เสนอแนะทางเลือกการประเมินเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยอาศัยภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น แทนการเขียนผลงานทางวิชาการ(ตอนที่ 4)


        เมื่อเร็วๆนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเลื่อนวิทยฐานะขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งคือ  การประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ สำหรับผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์  ที่เรียกกันว่า หลักเกณฑ์ ว.5  ออกในปี พ.ศ. 2554  ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสอีกทางหนึ่งให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลงานเชิงประจักษ์ และไม่ชอบการเขียนผลงานทางวิชาการ ได้นำเสนอผลงานเพื่อรับการประเมิน แทนการเขียนผลงานทางวิชาการแบบวิธีแรก
           ระยะแรกก็เปิดโอกาสให้เฉพาะวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญก่อน  โดยอาจจะยังมีจำนวนจำกัด  จึงเปิดโอกาสให้เฉพาะผู้มีผลงานที่ได้รับรางวัลในระดับชาติขึ้นไปก่อน ซึ่งก็จะต้องตีความกันต่อไปอีกว่า  รางวัลระดับชาติที่ว่าคืออะไรบ้าง  เพราะที่ผ่านมามีหน่วยงานที่ให้รางวัลระดับชาติแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษามากมาย  วิธีการนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้อื่นที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินสามารถคัดค้านได้ด้วย  ส่วนผู้ที่ทำความดีอันยิ่งใหญ่ยาวนาน โดยไม่เสนอตัวขอรับรางวัลใดใด  ซึ่งยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก  ก็คงจะต้องเปิดโอกาสให้แก่บุคคลกลุ่มนี้ในโอกาสต่อไปด้วย ซึ่งนับเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง
               ตอนผมไปร่วมพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตามแนวทางนี้  มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านพูดกันว่า การประเมินแนวทางนี้เราเคยใช้กันมาก่อนแล้ว คือการประเมินครูสังคม  ทองมี ที่มีผลงานด้านศิลปะโด่งดังไปทั่วโลก  ผมจึงได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปว่า  กรณีของครูสังคม ทองมี เป็นการประเมินโดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินแบบแรก ที่ต้องเขียนผลงานทางวิชาการ  เพราะในหลักเกณฑ์ระบุว่าผู้เสนอขออาจเป็นเจ้าตัวหรือหน่วยงานเสนอขอให้ก็ได้  ดังนั้นกรณีครูสังคม ทองมี นี้จึงเป็นกรณีพิเศษที่ในอดีตมีเพียงคนเดียวและครั้งเดียวเท่านั้น ที่หน่วยงาน(กรม)เป็นผู้เสนอให้(เขียนผลงานวิชาการให้) และผู้ที่ถูกหน่วยงาน(กรม)สั่งให้เขียนให้ก็คือคณะศึกษานิเทศก์เพื่อนพ้องน้องพี่ของผมในขณะนั้นนั่นเอง
                  กล่าวโดยสรุป  หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินให้เลื่อนวิทยฐานะที่ปรากฏในขณะนี้  มีทางเลือก 2 ทางเท่านั้น  คือ  ประเมินจากการเขียนผลงานทางวิชาการ ตาม ว.17/2552  และ ประเมินจากผลงานเชิงประจักษ์  ตาม ว.5/2554  ดังนั้นผมจึงขอนำเสนอทางเลือกให้พิจารณาอีก 1 ทางเลือก ที่ได้เกริ่นไว้แต่ต้น  คือ การประเมินเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยอาศัยภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นแทนการเขียนผลงานทางวิชาการ
         
(โปรดติดตามบันทึกตอนต่อไป)
                       


หมายเลขบันทึก: 477768เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2012 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท