เก็บมาบอก ลอกจากInternet


ข่าวด่วน เรื่องเด่น

จีดีพี ไตรมาส 1/48 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 5.3 โดยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง สึนามิ และราคาน้ำมันสูงขึ้น

 
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2548 ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเรื่อง “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1/2548” ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่แล้ว และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/47 ร้อยละ 0.6 ทั้งนี้เป็นผลมาจากภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ธรณีพิบัติภัยใน 6 จังหวัดอันดามัน และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เลขาธิการฯ กล่าวว่า ภาวะการผลิตโดยรวมชะลอตัว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ลดลงร้อยละ 8.2 หมวดพืชผลลดลงร้อยละ 16.7 เนื่องจากประสบภาวะแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ทำให้ผลผลิตเกษตรหลักๆ ลดลง ขณะที่หมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 24.0 จากผลผลิตไก่เนื้อและไข่ไก่เพิ่มขึ้น และสามารถส่งออกเนื้อไก่ต้มสุกได้ ส่วนหมวดประมงชะลอลงเหลือร้อยละ 8.4 ตามภาวะการส่งออกกุ้งที่ลดลงจากปัญหาการตอบโต้การทุ่มตลาดจากสหรัฐอเมริกา แม้ว่าปริมาณผลผลิตจะลดลง แต่ระดับรายได้ของเกษตรกรยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากราคาผลผลิตเกษตรโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ทำให้จีดีพีภาคเกษตรไตรมาส 1/48 ณ ราคาปัจจุบัน ขยายตัวได้ร้อยละ 1.4

ส่วนภาคนอกเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 6.5 ในไตรมาสที่แล้ว โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลงร้อยละ 2.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการบริการโรงแรมลดลงร้อยละ 7.4 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงร้อยละ 7.1 โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ขณะเดียวกัน สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอลงจากร้อยละ 7.6 เป็นการชะลอตัวลงทั้งอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี

ขณะเดียวกัน สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 13.3 ชะลอจากร้อยละ 22.2 เป็นผลมาจากการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนชะลอตัวลง สาขาคมนาคมขนส่งก็ชะลอการขยายตัวจากไตรมาสที่แล้วเหลือร้อยละ 4.9 เนื่องจากการขนส่งสินค้าและการขนส่งทางอากาศหดตัวลง ขณะที่บริการโทรคมนาคมขยายตัวสูงกว่าไตรมาสก่อน และสาขาค้าส่งค้าปลีกชะลอตัวลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 2.8 เป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งที่มีความรุนแรง และราคาน้ำมันในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมในประเทศชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม สาขาที่มีการขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ สาขาไฟฟ้า ประปา และโรงแยกก๊าซ ขยายตัวร้อยละ 8.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อน สาขาการเงินและการธนาคารขยายตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 17.2 เนื่องจากผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ยังคงดีขึ้น และสาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 5.1 เป็นผลมาจากการบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา และการบริการสาธารณสุข

เลขาธิการฯ กล่าวถึงการใช้จ่ายว่า การใช้จ่ายในประเทศ ยังคงขยายตัวทั้งการใช้จ่ายของรัฐบาล การบริโภคของครัวเรือน และการลงทุน โดยการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 16.0เนื่องจากการปรับเงินเดือนและเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ และค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง การลงทุนมีการขยายตัวร้อยละ 14.8 เทียบกับร้อยละ 16.2 ในไตรมาสที่แล้ว โดยมีปัจจัยหลักมาจากภาคเอกชนชะลอการลงทุนด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่ภาครัฐขยายตัว 29.2 สูงกว่าไตรมาสที่แล้วเล็กน้อย เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือและด้านก่อสร้างของรัฐบาล และการใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.5 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.4 โดยมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่สำคัญคือ ผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยใน 6 จังหวัดภาคใต้ต่อการท่องเที่ยว การหยุดจัดงานฉลองปีใหม่ตอนต้นปี การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนลดลงโดยเฉพาะรถยนต์ ประกอบกับภาวะภัยแล้ง และแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้ว่ารายได้ภาคเกษตรยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีก็ตาม

ด้านการส่งออกสุทธิ มูลค่าการส่งออกสุทธิสินค้าและบริการในราคาปีฐานยังคงลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 47.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากการนำเข้าขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 10.8 จากการนำเข้าสินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบ และสินค้าทุน รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของคนไทยในต่างประเทศขยายตัวสูงขึ้น ประกอบกับการส่งออกและบริการลดลงร้อยละ 0.1 เป็นผลมาจากภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก และปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวชะลอลง ทำให้ขาดดุลการค้า 124,500 ล้านบาท นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ภายหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 61,496 ล้านบาท ซึ่งค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 38.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคชะลอลงเหลือร้อยละ 2.8

เลขาธิการฯ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2548 ว่า ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2547 โดยมีปัจจัยบวกด้านราคาและมูลค่าสินค้าส่งออกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มขยายตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเพิ่มขึ้น บรรยากาศและเงื่อนไขด้านการลงทุนที่แสดงว่าการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มดี และค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยมีสมมติฐานว่า เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 3.4 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยบาเรลละ 44 ดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาส่งออกและนำเข้าสินค้าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 และ 13.0 ตามลำดับ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5-5.5 โดยมีความน่าจะเป็นร้อยละ 86.1

ดร.อำพน กล่าวในตอนท้ายว่า กรณีที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.5 จะต้องกระตุ้นการส่งออกให้ขยายตัวประมาณร้อยละ 18 ในสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้าต่ำ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 200,000 คน เร่งรัดการเบิกจ่ายงบกลางประจำปีงบประมาณ 2548 รวม 50,000 ล้านบาท และเบิกจ่ายงบปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม และค่าใช้จ่ายในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันที่ค้างจ่ายอีกประมาณ 48,471 ล้านบาท ส่วนกรณีขยายตัวในกรณีต่ำร้อยละ 4.5 จะมีโอกาสเป็นไปได้ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบหรือโอมานอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรล อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าร้อยละ 4
บันทึกโดย : นายชุมพล  ขวัญนาค
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 478เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2005 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท