สามเหลี่ยมเขยื้อนสุขภาพ


สมัยการ ปฏิวัติด้วยแนวคิดป่าล้อมเมือง โดยใช้กำลังอาวุธ เมื่อ 20 ว่าปีก่อนมีนิทานปลุกใจให้ต่อสู้กับความยากลำบากของการแย่งชิงอำนาจรัฐ เรื่องลุงโง่ย้ายภูเขา ลุงโง่ใช้จอบเสียมขุดภูเขาเพื่อถากถางเส้นทางเดินไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า แม้ใครจะเหยียดหยามว่าไม่มีวันสำเร็จและเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ลุงโง่ก็ทำสำเร็จ

ลุงโง่ คือ ลุงฉลาด ภูเขาคือ อำนาจที่ไม่เป็นธรรมและปัญหา

ณ กาลปัจจุบัน สังคมไทยมีเรื่องยากๆ ที่เป็นปัญหาซับซ้อนจนดูเหมือนจะแก้ไขเอาไม่ได้เสียเลย เป็นต้นว่า เรื่องคอร์รัปชั่น ความยากจน หนี้สินของประเทศและประชาชน การปฏิรูปการศึกษา การเอารัดเอาเปรียบของผู้มีอำนาจและร่ำรวยในการแย่งชิงทรัพยากรไปจากคนยากจน ฯลฯ สังคมไทยต้องการลุงฉลาดจำนวนมากเข้าไปร่วมแก้ไข

เรื่องปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความยากลำบากและอยู่ในภาวะสับสนคนไทยต้องการเห็น สุขภาพดีตั้งแต่เกิด อยู่ เจ็บ แก่ ตาย และสามารถสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงอย่างถ้วนหน้า โดยมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนของเรา ในการปฏิรูประบบสุขภาพอยู่หลายเรื่องที่สำคัญคือ

เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่มีกฎหมายจากภาษีเหล้า บุหรี่ ร้อยละ 2 ทำงานสนับสนุนองค์กรสุขภาพอยู่ทั่วประเทศ

เรื่องการกระจายอำนาจสุขภาพ(กสพ.) ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาคมสุขภาพ หน่วยงานด้านสุขภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิจะร่วมกันดูแลสุขภาพของคนในแต่ละจังหวัดและรองรับการถ่ายโอน ภารกิจงาน เงิน คน ในอนาคตตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เรื่องนโยบาย 30 บาทต่อโรค ที่พัฒนามาเป็นร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เน้นการบริการแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ให้คนจนมีบัตรทองและเสียค่าใช้จ่ายราคาไม่แพงเกินไป นโยบายนี้เป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลแต่ก็เริ่มถูกคัดค้านว่าทำให้โรงพยาบาล จังหวัด/ศูนย์/มหาวิทยาลัย และเอกชนขาดทุนจำนวนมหาศาล ขณะที่ประชาชนพึงพอใจและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่ก็เริ่มไม่แน่ใจในคุณภาพการบริการและยาที่ได้รับ ตลอดจนความถี่ต่อครั้งของการมารับบริการมีปริมาณเพิ่มขึ้น จนต้องเสียค่าเดินทาง ที่พัก ค่าอาหาร และเสียเวลา ญาติพี่น้องมากขึ้น

การรวมกองทุนอื่นๆ โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคมเข้ามาร่วมด้วยกันก็ถูกคัดค้านจากสหภาพและคนงาน รับจ้าง ผลที่สุดอาจมีแนวโน้มร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ คงต้องแยกระดับโรงพยาบาล คุณภาพยาและการบริการ เทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาตามราคาที่เป็นจริงและการเลือกรับบริการ ทำนองคนมีกำลังทรัพย์ในการจ่ายก็สมควรจ่ายในอัตราที่สูงกว่า 30 บาท รวมทั้งชะลอการรวมกองทุนหรือไม่เขียนเรื่องนี้ไว้

เรื่องต่อมาคือ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศและจะรวมพล กว่า 3,000 คน ในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2545 นี้ ที่ศูนย์ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ร่าง พ.ร.บ. นี้เคลื่อนไหวมา 2 ปีกว่าแล้ว รับฟังภาคีกว่า 1,500 ภาคี อำเภอทั่วประเทศอีกราวๆ 450 แห่ง เวทีจังหวัดอีก 75 จังหวัดๆ ละ 600 คน มีอนุกรรมการยกร่างจากประชาชนที่ทำงานกันแทบทุกอาทิตย์ โดยใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้แก่

ความรู้ทางวิชาการ โดยมีการศึกษาวิจัย การสำรวจความคิดเห็น การตั้งเวทีเสวนาวิชาการ ถกเถียงหาความรู้ ความจริง และพัฒนาศักยภาพทางปัญหากันอย่างถึงพริกถึงขิงและเชื่อมร้อยกับความคิดเห็น ของประชาชน

การเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยร่วมมือกับประชาคม เครือข่าย กลุ่ม องค์กรที่ทำงานทางสังคมและสุขภาพทุกจังหวัดทุกภาคีทั่วประเทศในการระดม ข้อมูล ความคิดเห็นมารวบรวม เรียบเรียง เป็นรายหมวด รายมาตรา เพื่อแก้ทุกข์และสาเหตุแห่งทุกข์ มาสู่สุขภาพอันพึงปรารถนาของคนไทย

การประสานงานกับภาคการเมืองและราชการ ทั้งกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พรรคการเมืองทุกพรรค กระทรวงสาธารณสุข กรม กองต่างๆ และสาธารณสุขทุกจังหวัด สำนักงบประมาณ สำนักงานข้าราชการพลเรือน สภาพัฒน์ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ศึกษาความเป็นไปได้ ข้อโต้แย้ง ปัญหาอุปสรรคต่างๆ และการสนับสนุนประเด็นต่างๆ ในร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

สาระสำคัญที่ยังเป็นข้อถกเถียงและมีความแตกต่างกันอยู่ในขณะนี้ ได้แก่

แนวคิดและนิยามของคำว่า "สุขภาพ" (มาตรา 3) ที่ในร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติกินความกว้างเป็นองค์รวม ทั้งสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งผู้คนส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าเรื่องจิตใจกับจิตวิญญาณเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในร่าง พ.ร.บ.นี้ให้ความหมายจิตวิญญาณลึกซึ้งถึงความเอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูล ความดีงามที่อยู่ในจิตใต้สำนึกด้วย

สิทธิการตายอย่างมีศักดิ์ศรี(มาตรา 24) โดยในร่าง พ.ร.บ. ไม่ต้องการให้มีสายยางเต็มร่าง หน้าอกกระเพื่อมขึ้นลงตามจังหวะเครื่องช่วยหายใจ จิตใจหวั่นไหว สุดท้าย ... ตายแพง ! คนที่ป่วยจนรักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตายสมควรมีสิทธิเลือกตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีในบั้นปลายของ ชีวิตโดยไม่ถูกยึดชีวิตหรือถูกแทรกแซงการตายเกินความจำเป็นและเพื่อไม่ให้ เป็นภาระในทุกๆ ด้าน โดยให้มีสิทธิแสดงความจำนงล่วงหน้าได้ ประเด็นนี้มีข้อโต้แย้งว่า แพทย์สามารถปล่อยให้ใช้สิทธินี้ได้หรือไม่ ? ผิดจรรยาบรรณแพทย์หรือไม่ ? ที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตผู้ป่วย ญาติพี่น้องจะขัดแข้งกันระหว่างคนที่จะใช้มาตรนี้กับผู้ที่ต้องการยึดชีวิต ไว้ และอาจจะมีคนที่ไม่ถึงวัยอันสมควรตายอ้างสิทธิในมาตรานี้แบบผิดๆ ได้

การบริการสุขภาพไม่เป็นไปเพื่อการค้ากำไรเชิงธุรกิจ(มาตรา 31) ปัจจุบันการบริการสุขภาพมีค่ารักษาพยาบาลที่แพง เพราะมีการนำโรงพยาบาลไปเข้าตลาดหุ้น ซึ่งต้องค้ากำไรและปันผลแก่หุ้นส่วน มีการคิดค่ารักษา ค่ายา ค่าตรวจ ค่าบริการในอัตราสูง คนไข้แค่ปวดท้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน ได้น้ำเกลือ 2 ขวด ต้องเสียเงินราว 6,000 บาท ทั้งที่ควรเสียแค่ 600 บาท ข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ก็คือ มีการลงทุนสูงในสถานบริการ และเมื่อทำโรงพยาบาลหรือคลินิกก็ต้องเอากำไร ไม่งั้นจะทำไปทำไม การช่วยคนไข้อย่างเดียวเป็นอุดมคติเกินไป คำว่าไม่ค้ากำไรจึงต้องคำนวณว่าความเหมาะสมอยู่ที่ไหน ? ซึ่งคงต้องถกเถียงในรายละเอียดต่อไป หากมาตรการนี้สามารถฝ่าด่านประกาศใช้ได้

การมีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) สำนักงาน สคช. สมัชชาพื้นที่สมัชชาเฉพาะประเด็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(หมวด 3-5, มาตร 35-6 เป็นการเคลื่อนย้ายอำนาจออกจากกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่? เจตจำนงของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติต้องการทำเรื่องนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนสำคัญๆ ในลักษณะองค์รวมเชื่อมโยงกับทุกกระทรวง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน เงิน คน ที่อยู่ในระบบปกติของกระทรวงสาธารณสุข และต้องการอิสระจากระบบการเมืองและราชการ แต่อยู่ในกำกับและได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเป็นประจำทุกปี

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ(ตามมาตรา 21-22) เมื่อมีการปล่อยน้ำเสียปลาตาย สารพิษ ควันพิษ กลิ่นเหม็น เสียงดัง รำคาญ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย เกิดโรคทางเดินหายใจ ประชาชนมีสิทธิร้องขอร่วมประเมินผล ฟ้องร้องได้ กรณีนี้มีข้อสังเกตว่าในทางปฏิบัติจริงจะไม่มีผลเหมือน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่ใช้มา 10 ปี แต่ไม่มีผลทางปฏิบัติ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติจะควบคุมและปฏิบัติให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

กองทุนร้อยละ 1 (มาตรา 85(5)) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และกองทุนร้อยละ 3 เพื่อการวิจัยหาความรู้(มาตรา 88 (2)) จากงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกองทุนต่างๆ รัฐบาลมีแต่อยากยุบรวมไม่อยากสร้างเพิ่ม เพราะรัฐบาลเข้าใจเองว่า งบประมาณไม่เพียงพอในการสร้างกองทุน ความจริงรัฐบาลมีเงินแต่อยู่ที่ว่าต้องการใช้เงินไปกับเรื่องอะไร แต่ พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ของบประมาณเพื่อมาสร้างกองทุน แต่ใช้งบประมาณปกติ เพียงแต่จัดสัดส่วนเงินมาทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค การหาองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพให้ชัดเจนขึ้น

การส่งเสริมสนับสนุนระบบหมอพื้นบ้าน การรับรองและการรวมตัวให้บริการประชาชนได้(มาตรา 81-83) ประเด็นนี้เป็นที่ห่วงใยว่าจะก่อให้เกิดการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานและผล กระทบจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ดูแลรักษาพึ่งตนเองทางสุขภาพ ตลอดจนการมีหมอพื้นบ้านสมุนไพรที่ช่วยรักษาและช่วยชีวิตคนมาแต่ดั้งเดิม แต่ถูกการแพทย์สมัยใหม่เบียดบังและสร้างค่านิยมดูถูกการแพทย์พื้นบ้านเป็น เรื่องที่ต้องฟื้นฟูส่งเสริมและสร้างการยอมรับในกฎหมายให้ได้

กฎหมายลูกออกก่อนกฎหมายแม่ จะขัดแย้งกันหรือไม่ ! พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ(30 บาทต่อโรค) อยู่ในวุฒิสภา ขณะที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา แม้ว่าจะทำเป็นธรรมนูญสุขภาพที่เสมือนเป็นกฎหมายแม่แต่ออกทีหลังจะครอบคลุม กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไดอย่างไร ประเด็นนี้อนุกรรมการร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติตระหนักดีและได้ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายอื่นๆ ตลอดเวลา ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้คงปรับปรุงมาตราต่างๆ ให้สอดคล้องกันกับกฎหมายอื่นๆ

ในภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพนี้มีมิติใหม่ๆ ในการร่างกฎหมายจากฐานล่างที่เป็นภาคประชาชนจริงๆ ถือว่าเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของมากหาก รัฐบาล ส.ส. ส.ว. กฤษฎีกา และข้าราชการต่างๆ ยอมรับกระบวนการนี้จะร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์การร่างกฎหมายใหม่ขึ้น และช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้ร่างนี้สามารถมีแนวทางมาตรการที่ปฏิบัติได้จริง

สังคมไทยก็มีอนาคตที่ดี

บทความโดย สมพันธ์ เตชะอธิก

หมายเลขบันทึก: 47940เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2006 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อยู่ใกล้กาฬสินธุ์แต่มาเรียนไกล๊~ไกล

กะลังหาข้อมูลเรื่องนี้อยู่พอดี

ขอบคุณมากนะคะ

^O^

ขอบคุณครับ ที่สนใจข้อมูลเรื่องนี้ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท