มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ : วิกฤตหรือโอกาส


ถ้ามหาวิทยาลัยของรัฐ เปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แต่ยังคงมีวัฒนธรรมด้านการจัดการแบบกติกาเดียวใช้เหมือนกันหมดในงานทุกประเภท และใช้วัฒนธรรมอำนาจ เหมือนตอนอยู่ในระบบราชการ ไม่ใช้โอกาสที่เปิดช่องให้ ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นเลิศทางวิชาการในรูปแบบที่จำเพาะและเหมาะสมต่อแต่ละมหาวิทยาลัย การออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐก็จะทำให้อุดมศึกษายิ่งเดินลงเหว เหมือนอย่างที่การปฏิรูปการศึกษาทำให้การศึกษาเดินลงเหวอยู่ในเวลานี้

มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ : วิกฤตหรือโอกาส

        ปอ. มท. เชิญผมไปร่วมอภิปรายในการสัมมนาทางวิชาการ     ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เรื่อง  “ ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทย : วิกฤตหรือโอกาส ”  วันที่ 4 – 5  กันยายน พ.ศ. 2549     ณ ห้องแปซิฟิค  เดอะไทด์ รีสอร์ท  จังหวัดชลบุรี     โดยผมร่วมอภิปรายในวันที่ 5 กย.    เรื่อง  “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ : วิกฤตหรือโอกาส”    เขาระบุในกำหนดการของการประชุมว่าร่วมอภิปรายโดย   ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล  และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม,   ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์    อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  และ  ศ.ดร. คุณหญิงสุชาดา  กีระนันทน์    อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      ดำเนินการอภิปรายโดย  ผศ.ดร.กิตติศักดิ์  ปรกติ     เวลาอภิปราย 2 ชม.

        ผมไม่ได้ไปพูดในนามของสภามหาวิทยาลัยมหิดล     ผมไปพูดในฐานะคนไทยคนหนึ่ง      และเตรียมไปพูดแบบมองต่างมุมมากกว่ามองในมุมวิชาการ  

         ผมจะไปให้ความเห็นใน 5 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ  วิกฤตหรือโอกาสของอุดมศึกษาไทย     หากมหาวิทยาลัยของรัฐเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ    แต่ก่อนจะไปถึงประเด็นขอให้ความเห็นเรื่องวิกฤตกับโอกาสเสียก่อน      ผมมองว่าสองสิ่งนี้จริงๆ แล้วมันคือสิ่งเดียวกัน     ถ้าเราดำเนินการเป็นหรือถูกต้องมันก็เป็นโอกาส    แต่ถ้าเราดำเนินการผิด มันก็นำไปสู่วิกฤต     ดังตัวอย่างการใช้ความเก่งอย่างไม่ถูกต้องของคุณทักษิณ นำไปสู่วิกฤตของบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้   

      1. ผมมองที่วิกฤตหรือโอกาสของประเทศไทย     ไม่อยากให้มองที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเท่านั้น     และไม่อยากให้มองแค่ผลประโยชน์ของอาจารย์และข้าราชการเท่านั้น     คือต้องมองภาพรวมของอุดมศึกษาไทย  เชื่อมโยงไปกับการขับเคลื่อนส่วนอื่นๆ ของประเทศ     มองเชื่อมโยงไปกับอนาคตของประเทศไทย ที่จะต้องดำรงอยู่ในท่ามกลางประชาคมนานาชาติ      ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่เราไม่ควรยอมตามกระแสที่ประเทศตะวันตกบงการไปเสียทั้งหมด

       2. ผมมองว่าวิกฤตหรือโอกาสไม่ได้อยู่ที่การดำเนินการในแต่ละมหาวิทยาลัยเท่านั้น     แต่จุดที่มีน้ำหนักยิ่งกว่าคือการจัดการระบบอุดมศึกษา   และการจัดการระบบการศึกษาในภาพรวม     ซึ่งผมมองว่าเวลานี้วิกฤตเสียยิ่งกว่าวิกฤต     โดยผมประเมินจากผลลัพธ์ของการศึกษา  คือคุณภาพของผู้จบการศึกษา      เวลานี้เด็กที่จบ ป. 6, ม. 3, ม. 6 คุณภาพต่ำอย่างน่าตกใจ     และเหตุใหญ่ที่สุดก็คือ ทั้งโครงสร้าง  กฎระเบียบ  และการจัดการ ต่างก็สร้างเงื่อนไขให้ครูที่ต้องการก้าวหน้าต้องทิ้งศิษย์     ต้องลดเวลาสอนลง    เพื่อไปทำผลงานเลื่อนตำแหน่ง  ไปเรียนต่อเอาปริญญาเพื่อความก้าวหน้าด้านตำแหน่งในอนาคต   ไปทำโครงการตามสั่งจากส่วนกลาง    หรือไปต้อนรับนักการเมือง     ผมฟันธงว่าเหตุใหญ่ที่สุดที่ผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาระดับโรงเรียนตกต่ำ     ก็เพราะครูทิ้งศิษย์    และที่ครูทิ้งศิษย์ก็เพราะการบริหารจัดการทำให้เขาต้องทิ้งเพื่อความก้าวหน้าของตนเอง     เป็นเรื่องที่รัฐมนตรี  ปลัดกระทรวง  อธิบดี และผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวนตนเอง
 
        3. บทเรียนของการปฏิรูปการศึกษา     ดำเนินการมา ๗ ปี     แล้วคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาแต่ละระดับต่ำลง    บอกอะไรแก่เรา     ผมตีความว่ามันบอกว่า  การปฏิรูปโครงสร้างและกฎระเบียบไม่เพียงพอ    หรืออาจไม่ใช่หัวใจของการปฏิรูป     หรืออาจเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้ลู่ทางไปในทางที่แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม    ผลประโยชน์ทางการเมือง    แต่ผลรวมด้านคุณภาพประสิทธิภาพของการศึกษาเลวลง

       4. ผมมองเห็นวิกฤตกำลังก่อตัวในระบบอุดมศึกษาไทย     และส่วนหนึ่งเป็นผลของการดำเนินการของ สกอ.     แต่มองอีกมุมหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็มีส่วนปล่อยให้การจัดการระบบอุดมศึกษาเดินไปในทางที่ผิด     มีการจัดการระบบในแนวทางที่ผิด
           ผมมองว่าเวลานี้ระบบอุดมศึกษาไทยกำลังเดินไปในแนวทางที่ผิด    คือแนวทางทำให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดเหมือนกัน     มองว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องถูกประเมินด้วยเกณฑ์เดียวกัน     รูปธรรมคือการจัดกลุ่มอันดับมหาวิทยาลัย     ที่เอา มรภ. และ มทร. มารวมกลุ่มกับจุฬา มหิดล มช. ที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย      ส่วน มรภ., มทร. เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเราต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น หรือผลิตบัณฑิตที่เด่นด้าน "ลงมือทำ"
          มิจฉาทิฐิ คือบริหารความเหมือน     สัมมาทิฐิคือบริหารเพื่อสร้างความต่าง     สร้างความมั่นใจ ภูมิใจตนเอง ของแต่ละมหาวิทยาลัยตาม จุดแข็ง (positioning) ที่ตนมีและตนเลือก 

        5. ผมอยากให้มหาวิทยาลัยของรัฐ เปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ      โดยมีเป้าหมายสำคัญคือความเป็นอิสระ ที่จะทำประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ให้แก่สังคมได้โดยไม่โดนระเบียบราชการปิดกั้น     ผมมีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่เหมาะที่จะอยู่ในราชการ เพราะราชการเน้นการทำงานตามกฎเกณฑ์กติกาตายตัว     ซึ่งไม่เหมาะต่อการทำหน้าที่เชิงสร้างสรรค์     หน่วยงานที่ทำหน้าที่เชิงสร้างสรรค์ต้องการความยืดหยุ่นกว่าระบบราชการมาก
           แต่ถ้ามหาวิทยาลัยของรัฐ เปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ     แต่ยังคงมีวัฒนธรรมด้านการจัดการแบบกติกาเดียวใช้เหมือนกันหมดในงานทุกประเภท     และใช้วัฒนธรรมอำนาจ เหมือนตอนอยู่ในระบบราชการ     ไม่ใช้โอกาสที่เปิดช่องให้ ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นเลิศทางวิชาการในรูปแบบที่จำเพาะและเหมาะสมต่อแต่ละมหาวิทยาลัย     การออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐก็จะทำให้อุดมศึกษายิ่งเดินลงเหว      เหมือนอย่างที่การปฏิรูปการศึกษาทำให้การศึกษาเดินลงเหวอยู่ในเวลานี้

วิจารณ์ พานิช
๓ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 47923เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2006 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดิฉันเห็นด้วย แต่ในกรณีของมรภ. ควรจะมีแนวทางพัฒนาอย่างไร เพื่อเปลี่ยนตัวเองไปเป็น ม.ในกำกับได้ เพราะม.ในกำกับต้องดูแลจัดการด้วยตนเอง ในขณะที่ดูเหมือน มรภ.จะโตแต่ตัว แต่การจัดการเหมือนประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัจจัยลบมากมาย

ข้าราชการของในหลวง

ไม่อยากให้สังคมไทยถูกชี้นำให้ดูภาพของ ม.ของรัฐแย่กว่าหรือคุณภาพด้อยกว่า ม.ในกำกับ ผมคิดว่าความล้มเหลวของการแปรรูปองค์กรทางการศึกษา ที่ไปยุบหน่วยงานทางการศึกษา รวมเข้าด้วยกัน(เป็น สพท.) ผ่าลักษณะงานที่เชื่อมโยงกันออกเป็นส่วน ๆ (ศาสนาและวัฒนธรรม) คนคิดตอนนี้ก็เป็นรมว.ศธ. อยู่ในปัจจุบัน ท่าน(รมว.ศธ.)ไม่เคยยอมรับเลยว่ามันล้มเหลว...ผมกลัวการแปรรูปจาก ม.ของรัฐไปเป็น ม.ในกำกับจะล้มเหลวหนักเข้าไปอีก ผมขอถามและต้องการคำตอบจากผู้เห็นว่า ม.ในกำกับของรัฐมันวิเศษกว่า ม.ของรัฐ ดังนี้ครับ

     ๑. สถานภาพของข้าราชการจะเป็นอย่างไร จะกลายพันธุ์เป็นพนักงานหรือไม่ ผิดวัตถุประสงค์ของการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่

     ๒. ศักดิ์ศรีของข้าราชการลดน้อยลงหรือไม่

     ๓.ค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ (เพราะเห็น ม.แม่ฟ้าหลวง คนยากจนลูกชาวบ้าน ตาสีตาสา ไม่มีโอกาสเข้าเรียน)

     ๔. ผู้บริหารเงินเดือนขึ้นมากกว่าเดิมใช่หรือไม่

      ๕.คุณภาพการศึกษาดีขึ้นหรือเลวลงหรือไม่

     ๖.จะขัดกับปณิธานของพระเจ้าแผ่นดินหรือไม่

      ๗. มีผลประโยชน์ของผู้บริหาร อาจารย์ ที่เน้นรายได้มากกว่าคุณภาพใช่หรือไม่

      ๘. อิสระมากขึ้นกว่าเดิมจนชาวบ้านและรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่าเดิมใช่หรือไม่

        ๙. การผลักดันให้ออกนอกระบบเป็นแนวทางของ รมว.ศธ. ที่ไม่ได้เรื่องใช่หรือไม่

        ๑๐. ทำไมไม่คิดในมิติที่ทำของเดิม(ทรัพย์สมบัติทางการศึกษาของชาติ)ให้ดีด้วยวิธีอื่น มีความคิดตามอย่างต่างชาติ จนลืมความเป็นคนไทยใช่หรือไม่

       หากจะเอาออกนอกระบบ...ก็ไม่ควรพึ่งพาเงินภาษี เงินงบประมาณแผ่นดิน ไม่ต้องมีคำว่าของรัฐ และในกำกับของรัฐ...แปรรูปให้เอกชนให้หมด ...ยิ่งเขียนยิ่งยั๊วะ...จบครับ

เรียน อ.วิจารย์

ขออนุญาต นำบทความนี้อาจารย์ไปลิงค์ต่อครับ

โดนใจจริง ๆ ครับ

ธงชัย... 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท