กระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการในงานสถาปัตยกรรมชุมชน


เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ กลุ่ม คน.ใจ.บ้านKon.Jai.Bann ซึ่งเป็นกลุ่มสถาปนิกและเครือข่ายสหสาขา กับบางกอกฟอรั่ม สถาบันพัฒนาการเรียนรู้และประชาสังคม (Civicnet) ได้พากันไปที่บ้านผม ให้ผมได้จัดกระบวนการถอดบทเรียนและเสริมศักยภาพการทำงานให้ โดยใช้บ้านของผมที่บ้านห้วยส้ม สันป่าตอง เชียงใหม่ เป็นสถานที่จัด กระบวนการเวทีดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีสีสันและมีชีวิตชีวาสมกับความเป็นชุมชนการทำงานเชิงครีเอทีฟ ได้นำเอาผลการทำงานมาทบทวน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความลึกซึ้ง และพัฒนาศักยภาพทางด้านต่างๆของตนเองไปด้วยกันหลายด้าน พร้อมกับได้ร่วมกันสร้างความหมายต่อสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นหลายอย่างของการบูรณาการพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของปัจเจกและครอบครัวเข้ากับความเป็นส่วนรวมและการทำงานเชิงสังคม

  กลุ่ม คน.ใจ.บ้าน    : กลุ่มสถาปนิกจัดวางสังคมเพื่อดุลยภาพของวัฒนธรรมวัตถุกับจิตใจ

กลุ่มคนใจบ้าน เป็นกลุ่มการรวมตัวกันของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งในเชียงใหม่และล้านนา สมาชิกส่วนใหญ่เป็นสถาปนิกกับนักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะในแนวทางเลือก เกิดจากการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็กๆของเพื่อนๆและพี่ๆน้องๆที่จบสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทำสำนักงานและรับทำงานในแนวทางที่เป็นหุ้นส่วนผู้ร่วมคิดและทำงานพัฒนาระบบนิเวศและที่อยู่อาศัยกับชุมชน รวมทั้งการทำงานในเชิงสังคมด้วยกันเมื่อเกือบ ๑๐ ปีมาแล้ว

จากนั้น ก็มีรุ่นน้องรุ่นหลังที่มีความสนใจแนวการทำงานและแนวดำเนินชีวิตความเป็นสถาปนิกที่กลุ่มริเริ่มกันขึ้น ได้มาร่วมเป็นสมาชิกอีกหลายรุ่น รวมแล้วกว่า ๑๐ คน ต่อมาจึงพัฒนาองค์กรและวิธีทำงานที่เอื้อต่อการบรรลุจุดหมายที่กลุ่มให้ความสำคัญหลายอย่างไปด้วยกัน เป็นต้นว่า การเป็นภาคีของชุมชนและสังคมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับระบบนิเวศของเมืองและแหล่งการอยู่อาศัย การเรียนรู้และพัฒนาความเป็นสถาปนิกเพื่อเป็นผู้ประกอบการทางสังคม เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้น จึงได้พัฒนาโครงการขอรับการอุดหนุนเพื่อพัฒนาระบบจัดการตนเองให้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการทางสังคมจากสำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) กระทั่งได้รับการสนับสนุนและผ่านประเมินทางด้านต่างๆ สำหรับมุ่งสู่การเป็นกลุ่มผู้ประกอบการทางสังคมในแนวทางที่ต้องการต่อไปในอนาคต โดยนิยามและให้ความหมายตนเองหลังผ่านประสบการณ์ไประยะหนึ่งแล้วว่า กลุ่ม คน.ใจ.บ้าน : กลุ่มสถาปนิกเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

   บางกอกฟอรั่ม    : หน่วยวิชาการเพื่อพลังฝ่าข้ามความแยกส่ว

บางกอกฟอรั่ม  เป็นกลุ่มประชาคมคนหนุ่มสาวที่ทำงานวิชาการเชิงสังคมในแนวจิตอาสากับกลุ่มปัจเจกและเครือข่ายองค์กร ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ เพื่อฟื้นฟูและสร้างสรรค์ชีวิตสาธารณะในท้องถิ่นของเมืองตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ เน้นทำงานกับย่านการอยู่อาศัยและชีวิตความเป็นส่วนรวมที่มีนัยยะต่อการพัฒนาวัฒนธรรมและรสนิยมชีวิตของสังคมเมือง เช่น สถาปัตยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตประจำวัน สวัสดิภาพและระบบจัดการตนเองเพื่อสร้างคุณภาพแห่งชีวิต พื้นที่สาธารณะเพื่อเคลื่อนไหวพลังความสร้างสรรค์ของส่วนรวม ศิลปะ และมรดกทางวัฒนธรรม

สมาชิกของบางกอกฟอรั่มกลุ่มหลักเป็นกลุ่มคนทำงานที่รวมตัวกันผ่านการทำงานพัฒนากระบวนการเรียนรู้และสนับสนุนเชิงวิชาการให้แก่เครือข่ายคนทำงานเชิงพื้นที่กับปัจเจกและการรวมกลุ่มของคนทำงานแนวประชาคมจิตอาสา ภายใต้ประเด็นส่วนรวมของชุมชนในพื้นที่ต่างๆในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชน การอยู่อาศัย การพัฒนาวิถีชีวิต และมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนบนระบบนิเวศคูคลอง ต่อมาได้พัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายเชิงพื้นที่ในระดับท้องถิ่นกับอีกหลายแห่ง เช่น เครือข่ายคนแพร่ น่าน ลำพูน และเชียงใหม่ ทำให้มีงานเชิงพื้นที่ของกลุ่มคน.ใจ.บ้าน บางส่วน ได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ชุมชนเมืองกับกลุ่มบางกอกฟอรั่ม

เครื่องมือเสริมพลังทางวิชาการให้แก่เครือข่ายต่างๆของกลุ่มบางกอกฟอรั่ม เช่น การประเมินผลและถอดบทเรียนสะท้อนผลสู่การยกระดับการทำงาน การปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้บนการปฏิบัติ สื่อและสิ่งตีพิมพ์สื่อสารองค์ความรู้จากการปฏิบัติ เวทีสื่อสาร เคลื่อนไหวความเป็นส่วนรวมของพื้นที่ สนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาการเรียนรู้ และบริหารจัดการเครือข่ายอย่างมีส่วนร่วม การวางแผนชุมชน พัฒนาองค์กร และระบบจัดการที่เหมาะสม กลุ่ม คน.ใจ.บ้าน ต้องการพัฒนาประสบการณ์และความลึกซึ้งของตนเองขึ้นจากประสบการณ์การทำงาน จึงเดินหาความร่วมมือกับกลุ่มบางกอกฟอรั่ม ในที่สุดจึงได้ทำงานเชื่อมโยงกัน และความต้องการนำเอาประสบการณ์มาถอดบทเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อสะท้อนกลับไปสู่การทำงานพร้อมกับได้เสริมศักยภาพการทำงานกับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมให้ลึกซึ้งมากยิ่งๆขึ้นไปด้วย จึงทำให้ทีมบางกอกฟอรั่มประสานงานมายังผม กระทั่งได้มาร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้นด้วยกัน

ดำเนินชีวิตการเรียนรู้ไปด้วยกัน :
การออกแบบและวิธีจัดกระบวนการเวทีให้เป็นชุมชนเรียนรู้แบบจัดการตนเอง

ที่บ้านของผมนั้น ผมค่อยๆทำบ้านให้เป็นที่ทำงานวิชาการเชิงสังคมไปด้วย ค่อยคิดและทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยหวังว่าในปีนี้หรืออีกสัก ๑-๒ ปีจะพอใช้ทำงานกับกลุ่มขนาดสักไม่เกิน ๓๐ คนได้

ผมอยากให้บ้านและครอบครัวของผมกับภรรยาเป็นอีกแหล่งหนึ่ง ที่เป็นหน่วยวิชาการเสริมพลังให้กับการทำงานเชิงสังคมในแนวประชาคมและในแนวรวมกลุ่มกันทำด้วยใจรัก ทั้งของปัจเจก เครือข่ายชุมชน ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ กระนั้นก็ตาม ณ เวลานี้ เรายังไม่พร้อมเลยที่จะจัดกิจกรรมดังตั้งใจให้กับกลุ่มผู้สนใจต่างๆ อย่างเป็นทางการ แต่เมื่อได้รับการติดต่อจากกลุ่มบางกอกฟอรั่ม และเครือข่ายกลุ่ม คน.ใจ.บ้าน พร้อมกับได้รู้ความเป็นมาเป็นไปและความมุ่งหวังต่างๆแล้ว ก็พอจะรับรู้ได้ว่าคนทำงานกลุ่มนี้เป็นนักปฏิบัติที่สนใจเนื้องานและบรรยากาศที่ให้ความบันดาลใจต่อการทำงานมากกว่าจะเป็นคนถือความสะดวกสบายเป็นเกณฑ์ อีกทั้งเป็นกลุ่มขนาดพอเหมาะทั้งต่อประเด็นการถอดบทเรียนและต่อสถานที่รองรับ ทุกอย่างจึงจัดเตรียมขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และด้วยวิธีจัดการกันเอง

พีธากร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการของบางกอกฟอรั่ม เดินทางไปเตรียมสถานที่ช่วยผมกับภรรยาและพ่อตาแม่ยายของผมล่วงหน้า ๑ วัน เขาเช่ารถมอเตอร์ไซค์และขับจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทำงานเบื้องหลังสำหรับคนทำงานเพื่อสังคม จัดห้อง ถูพื้น ประสานงานวิทยากร เตรียมวัสดุอุปกรณ์ ดูแลภาพรวมทั้งหมดอย่างพร้อมสรรพ ก่อนที่อีกทีมจะไปร่วมสมทบและช่วยกันทำทั้งกระบวนการวิชาการ ธุรการ การบริหารจัดการ ทั้งงานเพียง ๔ คน

เราจัดระบบและตบแต่งทั้งอาณาบริเวณของบ้านให้เป็นสภาพแวดล้อมที่มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้และได้อยู่กับตนเองอย่างลึกซึ้ง จัดแสดงภาพเขียนงานศิลปะชุมชน นำเสนอชีวิตความเป็นชุมชนและความเป็นจริงในอีกแง่หนึ่งของสังคมไทย โดยเฉพาะชีวิตความเป็นชนบทโดยติดตั้งตามกอไผ่ซึ่งตบแต่งให้ทั้งกอเป็นงานศิลปะจัดวางบนสิ่งแวดล้อมสีเขียวไปในตัว รวมไปจนถึงติดตั้งตามแมกไม้ ในบ้านและตามเรือนอาศัยทุกหลังที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้พักอาศัยด้วยกัน ๒ วัน

ตบแต่งงานศิลปะจัดดอกไม้ตามมุมต่างๆ ให้ชีวิตการเรียนรู้ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งน้อมใจให้แจ่มใสเบิกบาน อีกทั้งได้สัมผัสความละเอียดประนีตของชีวิตที่สื่อสะท้อนผ่านงานศิลปะจากวัตถุดิบธรรมชาติ

ราวและที่ตากเสื้อผ้าทำจากไม้ไผ่และด้วยแรงงานมือ

ที่ล้างจาน เก็บจานชาม และเครื่องใช้ด้วยตนเอง

บางกอกฟอรั่มเตรียมอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปไว้ให้ผู้เข้าร่วมเวทีอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกัน  ภรรยาและครอบครัวพ่อตาแม่ยายผมก็ช่วยกันดูแลที่หลับที่นอน รวมทั้งทำอาหารบางมื้อ ทุกคนนั่งกินข้าว สนทนา และพักผ่อนไปด้วยกันอย่างเป็นตัวของตัวเอง ยามว่างก็หาโอกาสเดินไปดูรูปภาพที่จัดแสดงตามกอไผ่ เดินไปวัด เดินชมท้องทุ่งโดยรอบ บ้างยามว่างก็นั่งคุยและเล่นกีตาร์ร้องเพลงด้วยกัน

ผมจัดกระบวนการให้เวทีได้นั่งคุยกันเป็นหลัก วันแรกได้คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวันที่สอง ก็เป็นการคุยและนำเสนอแนวทางสะท้อนบทเรียนทั้งมวลไปสู่อนาคต ทั้งของตนเองและของกลุ่มการทำงานด้วยกัน กระทั่งเสร็จสิ้นและแยกย้ายกันกลับเมื่อมืดค่ำของวันที่สองของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้

    บทเรียนและการเรียนรู้บนเวที    

ความเป็นกลุ่มสถาปนิกผู้ประกอบการทางสังคม : กลุ่มคน.ใจ.บ้าน รวมตัวกันทำงานเป็นหุ้นส่วนเครือข่ายสถาปนิกของชุมชนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม กระทั่งมีประสบการณ์และผลงานในหลายโครงการ หลายลักษณะ คือ โครงการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โฉนดชุมชน ๕ ชุมชนนำร่อง ในกรุงเทพมหานคร โครงการออกแบบนิทรรศการ หอประวัติศาสตร์บ้านปู่ประสิทธิ์ จังหวัดจันทบุรี  โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมริมคลองแม่ข่า-ลำคูไทร เชียงใหม่  โครงการฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่  โครงการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมชุมชนกลุ่มริมทางรถไฟพัฒนา  โครงการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมบ้านมั่นคงคนไร้บ้านเชียงใหม่   โครงการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมบ้านศักยภาพผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์  โครงการผังตำบล ผังชีวิตคนแม่ทา มิวเซียมลำปางกับการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เหล่านี้เป็นต้น

ผลของการได้ทำงานในระยะที่ผ่านมาดังกล่าว ทำให้กลุ่ม คน.ใจ.บ้าน ได้บทเรียนและมีความมั่นใจมากขึ้นต่อแนวทางการรวมตัวกันเป็นสำนักงานสถาปนิกในเชิงผู้ประกอบการทางสังคม สามารถเลี้ยงตนเองและอยู่ได้ในโลกความเป็นจริงพอสมควร มุ่งทำงานเป็นสถาปนิกชุมชน เพื่อบรรลุจุดหมายของการทำหน้าที่ต่อสังคม และได้พัฒนาความลึกซึ้งหลายด้านของชีวิตให้ดำเนินไปด้วยกัน

วิถีประชาคมและความเป็นชุมชนเรียนรู้ : ในด้านการรวมตัว การสืบทอดความเป็นพลังชีวิตของกลุ่มก้อน การสืบทอดปรัชญาชีวิตและแนวการทำงานเชิงอุดมคติระหว่างรุ่นของสมาชิก ตลอดจนการจัดระบบเพื่อหลอมรวมพลังกลุ่มบนความเป็นตัวของตัวเอง รักษาภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม มีความสุข ได้พัฒนาการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ชีวิตของคนรุ่นใหม่ มีรายได้ สามารถให้เงินเดือนและผลตอบแทนแก่สมาชิกได้ เหล่านี้ เมื่อมีการทำงานมากขึ้นและสมาชิกของกลุ่มมีหลายคน ก็ทำให้ขาดโอกาสได้พบปะพูดคุยและสร้างความลึกซึ้งอย่างที่ต้องการไปด้วยจากการทำงาน การได้รับการสนับสนุนจากบางกอกฟอรั่มในการจัดเวทีถอดบทเรียนและนำเอาประสบการณ์จากหลายโครงการมานั่งพูดคุยกัน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ทั้งต่อการทดแทนสิ่งที่กำลังขาดหายไปพร้อมกับการต้องทำงานในพื้นที่มากขึ้น และต่อการได้เรียนรู้กันในสิ่งที่ไม่เคยได้รู้มาก่อนอีกมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะเป็นโอกาสอันดีที่สถาปนิกรุ่นหลังๆได้เพิ่มพูนประสบการณ์อย่างกว้างขวางจากบทเรียนของรุ่นพี่

การพัฒนาการเรียนรู้ของสังคม :  ทางด้านกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มคน.ใจ.บ้าน รวมทั้งวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้กระบวนการทำงานพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความงอกงามทั้งต่อการทำงานออกแบบและดำเนินโครงการต่างๆของกลุ่มสถาปนิก อย่างสะท้อนเชื่อมโยงกับมิติทางสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่ต่างๆ และการได้พัฒนาการเรียนรู้ของประชาชนและชุมชนผ่านการได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานต่างๆนั้น ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้และการค้นพบสิ่งที่มีความเหมาะสมต่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของชุมชนเชิงพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและเมืองในภูมิภาคต่างๆของประเทศมากพอสมควร เช่น ขนาดพื้นที่การใช้สอยและการออกแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้ยากไร้ การออกแบบทำการปรับปรุงชุมชนริมคลองและแหล่งน้ำ เครื่องใช้และนวัตกรรมสำหรับสิ่งใช้สอยในชีวิตประจำวันของชุมชนบนพื้นที่จำกัด

ความเป็นครูของสังคมบนวิธีทำงานของกลุ่มสถาปนิก : กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพแห่งชีวิตของการอยู่อาศัย รวมทั้งเพื่อให้ส่งผลต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่เหมาะสม พร้อมไปกับการได้เข้าถึงชีวิตจิตใจและการได้ข้อมูลที่ดีทางด้านต่างๆของชุมชนมาสะท้อนสู่การออกแบบและดำเนินการต่างๆ กลุ่มสถาปนิก คน.ใจ.บ้าน ได้เรียนรู้วิธีทำให้ขั้นตอนการทำงานขั้นต่างๆของสถาปนิก ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการ เปลี่ยนการถือเอาความต้องการของสถาปนิกเป็นศูนย์กลางไปสู่การถือเอาความเป็นชุมชนและมิติสังคมวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางโดยแปรไปสู่วิธีปฏิบัติต่างๆ เช่น ระดมพลังชุมชนในการสำรวจสภาพชุมชนและข้อมูลที่ต้องการ การวิเคราะห์ พัฒนาความต้องการ และพัฒนาแนวคิด ออกแบบและทำแผนฏิบัติการต่างๆ  ออกแบบผังบ้าน ชุมชน และเมือง ออกแบบทางสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ เขียนแบบ ทำโมเดล ทำแผนดำเนินการ ทำแผนก่อสร้าง ระดมทรัพยากรและลงมือทำสิ่งต่างๆที่ต้องการไปด้วยกัน เหล่านี้เป็นต้น

สวัสดิภาพและคุณภาพแห่งชีวิตการอยู่อาศัยที่บังเกิดจากการเรียนรู้ : กระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำงานและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับชุมชนในลักษณะดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านและชุมชนเกิดพัฒนาการเรียนรู้ไปกับการทำงานเพื่อส่วนรวมด้วย ได้สร้างความลึกซึ้งในความหมายของความเป็นบ้านและที่อยู่อาศัย ได้เรียนรู้และพัฒนาความเป็นเจ้าของ การจัดวางระบบเพื่อดูแลและจัดการกันเองของชุมชน การริเริ่มและกำหนดการมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากร การจัดการกองทุน การสร้างรายได้ ตลอดจนการจัดองค์กรชุมชนเพื่อดำเนินการต่างๆของส่วนรวมกันเองต่อไปที่ดีและสอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนได้ดีกว่าเดิม

การตกผลึกประสบการณ์และเสริมศักยภาพความเป็นสถาปนิกกระบวนกรเรียนรู้ : ผมจัดกระบวนการให้ทุกคนได้นั่งพูดคุยอย่างเข้มข้นติดต่อกัน ๒ วัน ดังนั้น นอกจากประสบการณ์ของแต่ละคนจะได้มีการนำมาเป็นครูให้บทเรียนแก่ตนเองและเป็นครูให้กันและกันอย่างกว้างขวาง เป็นอย่างดีอยู่ในตนเองแล้ว การวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานไปกับกระบวนการทำงาน ตลอดจนการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางของมิติทางสังคมวัฒนธรรม ทั้งในความเป็นทฤษฎีสากลและความีนัยยะสำคัญต่อประเด็นสังคม ของสังคมไทย ท้องถิ่น และสังคมโลก  ผมก็เป็นพี่เลี้ยงขยายมุมมองให้ไปด้วยอยู่ตลอดเวลา โดยผุดขึ้นบนกรณีตัวอย่างที่อยู่ในประสบกาณ์ตรงของแต่ละคนในทุกโครงการ ความรอบรู้และความลึกซึ้งเพื่อเชื่อมโยงตนเองออกไปให้กว้างขวาง จึงวางอยู่บนฐานชีวิตและความมีประสบการณ์เป็นของตนเองของทุกคน

นอกจากนี้ ผมก็ออกแบบและจัดกระบวนการ ให้กลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนาได้สัมผัสและได้ประสบการณ์ลงมือเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการทำงานบนเวที ด้วยการนั่งสนทนา คิด พูด และฟังอย่างลึกซึ้ง พร้อมกับได้ทักษะสำหรับนำไปใช้เป็นการวิเคราะห์และเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มประชาชนที่สะท้อนออกมาจากชีวิตจิตใจ ได้ข้อมูลสำหรับออกแบบและทำงานสถาปนิกที่ผสมกลืนมิติสังคมวัฒนธรรมตามพื้นถิ่นต่างๆลงไปในงานได้อย่างดีมากขึ้น ใช้เป็นทักษะเตรียมการมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาวิธีจัดการออกมาจากจิตใจตนเองของปประชาชน การปรับกระบวนทัศน์และวิธีคิดต่อสิ่งต่างๆที่ผุดขึ้นจากตัวอย่างประสบการณ์ที่นำมาถอดบทเรียน

การเข้าถึงและเห็นความเชื่อมโยงในระบบนิเวศชีวิตชุมชน : ผมสาธิตวิธีวิเคราะห์ระบบความเชื่อมโยงในระดับกระบวนทัศน์และการเปลี่ยนแปลงระดับจุดยืนต่อความจริงตามบริบทแวดล้อมและความมีกาลเทศะต่างๆ ลงไปบนกรณีตัวอย่างการทำงานของกลุ่มที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้เห็นมิติสังคมและความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งกว้างขวาง เห็นภาพสะท้อนระบบสังคมระดับมหภาคอยู่ในสิ่งที่ทำเล็กๆกับชุมชนในพื้นที่ เห็นแง่มุมความเป็นจริงอันหลากหลายและความมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ในบริบทต่างๆของสังคมไทย

ผมได้ยกตัวอย่างขวดน้ำและตั้งคำถามให้เวทีนั่งอภิปราย สังเกตกลับเข้าไปในประสบการณ์ตนเองต่อสถานการณ์ต่างๆของสังคมว่า ความเป็นจริงของขวดน้ำและการเกิดขยะในสังคมเมือง ขึ้นอยู่กับอะไรและโดยระบบสังคมอย่างไร อยู่ที่ขวดน้ำ หรืออยู่ที่น้ำที่ใส่ลงไป อยู่ที่ชนิดของของเหลวในขวด หรืออยู่ที่ผู้ผลิต ผู้นำเอามาจัดจำหน่าย หากน้ำในขวดไม่ได้อยู่ในขวด ก็คงจะเป็นทะเล คลอง ห้วยหนองคลองบึง น้ำฝน น้ำบาดาล ก็ได้ และขวดหากไม่มีน้ำอยู่ข้างใน ขวดเปล่าจากจุดยืนของคนดื่มน้ำก็คงมีฐานะเป็นเพียงขยะ ในขณะที่ผู้ให้ความสำคัญกับขวด ก็จะเห็นความเป็นวัสดุและใช้ความรู้คนละชุดกับคนที่เห็นด้านความเป็นน้ำดื่ม

เมื่อมองย้อนกลับไป ก็ให้นั่งพิจารณาการเกิดชุมชนแออัด ความยากไร้ กลุ่มคนไร้ที่อาศัย การล่มสลายของชุมชนและระบบนิเวศต่างๆ แผ่ขยายออกไปสู่ภาพสะท้อนโลกของสรรพสิ่ง ซึ่งจะทำให้กลุ่มสถาปนิกมีความละเอียดอ่อนต่อความเป็นจริงของสังคม สามารถเห็นและซาบซึ้งต่อสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายตามบริบททางสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งสามารถนำมาเป็นแนวทบทวนตนเองอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังเป็นขวดหรือบรรจุภัณฑ์ชนิดใด บรรจุสิ่งใดไว้ ซึ่งจะเรียนรู้สร้างความงอกงามให้ตนเองไปบนรายทางชีวิตและการงาน ใช้ทำงานในแนวทางที่สอดคล้องต่อจุดหมายของตนได้ดียิ่งๆขึ้น

   การสรุปบทเรียนและสะท้อนกระบวนการยกระดับ   

วันที่สอง ผมจัดกระบวนการให้กลุ่มสถาปนิก คน.ใจ.บ้าน ได้นำเอาประสบการณ์ที่มีอยู่แล้ว กับบทเรียนที่ได้ และทักษะเชิงกระบวนการต่างๆที่ได้ มาประมวลผลด้วยตนเองพร้อมกับสะท้อนไปสู่การวางแผนตนเองในอันที่จะกลับไปทำสิ่งต่างๆต่อไป ทั้งต่อเนื่องจากงานที่ทำ หรือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความคาดหวังต่ออนาคตชีวิตการงานตนเอง จากนั้น ก็ทำสื่อและเตรียมการนำเสนอตามความถนัด

กระบวนการดังกล่าว เป็นทั้งการนั่งคุยและรับฟังสิ่งต่างๆของและกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อทำงานและอยู่ดำเนินชีวิตด้วยกัน ก็จะยิ่งทำให้สมาชิกทุกคนเข้าถึงจิตวิญญาณกลุ่มก้อน สามารถแยกย้ายออกไปคิดริเริ่มและมีความรู้ใจเขาใจเราสำหรับใช้กำกับออกมาจากใจตนเองในอันที่จะทำสิ่งต่างๆอย่างสะท้อนความเป็นองค์กรที่ทุกคนต่างสามารถร่วมกันเป็นผู้นำ ทำสิ่งต่างๆสะท้อนความเป็นองค์กรและความเป็นกลุ่มก้อนได้

ขณะเดียวกัน ก็เป็นการประเมินผลสรุปเชิงสะท้อน สังเคราะห์บทเรียนและใช้เป็นข้อมูลวางแผนตนเองสู่อนาคต รวมทั้งได้แสดงความมีประสบการณ์ที่นำเอาทักษะใหม่ๆจากเวทีจัดวางลงไปในกระบวนการทำงาน ได้เห็นแนวคิดและการออกแบบกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ ที่สามารถบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งในมิติต่างๆของการทำงานสถาปนิกชุมชนได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งๆขึ้น นอกเหนือจากการมีความสุขที่ได้พบปะและนั่งคุยกันด้วยกระบวนการและสภาพแวดล้อมที่ผมและครอบครัว กับทีมบางกอกฟอรั่ม ได้จัดเตรียมให้อย่างพิถีพิถัน

   การได้เรียนรู้ผ่านการเป็นผู้จัดกระบวนการ   

ผมเองนั้น นอกจากได้ให้วิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ วิเคราะห์และหาความซาบซึ้งเป็นชุมชนปฏิบัติจากประสบการณ์ชีวิตและการงานในระยะที่ผ่านมาให้กับกลุ่มคนใจบ้านแล้ว ก็ได้เรียนรู้วิธีทำงานและการผสมผสานกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ที่เกิดจากประสบการณ์ลงไปทำงานเชิงพื้นที่กับชุมชนหลายแห่งของประเทศของกลุ่มคนใจบ้านกับเครือข่ายไปด้วย ได้เห็นกระบวนการทางการศึกษาในพรมแดนของชีวิตและการงาน ได้เห็นความเป็นครูและผู้เคลื่อนไหวพลังการเรียนรู้ของสังคมที่อยู่ในงานของสถาปนิกและการลงไปทำงานเชิงสถาปัตยกรรมชุมชน รวมทั้งได้เห็นความมีนัยสำคัญต่อการเข้าถึงระบบวิธีคิดอันลึกซึ้งของความเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย ความเป็นชุมชนและย่านอาศัย ความเป็นเมือง สวัสดิภาพและคุณภาพแห่งชีวิตที่เชื่อมโยงอยู่กับที่อยู่อาศัย มนุษย์กับระบบนิเวศทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ผสมกลมกลืนกันของโลกทัศน์สมัยใหม่กับบริบททางสังคมวัฒนธรรมบนเงื่อนไขแวดล้อมอันหลากหลายของถิ่นฐานต่างๆในสังคมไทย

จัดว่าเป็นเครือข่ายคนทำงานกลุ่มแรกที่มาจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการอย่างนี้ที่บ้านของผมและครอบครัว เหมือนกับผู้เปิดบ้านและช่วยให้ความหมายความเป็นบ้านกับการอยู่อาศัยที่บูรณาการไปกับการทำงานเพื่อส่วนรวมตามเงื่อนไขชีวิตของผมกับภรรยาไปด้วย จึงต้องนับว่าต่างเป็นครูและผู้ได้เรียนรู้จากกันแลกัน.

หมายเลขบันทึก: 479022เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2012 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ว้าว รื่นรมย์กับบรรยากาศค่ะอาจารย์เซียนศิลป์

ทำให้นึกถึง โรงมหรสพแห่งชีวิตอันเปี่ยมชีวา

สุขสันต์ วัน เดือนแห่งความรัก นะคะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจ
และการแวะมาเยือน
ของท่านดร.จันทวรรณกับคุณ Poo นะครับ

สวัสดีครับคุณ Poo
เป็นการได้ทดลองจากของจริงอย่างดีไปด้วยครับ
ในการใช้บ้านเป็นพื้นที่จัดกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติการทางศิลปะชุมชนในแง่มุมต่างๆ
ชอบชื่อที่สะท้อนแนวคิดดีๆว่าโรงมโหรสพแห่งชีวิตของคุณ Poo จริงเลยนะครับ
ขอให้มีความสุขสันต์ในเดือนแห่งความรักนี้เช่นกันครับ

ขอบคุณคุณแสงแห่งความดี
ที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับ
มีความสุขมากๆนะครับ

  • บรรยากาศดี เรียบง่าย เป็นกันเอง การพูดคุยย่อมออกรสชาตินะครับ..
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ

ผมก็รู้สึกได้อย่างที่อาจารย์มองเห็นเหมือนกันครับ หลายเรื่องก็สามารถคุยลงลึกโดยละหรือโดดข้ามหลายๆอย่างไว้บนฐานที่เข้าใจกันได้เหมือนคุยภาษาเดียวกัน ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะได้บรรยากาศแบบนี้ สนุกและเป็นเวทีที่มีพลังมากครับ

ขอบคุณมากค่ะพี่ อ่านแล้ว มีกำลังใจมาก ๆ ค่ะ

สวัสดีครับกุ๊ก
ประทับใจทีมน้องๆบางกอกฟอรั่มมากด้วยเช่นกันครับ เป็นหน่วยเสริมศักยภาพวิชาการสำหรับภาคประชาสังคมที่ขันแข็งมาก พี่มีบันทึก ถอดบทเรียนเชิงกระบวนการและระเบียบวิธีเก็บรวบรวมไว้ด้วยที่นี่ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/479208

บรรยากาศดีมากมากครับ

ให้ประสบการณ์ที่สามารถนำมาคิดเพื่อทำสิ่งต่างๆต่อไปอีกได้ดีมากเลยครับอาจารย์หมอ JJ ครับ

ขอบคุณ อ.วิรัตน์ มากครับ สำหรับบรรยากาศและการเรียนรู้ที่อบอุ่น

เมื่อวานผมได้หยิบหนังสือเล่มที่เคยอ่านแล้วมาอ่านอีกหนึ่งรอบ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Let your life speak แปลเป็นภาษาไทยโดย นพ.กิจจา มีวรรคหนึ่งซึ่งอ่านแล้วทำให้ระลึกนึกถึงวันที่เราได้นั่งพูดคุยและรับฟังกันที่บ้านสวนห้วยส้มของอาจารย์ ทั้งๆที่วรรคนี้ผมเคยอ่านมันมาแล้ว แต่วันนี้ความหมายมันกลับชัดเจนยิ่งขึ้นครับ เลยอยากจะร่วมแบ่งปันให้อาจารย์ด้วย

"ทุกวันนี้ ผมเข้าใจภารกิจแห่งชีวิตแตกต่างออกไป มันไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องการบรรลุ แต่เป็นของขวัญที่เราได้รับ การแสวงหาภารกิจแห่งชีวิตไม่ได้หมายถึงการมุ่งอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อได้รับรางวัลที่อยู่เกินเอื้อม หากแต่เป็นการยอมรับสมบัติล้ำค่าของตัวตนที่แท้ซึ่งผมครอบครองมาตลอด ภารกิจแห่งชีวิตไม่ได้มาจากเสียงภายนอก ซึ่งเรียกร้องให้ผมเป็นคนที่ตัวเองไม่ใช่ แต่มาจากเสียงภายใน ที่ส่งเสียงให้ผมเป็นบุคคลอย่างที่ตัวเองเกิดมาเป็น ให้มีชีวิตอยู่เพื่อเติมเต็มแก่ตัวตนดั้งเดิมซึ่งพระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้ตั้งแต่แรก"

ด้วยความเคารพและระลึกถึง

สวัสดีครับตี๋ คน.ใจ.บ้าน

ผมก็ต้องขอบคุณตี๋ และกลุ่มคน.ใจ.บ้าน ด้วยเช่นกันครับ ผมเห็นภาพยืนคุยกันใต้แสงไฟแล้ว ก็นึกถึงการพากันยืนสะพายเป้บนหลังพร้อมเดินทาง กินปูนิ่มทอดเหมือนเป็นอาหารมื้อค่ำ แล้วก็คุยกันไปด้วยอย่างออกรส ก่อนต่างก็อำลาและแยกย้ายกันไป เป็นกลุ่มที่มีไฟชีวิต เลยเหมือนต่างก็ทำให้ได้ความเป็นชีวิตจิตใจเป็นของขวัญงามๆง่ายๆได้อยู่ตลอดเวลา  

 

ลิ๊งก์มาฝากตี๋ และสมาชิกกลุ่มสถาปนิกกลุ่มคนใจบ้าน กับทีมงานของบางกอกฟอรั่มครับ เป็นสกู๊ปเรื่องการค้นหาวิธีคิดเกี่ยวกับสลัมและที่พักอาศัยในเวเนซุเอล่า โดยกลุ่มสถาปนิก Urban-Think Tank ครับ น่าสนใจดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท