แหย่ไข่มดแดง


"การแหย่ไข่มดแดง" ถือว่าเป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมการหาอยู่หากินที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพี่น้องชาวภาคเหนือและภาคอีสาน





เรื่องเล่าจากบ้านแม่ตาด :

แหย่ไข่มดแดง

 

 

ไข่มดแดงที่ยังไม่ได้ล้างเอาแป้งข้าวออก

 

 

(๑)

 

         วันก่อน.... ช่วงเช้าไปติดต่อธุระที่ตัวเมืองเชียงใหม่ กลับมาถึงบ้านก็ทำการเพาะเห็ดฟางรุ่นใหม่อีก 1 ชุด  สำหรับบริโภคในครอบครัวตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

          ช่วงบ่ายๆ เพื่อนบ้านมาชวนไป "แหย่ไข่มดแดง" เพื่อนำมาทำอาหารรับประทาน โดยผมตัดสินใจไปด้วยทันที เพื่อถือโอกาสเก็บภาพการแหย่ไข่มดแดงเอาไว้ด้วย

          ก็เลยนำภาพ "แหย่ไข่มดแดง" มาแบ่งปันให้พื่อนๆ ได้ชมกันอย่างที่เห็นนะครับ

 

 

 

(๒)


         "ไข่มดแดง"(แต่ไม่ใช่ "ไข่ไอ้มดแดง" นะครับ.....555)  ถือว่าเป็นอาหารชั้นเลิศและชั้นสูง(เพราะว่าอยู่บนยอดไม้)ของพี่น้องชาวภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นอาหารที่หาได้เฉพาะในฤดูแล้งเท่านั้น

         ส่วน "การแหย่ไข่มดแดง" ก็ถือว่าเป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมการหาอยู่หากินที่สำคัญอย่างหนึ่งของพี่น้องชาวภาคเหนือและภาคอีสานนะครับ

         ที่จริงแล้ว....มดแดงมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยนะครับ (รวมทั้งชาติอื่นๆ อีกหลายชาติในทวีปเอเชีย ) หากแต่ที่นิยมบริโภคมดแดงมากที่สุด ก็คือ ภาคเหนือกับภาคอีสาน

         อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการได้มาซึ่งไข่มดแดงนั้น จะต้องใช้วิธีการ "แหย่" เอามาจากรังของมดแดงที่อาศัยอยู่บนยอดไม้คล้ายๆ กันก็จริง  แต่รูปแบบของการ "แหย่ไข่มดแดง" และ "การบริโภคมดแดง" ของพี่น้องทางภาคอีสานและภาคเหนือ ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่มากพอสมควร  กล่าวคือ....

          1.  ทางภาคเหนือจะใช้ถุงปุ๋ยมัดที่ปลายไม้ "ซ่าว" หรือปลายไม้ไผ่สำหรับรองรับไข่มดแดงขณะแหย่จากรังบนยอดไม้....ส่วนทางภาคอีสาน(แถวศรีสะเกษบ้านเกิดของผม)จะใช้นิยมเอา "หวด" (ที่ใช้ในการนึ่งข้าวเหนียว) ไปมัดที่ปลายไม้ไผ่แทน เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการแหย่ไข่มดแดง

          2. เมื่อแหย่ไข่มดแดงมาแล้ว ทางภาคอีสานจะใช้วิธีการนำเทไข่มดแดงลงใน "ครุ"หรือถังน้ำที่มีน้ำอยู่ จากนั้นก็เอามือคนเพื่อไม่ให้แม่มดแดงไต่ออกมาได้และจมน้ำตาย

          ส่วนทางภาคเหนือนั้น จะใช้วิธีการเอาปลายไม้ไผ่ที่มีถุงปุ๋ยมัดไว้ไปพาดไว้ตามต้นไม้ เพื่อให้แม่มดแดงไต่กลับขึ้นไปอยู่บนต้นไม้อย่างเดิม หรือไม่ก็เอาแป้งข้าวโรยใส่ตัวมดแดง แล้วก็เอามือเขี่ยแม่มดแดงออกมาไว้ตามโคนไม้  โดยไม่ได้ฆ่าแม่มดแดงทิ้งแต่อย่างใด

          3. ทางภาคอีสาน จะบริโภคทั้งไข่มดแดง แม่เป้ง  และแม่มดแดง.....ในขณะที่ทางภาคเหนือจะบริโภคเฉพาะไข่มดแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

   

         นี่คือ  "ความแตกต่างในความเหมือน" เล็กๆ น้อยๆ ของวัฒนธรรมการหาอยู่หากินระหว่างภาคอีสานกับภาคเหนือนะครับ

 

 

 

(๓)

 

          ไข่มดแดง....สามารถนำมาทำเมนูอาหาร(แบบซะเราะกราวๆ)ได้หลายอย่างเลยนะครับ เช่น  ยำไข่มดแดง น้ำพริกไข่มดแดง ตุ๋นไข่ใส่ไข่มดแดง ลาบไข่มดแดง ผัดไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง และอื่นๆ อีกหลายรายการ  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรสชาติอร่อยทั้งนั้นเลย

           สำหรับผมแล้ว....เมนูอาหารจากไข่มดแดงที่ผมโปรดปรานที่สุด ก็คือ "แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง" นะครับ  ถือว่าสุดยอดของความอร่อยจริงๆ นะครับ

           เขียนไปเขียนมา....พอถึงตรงนี้ผมก็เริ่มจะมีอาการเปรี้ยวปากขึ้นมาแล้วละซีครับ

           สงสัยวันนี้คงจะต้องไปหาแหย่ไข่มดแดงมาทำเมนูแก้อาการเปรี้ยวปากอีกซะแล้ว   555

 

 

 

รังมดแดงบนยอดลำใย

รังมดแดงขนาดเล็ก

นักกีฏโภชนาผู้เชี่ยวชาญประจำหมู่บ้าน
กำลังปีนต้นลำใยและแหย่ไข่มดแดง

ยืนแหย่ไข่มดแดง

เมื่อได้มาแล้ว ก็เอาอุปกรณ์พาดไว้กับกิ่งไม้ก่อน
เพื่อให้แม่มดแดงไต่ออกจากกระสอบ

แป้งข้าวจ้าว

นำแป้งข้าวจ้าวมาโรย เพื่อไม่ให้มดแดงคาบไข่ออกไป

คุณประยูร พรหมคำติ๊บ นักกีฏโภชนาผู้เชี่ยวชาญประจำหมู่บ้าน
กำลังฝัดเอาแป้งและแม่มดแดงออกจากถาด

นำใบสาบเสือมาพาดไว้ในถาด เพื่อให้แม่มดแดงไต่ออกจากถาด

เหลือแต่ไข่มดแดงกับแป้ง

ไข่มดแดง....สามารถนำไปทำเมนูอาหารได้หลายอย่างนะครับ

 "ตำไข่มดแดง"(ตำไข่มดส้ม) จิ้มใบมันปูกับยอดผักฮี้ครับ

"ตำไข่มดแดง" (ตำไข่มดส้ม) หรือ "น้ำพริกไข่มดแดง"
อีกหนึ่งเมนูอาหารชั้นสูง(เพราะอยู่บนยอดไม้  555)ของชาวภาคเหนือ

แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง

กำลังร้อนๆ อยู่เลยนะครับ
สังเกตได้จากไอร้อนที่กำลังระเหยออกมาจากถ้วยแกง

 

 

เพลง   "ไข่มดแดง"

ร้องโดย   "วงซูซู"

 

 

 

"เซิ้งแหย่ไข่มดแดง"

บันทึกการแสดง ดนตรีนาฏศิลป์อีสาน
โครงการศูนย์สืบสานและเผยแพร่ศิลปะดนตรีนาฏศิลป์อีสาน
ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



หมายเลขบันทึก: 479820เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2012 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

ขอมา แหย่ไข่ มดแดง คนแรกค่ะ

เอาเจียวกับไข่ไก่  อร่อยมากนะคะ

อย่าลืมเอามะพร้าวสองลูกนั้นลงมาด้วยครับ 

ผัดกับน้ำปลาและน้ำตาลเล็กน้อยก็อร่อยค่ะ ในภาคใต้ราคาแพงมาก

ไม่ค่อยสันทัดไข่น้องมดแดง แต่สนใจน้ำมะพร้าว ขอแบ่งกับอ. โสภณ ด้วยนะคะ ฮา :)

สวัสดีค่ะ

กว่าจะได้ไข่มดแดงไม่ใช่ง่ายๆเลยนะคะ

กว่าจะเป็นอาหารแสนอร่อย....

ยังไม่เคยทานเลยค่ะ

ไม่เห็นมีขายแถวสุพรรณ

ไว้ไปทางเหนือ อิสานต้องลองทานบ้างแล้ว

สบายดีนะคะ

  • แถวที่บ้านเคยเห็นแต่แกงไข่มดแดงกับผักหวานป่า(ก่อนบวชเคยกิน)
  • ผักฮี้นี่ รู้จักในนามต้นมะเลียบ,ต้มจิ้มน้ำพริก,ดิบๆจิ้มพริกเกลือ(ปลาร้าสับ),ผัดก็ร่อยดี
  • เดี่ยวนี้หายากซะแล้ว ผักเลือด,ผักเลียบ

สวัสดีครับ คุณครูอ้อย แซ่เฮ

 

-รู้สึกฮามากๆ เลยครับ กับประโยคนี้......"ขอมา แหย่ไข่ มดแดง คนแรกค่ะ".....555

-ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่ช่วยแนะนำเมนูอาหารจากไข่มดแดงเพิ่มเติม

สวัสดีครับ อาจารย์โสภณ เปียสนิท

 

มะพร้าวสองลูกนั้น แหย่ลำบากนะครับ

งานนี้คงต้องใช้วิธี "ปีน" อย่างเดียวละครับ ถึงจะได้กิน 555

สวัสดีครับ คุณราตรี

 

-หลายปีก่อน ผมเคยไปทำงานระนอง

เคยเห็นชาวบ้านที่นั่นไปแหย่ไข่มดแดงมากินเหมือนกันนะครับ

ตอนแรกผมก็รู้สึกแปลกใจว่าชาวใต้กินไข่มดแดงด้วยหรือ

พอถามไปถามมา เลยทราบว่าชาวบ้านแถวนั้น ที่จริงแล้วเป็นชาวอีสานที่อพยพครอบครัวไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนะครับ

 

-ผมยังไม่เคยชิมเมนู "ผัดกับน้ำปลาและน้ำตาลเล็กน้อย" เลยนะครับ....เอาไว้คราวหน้าจะลองทำดูนะครับ

สวัสดีครับ คุณ Poo

 

-"ไม่ค่อยสันทัด" เนี่ย แสดงว่าคุณปูต้องเคยชิมเมนูไข่มดแดงมาแล้วแน่ๆ เลย...ช่ายป่าว?

 

-มะพร้าว 2 ลูกนั้น จะเก็บไว้ให้คุณปูกับอาจารย์โสภณ คนละลูกนะครับ

แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมาที่บ้านแม่ตาดด้วยตนเองนะครับ ถึงจะยอมปีนขึ้นไปเก็บมาให้กิน 555

สวัสดีครับ คุณป้าลำดวน

 

-ไข่มดแดง....ที่จริงหาได้ไม่ค่อยยากหรอกนะครับ เพียงแต่ต้องรอให้ถึงฤดูกาลของเขาเสียก่อนเท่านั้นเอง ซึ่งจะมีเฉพาะช่วงหน้าแล้งเท่านั้นเองนะครับ

-เปรียบเทียบกันแล้ว "การแหย่ไข่มดแดง" จะง่ายกว่า "การขุดไข่แมงมัน" เยอะเลยนะครับ....ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ ที่สุพรรณบุรีคงไม่มีอย่างแน่นอน

-ถ้าหากคุณป้ามีโอกาสผ่านไปทางภาคอีสานหรือทางภาคเหนือ ก็อย่าลืมซื้อไปลองทานดูนะครับ....รับรองจะติดใจแน่นอนครับ 555

กราบนมัสการครับ ท่านพระมหาแล อาสโย ขำสุข

 

- ถ้าหากอยู่ใกล้ๆ กัน จะทำ "แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง" ไปถวายท่านสักเพลานะครับ  คงจะได้บุญมากโขเลยทีเดียว  555

-ผมเพิ่งมารู้จัก "ผักฮี้" กับ "ผักเฮือด" ก็ตอนมาอยู่ที่เชียงใหม่นี่เองนะครับ ที่จริงที่ภาคอีสานบ้านผมก็มีเหมือนกัน เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่า "กินได้" นะครับ....น่าเสียดายจริงๆ

-กราบขอบพระคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมเยือน

แถบบ้านที่สิงคโปร์มีเยอะเลยค่ะ รังโตๆ ทั้งนั้น แต่คนที่นี่คงไม่มีใครเคยลิ้มลอง :)

สวัสดีครับ คุณ ...ปริม ทัดบุปผา...

 

เอาไว้ปีหน้าจะนั่งเครื่องบินไปแหย่ไข่มดแดงที่สิงคโปร์ แล้วนำมาขายที่เชียงใหม่นะครับ

งานนี้ หากไม่รวย ก็คงจะเจ๊งกันไปข้างละครับ คิคิคิ

แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง

แม่ชอบทานมากๆค่ะ

สวัสดีครับ คุณ kunrapee

 

-รู้สึกยินดีนะครับ ที่ได้รู้จัก

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ

พี่ครับ แต่ละเมนู หากินยากจัง เป็นของสูงจริงๆๆด้วย

ตอนไปอีสานบ้านพ่อครูบาสุทธินันท์ เอามาทอดกินกับไข่เจียวอร่อยมากๆๆ

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต ฝอยทอง

 

-ช่วงนี้ที่ มก.กำแพงแสน มดแดงรังใหญ่ๆ คงจะมีอยู่เยอะพอสมควรนะครับ 555

-ไข่มดแดงจะมีระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. นะครับ ช่วงนี้สามารถหาได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ถ้าหากผ่านหน้านี้ไปแล้ว จะเริ่มหาได้ยาก หรือบางทีอาจจะหาได้ก็จริง แต่รสชาติจะไม่อร่อยเหมือนตอนช่วงฤดูแล้งนะครับ

-ไข่มดแดง...ถือว่าเป็นอาหารชั้นสูงของแท้เลยนะครับ กิ้งก่าหรือกะปอมก็เหมือนกัน 555

เมื่อวานกลับจากน่าน ระหว่างทาง(ที่เดิม) มีแม่ค้าขายไข่มดแดงและผักหวาน เลยช่วยกันอุดหนุนทั้งผักหวานและไข่มดแดง เพราะอยากกินเมนู แกงผักหวานไข่มดแดง และเจียวไข่กับไข่มดแดง เมนูสุดยอดโปรตีน

เพื่อนถามว่าทำไมต้องโรยแป้งด้วย บ่้างก็ตอบว่ากันไข่ติดกันแล้วมันจะบูด วันนี้รู้คำตอบแล้วค่ะ

สวัสดีครับ คุณ namsha

 

-ที่จังหวัดน่าน ช่วงนี้จะมีไข่มดแดงและผักหวานป่าวางขายตามริมทางเยอะมากเลยนะครับ ทั้งขาไปและขากลับ นอกจากนี้แล้วที่จังหวัดอื่นๆ บนเส้นทางล่องสู่ กทม. ก็มีไข่มดแดงและผักหวานป่าวางจำหน่ายเช่นกันนะครับ เพราะเป็นฤดูกาลของเขาพอดี

-การโรยแป้ง....นอกจากจะป้องกันไม่ให้แม่มดแดงกัดแล้ว ก็ยังช่วยไม่ให้แม่มดแดงคาบไข่หนีไปด้วย และยังช่วยในการดูดซับความชื้นออกไปจากไข่มดแดงได้อีกด้วยนะครับ

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมเยือน

สว้สดีครับ

                 ปวงมดแดงออกแรงไข่ไว้ในรัง

                  แต่คนยังแหย่หาปรุงอาหาร

                 วันนี้มีวันหน้าหมดจะอดทาน

                 ช่วยเล่าขานอย่าให้หมดไข่มดแดง

นั่งอ่านบันทึกนี้ตอนดึก ชวนให้หิวเลยค่ะ

แกงผักหวานไข่มดแดง น่ากินมาก ๆ ค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ธนา นนทพุทธ

 

-ไข่มดแดง....ถ้าหากหามาเพื่อกินอย่างเดียว ก็คงจะไม่สูญพันธุ์นะครับ แต่ถ้าหากหามาขายเป็นอาชีพ อย่างนี้น่ากลัวมากครับ

-ขอบคุณมากๆ ครับ สำหรับทกลอนที่เป็นข้อคิดสะกิดใจได้อย่างดี

สวัสดีครับ คุณดอกหญ้าน้ำ

 

-แถวๆ อมก๋อยคงจะมีผักหวานป่าและไข่มดแดงนักขนาดเลยเน๊าะ

-ว่างๆ จะไปแอ่วดู "ช้างไถนา" ที่นาเกียนอีกครับ

คุณอักขณิชค่ะ แถวอมก๋อยไม่ค่อยมีหรอกค่ะผักหวาน จะมีมากแถว ๆ ฮอด (ถนนฮอด-แม่สะเรียง)

เห็นตลอดข้างทางมีวางเรียงรายจำหน่ายให้ผู้เดินทางที่ผ่านไปผ่านมาค่ะ

อมก๋อยยังยินดีต้อนรับเสมอค่ะ แต่ถ้าจะมาดูช้างไถนาขอให้มาตอนช่วงมิถุนายนนะค่ะ

แต่ช่วงนั้นฝนคงตกแล้ว การเดินทางก็ต้องลุยกันหน่อยแล้วล่ะค่ะ

แต่ก็ไม่แน่นะค่ะ อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่รู้สถานการณ์จะเป็นอย่างไร

สวัสดีครับ คุณดอกหญ้าน้ำ

 

ผมเคยไปนาเกียนเมื่อปี 2535 ตอนนั้นไปช่วงเดือนมิถุนายนพอดี เลยได้เห็นช้างไถนาด้วย ไปลำบากจริงๆ น่ะ แต่โชคดีหน่อยที่ไปรถโฟร์วีล เลยสะดวกขึ้นมาหน่อย....แต่ก็ประทับใจมากๆ เลย

หากมีโอกาส ก็อยากจะพาลูกๆ ไปดูช้างไถนาอีกสักครั้งนะครับ

ยินดีค่ะคุณอักขณิช เอาไว้จะแจ้งข่าวให้ทราบนะค่ะ

สวัสดี รอบที่ 3 ครับ คุณดอกหญ้าน้ำ

 

-เร็วๆ นี้ คงจะยังไม่ได้ไปนะครับ คงอีกหลายปีครับ ถึงจะได้ไปอีก

-ช่วงนี้ก็เก็บภาพสวยๆ ของอมก๋อยมาฝากหน่อยนะครับ

ยินดีค่ะ..จะพยายามเขียนบันทึกให้บ่อยขึ้น

แต่ถ้าอยู่บนดอยก็หมดสิทธิ์ค่ะ ไม่มีสัญญาณเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท