดครับ

คิดว่าต่อไป ในอนาคตข้างหน้า เรื่องสิทธิชุมชนนี้น่าจะมีบทบาท ต่อการจัดการทรัพยากรมาก จึงถือว่าบทความนี้เป็นบทความที่ดีแล้วอาจจะ สามารถต่อยอดในงานพัฒนาชุมชนได้ ในอนาคต ครับ

การให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรจะทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การให้ชุมชน ชาวบ้านมีสิทธิในการเลือกอนาคตของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระโดยตัวเอง ถือเป็นการเรียนรู้ทรัพยากรโดยตรงตามความต้องการของชุมชน

 

ช่วยพิมพ์ให้ชัดว่าส่วนไหนสำคัญ

ส่วนเนื้อหาบอกว่าหากชุมชนร่วมมือกันดีชีวิตคนในชุมชนก็จะดีน่าจะยกตัวอย่างชุมชนที่ไม่มีการจัดการที่ดีแล้วทำให้ชีวิตคนในชุมชนแย่ลง ให้เห็นว่า หากคุณไม่จัดการชุมชนให้ดีชุมชนมันจะแย่ลงจิงๆ หากเพียงแต่บอกว่าจัดการสิแล้วชุมชนจะดี เหมือนกับทึกทักเอาเอง

ขอบคุณน่ะค่ะ คุณ luis hemnah ความคิดเห็นของคุณเป็นประโยชน์อย่างมาก แล้วจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้บทความมีความสมบูรณ์มากขึ้นน่ะค่ะ....

การให้สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรมชาติ ส่งผลให้ชุมชนได้รับประโยชน์และทำให้งานพัฒนาชุมชนเกิดประสิทธิภาพค่ะ

อภิสิทธิ์ พงศ์สุชาติ john

การให้สิทธิชุมชนในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้คนในชุมชนรู้จักการเห็นถึงประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและเห็นคุณค่าที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ให้กับคนในชุมชนต่อไปในอนาคต

คิดว่า การจัดการทรัพยากรธรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จะส่งผลให้ชุมชนดีขึ้น เห็นด้วยกับงานเขียนชิ้นนี้ที่พยายามกล่าวถึงต้นทุนของชีวิตชนบทที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามการทำงานพัฒนาต้องมองต้นทุนทางสังคมทุกมิติ เพราะปัญหาทางสังคม หรือชุมชน มีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกัน การมองปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาอย่างละเอียดและรอบด้านจะช่วยให้การทำงานพัฒนาง่ายขึ้นและสามารถแก้ปัญหาอย่างตรงจุด คับ

บทความนี้เป็นบทความที่สามารถช่วยกระตุ้น เเละหนักเห็นถึงควมสำคัญในการใช้สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรมชาติที่ส่งผลให้ชุมชนได้รับประโยชน์และทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆในทางบวกมากขึ้น

ทรัพยากรชุมชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชุมชน เพราะคนทุกคนต่างก็ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน

สิทธิชุมชน ตาม ม. 66 และ67 ตาม รธน. ปี 50 มีหลายชุมชนที่มาจัดการสิทธิของชุมชน

ที่ตะแพน อ.ศรีบรรพต อีกตัวอย่างหนึ่งในการจัดการป่าต้นน้ำของชุมชน

สิทธิชุมชน คนเขาคูหา รัตภูมิ ก็เป็นพื้นที่น่าศึกษา

ในปัจจุบันการดูเเลสิ่งเเวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญมาก เเละ เป็นหน้าทีของทุกๆๆคน ที่ต้องการดูเเลสิงเเวดล้อมเพราะปัจจุบัน สิ่งเเวดล้อมโดนทำลายเป็นอย่างมาก จึงอยากฝากทุกๆๆคนช่วยกันดูเเล

เห็นด้วยกับคุณ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei ดิฉันคิดว่า ตอนนี้มีหลายชุมชนที่มีการตื่นตัวในเรื่องสิทธิชุมชน เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปัจจุบัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ทุกฝ่ายต้องให้ความความสำคัญ

การจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนจะทำให้ชุมชนของเราน่าอยู่ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรไปในตัวอีกด้วยค่ะ

เป็นบทความที่ดีเข้าใจง่ายสามารถนำไปปรับใช้ในงานพัฒนาชุมชนได้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน

ดีค่ะ เพราะชุมชนเป็นผู้กำหนดสิ่งที่ดีให้กับชุมชนเอง มีการจัดระบบการบริหารทรัพยากรที่ดีให้กับชุมชนเพื่อทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งขึ้นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท