พินิจหนังสือ : การจัดการความรู้ภาคปฏิบัติ


พินิจหนังสือ : การจัดการความรู้ภาคปฏิบัติ

เทียมจันทร์   พานิชย์ผลินไชย 1
ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์   พานิช  ผู้เขียน
กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548
280  หน้า  220  บาท

วารสารศึกษาศาสตร์  ปีที่ 8  ฉบับที่ 3 ประเภทบทพินิจหนังสือ 
รบกวนให้อาจารย์หมอวิจารณ์ ให้ข้อเสนอแนะก่อนนำไปตีพิมพ์
เพื่อแนะนำให้คนอ่านวารสารนี้ได้อ่าน
หากไม่มีจุดที่ควรแก้ไข จะขออนุญาตนำไปตีพิมพ์ทันทีค่ะ ขอบคุณค่ะ

          หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้อีกเล่มหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจ และจะนำการจัดการความรู้ไปใช้ในการพัฒนาองค์กร  เพื่อให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  หนังสือเล่มนี้มีข้อแตกต่างจากหนังสือการจัดการความรู้เล่มอื่นๆ  ซึ่งศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช  ได้เขียนไว้ใน    คำนำถึงจุดเน้นของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า   “จุดเน้นของหนังสือเล่มนี้คือ   การปฏิบัติ   จึงจงใจไม่เขียนตามแนวทฤษฎี  แต่ถ้าอ่านให้ดีๆ  จะพบว่ามีทฤษฎีอยู่ในการปฏิบัตินั้น หรือกล่าวกลับกันว่า  การปฏิบัติจัดการความรู้ต้องใช้หลายทฤษฎีพร้อมๆ กัน  หรือในคราวเดียวกัน  ผู้ปฏิบัติจัดการความรู้ที่มีความชำนาญจะรู้จักหยิบทฤษฎีมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์”   จากจุดเน้นดังกล่าวของหนังสือเล่มนี้จะเห็นได้ว่า  หนังสือเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะนำการจัดการความรู้ไปใช้ในองค์กร เพราะแต่ละองค์กรย่อมมีบริบทที่แตกต่างกัน  ซึ่งไม่น่าจะใช้สูตรสำเร็จใดขององค์กรใดไปใช้ได้โดยตรง   หนังสือเล่มนี้มีทั้งสิ้น  12  บท  โดยเริ่มตั้งแต่บทที่  1  ปฐมบท  ซึ่งในบทนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของการจัดการความรู้ที่ถูกต้อง  ทราบว่าการริเริ่มการจัดการความรู้เริ่มอย่างไร  ในบทที่  2  ความสำคัญของการจัดการความรู้  ในบทนี้จะทำให้ทราบว่าคุณเอื้อ  คุณอำนวย  คุณกิจ  คุณประสาน  คุณลิขิต  และคุณวิศาสตร์  คือใคร  มีบทบาทอย่างไร  ใครคือผู้เสริมพลังความรู้/นายหน้าความรู้   นอกจากนี้  สรุปท้ายบทนี้ชี้ให้เห็นว่า  คนสำคัญที่สุดในระบบการจัดการความรู้  คือ  ผู้บริหารหมายเลข 1 ขององค์กรหรือหน่วยงาน  เนื้อหาในบทที่  3  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดระบบการจัดการความรู้    อะไรคือทฤษฎีขนมเปียกปูน  ทฤษฎีขนมชั้น  ในบทนี้จะทำให้ทราบว่าการจัดการความรู้นั้นต้องมีระบบอะไรบ้าง   บทที่  4  การฝึกอบรม  ในบทนี้ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า  การฝึกอบรมเพื่อเริ่ม “การเดินทาง” จัดการความรู้  (ผู้รู้กล่าวว่า การจัดการความรู้เป็น  journey  ไม่ใช่  destination)  ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการบรรยาย  กล่าวคือ  ไม่มีความจำเป็นต้องแยกการฝึกอบรมออกจากการปฏิบัติ  สามารถบูรณาการการปฏิบัติกับการฝึกอบรมไปด้วยกันได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า  การฝึกอบรมนั้นจะอบรมแก่ใคร  เพื่อเป้าหมายอะไร  อีกสิ่งที่น่าสนใจ
ในบทนี้คือ  การจัดตลาดนัดความรู้  เมื่ออ่านถึงบทที่  5  ผู้อ่านจะได้ทราบถึงการเริ่มต้นการจัดการความรู้  มีประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนได้เขียนไว้  อาทิ  วางแผนการดำเนินการโดยเริ่มจากเล็กไปใหญ่จากง่ายไปยาก  ใช้พลังความสำเร็จเล็กๆ เป็นพลังขับเคลื่อน   นำทุนปัญญาในตัวบุคคลมาสร้างคุณค่า/มูลค่าเพิ่ม    เมื่ออ่านจบบท  ผู้อ่านจะทราบว่าจะต้องเริ่มต้นการจัดการความรู้ได้อย่างไร  บทที่  6  การดำเนินการจัดการความรู้  ในบทนี้ผู้เขียนได้เขียนถึงองค์ประกอบของการดำเนินการจัดการความรู้ไว้อย่างชัดเจน  โดยเริ่มจากสร้างวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความรู้  การสร้างทีมจัดการความรู้ขององค์กร  เริ่มจาก “ทุนปัญญา”  ที่มีอยู่แล้วหรือหาจากภายนอกได้โดยง่าย 
สร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเข้มข้นในกลุ่มพนักงานระดับล่าง   จัดการความรู้ควบไปกับกิจกรรมพัฒนาสินค้าหรือรูปแบบการทำงานใหม่ๆ  เน้นการจัดการองค์กรแบบ  “ใช้พนักงานระดับกลางเป็นพลังขับเคลื่อน” หลัก  เปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเป็นแบบ  “พหุบท”  (Hypertext)   สร้างเครือข่ายความรู้โลกภายนอก  สร้างวัฒนธรรมแนวราบ  การสื่อสารอย่างอิสระทุกทิศทาง  สร้างวัฒนธรรมการจดบันทึก  ประเมินผลการดำเนินการจัดการความรู้  นอกจากนี้  ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ  อะไรคือช่วงฝึกกับช่วง “บินได้”  ชุมชนแนวปฏิบัติ  การจัดพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เครือข่ายการจัดการความรู้

          บทที่  7  เครื่องมือ  บทนี้ผู้อ่านจะได้ทราบถึงเครื่องมือการจัดการความรู้  อะไรคือ  โมเดลปลาทู   โมเดลปลาตะเพียน  “หัวปลา”  “ตัวปลา”  “หางปลา”  คืออะไร  อะไรคือการเล่าเรื่อง (Story telling)  ผู้อ่านจะทราบถึงวิธีการและขั้นตอนการเล่าเรื่อง  ซึ่งผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า  “เป้าหมายสำคัญที่สุดคือการเล่าเรื่อง  คือ  ปลดปล่อยความรู้ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ (ความเชื่อ)  ในส่วนลึกของสมอง  (ความคิด)  และส่วนลึกของร่างกาย (การปฏิบัติ)  ออกมาเป็นคำพูด  และหน้าตาท่าทาง  (Non Verbal Communication)  การเปลี่ยนความรู้จากการปฏิบัติ  ผู้เปลี่ยนจะมีสภาพที่มีทั้งจิตใต้สำนึกและจิตสำนึก  (Subconscious &  Conscious)”  นอกจากนี้  ผู้อ่านจะทราบและเข้าใจเทคนิคการแลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึก  (Tacit Knowledge)  และวิธี  “สกัด”  ความรู้จากการปฏิบัติ  ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า  “แปลกแต่จริง  ความรู้ฝังลึกนี้มันขี้อาย  ถ้าไม่มีการสร้างบรรยากาศเชิงบวก  เชิงชื่นชมยินดี  มันจะไม่ค่อยโผล่ออกมา  นอกจาก “ขี้อาย” แล้ว  ความรู้ฝังลึกยัง “ระเหยง่าย”  อีกด้วย  ถ้าไม่ “ไล่ตะครุบ”  และจดบันทึกให้ดีเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียว  เมื่อบรรยากาศช่วงนั้นหายไป  ความรู้ฝังลึกที่โผล่ออกมาก็หายตัวไปเสียแล้ว”  อะไรคือเครื่องมือของธารปัญญา  วงจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยกกำลังสาม  บวกคว้าและบันทึก  เรียนรู้ก่อน -  เพื่อนช่วยเพื่อน  (Peer Assist)  เรียนรู้ระหว่าง – AAR  เรียนรู้ภายหลัง – Retrospect  ชุมชนแนวปฏิบัติ  การสร้างความรู้จากลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ  และการตรวจสอบความรู้   บทที่  8  ฐานข้อมูลความรู้  บทนี้เป็นบทที่แสดงให้เห็นว่า  การจัดการความรู้ต้องมีฐานข้อมูลความรู้  (Knowledge Base)  ทราบว่า สิ่งที่บรรจุอยู่ในฐานข้อมูลความรู้มีอะไรบ้าง  มีคำที่น่าสนใจที่จะทำความเข้าใจ  อาทิ  หน้าเหลือง (Yellow Page)  ชุมชนแนวปฏิบัติ  (Cop – Communication of Practice)  เรื่องเล่า  (Storytelling)  ขุมความรู้  (knowledge  Assets)  แก่นความรู้  (Core Competence)  ตารางแห่งอิสรภาพ  (Self – Assessment table)  บล็อก  (Blog หรือ Webblog)   บทที่  9  เครือข่ายการจัดการความรู้  บทนี้ผู้อ่านจะได้ทราบถึงวิธีการสร้างเครือข่ายการจัดการความรู้  เครือข่ายการจัดการความรู้ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  พื้นที่ประเทืองปัญญาของเครือข่าย  ทั้งพื้นที่จริง  (Real Space) เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ F 2 F (Face to Face)  และพื้นที่เสมือน  (Virtual Space)   เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ  B 2 B  (Blog to Blog)

          บทที่  10  ทางแห่งความล้มเหลว  และบทที่  11  ทางแห่งความสำเร็จ  ใน  2  บทนี้  ผู้เขียน    ได้เขียนให้เห็นถึงทางแห่งความล้มเหลวไว้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร  อาทิ  หลงของปลอม  หลงใช้ทฤษฎี “ขนมชั้น”  ภาวะผู้นำที่บิดเบี้ยว  วัฒนธรรมอำนาจ  ไม่เปิดโอกาสให้ทดลองวิธีใหม่ๆ  ไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงภายนอก  ไม่คิดพึ่งตนเองด้านความรู้  เป็นต้น  และแนวทางของความสำเร็จ  อาทิ  สร้างนวัตกรรมใหม่   สร้างวิสัยทัศน์ร่วม  เรียนลัด  จัดพื้นที่หรือเวที  พัฒนาตน  ระบบให้คุณให้รางวัล  จัดทำขุมความรู้  เป็นต้น 

          และบทสุดท้ายคือ  การจัดการความรู้ในสังคมไทย : กรณีความสำเร็จ  ในบทนี้ผู้อ่านจะเห็นตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการความรู้ของหน่วยราชการ  ภาคประชาสังคม  และภาคเอกชน  ที่ผู้อ่านสามารถศึกษา  วิเคราะห์  และนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการความรู้ในหน่วยงานหรือองค์กรของตนเองได้

          เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระดังกล่าวข้างต้นแล้ว  หนังสือเล่มนี้ได้ให้ความรู้  แนวคิด  วิธีการที่จะนำไปใช้ในการจัดการความรู้ในองค์กรแบบครอบคลุมและครบถ้วนที่แฝงด้วยหลักการ  แนวคิด ตลอดจนวิธีการดำเนินการจัดความรู้ที่ถูกต้อง  ดังที่ผู้เขียนได้ระบุถึงเป้าหมายการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาไว้ว่า  งานพัฒนางาน  คนพัฒนาคน  องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และความเป็นชุมชนในที่ทำงาน

**************************************************************************
1   รองศาสตราจารย์,  อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษา 
คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

คำสำคัญ (Tags): #พินิจหนังสือ
หมายเลขบันทึก: 47581เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 01:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท