พันธ์ข้าว


ชาตรี คำมี

 ข้าวไร่ คือข้าวที่ปลูกในที่ดอนน้ำไม่ขัง เช่นเดียวกับพืชไร่ พันธุ์ข้าวไร่ที่เป็นข้าวไร่จริงๆเมื่อนำไปปลูกในสภาพน้ำขังจะตายหรือไม่แตกกอ เช่น พันธุ์ข้าวสงาวปัน ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวไร่ทางภาคเหนือ ที่ ดร.ประกฤต ภมรจันทร์ ได้นำพันธุ์มาให้ผู้เขียนปลูก เมื่อเริ่มรับราชการที่สถานีทดลองข้าวบางเขนในปี 2505 แต่พันธุ์ข้าวไร่หลายพันธุ์ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพไร่และในสภาพน้ำขังเช่นพันธุ์หอมอ้ม หอมดง เหลืองหอม พันธุ์ข้าวไร่ที่ปลูกอยู่ในสภาพไร่ทั่วไป ไม่มีปัญหาอะไรเพราะนอกจากจะมีพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บพันธุ์ไว้ปลูกอยู่หลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ส่วนพันธุ์ข้าวไร่ที่มีปัญหาคือ พันธุ์ข้าวไร่ของชาวเขาที่ปลูกอยู่บนเขาสูงๆ ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 ถึง 800 เมตรหรือสูงกว่า 1,000 เมตร ในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน พื้นที่เหล่านี้มีอากาศหนาวเย็น พันธุ์ข้าวไร่ที่มีอยูซึ่งเป็นข้าวไร่ที่ปลูกบนเขาเหมือนกัน แต่ปลูกบนพื้นที่ไม่สูงมากจะขึ้นได้ไม่ดีเพราะสู้ความหนาวเย็นของอากาศไม่ไหว หรือไม่สามารถขึ้นได้หรือขึ้นได้แต่ให้ผลผลิตต่ำ
                 ความจริงพื้นที่บนเขาสูงไม่ใช่มีแต่พื้นที่ปลูกข้าวไร่ พื้นที่ราบที่ทำนาดำ ก็มีไม่น้อยกว่าพื้นที่ปลูกข้าวไร่ความต้องการพันธุ์ข้าวที่ปลูกในที่น้ำขัง ที่มีความทนทานต่อความหนาวเย็นจัดได้ดี เป็นที่ต้องการมากเพราะจำนวนประชากรชาวเขาได้เพิ่มมากขึ้น
                 ในขณะนี้แม้จะมีพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกอยู่ก็ให้ผลผลิตไม่สูง และยังไม่ทนทานต่ออากาศหนาวเย็นจัดได้ทำไมเราไม่ลองนำข้าวจากประเทศที่อยู่ในเขตอบอุ่นหรือประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นอย่างประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เนปาล ฝรั่งเศษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา มาทดลองปลูกคัดพันธุ์ในพื้นที่เหล่านี้ ผู้เขียนมั่นใจว่าจะต้องมีพันธุ์จากประเทศเหล่านี้ขึ้นได้ดีในพื้นที่เขาสูงในประเทศไทย สถานีทดลองข้าวปางมะผ้าที่อยู่บนเขาสูงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสถานีทดลองข้าวสะเมิงที่อยู่บนเขาสูงจังหวัดเชียงใหม่ น่าจะเป็นสถานีทดลองคัดพันธุ์ครั้งแรกก่อนที่จะเอาพันธุ์ไปทดสอบในพื้นที่จริง ใขณะเดียวกันก็ทำการผสมพันธุ์ไปด้วย โดยเอาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกอยู่มาผสมกับพันธุ์ข้าวจากประเทศเหล่านี้ ถึงแม้ข้าวบนเขาจะปลูกไว้บริโภค ไม่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศแต่ความมั่นคงของประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้
 

ประวัติ        

 ข้าวไร่พันธุ์เจ้าลีซอสันป่าตองเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง คัดได้จากการเก็บรวบรวมพันธุ์จากอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2522 โดยเจ้าหน้าที่การเกษตร สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง ปี พ.ศ. 2523นำมาปลูกคัดเลือกรวงต่อแถวที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง ปี พ.ศ. 2524– 2529 ปลูกรักษาพันธุ์ ที่สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า ปี พ.ศ. 2530 – 2533 ปลูกศึกษาพันธุ์และปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ปี พ.ศ. 2533 ที่สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีในปี พ.ศ. 2535 – 2537 ที่สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า และวิเคราะห์คุณสมบัติของเมล็ดทางกายภาพและเคมีที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในแปลงเกษตรกรในปี พ.ศ. 2537 – 2545 ที่จังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่ และ แม่ฮ่องสอน ได้รับการรับรองให้เป็นพันธุ์แนะนำจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2547


ลักษณะเด่นของพันธุ์       

  ข้าวเจ้าลีซอสันป่าตองเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ในที่ราบและที่สูง ระดับไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 391 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เจ้าฮ่อ ร้อยละ 13 ต้านทานต่อโรคไหม้ คุณภาพการสีดี ให้เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวและข้าวเต็มเมล็ดดีกว่าข้าวไร่พันธุ์เจ้าฮ่อประมาณร้อยละ 6 แต่ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดหลังขาว

  ลักษณะประจำพันธุ์        

ทรงกอ ตั้งตรง ปล้อง กาบใบ ใบ มีสีเขียว ใบมีขน ลักษณะใบธง ตั้งตรง ไม่ล้มง่าย ความสูงประมาณ 145 เซนติเมตร รวงยาวเฉลี่ยประมาณ 24 เซนติเมตร ระแง้ถี่ รวงแน่น การยืดของคอรวงสั้น สีของยอดเมล็ดและเปลือกเมล็ดสีฟาง มีขนบนเปลือกเมล็ด กลีบรองดอกยาว สีของกลีบรองดอกสีฟาง เมล็ดข้าวเปลือกยาว 10.03 มิลลิเมตร กว้าง 3.12 มิลลิเมตร หนา 2.41 มิลลิเมตร รูปร่างของเมล็ดข้าวกล้องยาว 7.26 มิลลิเมตร กว้าง 2.87 มิลลิเมตร และหนา 1.94 มิลลิเมตร จำนวนรวงเฉลี่ย 135 รวงต่อตารางเมตร จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 151 เมล็ด น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 34.5 กรัม เมล็ดมีระยะพักตัวประมาณ 4 สัปดาห์ ออกดอกประมาณวันที่ 16 กันยายน ปริมาณอมิโลส 16.07 % อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ

 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าวไร่
หมายเลขบันทึก: 478019เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2012 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท