ผชช.ว.ตาก (๔๐): คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของ อสม. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ


หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เขตตรวจราชการที่ 17

การพัมนาหลักสูตผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เขตตรวจราชการที่ 17 ได้กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์หรือสมรรถนะ อสม.ไว้ ๖ ประการ คือ

๑.มีภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงตนเองและบุคคลรอบข้าง

๒.เป็นผู้ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ชุมชนด้านสุขภาพ

๓.มีความสามารถในการสร้างเครือข่ายและทำงานเป็นทีม

๔.มีความสามารถในการประยุกต์ใช้เครื่องมือชุมชนด้านสุขภาพ

๕.มีความรู้ทักษะและการปฏิบัติตนในการป้องกันควบคุมโรคในชุมชน

๖.มีความรู้ทักษะและการปฏิบัติตนในการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน

เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันและประเมินระดับได้ จึงกำหนดระดับสมรรถนะ (Proficiency level) ออกเป็น ๕ ระดับในแต่ละหัวข้อสมรรนะ ดังนี้

๑. มีภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงตนเองและบุคคลรอบข้าง หมายถึง “มีความสามารถในการนำตนเองไปสู่สิ่งใหม่ๆสิ่งดีๆโดยที่ไม่หวังพึ่งแรงจูงใจจากภายนอก (นำตนเองได้) แต่สามารถสร้างแรงจูงใจจากภายในตนหรือแรงบันดาลใจขึ้นมา รวมทั้งสามารถนำคนอื่นได้ด้วยการกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจหรือสร้างแรงจูงใจ (นำผู้อื่นได้) สามารถสร้างภาพฝันที่ดีในอนาคตของชุมชนและสื่อสารภาพฝันเหล่านั้นให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชนได้”

—ระดับ 1 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่แบบเดิมๆ รอรับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือข้าราชการ
—ระดับ 2 เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองแต่ยังไม่มีการสร้างภาพฝันใหม่ในอนาคตของชุมชน
—ระดับ 3 เริ่มมีการคิดสร้างภาพฝันในอนาคตของตนเองและของชุมชน
—ระดับ 4 มีภาพฝันในอนาคตที่ดีของชุมชน มีการสื่อสารกับคนอื่นๆในชุมชน มีการรวมพลังคนในชุมชนมาร่วมกันหาแนวทางสู่การปฏิบัติ
—ระดับ 5 มีภาพฝันในอนาคตของชุมชนร่วมกัน เป็นแกนนำระดมพลังชุมชนมาช่วยกันปฏิบัติไปสู่ภาพฝันที่กำหนดไว้
๒. เป็นผู้ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ชุมชนด้านสุขภาพ หมายถึง “มีการพัฒนาตนเองในด้านสุขภาพจนสามารถเป็นต้นแบบหรือเป็นตัวอย่างให้บุคคลต่างๆในชุมชนได้ โดยการประเมินสุขภาพของตนเองทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและเชาว์ปัญญาและการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีจากการปฏิบัติตามกิจกรรม 6 อ”
—ระดับ 1 รู้และเข้าใจหลักการดูแลสุขภาพของตนเองตามหลักการดูแลสุขภาพ 6 อ. แต่ยังไม่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
—ระดับ 2 นำหลักการส่งเสริมสุขภาพ 6 อ ไปปรับใช้จริงในชีวิตประจำวัน อย่างเห็นได้ชัดเจน สม่ำเสมอ เป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้านว่ามีการปฏิบัติได้จริง
— ระดับ 3 ปฏิบัติตามหลักการส่งเสริมสุขภาพจนทำให้สถานะสุขภาพดีขึ้นทั้งด้านร่างกายโดยมีค่า BMIและเส้นรอบเอวอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีแนวทางในการลดความเครียดทางด้านจิตใจของตนเอง มีครอบครัวอบอุ่น เครือญาติที่รักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้าน
—ระดับ 4 มีสุขภาพร่างกาย จิตใจ สังคมดีและมีสุขภาวะทางเชาว์ปัญญา ปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง มีความสุขตามอัตภาพและสามารถเป็นแบบอย่างให้บุคคลรอบข้างได้
—ระดับ 5 สามารถใช้ความเป็นบุคคลต้นแบบด้านสุขภาพโน้มน้าวชักจูงให้บุคคลรอบข้าง เพื่อนบ้านมาปฏิบัติกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพได้โดยเฉพาะหลัก 6 อ เป็นที่ยอมรับ ศรัทธา เชื่อถือของเพื่อนบ้าน
๓. มีความสามารถในการสร้างเครือข่ายและทำงานเป็นทีม หมายถึง “มีการทำงานเป็นทีมในชุมชนหรือการสร้างเครือข่ายในการทำงานโดยอาศัยการดำเนินกิจกรรมที่ตนเองรับผิดชอบ การเป็นสมาชิกและเข้าร่วมชมรมต่างๆ การเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนตามปฏิทินชุมชน การประชุมกลุ่มต่างๆและการอาศัยกิจกรรมเยี่ยมบ้านในการสร้างเครือข่ายในชุมชน ”
—ระดับ 1 มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่ชุมชนจัดขึ้นทั้งกิจกรรมด้านสาธารณสุขและกิจกรรมด้านอื่นๆ
—ระดับ 2 มีการเข้าร่วมเป็นทีมงาน คณะทำงานหรือกรรมการในการจัดกิจกรรมต่างๆของชุมชนทั้งด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ โดยเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของกิจกรรมทั้งหมดที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน)
—ระดับ 3 มีการนำทีมงานที่ตนเองสังกัดเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการทำงานกับหน่วยงานต่างๆทั้งในหมู่บ้านและนอกพื้นที่หมู่บ้านเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและพัฒนาสาธารณสุขของหมู่บ้านหรือมีการเยี่ยมบ้านประชาชนในหมู่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
—ระดับ 4 มีการนำทีมงานในการออกสำรวจพื้นที่ สุขภาวะของชุมชน และการออกเยี่ยมบ้านประชาชนในหมู่บ้านที่รับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง)
—ระดับ 5 มีการนำข้อมูลจากการสำรวจหมู่บ้าน การเยี่ยมบ้านมาร่วมกับทีมงานในการวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆได้
๔. มีความสามารถในการประยุกต์ใช้เครื่องมือชุมชนด้านสุขภาพ หมายถึง “มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือชุมชนในการดูแลสุขภาพชุมชนและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้โดยเฉพาะแผนที่เดินดิน แผนที่ยุทธศาสตร์ ปฏิทินชุมชน ผังเครือญาติ ”
—ระดับ 1 รู้จักเครื่องมือชุมชนทั้งแผนที่เดินดิน แผนที่ยุทธศาสตร์ ปฏิทินชุมชน และผังเครือญาติ
—ระดับ 2 มีความเข้าใจในการใช้เครื่องมือชุมชนดังกล่าวและสามารถอธิบาย สื่อความหมาย สร้างความเข้าใจในการใช้เครื่องมือชุมชนให้แก่ทีมงานหรือเพื่อน อสม. ในหมู่บ้านได้
—ระดับ 3 สามารถนำเครื่องมือชุมชนมาปรับใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านร่วมกับทีมงานได้
—ระดับ 4 เป็นผู้นำในการใช้เครื่องมือชุมชนมาใช้ในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา ค้นหาศักยภาพของชุมชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้านได้
—ระดับ 5 นำเครื่องมือชุมชนมาปรับใช้จนสามารถสังเคราะห์แผนที่ยุทธศาสตร์ชุมชนและนำไปสู่การปฏิบัติที่พัฒนาชุมชนได้
๕. มีความรู้ทักษะและการปฏิบัติตนในการป้องกันควบคุมโรคในชุมชน หมายถึง “มีความเข้าใจและใช้ระบบการเฝ้าระวังในชุมชน การป้องกันโรคก่อนที่จะเกิดขึ้นและการควบคุมให้โรคที่เกิดขึ้นสงบโดยเร็ว ไม่มีการระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง สามารถดูแลตนเองและคนในชุมชนเกี่ยวกับโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อที่พบบ่อยในชุมชนได้”
—ระดับ 1 รู้จักโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อที่สำคัญหรืออาจเกิดการระบาดในชุมชน เช่น ไข้เลือดออก วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ
—ระดับ 2 เข้าใจและสามารถอธิบายสื่อสารให้คนในชุมชนรู้จักและเข้าใจโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อสำคัญในชุมชนได้
—ระดับ 3 ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการให้ความรู้ เผยแพร่ข่าวสารและเฝ้าระวังการเกิดโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อในชุมชนได้
—ระดับ 4 เป็นแกนนำในการเฝ้าระวังโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อที่สำคัญในชุมชนโดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาบอกหรือสั่งการ
—ระดับ 5 สามารถนำข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อสำคัญในชุมชนมาวางแผน จัดหางบประมาณสนับสนุนจากแหล่งต่างๆมาใช้ในการป้องกันควบคุมโรคในชุมชนได้
๖. มีความรู้ทักษะและการปฏิบัติตนในการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน หมายถึง “มีทักษะในการให้การดูแลช่วยเหลือให้คนกลุ่มต่างๆในสังคมมีสุขภาพดีโดยพิจารณาจากกลุ่มบุคคล (หญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ) กับกลุ่มกิจกรรม (อาหารปลอดภัย ประเพณีปลอดอบายมุข การคุ้มครองผู้บริโภค บ้านน่าอยู่) ”
—ระดับ 1 มีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มบุคคลต่างๆในหมู่บ้านโดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
—ระดับ 2 รู้ข้อมูลและเข้าร่วมให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพกลุ่มบุคคลต่างๆในหมู่บ้านตามระดับ 1 ได้
—ระดับ 3 เป็นแกนนำในการออกให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพกลุ่มบุคคลต่างๆในหมู่บ้านตามระดับ 1 กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
—ระดับ 4 เป็นแกนนำในการออกเยี่ยมเยียน ดูแลส่งเสริมสุขภาพกลุ่มหญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ ครบทุกกลุ่มอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
— ระดับ 5 มีการเยี่ยมเยียนดูแลตามระดับ 4 และนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนของบประมาณสนับสนุนจากแหล่งต่างๆเพื่อส่งเสริมสุขภาพกลุ่มบุคคลดังกล่าวรวมทั้งการจัดหางบสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆในหมู่บ้านเช่น อาหารปลอดภัย ประเพณีปลอดเหล้าบุหรี่หรือการคุ้มครองผู้บริโภคได้
วิธีการประเมินสมรรถนะที่พึงประสงค์ของผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ เน้นการประเมิน เพื่อพัฒนา ไม่ใช่ประเมินเพื่อหาคนเก่งหรือประกวด อสม. มีการประเมินแบบ 360 องศา โดยประเมินก่อนฝึกอบรม (ในวันปฐมนิเทศหรือก่อนการปฐมนิเทศ) หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม (ครบกำหนด 3 เดือน) และหลังการฝึกอบรม 3 เดือน (ครบกำหนด 6 เดือนตั้งแต่เริ่มฝึกอบรม) โดยผู้ประเมินประกอบด้วย
—ตัวอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านประเมินตนเอง
—เพื่อนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านประเมิน
—เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบหมู่บ้าน
คณะกรรมการฝึกอบรมระดับจังหวัดและระดับเขต นำข้อมูลผลการประเมินมาวิเคราะห์และสรุปผลการฝึกอบรม
 
หมายเลขบันทึก: 476695เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2012 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท