โยนิโสมนสิการ #2


โยนิโสมนสิการ คือวิธีคิดที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้เพื่อนำไปสู่ขบวนการสร้างปัญญา (Intelligence Movement)ซึ่งเป็นวิธีคิดที่จะดัดนิสัยการคิดแบบเพื่อสนองตัณหา หรือการคิดด้วยความไม่ชอบใจเป็นพื้นฐาน

ต่อจาก โยนิโสมนสิการ #1

     โยนิโสมนสิการ 10 วิธี มีอะไรบ้าง และจะได้ประโยชน์ในการนำมาใช้อย่างไร (วิธีที่ 1)
          1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ในทางปฏิบัติจะแยกได้ 2 อย่างคือ
                  1) คิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ “เมื่อสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี” “เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น” เป็นวิธีคิดแบบเชื่อมโยง “เหตุ” และ “ผล” นั่นก็คือขบวนการคิดแบบมีเหตุมีผล หากได้คิดเช่นนี้ก็จัดเป็นผู้ที่มีเหตุและผล เป็นผู้ที่อธิบายธรรมชาติได้ ซึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีเหตุผล ถ้าจะเรียกกันแบบที่ได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ เป็นคนมีหลักการนั่นเอง แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเมื่อเราเห็น “ผล” เราอาจจะไม่ทราบถึง “เหตุ” หรือในทางกลับกันเราอาจจะไม่สามารถทำนาย “ผล” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อทราบ “เหตุ” ได้ในทันที ในทุกเรื่อง จึงต้องมีขั้นตอนการสืบสาวราวเรื่อง การศึกษาค้นคว้า อย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรือเป็นวิทยาศาสตร์นั่นเอง ซึ่งหากจะโยงกับการวิจัยแล้ว ก็จะพบว่าสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนวิธีคิดแบบนี้คือ การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ เช่น การหาความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ อย่างของเพียร์สัน หรือไคว์สแควร์ การวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง หากเป็น 2 กลุ่มก็จะใช้ การทดสอบค่าที หากมากว่า 2 กลุ่มก็คือการทดสอบค่าเอฟ หรือสถิตินอนพาราเมตริกซ์ ที่ใช้ในกรณี 2 กลุ่ม และ มากกว่า 3 กลุ่ม เป็นต้น ซึ่งผลที่ได้ออกมาจะยังไม่สามารถอธิบายอะไรได้มากนัก เพียงแต่บอกได้ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหรือไม่เท่านั้น (หรืออาจจะบอกขนาดและทิศทางของความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ได้ด้วย) จึงต้องอาศัยวิธีการคิดเพื่อการอธิบายให้ได้ต่อไปก็คือ ส่วนที่ 2 ที่จะกล่าวถึงต่อไป
                  2) คิดแบบสอบสวน หรือการตั้งคำถามว่า “ทำไม” “เพราะอะไร” วิธีการคิดแบบนี้เป็นการคิดเพื่อมุ่งตอบคำถามหลังจากได้พบว่ามีความเชื่อมโยง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือความเป็นเหตุ เป็นผลกัน หรือไม่ ตามวิธีคิดที่ได้จากแบบที่ 1 ซึ่งกระบวนการที่จะสามารถตอบคำถามในแต่ละประเด็นที่ว่า จะต้องเกิดจากการทบทวนองค์ความรู้สิ่งที่ผ่านมา ประสบการณ์ แนวคิด ทฤษฎี รวมถึงข้อมูลเชิงประจักษ์ต่าง ๆ ที่ได้มีการจัดทำ บันทึกไว้ หรืออาจจะต้องลงมือสอบถาม สัมภาษณ์ หรือสังเกต รวมถึงการใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลตามรูปแบบชนิดที่เหมาะสม ถือว่าขั้นตอนนี้คือขั้นตอนของการอภิปรายผลที่ได้พบจากวิธีคิดแบบที่ 1 นั่นเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการวิจัย และน่าจะเรียกว่าเป็น “กึ่น” ของนักวิจัยก็ว่าได้
          ยกตัวอย่าง เมื่อเราพบว่า คุณภาพของระบบรายงานระดับอำเภอสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อคนจัดทำรายงานนั้น ๆ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเองได้ (ไม่ใช่ทำรายงานแล้วส่งจังหวัดอย่างเดียว) ก็ไปสัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “ทำไม” “เพราะอะไร” ก็ได้คำตอบว่า “ในขั้นตอนการวิเคราะห์นั้นจะมีการตรวจสอบคุณภาพข้อมูลก่อน รวมถึงหากผลวิเคราะห์ออกมาเป็นที่น่าสงสัยก็จะตรวจย้อนหลังไปว่าผิดพลาด หรือข้อมูลไม่มีคุณภาพที่ตรงจุดไหนได้ง่ายขึ้น” (อนุชา หนูนุ่น และอวยพร ดำเกลี้ยง, 2548) และผลที่ได้จากการสัมภาษณ์ก็สอดคล้องกับข้อสรุปจากการประเมินผลการดำเนินงานโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจังหวัดปัตตานี ที่ อุตสาห์ เพ็งภารา, นงนิตย์ จงจิระศิริ และเปรมจิต หงส์อำไพ ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2545 อย่างนี้เป็นต้น
          โดยสรุปจึงจะเห็นได้ว่าหากมีวิธีคิดแบบนี้ ก็จะสามารถพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใด ก็สามารถมองย้อนและสืบสาวชักโยงไปถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้อย่างรอบด้าน (Comprehensives) นั่นเอง แต่ข้อจำกัดของวิธีคิดแบบนี้ก็มีเช่นกัน เช่น การสรุปผิดพลาดเพราะข้อมูลที่ได้มาผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือเกิดจากบริบทที่แตกต่างไปจากเดิมที่ได้ศึกษาไว้ เป็นต้น ซึ่งคงจะต้องอาศัยกระบวนการทำซ้ำเพื่อตรวจสอบยืนยันให้มากขึ้นจนแน่ใจ ดูรายละเอียดได้จาก Error ในการวิจัย สิ่งที่มองข้ามไม่ได้

     หมายเหตุจากผู้เขียน : บันทึกนี้ยังไม่ได้มีการตรวจทานจากผู้เชี่ยวชาญใด ๆ ก่อน จึงอยากได้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงการเขียนด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง

     อนุชา  หนูนุ่น บันทึกเมื่อ 30 ก.ย. 2548

หมายเลขบันทึก: 4769เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2005 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท