บทความ


วิทยาลัยชุมชน: ฐานสังคมสารสนเทศเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

วิทยาลัยชุมชน: ฐานสังคมสารสนเทศเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

แนวคิดการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของประเทศอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาคนให้เป็นคนแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (knowledge based society) นั่นหมายความว่า ทุกอณูของท้องถิ่นต้องเต็มไปด้วยกลิ่นไอขององค์ความรู้ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อย่างวิกฤตแบบรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อที่เคราะห์ร้ายของสังคม การศึกษาในระบบจึงต้องเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของบุคคลกลุ่มบุคคล ชุมชน และสังคม

การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยดูเหมือนว่ามีความตระหนัก (concern) ในการปรับตัวตามกระแสโลกสังเกตจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (decentralization) หรือแม้แต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ตอบรับแนวคิด ดังกล่าวจึงมีปรัชญาในการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การจัดการศึกษาเพื่อชีวิต จึงเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญที่ให้มีการพัฒนาประเทศสอดคล้องกับนโยบายและบริบท ของสังคม

ผู้เขียนขอหยิบยกประเด็นการพัฒนาท้องถิ่นตามนโยบาย OTOP สู่การวิเคราะห์และสังเคราะห์บนพื้นฐานการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งนโยบายนี้ได้เปิดตัวสู่ภายนอกด้วยเว็บไซต์ ไทยตำบลดอตคอม (ThaiTambon.com) โดยมีจุดประสงค์ในการจัดทำเว็บไซต์ 5 ข้อ ดังนี้

1. เพื่อสร้างระบบข้อมูลตำบลให้เข้าสู่อินเตอร์เน็ต โดยข้อมูลต่าง ๆ ของตำบลจะถูกเก็บเข้าระบบฐานข้อมูลและสร้างเป็นเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไขและนำเสนอการทำงาน และผลิตภัณฑ์ของชุมชน กลุ่มชน ตลอดไปจนถึงระดับ SMES

2. เพื่อเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่ง และรายได้ โดยข้อมูลในเว็บไซต์ ไทยตำบลดอตคอม จะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของดีประจำตำบล เพื่อช่วยให้มีผู้รู้จักมากขึ้นและสามารถนำผลิตภัณฑ์ออกขายได้มากขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

3. เพื่อนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเข้าสู่ตำบล เป็นการช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล ค้นหาข้อมูลข่าวสาร ศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและเผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ

4. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณี โบราณสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวรวมถึงอาหาร ผลไม้และของดีของตำบลจะช่วยให้มีการท่องเที่ยวกระจายออกไปสู่ตำบลมากขึ้นเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น

5. เพื่อช่วยขายสินค้าของตำบล และพัฒนาเข้าสู่ระบบ e-commerce ซึ่งสินค้าที่ผลิตได้ ในตำบลอาจนำออกขายได้ 2วิธี คือ โดยการแนะนำให้เป็นที่รู้จักกวางขวางยิ่งขึ้น และติดต่อซื้อขายกันได้ตามปกติ หรือในระบบ e-commerce โดยการใช้เวบไซต์ไทยตำบลเป็นศูนย์กลางในการ เผยแพร่และเป็นการเปิดตลาดให้กว้างขวางออกสู่โลกภายนอก

นั่นหมายความว่า เจตนารมย์ของเว็บไซต์ ไทยตำบลดอตคอมจะเป็นจริงได้นั้นต้องมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องเชิงระบบ ดังนี้

1. เป้าหมาย (Context) ที่แสดงนโยบายหรือแผนการดำเนินการต่าง ๆ

2. วัตถุดิบ  (Input) ที่นำเข้าสู่การจัดการผลิตและหรือการปรับปรุง

3. กระบวนการผลิต (Process) ที่บ่งบอกการบริหารจัดการ การเงินและงบประมาณ และการจัดการข้อมูลข่าวสาร

4. ผลผลิต (Product) ที่บ่งบอกปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่สอดคล้องตามความต้องการของตลาดผู้บริโภค องค์กรหรือหน่วยงาน 

จากการวิเคราะห์ รูปแบบการให้บริการไทยตำบลดอตคอมเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลตำบล ผลิตภัณฑ์ สินค้า การส่งเสริมการตลาด การท่องเที่ยวระดับตำบล โดยมีผู้รับผิดชอบงาน เป็นทีมพิเศษ (dedicated team) ที่มีความชำนาญและทำงานเดียว มีการดูแลระบบที่มีประสิทธิภาพ มีระบบการแสดงสินค้าใหม่ของแต่ละการจัดทำ และของแต่ละกลุ่มผู้ผลิต ซึ่งผลการดำเนินงาน ที่กลุ่มผู้ผลิตได้รับคือสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น หลาย ๆ กลุ่มอาชีพได้รับการสั่งผ่านการเข้ามาดูข้อมูลในไทยตำบลมากกว่า 80 – 90 % ประมาณยอดขายเพิ่มขึ้นปีละ 250 ล้านบาท

ดังนั้น หากมีข้อมูลเชิงประจักษ์ด้านการพัฒนาท้องถิ่น สังคม หรือประเทศชาติจากการผลิตสินค้าชนิดต่าง ๆ ว่าได้รับบทเรียนหรือคุณประโยชน์ จากการดำเนินการของบุคคล กลุ่มบุคคล ท้องถิ่น ชุมชน และสังคม เพื่อการสร้างกลิ่นไอสังคมแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สังคมเกิดความ สงบสุข จะทำให้ไทยตำบลดอตคอมเป็นเว็บไซต์ที่สรรค์สร้างสังคมไทยบนพื้นฐานของความพอเพียงและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามความต้องการของแผนการพัฒนาฯฉบับที่ 10 อย่างสมบูรณ์ 
คำสำคัญ (Tags): #พัฒนาท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 47977เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2006 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท