การสอนว่ายน้ำเด็ก


สอนว่ายน้ำเด็ก

การสอนว่ายน้ำเด็ก

การสอนว่ายน้ำส่วนใหญ่สำหรับเด็ก ๆ ที่เพิ่งจะหัดว่ายน้ำใหม่ ๆ ในช่วง 10 ปีนี้ จะแตกต่างจากการสอนในช่วงก่อนหน้านั้นมากครับ เท่าที่ยังจำได้ ปัจจุบันการสอนเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการผลักดันให้ความสามารถของเด็กออกมามากกว่า บังคับให้ทำได้ทั้งนี้จะทำให้เด็ก ๆ เกิดความสุขสนุกสนานมากขึ้น อีกทั้งพื้นฐานและระดับของการพัฒนาของเด็กแต่ละคนเป็นไปอย่างมีอัตราไม่เท่ากัน             ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่มีส่วนช่วยเป็นผู้ที่ยับยั้งหรือผลักดันความสามารถในการเรียนเป็นอันมาก จากประสบการณ์พบว่าเด็ก ๆ  ที่คล่องแคล่วในสังคมเพื่อน ๆ กล้าคิด และทำอะไรด้วยตัวเองมาก ๆ มีความคิดเป็นของตัวเอง  มั่นใจในหลาย ๆ เรื่องมีเหตุผล ก็จะเรียนรู้ในวิชาว่ายน้ำได้ง่ายมาก  ผิดกับเด็ก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทำอะไรให้ทุกอย่าง     " โอ๋ "  มากเกินไป  การเรียนว่ายน้ำก็จะมีอัตราการพัฒนาได้ไม่ดีนัก
Class สอนว่ายน้ำ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ฝึกทักษะพื้นฐานการว่ายน้ำ  แบ่งออกเป็น  ๖ ทักษะ ดังนี้

๑.       การสร้างความคุ้นเคยกับน้อง

สำหรับผู้ที่ยังว่ายน้ำไม่เป็นและไม่คุ้นเคยกับสระว่ายน้ำมาก่อน ควรสร้างความคุ้นเคยกับน้ำก่อน คือ ให้นั่งที่ขอบสระใช้มือกวักน้ำขึ้นมาลูบแขน ลูบหน้า ลำตัว เพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกายกับน้ำ ต่อจากนั้นให้นั่งที่ขอบสระหรือบันได เหยียดเท้า หรือเอาเท้าจุ่มลงไปในน้ำ แกว่งไปมาเตะสลับขึ้นลง จะช้าบ้างเร็วบ้างสลับกันไปตามความเหมาะสม

๒.     การหายใจเข้าออกและลืมตาในน้ำ

เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับน้ำ ไม่รู้สึกกลัว ให้ลงน้ำยืนด้านน้ำตื้น ฝึกการหายใจเข้าและหายใจออก (Inhale and Exhale) โดยปฏิบัติดังนี้

๑) ใช้มือทั้งสองข้างจับขอบสระ ลืมตา หายใจเข้าลึกๆ กลั้นหายใจ แล้วค่อยๆ ย่อตัวลงไปในน้ำให้ศีรษะจมมิดลงในน้ำ กลั้นหายใจไว้ นับ ๑-๕ แล้วจึงยกศีรษะขึ้นจากน้ำ

๒) อ้าปากหายใจเข้าทางปาก (ไม่หายใจเข้าทางจมูกเพราะน้ำที่ยังค้างอยู่ตามใบหน้าจะไหลเข้าจมูก ทำให้สำลักน้ำได้) โดยไม่เอามือมาลูบหน้า ส่ายศีรษะหรือสะบัดผม ทำติดต่อกัน ๑๐-๑๕ ครั้ง

๓) เมื่อชำนาญอาจใช้วิธีปล่อยลมออกทางจมูก ขณะที่ดำน้ำ และเพิ่มระยะเวลาในการกลั้นหายใจในน้ำ โดยนับ ๑-๑๐ ๑-๒๐ หรือ ๑-๓๐ แล้วจึงยกศีรษะขึ้นจากน้ำรีบอ้าปากหายใจเข้าลึกๆ เร็วๆ

๓. การลอยตัว (Floating)

เมื่อมีความมั่นใจ สามารถหายใจเข้าออก และลืมตาในน้ำได้แล้ว ขั้นต่อไปเป็นการฝึกลอยตัว เพื่อให้รู้จักการทรงตัวและส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการฝึก ซึ่งสามารถลอยตัวได้หลายวิธีดังนี้

) แบบแมงกะพรุนหรือแบบเต่า (Ball Float and Jelly Fish Float)

ยืนเท้าแยกห่างกันเท่ากับช่วงไหล่ ก้มหน้า ศีรษะ ลำตัวอยู่ใต้ระดับน้ำ แล้วยกขาขวาและขาซ้ายงอเข่าขึ้นมา มือทั้งสองค่อยๆ เลื่อนลงไปกอดขาใต้เข่า ขาท่อนบนชิดหน้าอก ก้มหน้าคางชิดเข่า หายใจออกทางปาก อยู่ใต้ระดับน้ำให้นาน ๑๐-๑๕ วินาที เมื่ออยู่ในท่านี้แล้วร่างกายจะค่อยๆ ลอยขึ้นจนส่วนกลางของหลังลอยอยู่ในระดับผิวน้ำ

) แบบคว่ำหน้า (Prone Float)

วิธีที่ ๑ เริ่มต้นจากลอยตัวแบบแมงกะพรุน แล้วค่อยๆ เหยียดแขนชิดหู เหยียดขาชิด และลำตัวให้อยู่ในระดับเดียวกัน ขนานกับผิวน้ำ ก้มหน้าหายใจออกทางปาก

วิธีที่ ๒ เริ่มจากการยืนแล้วยกแขนชิดหู สูดลมหายใจเข้าแล้วค่อยๆ ก้มตัว ยกแขนเหยียดไปข้างหน้าลงสู่ระดับผิวน้ำ พร้อมกับยกขาเหยียดไปด้านหลัง แขนขา ลำตัวขนานกับผิวน้ำ หายใจออกทางปากอยู่ในน้ำให้นาน ๑๐-๑๕ วินาที

) แบบนอนหงาย (Back Float)

วิธีที่ ๑ ฝึกในระดับน้ำตื้นโดยเริ่มจากท่านั่งลงกับพื้นสระให้น้ำอยู่ที่ระดับคางแหงนหน้าขึ้นให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเท่านั้น เอามือทั้งสองข้าง ยันพื้นสระไว้ข้างหลัง ค่อยๆ พยายามยกเท้าและสะโพกขึ้น จนกระทั่งขนานกับพื้นแล้วค่อยๆ ปล่อยมือที่ยันพื้นสระไว้ กางแขนออกให้ขนานในระดับไหล่ (ถ้าจะจมให้ใช้ขาและแขนตีน้ำเบาๆ)

วิธีที่ ๒ เมื่อฝึกที่ระดับน้ำตื้นจนชำนาญแล้วอาจลงไปฝึกในระดับน้ำที่ลึกขึ้น โดยเริ่มจากท่ายืน แล้วค่อยๆ เอนหลังลงโดยที่เท้าทั้งสองยังคงอยู่ที่ก้นสระ ใช้มือช่วยพุ้ยน้ำเพื่อช่วยทรงตัว กางแขนออกแล้วค่อยๆ แอ่นอกและยกเท้าขึ้น โดยให้ปลายเท้าแตะพื้นไว้เท่านั้น ยกสะโพกขึ้น แขนไม่เกร็ง ให้ปลายเท้าแตะพื้นสระเพียงเบาๆ แล้วยกให้พ้นขึ้นมา

๔. การโผ

วิธีที่ ๑ การโผตัวแบบไม่เตะขา

๑)      ยืนชิดขอบสระ แยกเท้าพอประมาณ แขนปล่อยข้างลำตัว

๒)      ยกแขนทั้งสองเหยียดขึ้นตรงชิดใบหู โดยใช้นิ้วหัวแม่มือเกี่ยวกันไว้ คว่ำฝ่ามือลง งอเข่าขวาถีบผนังสระไว้

๓)      หายใจเข้าลึกๆ

๔)      ค่อยๆ ก้มตัวลง ให้หน้าอยู่ในน้ำ สายตาจ้องมองไปข้างหน้า

๕)      พุ่งตัวไปข้างหน้าโดยอาศัยแรงส่งจากการถีบเท้าขวาออกจากผนังขอบสระ โดยที่ลำตัว แขน ขา เหยียดตรง ขนานไปกับผิวน้ำ ปล่อยตัวตามสบาย

๖)      เมื่อหมดแรงส่งแล้ว ใช้ฝ่ามือทั้งสองกดน้ำลง พร้อมกับพับเอว และดึงขาทั้งสองเข้าหาลำตัว จากนั้นจึงกลับสู่ท่ายืน

วิธีที่ ๒ การโผตัวแบบเตะขา

มีวิธีการฝึกเช่นเดียวกับวิธีการโผตัวแบบไม่เตะขา แต่หลังจากพุ่งตัวออกไปแล้ว ต้องเตะขาสลับขึ้นลง ลำตัว แขน และขาจะขนานไปกับผิวน้ำ

๕. การเตะขา

การเตะขามีขั้นตอนในการฝึกดังนี้

ขั้นที่ ๑  นั่งเตะขาบริเวณขอบสระ นั่งที่ขอบสระ เอนตัวไปด้านหลังใช้แขนยันพื้นด้านหลังไว้ ขาทั้งสองข้างเหยียดลงไปในน้ำ ปลายเท้างุ้ม นิ้วเท้าเหยียดออก นิ้วหัวแม่เท้าหันเข้าหากัน ปล่อยตามสบายให้เป็นธรรมชาติ เตะขาขึ้นลงสลับกันด้วยความเร็วสม่ำเสมอ

ขั้นที่ ๒  นอนคว่ำที่ขอบสระบนบกเตะขาในน้ำ เปลี่ยนจากการนั่งเป็นนอนคว่ำที่ขอบสระบนบก เตะขาสลับขึ้นลงเช่นเดียวกับขั้นที่ ๑

ขั้นที่ ๓  นอนคว่ำเตะขาในน้ำ เกาะขอบสระลอยตัวในน้ำ ให้ก้มหน้าอยู่ในน้ำ พร้อมหายใจออกทางปาก เมื่อจะหายใจเข้าก็ให้ยกศีรษะขึ้นเหนือน้ำ หายใจเข้าทางปากแล้วรีบก้มหน้าลงน้ำ เตะขาสลับขึ้นลงเช่นเดียวกับขั้นที่ ๑

ขั้นที่ ๔  ยืนในน้ำ ชิดขอบสระ ยกแขนซ้ายและแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะ นิ้วหัวแม่มือเกี่ยวกันไว้ ฝ่ามือคว่ำลงสูดหายใจเข้าให้เต็มที่แล้วก้มหน้าตัวลง หน้าอยู่ในน้ำใช้ขาถีบขอบสระหรือพื้นสระ พุ่งตัวไปข้างหน้า เท้าทั้งสองเตะสลับขึ้นลง ไม่เกร็งปล่อยตามสบาย หน้ามองตรงไปข้างหน้าพร้อมกับหายใจออกทางปาก เมื่อหมดอากาศให้ยืนขึ้น

ขั้นที่ ๕  ฝึกเช่นเดียวกับขั้นที่ ๔ แต่เปลี่ยนจากการหยุดยืนขึ้นหายใจเข้า เป็นกดมือลงยกศีรษะขึ้นหายใจเข้า และยังคงเตะขาสลับขึ้นลงอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก

ขั้นที่ ๖  จับคู่จูงบริเวณน้ำตื้นที่ยืนถึง โดยให้ผู้ฝึกและผู้ช่วยฝึกยืนหันหน้าเข้าหากัน ผู้ช่วยฝึกเหยียดแขนทั้งสองไปข้างหน้า หงายฝ่ามือขึ้นงอนิ้วมือ ส่วนผู้ฝึกเตะขาเหยียดแขนตึงไปข้างหน้า คว่ำมือลงเกาะมือผู้ช่วยฝึก เมื่อผู้ฝึกเตะขาพร้อมผู้ช่วยฝึกก็เดินถอยหลัง ผู้ฝึกเหยียดขาลอยตัวขึ้น เตะขาสลับขึ้นลง ลากจูงเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ขั้นที่ ๗ การเตะขาแบบเคลื่อนที่ เมื่อสามารถฝึกเตะขาได้ตามทักษะแล้ว ให้นำทักษะการเตะขารวมการทักษะการนอนคว่ำหน้าพุ่งตัวลอยน้ำ โดยเริ่มจากพุ่งตัวออกจากผนังสระให้ลำตัวเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เมื่อความเร็วในถีบเท้าพุ่งตัวเริ่มลดลง ให้เตะขาขึ้น-ลงส่งให้ลำตัวเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยก้มศีรษะให้แขนทั้งสองข้างอยู่ชิดกับใบหูสายตาชำเลืองมองไปข้างหน้าเล็กน้อย

๖. การเลี้ยงตัวในน้ำ

การเลี้ยงตัวในน้ำ คือ การพยุงตัวให้อยู่ในน้ำได้ โดยการเคลื่อนไหวแขนและขา ซึ่งมีทั้งการเลี้ยงตัวในแนวดิ่งและแนวราบขนานกับผิวน้ำ ซึ่งเหมือนกับการว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์ แต่ให้ใช้มืออยู่ใต้น้ำไม่ยกพ้นน้ำและศีรษะไม่จมน้ำ

ประโยชน์ของการเลี้ยงตัวในน้ำ

๑)     เมื่อเกิดอาการตะคริวที่แขนหรือขา

๒)    เมื่อรู้สึกเหนื่อยเมื่อยล้าจาการว่ายน้ำต้องการพักแขนหรือขา

๓)    เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ เช่น เรือล่มหรือตกน้ำ

๔)    เมื่อต้องการจะถอดเสื้อผ้าหรือรองเท้า ขณะอยู่ในน้ำ

๕)    ใช้ในการช่วยคนตกน้ำ

๖)     ใช้กับกีฬาทางน้ำบางประเภท เช่น โปโลน้ำ สกีน้ำ

ลักษณะการเคลื่อนไหวของขาและแขน

๑)     การเคลื่อนไหวของขา มีด้วยกัน ๓ วิธี

วิธีที่ ๑  ใช้เท้าเตะน้ำทั้งสองข้าง โดยโยกไปมาทางด้านหน้าและหลังในแบบกรรไกร

วิธีที่ ๒  ใช้ขาเคลื่อนไหวแบบการว่ายน้ำขากบ ลักษณะถีบเท้า ตบเท้า เข้าหากันอยู่ตลอดเวลา

วิธีที่ ๓  เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมกันนัก คือ การเคลื่อนไหวเท้าแบการวิ่งยกเข่าสูง ถีบน้ำอยู่ตลอดเวลา

๒)    การเคลื่อนไหวของแขน

วิธีที่ ๑  การรวบแขนเข้าออก คือ กางแขนออกงอตรงข้อศอกเล็กน้อย ให้แขนขนานกับผิวน้ำ เหวี่ยงแขนเป็นวงกลมไปมาอยู่ใต้น้ำ กดแขนให้ลึกกว่าระดับอก ฝ่ามือคว่ำลงเพื่อกดน้ำให้ตัวลอยอยู่

วิธีที่ ๒  งอแขนที่ข้อศอกแล้วกดน้ำขึ้นลง เพื่อสลับกันแบบสุนัขตกน้ำ ให้กดฝ่ามือขึ้นลงช้าๆ ลึกๆ ลักษณะของนิ้วมือเรียงชิดติดกัน เงยหน้าพ้นน้ำ มือสลับกันเป็นรูปวงรีไม่เหวี่ยงออกไปด้านข้าง ดึงน้ำให้มือไปแค่ระดับอก อีกมือสอดใต้น้ำไปทางด้านหน้าสลับกันไปมาให้ตลอดเวลา

หมายเลขบันทึก: 477466เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2012 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท