ออกคำสั่งย้อนหลัง, การโอนไป อปท., คุณสมบัติ ครูชำนาญการ-พิเศษ ผอ. ศน., การสอนเสริม, เบิกค่าเข้าค่าย


เลขที่คำสั่งต้องเรียงลำดับตามวันที่ออกคำสั่ง, ขั้นตอนการโอนไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครหรือทำ ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์, หลักเกณฑ์การสอนเสริม, พา นศ.ไปเข้าค่าย เบิกค่าอะไรได้บ้าง

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 6 เรื่อง ดังนี้

 

         1. วันที่ 26 ม.ค.55  นายนาวี ครูผู้ช่วย กศน.เขตป้อมปราบฯ  ถามในเฟซบุ๊คผม ว่า   การออกเลขคำสั่งสามารถออกย้อนหลังได้ไหม ถ้าออกได้ไม่เกินกี่วัน

             ผมตอบว่า   การออกคำสั่ง ( เลขที่ วันที่ ) ให้ออกในวันที่ผู้ออกคำสั่งลงนามในคำสั่ง ไม่มีระเบียบให้ออกย้อนหลัง
             ในทางปฏิบัติ ถ้าจำเป็นต้องออกย้อนหลังก็ต้องไม่ย้อนหลังไปก่อนวันที่ของคำสั่งเก่าที่เคยออกไปก่อนนั้น เช่น คำสั่งฉบับก่อนของหน่วยงานนั้นคือ เลขที่ 101 ออกเมื่อวันที่ 15 ม.ค.55  ส่วนตอนนี้วันที่ 26 ม.ค.55 แล้ว จะออกคำสั่งฉบับใหม่ย้อนหลัง เป็นคำสั่งเลขที่ 102 ก็จะย้อนหลังไปออกก่อนวันที่ 15 ม.ค.55 ไม่ได้  ( เลขที่คำสั่งต้องเรียงลำดับตามวันที่ออกคำสั่ง คือ คำสั่งเลขที่หลัง จะลงวันที่ก่อนคำสั่งเลขที่ก่อน ไม่ได้  วันเดียวกันได้ )
             ถ้าจะย้อนหลังไปก่อนนั้น ต้องแก้ทะเบียนคำสั่งและเลขที่คำสั่งเก่าด้วย ( ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูก  ถ้าเป็นเรื่องทุจริตและมีผู้ร้องเรียนตรวจสอบพบ ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ )

 

         2. วันที่ 27 ม.ค.55  ผมไปเป็นวิทยากรการอบรมบุคลากร กศน.อ.อุทัย เรื่องการทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างง่าย ๆ สำหรับครู กศน. ( วิจัยหน้าเดียว ) โดยเป็นวิทยากรคนเดียวทั้งวัน

 

         3. วันที่ 30 ม.ค.55  คุณนาวี ครูผู้ช่วย กศน.เขตป้อมปราบฯ  ถามผมทางเฟซบุ๊คอีก เรื่อง หลักเกณฑ์ ของ กคศ.ในการเปลี่ยนวิทยาฐานะ จากครู เป็นครูชำนาญการ และจากครูชำนาญจะเป็นครูชำนาญการพิเศษ หรือเกณฑ์การเปลี่ยนเป็นสายผู้บริหาร หรือศึกษานิเทศก์ มีหลักเกณฑ์ยังไงบ้าง ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไร

             ผมตอบว่า   ถามหลายประเด็นจัง มันมีรายละเอียดมาก ถ้าจะตอบจริง ๆ จะหลายหน้ากระดาษ ขอตอบเพียงคร่าว ๆ ( ที่จริงก็เคยตอบในบล็อกผมแล้ว แต่นำมารวมไว้อีกก็ดี )

             3.1  สายงานการสอน ( ตั้งแต่ 1 ต.ค.52 เป็นต้นมา ตอนยื่นขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ หรือครูชำนาญการพิเศษ ไม่ได้กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำ และไม่ได้กำหนดเดือนที่ให้ยื่น คุณสมบัติครบวันไหนก็ยื่นได้ตลอด )
                    3.1.1  ครูชำนาญการ
                              ผู้ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการ ต้องมีคุณสมบัติ ต่อไปนี้
                              1) ดำรงตำแหน่งครูมาแล้วไม่น้อยกว่า
                                    - 6 ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรี
                                    - 4 ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาโททางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด
                                    - 2 ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาเอกทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด    นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
                                   ( ครูผู้ช่วยที่บรรจุหลังวันที่ 20 ก.พ.51 ไม่นับรวมช่วงเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี นับเฉพาะช่วงเป็นครู คศ.1 ) ( ถ้าอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา กับอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ให้ลดเวลาลงครึ่งหนึ่ง เพราะนับอายุราชการทวีคูณ )
                                   หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ. เทียบเท่า คือ
                                    - ตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 6 กี่ปีก็ได้
                                    - ตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 5 ไม่น้อยกว่า 8 ปี ( ไม่รวมตำแหน่งครู )
                                    - ตำแหน่งอาจารย์ 1 ที่ต่ำกว่าระดับ 6 รวมกับตำแหน่งครู ครบ 8 ปี ( กรณีนี้ต้องขออนุมัติ ก.ค.ศ.เฉพาะราย )
                                    - กรณีเทียบประสบการณ์ ( มีชั่วโมงสอนไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง/สัปดาห์ ) ต้องเป็นครูมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และเมื่อรวมกับเคยเป็นอาจารย์ 1 ระดับใดก็ได้ รวมเป็น 6 ปี สำหรับปริญญาตรี  4 ปี สำหรับปริญญาโท  2 ปี สำหรับปริญญาเอก
                              2)  มีภาระงานสอนไม่ต่ำกว่าภาระงานขั้นต่ำตามที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ. ( สำหรับ กศน. คือ มีชั่วโมงสอนตามตารางสอน+ภาะระงานที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนการสอน+ภาระงาน การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยเฉพาะชั่วโมงสอนตามตารางสอนไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง/สัปดาห์ )
                              3)  ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้ เรียนย้อนหลัง 2 ปีติดต่อกัน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ

 

                    3.1.2  ครูชำนาญการพิเศษ
                              ผู้ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ต้องมีคุณสมบัติ ต่อไปนี้

                              1)  ดำรงตำแหน่งครูที่มีวิทยฐานะครูชำนาญการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ. เทียบเท่าอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
                              2)  มีภาระงานสอนไม่ต่ำกว่าภาระงานขั้นต่ำตามที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ.
                              3)  ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการเรียนการสอน และ การพัฒนาผู้เรียนย้อนหลัง 2 ปีติดต่อกัน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ

 

             ถ้าจะเปลี่ยนเป็นสายงานบริหารการศึกษา หรือสายงานนิเทศการศึกษา ต้องสอบครับ


             3.2  สายงานบริหารการศึกษา   ( เป็นแค่ครูชำนาญการ ยังไม่ต้องเป็นครูชำนาญการพิเศษ ก็มีสิทธิ์สมัครเป็นผู้บริหาร )
                    คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ ผอ.กศน.อำเภอ ( ผอ.สถานศึกษา ) คือ
                    1)  ปัจจุบันเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
                    2)  วุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้
                     3)  ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือตำแหน่งครูชำนาญการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า ( ตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่าคือ อ.2 ระดับ 7 หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี )
                     4)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร หรือหนังสือรับรองสิทธิผู้ประสงค์จะประกอบวิชาชีพผู้บริหาร
                           คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา คือ
                           - มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
                           - มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางบริหารการศึกษา เช่น ปริญญาตรีสาขาวิชาบริหารการศึกษา ป.บัณฑิตทางบริหารการศึกษา ปริญญาโท/เอก สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
                           - มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือมีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและมีประสบการณ์ในตำแหน่งหัวหน้าหมวด หรือหัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้างาน หรือตำแหน่งบริหารอื่น ๆ ในสถานศึกษามาแล้ว รวมไม่น้อยกว่า 2 ปี
                           - ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษาที่คณะกรรมการคุรุสภารับรอง (คุณสมบัติข้อนี้ได้รับการยกเว้นให้เข้าอบรมภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา)

 

             3.3  สายงานนิเทศการศึกษา
                    คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบศึกษานิเทศก์ คือ
                    1)  ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
                    2)  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งนี้
                    3)  ดำรงตำแหน่งครูมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรี และ 2 ปีสำหรับผู้มีวุฒิปริญญาโทขึ้นไป หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า
                    4)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น (ศึกษานิเทศก์)
                         คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ คือ
                         - มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโททางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง
                         - มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี หรือมีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการสอนและประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถาน ศึกษาหรือผู้บริหารการศึกษารวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
                    5)  ผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ( คุณสมบัติข้อนี้ได้รับการยกเว้นให้ผ่านการพัฒนาฯหลังการสอบ )

 

         4. วันที่ 31 ม.ค.55  คุณวรรดี บรรณารักษ์ กศน.อ.บ้านไร่ ถามผมผ่านเฟซบุ๊คว่า “หนูทำเรื่องโอนไปเทศบาล ทางเทศบาลมีหนังสือยินดีรับโอนส่งไปที่ สนง กศน เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องดำเนินการต่อยังไง”
             ผมได้ถาม อ.มณฑา กจ. กศน. ได้รับแจ้งว่า ได้รับหนังสือ "ยินดีรับโอน" ( พร้อมมติ ก.ท.จ. ) จากทางเทศบาลแล้ว แต่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่ กจ.ต้องการคือ หนังสือทาบทามการโอน ว่าจะขอรับโอนไปลงตำแหน่งอะไรที่ไหน เลขที่ตำแหน่ง เงินเดือนเท่าไร ฯลฯ ไม่ใช่แค่บอกว่ายินดีรับโอน    ถ้า กจ.ได้รับหนังสือที่ถูกต้อง ก็จะตรวจสอบข้อมูลแล้วทำหนังสือมาถามที่ สนง.กศน.จ.ว่าขัดข้องหรือมีความเห็นอย่างไร เพื่อดำเนินการต่อไป

             สิ่งที่จะต้องทำคือ
             - ไปติดต่อทางเทศบาลให้เขาทำหนังสือทาบทามการโอนใหม่ให้มีเนื้อหาตามที่บอก  แล้วให้เขาส่งตรงไปที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเลขาธิการ กศน. ก็ได้
             - ติดต่อประสานงานให้ สนง.กศน.จ. ทำหนังสือแจ้งความเห็น/ไม่ขัดข้องที่จะให้โอน ส่งไป กจ.กศน.ไว้ก่อนเลย   กจ.จะได้ไม่ต้องทำหนังสือถามมาอีก เพื่อเร็วขึ้น

 

             ขั้นตอนฝ่ายผู้ขอโอน ( กศน. )
             1)  เจ้าตัวผู้จะขอโอนไปติดต่อหน่วยงานที่มีความประสงค์จะโอนไป ว่ามีตำแหน่งว่างจะรับโอนหรือไม่ ( พร้อมทั้งนำ หลักฐานวุฒิการศึกษา และสำ เนา ก.พ.7 ไปประกอบการพิจารณาด้วย )

             2)  ถ้าหนว่ยงานนั้น มีตำแหนง่ว่างที่จะรับโอน และยินดีรับโอน ก็ทำหนังสือทาบทามขอรับโอนมายัง กศน.
             3)  เมื่อ กศน. ได้รับเรื่องทาบทามแล้ว ก็จะแจ้งให้ต้นสังกัดของข้าราชการผู้ขอโอนพิจารณาในเบื้องต้น ว่าจะขัดข้องหรือไม่ พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสอบทางวินัย และภาระผูกพันเกี่ยวกับหนี้ทุนการศึกษา
             4)  ถ้าต้นสังกัดไม่ขัดข้อง และ กศน.ได้พิจารณาแล้ว จะมีหนังสือตอบไปยังหน่วยงานที่รับโอน
             5)  หน่วยงานที่รับโอนดำเนินการออกคำสั่งรับโอน
             6)  กศน. ( สนง.ปลัดกระทรวง ศธ. ) ออกคำสั่งให้โอนไป และมีหนังสือแจ้ง ผอ.สนง.กศน.จังหวัด
             7)  ผอ.สนง.กศน.จังหวัด มีหนังสือส่งตัวข้าราชการผู้ขอโอนไป

 

             ขั้นตอนฝ่ายรับโอน ( อปท. : องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น )
             1)  รับคำขอโอนจากข้าราชการผู้ขอโอน

             2)  ตรวจสอบตำแหน่งว่าง (ชื่อตำแหน่ง  ตำแหน่งเลขที่  สังกัด)  ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้โอน
             3) ทำหนังสือทาบทามการโอนไปยังต้นสังกัดของข้าราชการ
             4)  รับหนังสือตอบข้อขัดข้อง / ไม่ขัดข้อง จากต้นสังกัด
             5)  จัดทำคำสั่งรับโอน  กรณีตอบไม่ขัดข้อง ( กรณีตำแหน่งว่างเป็นตำแหน่ง ว  ต่างๆ  ผู้ขอโอนต้องจัดทำผลงานเข้ารับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่ง   เมื่อผลงานผ่านการประเมินจากคณะกรรมการฯแล้ว  จึงจัดทำคำสั่งรับโอน)  กรณีรับโอนตามกฎหมายอื่น  ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.
             6)  ส่งคำสั่งรับโอน ไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ขอโอนเพื่อดำเนินการต่อไป
             7)  ต้นสังกัดของผู้ขอโอนมีคำสั่งให้โอน  และจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของผู้ขอโอนมายัง อปท.

             8)  แจ้งให้ผู้ขอโอนมารายงานตัว เพื่อบันทึกลงเวลาปฏิบัติราชการ

             9)  บันทึกคำสั่งให้โอนและรับโอน ลงใน ก.พ. 7

 

         5.  วันเดียวกัน ( 31 ม.ค. )  ผู้ใช้ชื่อว่า เด็กรามัญ บ้านฉาง  ถามผมทางเฟซบุ๊คว่า  “ใน 1 วันสอนเสริมได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง”

             เรื่องนี้  ในหนังสือ “คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551”  หน้า 87  กำหนดไว้เพียงสั้น ๆ ว่า  “ค่าตอบแทนวิทยากรสอนเสริม ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด”

             ส่วน “คู่มือการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544”   เดิม  กำหนดไว้ในหน้า 50 ว่า  “กำหนดให้จัดสอนเสริมได้หมวดวิชาละ 3 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ชั่วโมงละ 150 บาท ตามหนังสือกระทรวงการคลังด่วนมาก ที่ กค 0409.7/28861 ลงวันที่ 29 กันยายน 2546   นักศึกษาที่เข้ารับการสอนเสริมแต่ละครั้งต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน  หากจำนวนนักศึกษาต่ำกว่า 20 คน ให้คิดค่าตอบแทนโดยหารเฉลี่ยตามจำนวนนักศึกษา”

             แต่  คู่มือฉบับปรับปรุง พ.ศ.2549  กำหนดไว้ในหน้า 60 ว่า  “กำหนดให้มีการสอนเสริมในการจัดการเรียนรู้วิธีเรียนแบบพบกลุ่ม ทุกระดับการศึกษา ในหมวดวิชาพื้นฐาน สาระการเรียนรู้ที่ยุ่งยากซับซ้อนต่อการทำความเข้าใจ ได้แก่ หมวดวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ หมวดวิชาละไม่เกิน 12 ชั่วโมง ในแต่ละภาคเรียน  สำหรับจำนวนผู้เรียนที่เข้ารับการสอนเสริมแต่ละครั้ง ให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม  สำหรับค่าตอบแทนวิทยากรสอนเสริม ให้เบิกจ่ายในอัตราชั่วโมงละ 200 บาท ตามหนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ที่ ศธ 0210.03/7113 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2548  ( ซึ่งอ้างอิงต่อเนื่องไปยังหนังสือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ กค 0409.7/15059 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 )”

             ฉะนั้น ปัจจุบันไม่ได้กำหนดแล้วว่า สอนเสริมได้ไม่เกินวันละกี่ชั่วโมง

 

         6. วันเดียวกัน ( 31 ม.ค. )  ท่าน ผอ.สนง.กศน.จ.นนทบุรี  โทร.มาบอกให้ผมนำหนังสือเกี่ยวกับการเบิกเงินค่าเข้าค่าย ขึ้นบล็อก   ว่า การพานักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐานไปเข้าค่ายที่ต่างจังหวัด เบิกค่าอะไรได้บ้าง

             เรื่องนี้  เบิกได้ตาม คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวง ศึกษาธิการ ที่ 895/2551 เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย   ที่กำหนดไว้ในข้อ 12. ว่า "ค่าดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต และหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นค่าอาหาร ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ายานพาหนะ ให้กับเอกชนหรือส่วนราชการอื่นตามที่เรียกเก็บ"

 

 

หมายเลขบันทึก: 476995เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2012 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2013 05:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สุดยอดครับท่านอาจารย์เอกชัย...ขอชมเชย

  • ขอบคุณมากนะค่ะสำหรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์มากๆ ค่ะ

เยี่ยมมากครับคุณครูเอกชัย ขอเพิ่มเติมนิดนึง (พอดีเคยอ่านเจอมานานมากแล้ว) เลขคำสั่งออกย้อนหลังไม่ได้ แต่เนื้อหาในคำสั่งให้มีผลย้อนหลังได้ ในทางที่เป็นคุณ ยกตัวอย่างเช่นคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นต้น เช่น ออกคำสั่งวันนี้ (1 ก.พ.55) แต่สามารถให้มีผลย้อนหลัง ถึง วันที 1 มกราคม 55 เป็นต้นได้ (ตกเบิกยิ้มแแฉ่งไปตามๆๆกันเลยละ)

บรรณารักษ์อัตราจ้าง

ขอบคุณท่านครูผักไห่ที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อความรู้ของงาน กศน.และเป็นช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

มีข้อข้องใจและใจจดใจจ่ออย่างมากกับงบประมาณ 2555 ซึ่งงบค่าจ้างบรรณารักษ์หมดเดือนมกราคมไปแล้วและรอเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่ง อยากจะทราบว่าทางสนง.กศน.จะให้ตกเบิกและให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 7,940 หรือ 8,630 หรือ 9,140 ซึ่งจะเป็นขวัญกำลังใจต่อชาวบรรณารักษ์อัตราจ้างมากเพราะมีอยู่แค่ไม่เกิน800 คน ขอความชี้แจงด้วยคะ่

ขอบคุณมากครับคุณครูภูธร Ico48

ส่วนเรื่องงบค่าจ้างบรรณารักษ์ที่ "บรรณารักษ์อัตราจ้าง" ถามนั้น เนื่องจาก พรบ.งบประมาณ 2555 ล่าช้า กลุ่มแผนงาน กศน. จึงจัดสรรเงินเท่าปี 2544 มาให้เบิกจ่ายไปพลางก่อน 4 เดือน เพราะคิดว่างบประมาณ 2555 จะเสร็จก่อนเดือน ก.พ.55  แต่ งบประมาณปี 2555 ก็ยังไม่เรียบร้อย ตอนนี้กลุ่มแผนงานได้จัดสรรเงินเท่าปี 54 มาเพิ่มให้อีก 3 เดือนแล้วครับ   ส่วนเมื่องบประมาณ 2555 เรียบร้อยแล้ว เขาจะปรับเป็นเท่าไรนั้นผมไม่แน่ใจ แต่เพิ่มแน่ครับ

ขอบคุณมากรค่ะ อาจารย์เอกชัย ต่อไปจะได้ไม่เบิกถูกเบิกผิด

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Ico48 Ico48 Ico48 และทุก ๆ คน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท