สภาพสิ่งแวดล้อมของโลก


สิ่งแวดล้อม
เชื่อไหมว่าสภาพสิ่งแวดล้อมของโลก อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่นักสิ่งแวดล้อมกระแสหลักในโลกตะวันตก พยายามตอกย้ำให้เราเชื่อ?ก่อนอื่นขอลำดับเหตุการณ์เล็กน้อย ว่าขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกันยังไงกับประเด็นเรื่องการพัฒนามนุษย์ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดของนักวิ่งผลัดที่สามของเรา คือ Amartya Sen ที่คุยให้ฟังตอนที่แล้วปัญหาหลักของโลกาภิวัตน์ และระบบทุนนิยมเสรี ไม่ใช่ปัญหาว่ามันเป็นระบบที่ควรถูกล้มล้าง (เพราะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียมากมาย) หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของอำนาจทางการเมือง ความไม่เสมอภาค และการไม่มีมนุษยธรรมเพียงพอในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ด้อยโอกาสมักไม่ค่อยได้รับการันตีเรื่อง ตาข่ายสังคม” (social safety net) ที่ดีกว่าในปัจจุบัน (ดังที่ได้แปลคำบ่น Amartya Sen ไว้ก่อนหน้านี้ว่า: “…สภาวะที่จะทำให้โลกาภิวัตน์เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ยากไร้นั้น ยังไม่มีในโลกนี้เรา[ต้อง]ช่วยกันพยายามแบ่งผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ กันให้ดีกว่าที่เป็นอยู่”)โลกาภิวัตน์ กับทุนนิยมเสรีก็คล้ายกันกับรถ: มันจะไปได้ไกลแค่ไหน เสื่อมเร็วแค่ไหนก็อยู่ที่คนขับ ว่ารักษารถดีแค่ไหน มีวินัยขนาดไหน ถ้าคนขับ (รัฐ) ไม่ฟังเสียงคนโดยสาร (ประชาชน) ก็อาจขับพาเข้ารกเข้าพง จนรถวิ่งลงเหวไปได้แต่รถที่มีปัญหา ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนควรเอารถไปขายทิ้ง หันมาเดินเท้าแทน เพราะยังไงๆ นั่งรถก็เร็วกว่าเดินแน่ๆ เพียงแต่เราต้องวิเคราะห์ดูว่า ส่วนไหนของรถที่เสีย จะได้แก้ไข เอาอะไหล่มาเปลี่ยนให้มันวิ่งดีกว่าเดิมสองปัญหาใหญ่ของรถโลกาภิวัตน์ ในบรรดาปัญหาร้อยแปด ที่ฉุดให้รถเรารวนอยู่เรื่อยๆ ไปไหนไม่ได้ไกล คือ ปัญหาคอร์รัปชั่นของคนขับ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาแรกเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของระบอบการเมือง และความไร้คุณธรรมของผู้นำ ที่มักเกิดใน ประเทศประชาธิปไตยไร้เสรี” (ตามนิยามของ Fareed Zakaria) คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลักของการพัฒนา เป็นสาเหตุหลักที่อธิบายว่า ทำไมการ โยนเงินไปให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น (ข้าพเจ้าคิดว่าแนวคิดของ Jeffrey Sachs ที่เรียกร้องให้โลกพัฒนาเพิ่มเงินบริจาคนั้น ไร้เดียงสาเกินไปก็เพราะเหตุนี้แหละ นักพัฒนาอาชีพอย่าง William Easterly เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงกว่าเยอะ)

ปัญหาที่สองของโลกาภิวัตน์ คือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม กำลังกลายเป็นปัญหาโลกแตก เพราะถูก กระพือโดยนักอนุรักษ์ทั้งหลาย ให้กลายเป็นศาสนาที่คนแตะต้องไม่ได้ และเป็น ไพ่ทางการเมืองใบสำคัญที่ประเทศพัฒนาแล้วงัดขึ้นมาใช้ในการต่อรองกับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า (เช่น ตอนนี้เมืองจีน ที่กำลังเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ กำลังตกเป็นเป้าโจมตีของนักสิ่งแวดล้อมหลายฝ่าย แม้ว่ามลพิษต่อหัวของประชากรจีน จะต่ำกว่าระดับของอเมริกาหลายเท่า)
ในสถานการณ์แบบนี้ สมควรที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา จะติดตามข้ออ้างต่างๆ ของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ว่ามีเหตุผลมากน้อยแค่ไหน วันนี้ขอแนะนำให้รู้จักกับนักวิ่งผลัดที่สี่ Bjørn Lomborg ผู้หาญกล้าทวนแนวคิดสิ่งแวดล้อมกระแสหลัก ที่ชอบย้ำนักย้ำหนาว่า โลกเราใกล้ถึงกาลอวสานด้วยน้ำมือมนุษย์แล้วแนวคิดที่มองสภาพแวดล้อมโลกในแง่ดีของ Julian Simon นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นแรงผลักดันให้ Bjørn Lomborg นักสถิติชาวเดนมาร์ก เริ่มศึกษาค้นคว้าในปี 2540 เพื่อหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่าแนวคิดของ Simon นั้นผิด และสนับสนุน scenario อันน่าหดหู่ที่เราคุ้นหูกันดี เขาหวังจะพิสูจน์ว่าบทสวดรอวันโลกาวินาศ” (litany) ที่นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มองว่าต้องมาถึงแน่ๆ ในอนาคต เมื่อปัญหาประชากรล้นโลก ทรัพยากรธรรมชาติสูญสิ้น อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น การตัดไม้ทำลายป่า มลภาวะ และภาวะความอดอยากอย่างรุนแรง ภัยพิบัติที่ประกอบกันเป็นแรงบันดาลใจให้เรารู้สึกว่า วันโลกาวินาศกำลังใกล้เข้ามานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ แต่ความจริงที่ Lomborg ค้นพบ ที่เขารายงานอย่างละเอียดในหนังสือเรื่อง The Skeptical Environmentalist (นักสิ่งแวดล้อมขี้สงสัย) กลับกลายเป็นโลกที่สามารถรองรับประชากรได้มากขึ้น มีอายุยืนขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และอยู่ดีกินดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ในมุมมองของ Lomborg เราไม่ได้กำลังหลับหูหลับตาวิ่งไปหาวันโลกาวินาศ แต่กำลังเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับแรงกดดันต่างๆ ที่เราทับถมลงบนสภาพแวดล้อม ส่วนหนึ่งโดยนโยบายรัฐ อีกส่วนโดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การปฏิวัติสีเขียว (green revolution) ในเกษตรกรรม ช่วยเพิ่มผลผลิตพืชเกษตรอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างเช่น แม้จะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากในหลายปีที่ผ่านมา อินเดียตอนนี้กลายเป็นผู้ส่งออกธัญพืชไปแล้ว เทคนิคการเพาะพันธุ์พืชที่ดีขึ้น ประกอบกับปุ๋ยที่มีราคาถูก ทำให้ชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิต และที่นาใช้งานได้นานขึ้นข้อมูลที่ Lomborg ค้นพบ ตอกย้ำผลวิจัยของ Amartya Sen ว่า ภาวะอดอยากอาหารส่วนใหญ่ในโลก เป็นผลมาจากวิกฤติทางการเมือง ไม่ใช่ว่าประเทศนั้นผลิตอาหารไม่เพียงพอ Lomborg โชว์ตัวเลขจากรัฐบาลต่างๆ และองค์กรในเครือสหประชาชาติ ที่แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น จำนวนแคลอรี่ต่อหัวของประชากรโลก ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลาเดียวกันด้วย ไม่ใช่ลดลงอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจLomborg สรุปว่า บทสวดรอวันโลกาวินาศของนักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่นั้น แม้จะชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ก็ไม่ได้สรุปสถานการณ์ที่แท้จริงของสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน อย่างเที่ยงตรงและไร้อคติ Lomborg ใช้เนื้อที่กว่า 500 หน้าใน The Skeptical Environmentalist อธิบายและแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ที่สำคัญต่างๆ ตั้งแต่การเผาผลาญพลังงาน การผลิตอาหาร ปัญหาโลกร้อน (global warming) มลภาวะ ทรัพยากรน้ำ ฯลฯ ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่นักสิ่งแวดล้อมกระแสหลักโพนทะนา ความน่าเชื่อถือของ Lomborg ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูล อีกส่วนมาจากภูมิหลังของเขา ในฐานะ อดีตสมาชิก Greenpeace ฝั่งซ้ายซึ่งหมายความว่าไม่น่าจะมีผลประโยชน์อะไรเคลือบแฝง (เพราะคนที่น่าจะอยากใช้ข้อมูลที่ ต่อต้านขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกระแสหลักแบบนี้ ควรเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อฝั่งขวา ที่หวังผลทางการเมืองมากกว่า) เนื่องจากบทสรุปของ Lomborg ขัดแย้งกับแนวคิดของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกระแสหลักอย่างเห็นได้ชัด จึงไม่น่าแปลกใจที่ The Skeptical Environmentalist จะได้รับการโจมตีอย่างดุเดือด จากนักสิ่งแวดล้อม และวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายฉบับ ต่อเนื่องยาวนานเป็นปีๆ หลังจากหนังสือออก แต่ปัจจุบัน หลังจากผ่านไป 4 ปี เราเห็นได้ชัดว่าข้อโต้แย้งเหล่านั้นโดยรวมแล้วไม่มีมูล ยิ่งไปกว่านั้น ข้อโต้แย้งที่เข้าขั้น หมิ่นประมาทของนักสิ่งแวดล้อมบางคน แทนที่จะแสดงให้เห็นว่า Lomborg ผิดพลาด กลับสะท้อนให้เห็นว่านักสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ไร้ซึ่งความเป็นมืออาชีพ และไร้ซึ่งจรรยาบรรณขนาดไหน (ท่านใดที่สนใจ สามารถอ่านบทความที่ Lomborg ตอบโต้บทวิพากษ์ของ The Scientific American ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลที่สุด ในบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยทั้งหลาย ได้โดยคลิ้กที่นี่)ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสรุปหนังสือ The Skeptical Environmentalist ให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ในเนื้อที่ไม่กี่หน้า (ใช่ว่าข้าพเจ้าเองก็จะเข้าใจหนังสือเล่มนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาแรมเดือนกว่าจะอ่านจบ หมดกาแฟไปหลายขีดกว่าจะเข้าใจได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ) แต่จะพยายามสรุปประเด็นสำคัญไว้ในที่นี้ ก่อนจะแปลบทความของ Lomborg สองสามเรื่อง ที่น่าจะช่วยแสดงจุดยืน และหลักฐานหลักๆ ที่เขาใช้ ให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพชัดขึ้น (น่าจะมีคนไทย แปลหนังสือ “pop science” ดีๆ แบบนี้ออกมานะ เห็นแปลอยู่แต่พวกนวนิยาย ไม่ก็หนังสือธุรกิจหรือเล่นหุ้นไม่กี่เล่ม) 

 

คำสำคัญ (Tags): #ima#it#rsu
หมายเลขบันทึก: 47904เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2006 01:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ลมสุริยะคืออะไรใครบอกได้บ้างคะ

เกิดขึ้นได้อย่างไร  ทำไมถึงเกิด

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบ

คืออยากจะทราบ

1.สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

2.ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท