ถึงเวลาพรรคท้องถิ่นไทย ?


พรรคการเมืองของคนท้องถิ่น

“เดี๋ยวนี้ไปที่ไหนหรือไปเยี่ยมประชาชนที่ใด เมื่อได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน  ก็บอกให้ไปร้องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น”

(พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ งานกาชาด พุธที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๙)

  

       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   เป็นรูปแบบการปกครองที่สะท้อนการกระจายอำนาจให้หน่วยการปกครองพื้นฐานของประเทศ อันเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของรัฐบาลที่จะทำให้อำนาจการบริหารงานแก่หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นด้วยตนเองตามอำนาจหน้าที่ มีอิสระในการตัดสินใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในท้องถิ่นนั้นตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด 

       จะเห็นได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศต่างพยายามปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหา เสริมสร้างการอยู่ดี มีสุข สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนของตน  ให้สมกับความคาดหวังของสังคมที่เห็นว่า  เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด  ผู้บริหารและสมาชิกต่างได้รับเลือกมาจากประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ  ทำให้ทราบปัญหา  ความต้องการของท้องถิ่นได้ดีกว่าส่วนอื่น  สามารถแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว 

        ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  เห็นว่าหายนะของประเทศเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ  แม้วิกฤตการณ์ของประเทศจะเกิดจากสาเหตุหลายประการ แต่แก่นของมันคือการรวมศูนย์อำนาจของประเทศ  พร้อมเสนอแนวทางป้องกันหายนะไว้ว่า (“การรวมศูนย์อำนาจคือหายนะของประเทศ” วารสารหมออนามัย ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๖ พ.ค. – มิย. ๒๕๕๔) 

       ๑.ต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง  คนข้างบนไม่รู้ว่าคนข้างล่าง “ตื่น” ขึ้นมาจัดการตัวเองแล้ว  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังทำอะไรดีๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ก้าวหน้าและเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ  ชุมชนท้องถิ่นปกคลุมทุกตารางนิ้วของประเทศ  ถ้าเข้มแข็งและจัดการตัวเองได้  ก็จะทำให้ฐานของประเทศมั่นคง

       ๒. ควรมีการออกแบบ พ.ร.บ.ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง  เพื่อปลดล็อกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการกำหนดอนาคตและการจัดการตัวเองของชุมชนท้องถิ่น 

       ๓. ระบบการศึกษาควรส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

       ๔. สร้างประชาธิปไตยฐานกว้างทั้งแผ่นดิน  ชุมชนท้องถิ่นมีฐานกว้าง มีผู้นำตามธรรมชาติที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดีจำนวนมาก ถ้าเราตั้งระบอบประชาธิปไตยให้มีฐานกว้างจะเกิดพลังประชาธิปไตยมหาศาลทั้งแผ่นดิน  ท้องถิ่นเกือบ ๘,๐๐๐ แห่ง  ถ้าเชื่อมโยงกันทั้งหมดจะเป็นเครือข่ายประชาธิปไตยท้องถิ่นอันไพศาล

       อย่างไรก็ตาม  ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันพบว่า  การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการเอาใจใส่  การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นถูกหมางเมินจากนักการเมืองทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความสำคัญมากก็แต่ในช่วงก่อนเลือกตั้งที่นักการเมืองเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ  ให้คำมั่นสัญญาที่ฟังแล้วทำให้หลงใหลได้ปลื้ม  แต่หลังจากการเลือกตั้งผ่านไป  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ถูกลืม ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

       ในขณะที่ทุกปัญหาของสังคมตลอดจนนโยบายประชานิยมถูกโยนให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ  โดยอ้างถึงการกระจายอำนาจ  การอยู่ใกล้ชิดประชาชน โดยธรรมชาติของการทำงานที่มากและหลากหลายย่อมที่จะประสบปัญหาบ้างเป็นเรื่องธรรมดา  แต่ที่ไม่ธรรมดาคือ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกประณาม ดูถูกเหยียดหยามในหลายประเด็น ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาแห่งความเป็นธรรมแล้วจะพบว่า  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเป็นจำนวนมาก  อาจจะมีปัญหาในการบริหารจัดการบ้าง  แต่หน่วยงานอื่นก็มีปัญหาเช่นกัน  จะแตกต่างก็ตรงที่หน่วยงานนั้นมีน้อยกว่า ไม่ถูกพูดถึง  ประกอบกับคนท้องถิ่นพูดแล้วเสียงไม่ดัง  ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ

       มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากมายที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุข  สร้างชุมชนเข้มแข็ง (แต่มักไม่ถูกกล่าวถึง) เช่น  เทศบาลตำบลปริก  จ.สงขลา, เทศบาลตำบลเวียงพางคำ  จ.เชียงราย, เทศบาลตำบลคำขวาง  จ.อุบลราชธานี, อบต.แม่ยาว  จ.เชียงราย, อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่, อบต.หาดสองแคว  จ.อุตรดิตถ์, อบต.หัวง้ม  จ.เชียงราย  ฯลฯ

       ได้มีความพยายามเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกระจายอำนาจและการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้หลายประการ  แต่ไร้ผลในทางปฏิบัติหรือไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น  จึงได้มีแนวคิดใหม่คือการตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่น สอดคล้องกับแนวคิดของ นายสุวิทย์  ทองสงค์  นายก อบต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย  ที่คิดจะตั้งพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองของคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

        นายกฯ สุวิทย์  ได้แสดงทัศนะไว้ว่า  ถึงเวลาแล้วที่คนท้องถิ่นต้องจับมือกันสร้างพรรคการเมืองของคนท้องถิ่นขึ้นมาเอง  เพราะเราหวังพึ่งใครไม่ได้ ดังนั้นเราต้องพึ่งตัวเอง  ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสนใจต่อการกระจายอำนาจ ไม่ให้ความสนใจต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทำให้ท้องถิ่นต้องประสบปัญหาต่างๆ ตามมา  ดังนั้นจำเป็นที่คนท้องถิ่นจะต้องรวมตัวกันเพื่อส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎร  เสนอกฎหมาย   แก้กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการกระจายอำนาจ  เสนอข้อเท็จจริงของท้องถิ่นให้รัฐบาลได้ทราบ  อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบอย่างยั่งยืน  นำมาสู่การแก้ไขปัญหา พัฒนาท้องถิ่นได้อย่างกว้างขว้างและครอบคลุม

        สิ่งสำคัญเบื้องต้นคือ  คนท้องถิ่นต้องไม่ดูถูกตัวเอง ต้องไม่ดูถูกเพื่อนท้องถิ่นด้วยกัน  ทุกท้องถิ่นต่างมีศักยภาพและแนวทางพัฒนาที่แตกต่างกันไป  ยกตัวอย่างเช่น อบต.เมืองบางขลัง จ.สุโขทัย  เป็น อบต.เล็กๆ  ได้ใช้ทุนท้องถิ่นทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม มาเป็นแกนหลักในการพัฒนา  สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน  จนได้รับรางวัลต่างๆ และยังมีท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมากที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวถึง  ปัจจัยที่เอื้อต่อการตั้งพรรคการเมืองที่เห็นเด่นชัด ได้แก่

        ๑. นักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ต่างก็เป็นฐานเสียง  หรือสนับสนุนนักการเมืองระดับชาติอยู่แล้ว  ทำให้ได้สัมผัส เรียนรู้เทคนิค วิธีการ  กลยุทธ รู้จุดดี จุดด้อย  ข้อควรแก้ไขปรับปรุง

        ๒. บุคลากรมีความพร้อม  ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างมีประสบการณ์ในการหาเสียง  การบริหารจัดการ  งานมวลชน

        ๓. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่างสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ปัจจุบันได้สถาปนาตนเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนท้องถิ่นในทุกด้าน  และมีบุคลากรหรือข้าราชการประจำที่พร้อมสำหรับการบริการประชาชน  ทำให้มีฐานเสียงในเบื้องต้นอยู่แล้ว

        ๔. มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง  จะเห็นว่ามีการรวมกลุ่มกันในลักษณะต่างๆ เช่น  สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย, สมาคมข้าราชการและพนักงานจ้างแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ฯลฯ   ถ้าเราสร้างความร่วมมือกับกลุ่ม องค์กร ที่มีอยู่แล้วจะทำให้พรรคการเมืองท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่

        นายกฯ สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ว่า  ให้ดูตัวอย่างพรรครักประเทศไทยของคุณชูวิทย์  กมลวิศิษฎ์  ที่ได้คะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อถึง  ๙๙๘,๖๐๓ คะแนน   ทำให้ได้ ส.ส. ๔ คน (คะแนนรวมระบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมือง หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ ๑๒๕ คน จะได้ ส.ส. ๑ คน) ทั้งๆ ที่พรรคไม่ได้มีฐานเสียงที่กว้างขว้าง ขายเพียงนโยบาย ความดุเด็ดเผ็ดมัน ความแปลกของหัวหน้าพรรคเท่านั้น

        พรรคของคนท้องถิ่นก็เช่นกัน  โดยในเบื้องต้นส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเฉพาะบัญชีรายชื่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ณ วันที่ ๒๐ มิ.ย. ๒๕๕๔)  มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น ๗,๘๕๓ แห่ง (องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๗๖ แห่ง,เทศบาล ๒,๐๑๐ แห่ง(เทศบาลนคร ๒๗ แห่ง,เทศบาลเมือง ๑๔๕ แห่ง,เทศบาลตำบล ๑,๘๓๘ แห่ง), องค์การบริหารส่วนตำบล ๕,๗๖๕ แห่ง, รูปแบบพิเศษ ๒ (กรุงเทพฯ, พัทยา))  สมมุติตัวเลขง่ายๆ ที่ ๗,๐๐๐ แห่ง ขอคะแนนบัญชีรายชื่อแห่งละ ๕๐๐ คะแนน จะได้คะแนนรวม  ๓,๕๐๐,๐๐๐ คะแนน  คิดคำนวณอัตราส่วน ส.ส.ตามเกณฑ์ กกต.ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา  ๒๖๐,๑๙๓ คะแนนต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๑ คน  จะได้ ส.ส. จำนวน ๑๓ คน 

       มีแนวคิดจำนวนมากที่สนับสนุนความเป็นไปได้ในการตั้งพรรคท้องถิ่น  เช่น

       ทวีศักดิ์  ศรีทองกิติกูล  ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย มีแนวคิดว่า  “พลังขับเคลื่อนท้องถิ่นคือพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ต่อแต่นี้ไปผมขอเชิญชวนให้พวกเราจงมีจิตใจยึดมั่นต่อจิตสำนึกท้องถิ่น หรือ “Localism”  ร่วมกันผลักดันให้ชาวท้องถิ่นมีสำนึกรักท้องถิ่น เลิกแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ว่าจะเป็นปลัดหรือข้าราชการท้องถิ่นทุกตำแหน่ง นักการเมืองท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด  ขอให้พวกเรามีความรัก มีจิตสำนึกร่วมกันในการเป็นท้องถิ่น สร้างความเป็นท้องถิ่นนิยมให้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายว่าหากท้องถิ่นเข้มแข็งเมื่อใดประเทศไทยก็เข้มแข็งเมื่อนั้น...”(http://www.samaphan-abt.org/)

       สมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย ประชุมกัน แล้วมีข้อเสนอให้ข้าราชการพนักงานท้องถิ่น และครอบครัวเกือบ ๒ ล้านคน ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งใหญ่ ให้ลงคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อให้พรรคที่ให้ความสนใจและมีนโยบายชัดเจนด้านการกระจายอำนาจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง แล้วจะร่วมกับสมาคมอื่นๆ เพื่อติดตามนโยบายทุกพรรคการเมืองเพื่อให้มีข้อสรุปจะเทคะแนนให้พรรคการเมืองใดที่มีความชัดเจนด้านการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น (มติชน ฉบับวันพุธที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔)  

       สังคมไทยไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจท้องถิ่น   เพียงแต่ไม่ได้ให้ความจริงใจ ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปฯ เพื่อปรับโครงสร้างอำนาจ  เสนอให้ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจท้องถิ่นที่อดีตนายกฯ อานันท์  ปันยารชุน เสนอไปยังพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรีแล้วแต่ก็เงียบไป 

       พรรคการเมืองไทยและการเมืองท้องถิ่นได้มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งมานาน การเมืองท้องถิ่นถือเป็นแหล่งทรัพยากรทางการเมืองที่สำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่จะต้องแสวงหาและครอบครอง ใช้การเมืองท้องถิ่นเป็นฐานอำนาจที่สำคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมือง  ถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองท้องถิ่นจะรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองของคนท้องถิ่นที่เป็นแบบมหาภาค   ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงเพราะท้องถิ่นครอบคลุมประชากรทุกตารางเซ็นติเมตรอยู่แล้ว

       ข้าราชการพนักงานท้องถิ่น และครอบครัวเกือบ ๒ ล้านคน  ทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและครอบครัวอีกเกือบ ๒ ล้านคน รวมกับเสียงประชาชนที่สนับสนุนเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ  เราคงมี ส.ส.ที่มาจากพรรคของคนท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน   

คนท้องถิ่นไม่ต้องโนโหวต  ไม่ต้องพูดถึงการยุบราชการส่วนภูมิภาค  ไม่ต้องกล่าวถึงการสลายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว  เป็นการผลักมิตรให้เป็นศัตรู และอาจจะถูกโจมตีกลับอย่างรุนแรง แต่ควรจะประสานไมตรีร่วมกันสถาปนาพรรคการเมืองเพื่อคนท้องถิ่นโดยแท้จริง  เมื่อใดที่ท้องถิ่นและท้องที่รวมตัวกันได้  เมื่อนั้นท้องถิ่นจะเข้มแข็ง  และจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยที่น่าสนใจยิ่ง

       สุเชษฐ์ คงดำ  ปลัด อบต.บางมะเดื่อ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี  ได้เขียนลงใน facebook ว่า “...ก่อนนอนคืนนี้ คิดสักนิดน่ะครับ หากว่าเรามีผู้แทนราษฎรสักคนหนึ่ง ประกาศว่าจะเป็น ส.ส.หรือผู้แทนของชาวท้องถิ่น...สมัยหน้าเราคงต้องตั้งพรรคการเมืองสักพรรคแล้วครับ ชื่อว่า พรรคท้องถิ่นไทย...จะดีไหมครับพี่น้องครับ” ขอตอบว่า  ดีแน่ และพรรคของคนท้องถิ่นมีแน่  เพียงแต่ว่าจะใช้ชื่ออะไรเท่านั้น.

(พรรคท้องถิ่นไทย, พรรคเพื่อท้องถิ่น, พรรคคนท้องถิ่น, พรรคท้องถิ่นก้าวไกล, พรรครักษ์ท้องถิ่น, พรรคเพื่อท้องถิ่น, พรรคพลังท้องถิ่น, พรรคท้องถิ่นพัฒนาเพื่อคนไทย, พรรคพลังคนท้องถิ่น ฯลฯ)

 

 

หมายเลขบันทึก: 478231เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทบาทอำนาจหน้าที่ของปลัดเทศบาล

31 กรกฎาคม 2554

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/451907

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท