ป้าแก้ว : หญิงชราไร้เอกสาร ไร้สิทธิ ที่ต้องเสียชีวิตเพราะโรคร้าย


ป้าแก้วจึงได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า ปิดฉากชีวิตหญิงชราคนหนึ่งที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยระยะทางไกลจากเหนือจรดใต้ โดยไม่เคยได้รับสิทธิและผลประโยชน์ของความเป็นคนไทยตลอดทั้งชีวิต

       ป้าแก้ว เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนชราจำนวนไม่น้อยในพื้นที่งานศึกษาวิจัย ที่เพิ่งปรากฎความทุกข์ยากเดือดร้อนให้คนภายนอกได้รับรู้หลังจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ด้วยความยากลำบากในการใช้ชีวิตวัยชรา ยิ่งทำให้การมีบัตรประชาชนมีความสำคัญอย่างมากต่อพวกเขาและเธอ ที่ร่างกายซึ่งตรากตรำทำงานหนักมาทั้งชีวิต เริ่มทรุดโทรมลง

 

                วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๙ ที่ป้าแก้วเสียชีวิต ป้าคงมีอายุประมาณ ๕๕-๕๖ ปี เพราะจำได้เพียงว่าตนเกิดปีมะเส็ง ป้าแก้วเป็นคนพื้นเพเดิมอยู่ที่จังหวัดลำพูน บิดาชื่อนายมูล มารดาชื่อนางกอง เสียงจันทร์ ซึ่งเสียชีวิตแล้วทั้งคู่  แต่พี่ๆ น้องๆ ร่วมบิดามารดาอีก ๑๒ คน ยังคงอยู่ที่จังหวัดลำพูน

 

                ป้าแก้วออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุประมาณ ๑๕ ๑๖ ปี โดยมาทำงานอยู่ที่เกาะล้าน จังหวัดพังงา นานถึง ๑๓ ปี ก่อนย้ายมาอยู่ที่บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๒๗ ปีแล้ว จึงไม่แปลกที่คนในชุมชนบ้านน้ำเค็มที่อยู่มาดั้งเดิมตั้งแต่ยุคทองของการทำเหมืองแร่จะรู้จักป้าแก้วดี

 

                ป้าแก้วไม่เคยมีเอกสารประจำตัว และไม่เคยมีชื่อในทะเบียนราษฎรที่ใดเลย แต่ที่ผ่านมาป้าแก้วก็ไม่ค่อยเดือดร้อนอะไร จนกระทั่งระยะหลังที่ป้าแก้วเริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก และต้องรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากป้าแก้วไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพใดๆ ของรัฐ ในระยะแรกป้าแก้วจึงรักษาแบบตามมีตามเกิด ที่สถานีอนามัยบ้านน้ำเค็ม แต่เมื่อเห็นว่ามีอาการหนักขึ้นทางอนามัยจึงแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า ก่อนจะถูกส่งตัวให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ในโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง

 

                อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะทางที่ห่างไกลระหว่างบ้านที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกทั้งการไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ป้าแก้วไม่ได้เดินทางไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่ออาการป่วยทรุดหนักลง ป้าแก้วจึงได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า  ปิดฉากชีวิตหญิงชราคนหนึ่งที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยระยะทางไกลจากเหนือจรดใต้ โดยไม่เคยได้รับสิทธิและผลประโยชน์ของความเป็นคนไทยตลอดทั้งชีวิต

สำรวจข้อมูลโดยมูลนิธิเด็ก และมูลนิธิกระจกเงา

 
หมายเลขบันทึก: 47869เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2006 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เป็นอีกกรณีที่ไม่น่าจะยากที่จะแก้ปัญหาความไร้รัฐ เพราะยังมีพี่น้องอยู่ที่ลำพูนอยู่อีก เพียงแต่กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่เกิดขึ้น อะไรคือเหตุผลที่กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่เกิดขึ้น ทีมวิจัยน่าจะต้องพยายามแคะ "สาเหตุ" มาตอบกัน ?

สาเหตุที่แก้ปัญหาป้าแก้วไม่ได้ คือแก้ไม่ทัน เพราะช่วงเวลาที่ทีมมูลนิธิเด็กและกระจกเงา พบตัวป้า ก็เป็นช่วงอาการป่วยขั้นรุนแรงแล้ว

เราเองก็สนใจกรณีนี้ แต่พอลงไปในพื้นที่ช่วงมิถุนายน ก็เจองานศพป้าพอดี

ที่น่าคิดต่อคือ เราจะช่วยลุงๆ ป้าๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่และอยู่ในสถานการณ์แบบป้าแก้ว อีกหลายคนที่เราพบ แค่ที่จังหวัดพังงาก็ไม่น้อยแล้ว อย่างไร??

น่าจะมีวิธีที่ดีกว่าวิ่งแก้ทีละกรณีแบบนี้ ซึ่งสำหรับกรณีคนแก่ๆ ทางทีมมูลนิธิเด็กซึ่งปฏิบัติงานช่วยอย่างหนักอยู่แล้ว ก็พบปัญหาว่า คนแก่บางคนกลับบ้านที่ภูมิลำเนาเดิมไม่ถูก จำไม่ได้แล้ว เพราะไม่เคยกลับมาหลายสิบปีแล้ว  บางคนก็ไปไม่ไหว   แต่ถ้าไปไหวทั้งหมดก็คงไปด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนพาไป แล้วใครดี??

 

 

ข้อเสนอของทางพี่แหม่ม มูลนิธิเด็ก ก็คือ

o    ควรให้มีการแจ้งย้ายปลายทางได้ โดยเฉพาะในกรณีคนชรา หรือกรณีที่รู้แน่ชัดว่าเป็นใครมาจากไหน เนื่องจากการเดินทางไปดำเนินการโดยไม่มีเอกสาร อาจถูกตำรวจจับได้

o    การสืบพยาน สำหรับกรณีคนชรา ที่ย้ายจากภูมิลำเนาเดิมมานานมากแล้ว น่าจะให้ใช้ประชาคมที่อยู่ในปัจจุบันช่วยรับรองได้ เนื่องจาก (๑) คนชราที่ย้ายออกมานานแล้ว  จำนวนมากที่ไม่มีชื่อในฐานข้อมูลของอำเภอ (๒) คนชราที่พบหลายกรณีไม่สามารถกลับไปชุมชนเดิมได้ เนื่องจากจำไม่ได้ หรือจำได้แต่คนในชุมชนรุ่นหลังไม่รู้จักแล้ว

 

อีกข้อเสนอที่พบกันคนละครึ่งทาง ก็คือ ต้องมี "สำนักงานกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐ" ขึ้นมาจัดการปัญหาดังกล่าว

ข้อเสนอของแหม่มนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะประคองมิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด แม้ในปัจจุบันที่การฟังคำพยานค่อนข้างแน่นและยาก การสวมตัว การปลอมแปลงเอกสารยังเกิดขึ้น

ต้องพยายามหา "จุดกลางๆ" ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

สิ่งที่นักวิจัยควรจะละเอียดในกรณีนี้ ก็คือ อะไรคือพยานหลักฐานที่ป้าแก้วเหลืออยู่ มันบางมากจนสืบต่อยอดไม่ได้เลยหรือ ?

การให้รัฐยอมรับฟังว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยไม่มี "เบาะแส" อะไรเลย คงยาก

คนแก่ๆ ประมาณป้าแก้วที่อยากช่วยนั้น ก็น่าจะมี "เบาะแส" ที่เป็นร่องรอยของความเป็นคนไทยดั่งเดิมนะ เราต้องคิดวิธีการพิสูจน์ให้พวกเขา

นักพิสูจน์ทราบตัวบุคคลอย่างต้องตี๋คงต้องถูกผลิตขึ้นบนพื้นที่สึนามิ เพื่อเคลียร์ปัญหาต่างๆ

ไม่ทราบว่า นุชกับรงค์จะพอรับการฝึกอบรมให้ทำงานนี้ได้ไหมนะ

อยากเห็นสำนักงานกฎหมายตีนเปล่าแห่งที่สองเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติ

การสืบพยานแบบดั่งเดิมเป็นแบบไหนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท