การดูแลสุขภาพแบบผสมผสาน


สุขภาพดีโดยสมบูรณ์นั้น จะต้องมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ไม่เจ็บป่วย จิตใจแจ่มใสคืออารมณ์ไม่ขุ่นมัวเคร่งเครียด อยู่ในสังคมที่สงบสุขและมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีความรักความเอื้ออาทรและเข้าใจธรรมชาติของโลก

                    การดูแลสุขภาพแบบผสมผสาน ( Integrated Health care ) เป็น องค์ความรู้หนึ่งในบรรดาที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในปัจจุบัน  เป็นความรู้ระดับชำนาญการ และถือว่ามากที่สุดในตัวข้าพเจ้า                ซึ่งข้าพเจ้าได้ความรู้เหล่านี้จากการเข้าศึกษาที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรขอนแก่น เป็นการเริ่มแรก จากนั้น ข้าฯ ได้เรียนรู้รับประสบการณ์เพิ่มเติมจากการปฏิบัติงานเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน และเข้าเรียนต่อเนื่องจนจบปริญญาตรีด้านการสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่อย่างไรก็ตามความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพแบบผสมผสานของข้าฯ ไม่ได้เกิดจากการร่ำเรียนในสถาบันการศึกษาเพียงส่วนเดียว  หากแต่เกิดจากการศึกษาในระหว่างปฏิบัติงาน หรือค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้เรื่องสุขภาพในรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย เช่นหนังสือ  การเข้ารับการอบรมฝึกฝนความรู้ จากครูผู้รู้ ผู้ปฏิบัติ จากหลากหลายสาขาองค์ความรู้

                                การที่คนเราจะมีสุขภาพดีโดยสมบูรณ์นั้น จะต้องมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ไม่เจ็บป่วย จิตใจแจ่มใสคืออารมณ์ไม่ขุ่นมัวเคร่งเครียด            อยู่ในสังคมที่สงบสุขและมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีความรักความเอื้ออาทรและเข้าใจธรรมชาติของโลก   ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้

องค์การอนามัยโลก ( Wold Health Organization : WHO ) ได้กำหนดเป็นกรอบของการให้ความหมายของการมีสุขภาพดี อันเป็นความหมายเดียวกันทั่วโลก ตามนัยความหมายที่กล่าวมานั้น การสร้างสุขภาพของคนเราให้ดี นั้น จึงต้องเริ่มที่ตนเองอันดับแรกแล้วช่วยกันสร้างสรรค์สังคมแห่งสุขภาพ จากพฤติกรรมสู่วิถีชีวิต วิถีสังคม ขนบธรรมเนียมจนถึงวัฒนธรรมแห่งสุขภาพ เรียนรู้แลกเปลี่ยนเพื่อเกิดปัญญารู้เท่าทันความเป็นธรรมชาติแห่งร่างกาย ชีวิต ดำรงอยู่บนโลกได้อย่างสมดุล

                                กล่าวถึงการดูแลสุขภาพแบบผสมผสานนั้น จึงต้องมีหลักการพื้นฐานที่วางจุดมุ่งหมายเพื่อให้บุคคลสุขภาพดี ตามที่กล่าวไปแล้ว  ส่วนรายละเอียดวิธีการดูแลสุขภาพนั้น แยกให้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้ผู้ปฏิบัติจดจำหลักการและวิธีการได้ง่าย ๆ ดังนี้

                                ๑. การดูแลเรื่อง “อาหาร” คือการเลือกอาหารที่เหมาะสมกับบุคคลรวมถึงพฤติกรรมการรับประทานและพฤติกรรมการขับถ่ายที่เหมาะสม   อาหารแต่ละชนิดมีความเหมาะสมกับบุคคลในแต่ละวัย และพฤติกรรมการรับประทานของบุคคลในแต่ละวัยก็มีความเหมาะสมต่างกัน   เช่นในวัยเด็ก อาหารที่บุคคลวัยนี้ต้องการคืออาหารทุกประเภท ใน ๕ หมวดหมู่อาหารตามที่ทราบกันดีแล้ว เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยแห่งการเจริญเติบโต แต่หากบุคคลในวัยสูงอายุ ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูงคือไขมัน แป้งและน้ำตาล เนื่องจากวัยสูงอายุ ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานสูงและประสิทธิภาพในการย่อยเผาผลาญอาหารลดน้อยลง อีกทั้งถ้าหากมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ยิ่งจำเป็นต้องเลือกอาหารที่ต้องรับประทานมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเจ็บป่วยของร่างกาย

                                ๒. การดูแลเรื่อง “อากาศ” คือการได้รับอากาศที่สะอาดไร้มลพิษ เพื่อให้ได้ปริมาณออกซิเจนเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ โดยออกซิเจนจะเป็นส่วนประกอบของเลือดที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย โดยเฉพาะมีผลต่อการทำงานของสมอง  นอกจากนี้การดูแลร่างกายให้ได้รับอากาศสะอาดนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงป้องกันสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายทางลมหายใจ ซึ่งสามารถสะสมในปอด หรืออาจเกิดปฏิกิริยาก่อโรคในระบบทางเดินหายใจได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจในปัจจุบันมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต เช่น ไข้หวัดนก  ไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เป็นต้น

                                ๓. การดูแลเรื่อง “อารมณ์”  คือการเฝ้าระวังด้านความเครียด หรืออารมณ์ขุ่นมัวโกรธเคือง ที่จะส่งผลต่อร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของหัวใจ และระบบไหลเวียนเลือด เป็นเหตุให้ร่างกายทำงานหนัก พักผ่อนไม่เต็มที่ เกิดภาวะต่อเนื่องของความเครียด ส่งผลให้ร่างกายทุกระบบทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น ระบบย่อยอาหาร  ระบบขับถ่ายของเสีย  นอกจากนี้การดูแลสุขภาพด้านอารมณ์ ยังรวมถึงการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยปรับอารมณ์ ลดความเครียด และกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ( Adrenaline ) ช่วยการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดให้เป็นปกติ ซึ่งบุคคลควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ วัน วันละอย่างน้อย ๓๐ นาที หรือนานจนกระทั่งร่างกายมีเหงื่อซึม

                                ๔. การดูแลเรื่อง “อาชีวอนามัย” คือการจัดรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมปลอดภัยและเอื้อต่อการมีสุขภาพดี  ปกติบุคคลทั่ว ๆ ไปย่อมต้องมีภาระกิจงานในชีวิตประจำวันไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน  การดูสภาพแวดล้อมที่บ้านและที่ทำงานให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตช่วงขณะทำงานหรือภาระกิจปกติจึงมีความจำเป็น นอกจากนี้ พฤติกรรมการยืน เดิน วิ่ง การออกแรงต้านน้ำหนัก เหล่านี้จะต้องปรับวิธีการให้เหมาะสมกับแต่ละกิจกรรม เช่น การนั่งขับรถ  การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์

                                ด้วยหลักการ ๔ อ. ที่กล่าวไปแล้ว เป็นวิธีการดูแลสุขภาพแบบผสมผสาน มุ่งหมายให้บุคคลมองดูร่างกายให้เป็นองค์ประกอบรวม ที่ไม่สามารถแบ่งแยกส่วนดูแลได้ อาหาร อากาศ อารมณ์ อาชีวอนามัย ทุกเรื่องล้วนส่งผลต่อร่างกายร่วมกัน ส่งเสริมกันให้ร่างกายสุขภาพดี  ตรงกันข้ามหากขาดการดูแลในหลักการใดหลักการหนึ่งเท่านั้น ย่อมจะส่งผลให้ร่างกายทั้งระบบ เกิดปัญหาเกี่ยวเนื่องกันไปองค์ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพแบบผสมผสานดังกล่าวนี้ เป็นหลักการพื้นฐานของการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันของบุคคล  ผู้ที่ได้ปฏิบัติระมัดระวังอยู่เสมอ จะมีสุขภาพดีโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมถูกต้องเท่านั้น  ข้าพเจ้า ได้นำองค์ความรู้นี้ใช้ในชีวิตประจำวัน และสนทนาแลกเปลี่ยนบอกกล่าวแก่คนทั่วไปทุกครั้งที่มีโอกาสได้กล่าวถึงการดูแลสุขภาพ

หมายเลขบันทึก: 476200เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท