๒๓๙.แนวคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาเชิงรุก


ดังนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำดังที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาเชิงรุกอย่างเป็นกระบวนการภายใต้องค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ดียิ่ง

 

     ตลอดระยะเวลา  45  พรรษาในการทำงานอย่างหนักด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้สร้างสรรค์และพัฒนางานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นองค์กร อย่างมีระบบระเบียบ กระบวนการ และที่สำคัญเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะกระทำได้มากอย่างนี้

     จากการดำเนินงานด้านพุทธศาสนาเชิงรุกของพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงทำคุณประโยชน์โดยการขยายพุทธศาสนาออกไปใน  3  ลักษณะ จนชาวโลกยกย่องพฤติกรรมดังกล่าวว่าพุทธจริยา หรือจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนพุทธศาสนาให้ขยายออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด คือ

      1)โลกัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกในด้านต่าง ๆ 

     2)ญาตัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติของพระองค์ อันเป็นเครื่องยืนยันถึงความกตัญญูกตเวทิตาของพระองค์  และ

     3)พุทธัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะที่คนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาได้อย่างมีอิสระเสรีภาพ

     พุทธจริยาทั้งสามประการดังกล่าวนี้ เมื่อทรงกระทำแล้วก็สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้ประโยชน์ทั้งคนใกล้ชิดและผู้ที่อยู่ห่างไกล แต่ในที่นี้จะยกพุทธจริยาวัตรที่เรียกว่า โลกัตถจริยา เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกที่มีผลกระทบต่อสังคมกว้างขวาง และคลอบคลุมมากกว่าพุทธจริยาวัตรด้านอื่น ๆ  กล่าวคือในแต่ละวัน พระพุทธเจ้าจะทรงทำพุทธภารกิจหลัก  5  ประการ เพื่อเป็นพุทธศาสนาเชิงรุกในระดับโลก  (พระราชธรรมนิเทศ 2542 : 47) ดังนี้

     1)เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต (ปุพฺพณฺเห  ปิณฺฑปาตํ) เป็นการเสด็จออกไปโปรดสัตว์โลก ดังนั้นผู้ที่ต้องการบุญย่อมจะมีโอกาสได้ทำบุญ สร้างกุศลโดยการถวายข้าวบิณฑบาตแด่พระพุทธเจ้าในตอนเช้า ๆ

     2)เวลาเย็นทรงแสดงธรรม  (สายณฺเห  ธมฺมเทสนํ) เป็นการแสดงพระธรรมเทศนาให้กับประชาชนและผู้สนใจในการฟังธรรมโดยไม่เจาะจงว่าเป็นใคร ซึ่งหัวข้อธรรมที่พระองค์ทรงแสดงย่อมตอบสนองความต้องการของบุคคลนั้น ๆ ราวกับว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเฉพาะบุคคล  นั้น ๆ เสมือนว่าพระจันทร์ปรากฏเฉพาะบุคคลนั้น ๆ

     3)เวลาค่ำทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุ (ปโทเส  ภิกฺขุโอวาทํ) เป็นการแสดงพระโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องกัมมัฏฐานและข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในหมู่พระสาวกทั้งหลาย

     4)เวลาเที่ยงคืนทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาแก่เทวดา (อฑฺฒรตฺเต  เทวปญฺหนํ) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีภารกิจมากในตอนกลางวันเข้ามาฟังธรรมในตอนกลางคืน อันอาจหมายถึงพวกกษัตริย์ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าสมมติเทพที่ติดภารกิจในตอนกลางวันเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า

     5)เวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูสัตว์โลก (ปจฺจุสฺเสว  คเต  กาเล  ภพฺพาภพฺเพวิโลกนํ) เป็นการตรวจดูสัตว์โลกที่พอจะแนะนำได้ที่อาจจะรู้ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ให้ได้รับผลตามอุปนิสัยและบารมีของตน ๆ

     พุทธภารกิจประจำวันทั้งห้าประการนี้ หากดูให้ดีพระพุทธเจ้าทรงทำพุทธศาสนาเชิงรุกและเชิงรับไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและจังหวะอันเป็นอุปนิสัยของสัตว์โลกนั้น ๆ เช่นพุทธภารกิจข้อที่ 1  และข้อที่  5  เป็นการเผยแผ่เชิงรุกที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกไปหาเป้าหมาย โดยพุทธภารกิจแรกเสด็จไปโดยไม่เจาะจง  ใครก็ได้ที่มีโอกาสก็จะได้สร้างบุญบารมีนั้น ๆ ส่วนพุทธภารกิจที่ห้าเป็นการเสด็จไปหาเป้าหมายโดยการเจาะจงว่าใครสมควรจะได้รับพุทธเมตตาด้วยบารมีของตน ๆ

     ส่วนพุทธภารกิจที่  2,3,4  เป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงกึ่งรับกึ่งรุก หากดูผิวเผินก็จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่กับที่แล้วให้ประชาชนเดินเข้ามาหาเพื่อทำการเผยแผ่  แต่หากพิจารณาให้ดี การเผยแผ่ของพระพุทธเจ้าในลักษณะเช่นนี้กลับมีผลดีเทียบเท่ากับเชิงรุกอย่างน่าสนใจยิ่ง อันเนื่องมาจากประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาเชิงรุก อันอาจหมายถึงผู้นำทุกระดับชั้น ทุกสาขาอาชีพที่เข้ามาฟังธรรม ย่อมมีส่วนร่วมในการเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างภาคภูมิใจโดยการขยายผลจากตัวบุคคลไปสู่คนรอบข้างซึ่งการเผยแผ่ในลักษณะเช่นนี้ย่อมเกิดผลที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และมีพลังมากกว่า  เช่น กรณีของอนาถปิณฑิกะเศรษฐี มิคารเศรษฐี  นางวิสาขา พระนางสามาวดี เป็นต้น

     การทำงานของพระพุทธเจ้าถือได้ว่าเป็นพุทธศาสนาเชิงรุกมาตั้งแต่ต้นยุคพุทธกาลซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงแนวทางตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มการเผยแผ่พุทธศาสนา โดยผู้วิจัยจะลำดับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องประเด็นหลัก ๆ  ดังสถานการณ์ต่อไปนี้

     ประเด็นที่หนึ่ง การตัดสินพระทัยในการทำพุทธศาสนาเชิงรุก หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ ๆ พระองค์ได้เริ่มคิดในการทำงานเชิงรุกโดยจัดกลุ่มประชาชนในโลกนี้ไว้ โดยทรงเปรียบเทียบประชาชน 4  กลุ่มกับดอกบัว  4  เหล่า (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 10, 2539 : 202) ดังนี้

     1)ประชาชนกลุ่มนี้ เรียกว่า อุคฆฏิตัญญู  หมายถึงประชาชนผู้เข้าใจได้ฉับพลัน เปรียบเหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำ ที่พอต้องแสงอาทิตย์แล้วจะบานทันทีในวันนี้ คือประชาชนผู้มีความสามารถเป็นเลิศที่สามารถตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าได้ทันทีที่รับฟังพระธรรมเทศนา

     2)ประชาชนกลุ่มนี้ เรียกว่า วิปจิตัญญู  หมายถึงประชาชนผู้เข้าใจต่อเมื่ออธิบายขยายเนื้อความ เปรียบเหมือนดอกบัวที่เสมอน้ำ ที่รอเวลาบานขึ้นในวันพรุ่งนี้ คือประชาชนผู้มีความสามารถพิเศษที่สามารถตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าได้ ในประเด็นที่ขยายเนื้อความให้ลึกซึ้งมากกว่าประชาชนกลุ่มแรก

     3)ประชาชนกลุ่มนี้ เรียกว่า เนยยะ  หมายถึงประชาชนผู้ที่พอจะแนะนำได้  เปรียบเหมือนดอกบัวที่จมน้ำ  ที่จะมีโอกาสบานในวันต่อ ๆ ไป คือประชาชนผู้มีความสามารถที่สามารถตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าได้ต่อเมื่อได้รับการแนะนำสั่งสอนบ่อย ๆ

     4)ประชาชนกลุ่มนี้ เรียกว่า ปทปรมะ  หมายถึงประชาชนผู้ที่สอนให้รู้ได้เพียงตัวบทหรือพยัญชนะ เปรียบเหมือนดอกบัวที่มีโรค ยังไม่พ้นน้ำ และไม่มีโอกาสที่จะขึ้นมาบานได้  เป็นอาหารของปลาและเต่าเท่านั้น

     นั้นก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงทำการวิเคราะห์ (SWOT) ศาสนาของพระองค์เองเพื่อประเมินสถานการณ์ในขณะนั้น ว่ามีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรและมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ดังนี้

     1)จุดเด่นของการเผยแผ่อยู่ที่ความจริงอันประเสริฐที่สามารถนำไปสู่การดับทุกข์ได้

     2)จุดด้อยของการเผยแผ่คือเป็นธรรมะที่ทวนกระแส ยากต่อการตรัสรู้ตามได้

     3)สิ่งที่คุกคามการเผยแผ่คือลัทธิ ความชื่ออื่น ๆ ตลอดจนถึงวิถีชีวิตและประเพณีดั่งเดิม เช่น ระบบวรรณะ คติเกี่ยวกับการปลงผม คติเกี่ยวกับการบูชายัญ คติเกี่ยวกับการลอยบาป ฯลฯ

     4)โอกาสของการเผยแผ่คือแนวโน้มที่กลุ่มประชาชนที่พอจะเป็นไปได้ในการเข้ามามีส่วนร่วมกับพระองค์มีมากถึง  3  ใน  4  กลุ่ม  คือกลุ่มอุคฆฏิตัญญู กลุ่มวิปจิตัญญู และกลุ่มปทปรมะ

     หลังจากพระองค์ทำการวิเคราะห์จนเห็นจุดเด่น จุดด้อย สิ่งที่เป็นปัญหาและโอกาสความน่าจะเป็นแล้ว  พระองค์จึงเดินตามมรรควิธีที่ทรงวางเอาไว้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน

     ประเด็นที่สอง การเสด็จออกไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง  5  เป็นการทำพุทธศาสนาเชิงรุกครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา โดยทรงพระดำเนินด้วยพระบาทเปล่าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่ตรัสรู้มิใช่น้อย การเสด็จออกไปเผยแผ่พุทธศาสนาครั้งนี้มีนัยสำคัญประการหนึ่งคือบุคคลกลุ่มนี้เป็นนักบวชที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ต้น มีความผูกพันกันมาก่อน และที่สำคัญเป็นกลุ่มคนที่เป็นพยานเห็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาที่นักบวชยุคนั้นนิยมกระทำกัน แต่ได้ผลน้อย พระพุทธเจ้าจึงนำเสนอทฤษฎีใหม่ที่ทรงค้นพบในวันขึ้น  15  ค่ำ เดือน  6  ณ  ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์  อันเป็นการปฏิวัติแนวคิดของคนหมู่มาก นับว่าเป็นการทำพุทธศาสนาเชิงรุกเชิงสติปัญญาอย่างหาที่เปรียบไม่ได้  ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเลือกปัญจวัคคีย์เข้ามาเป็นทีมงานก่อน

     หากมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือนักเผยแผ่มืออาชีพจะเด่น จะดี จะดับก็เพราะคนใกล้ชิด ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่พระพุทธเจ้าต้องนำบุคคลที่ใกล้ชิดพระองค์มาเป็นทีมงานและถือโอกาสทดสอบสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบ นับว่าเป็นการทำ Pre-test เนื้อหาก่อนการเผยแผ่จริง และหลังจากทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้ว  พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระอุทานว่า  “อญฺญาสิ  วต  โภ  โกณฺฑญฺโญ ๆ โกณฑัญญะ  ได้รู้แล้วหนอ ๆ”  นั่นก็หมายความว่าทฤษฎีที่พระองค์ตรัสรู้ใช้ได้ผลจริง มีผู้เห็นตามด้วย ดังนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นบุคคลแรกที่เข้ามาเป็นแนวร่วมของพระพุทธเจ้าและเสนอตัวเข้ามาเป็นทีมงานในพุทธศาสนาเชิงรุกรูปแรกของพระพุทธศาสนาโดยการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการทำงานเชิงรุกพร้อม ๆ กับพระพุทธเจ้า  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นรัตติตัญญู คือผู้รู้ราตรีนาน อันหมายถึงผู้ที่ล่วงกาลผ่านวัยและมีประสบการณ์อย่างมาก

     ประเด็นที่สาม การเสด็จออกไปโปรดยสะกุลบุตร  ที่ต้องการแสวงหาตัวตนและหลีกออกจากปัญหาที่อยู่ในชีวิตประจำวันจนเปล่งวาจาว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ  ที่นีขัดข้องหนอ”    ตลอดถึงการโปรดบิดาของยสะกุลบุตร  ที่ตามหายสะกุลบุตรจนได้เป็นเตวาสิกอุบาสก  คือผู้ถึงพระรัตนตรัยครบทั้ง  3  รัตนะเป็นคนแรกในโลก  จากผลการเสด็จออกไปครั้งนี้ส่งผลให้สหายสนิทของยสะกุลบุตรอีก  4  คน พากันเข้ามามีส่วนร่วมโดยการออกบวชตาม และต่อมาสหายนอกนั้นอีก  50  คนก็เข้าร่วมอุดมการณ์ รวมเป็น  54  นักเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกรุ่นแรกของโลก

     ประเด็นที่สี ทรงจัดองค์กรเพื่อทำพุทธศาสนาเชิงรุกขึ้นเมื่อมีพระสงฆ์สาวกจำนวนมากแล้ว  พระองค์มีนโยบายการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกท่ามกลางภิกษุสาวกทั้ง  60  รูปว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  เราพ้นจากบ่วงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์  แม้เธอทั้งหลายก็เหมือนกัน  จงเที่ยวไปในชนบท  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชน  แต่อย่าไปรวมกันสองรูปโดยทางเดียวกัน  ส่วนเราจักไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน”  นั้นก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงประกาศปรัชญา  พันธกิจ  นโยบาย  และแนวทางปฏิบัติในการเผยแผ่ไปพร้อม ๆ กันคือ

     1)พระพุทธเจ้าทรงวางปรัชญาการเผยแผ่ไว้ที่การบรรลุพระนิพพานก่อน แล้วจึงเผยแผ่สอนแก่บุคคลทั้งหลาย ดังพระดำรัสที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย  เราพ้นจากบ่วงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์  แม้เธอทั้งหลายก็เหมือนกัน” ในประเด็นนี้ทรงเน้นที่อัตตประโยชน์คือบำเพ็ญประโยชน์ตน

     2)ส่วนพันธกิจที่พระพุทธองค์ทรงวางเอาไว้คือเป็นพันธกิจที่นักเผยแผ่จะต้องกระทำเพราะถือว่าเป็นหน้าที่หลักคือการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก ดังพระดำรัสที่ว่า  “จงเที่ยวไปในชนบท” ในประเด็นนี้สาวกของพระองค์ไม่ได้นิ่งอยู่กับที่แต่เป็นการทำงานเชิงรุกที่ต้องเดินเข้าหาประชาชนในที่ต่าง ๆ

     3)พระองค์ทรงวางนโยบายที่ทรงใช้ในการเผยแผ่เชิงรุกก็คือประโยชน์ที่ให้แก่สังคมโดยรวม ดังพระดำรัสที่ว่า  “เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชน” ในประเด็นนี้ถือว่าสำคัญมากทีเดียวเพราะสิ่งที่พระองค์กำลังกระทำถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไร้ค่า ถ้าประชาชนไม่มีความสุขก็ไร้ผล ดังนั้นต้องมีทั้งประโยชน์และความสุขไปพร้อม ๆ กัน และ

     4)ทรงวางแนวปฏิบัติให้กับพระสาวกทั้งหลายเดินก็คือการแยกย้ายกันไปเพื่อให้ทั่วถึง กว้างไกล ไร้ขอบเขตดังพระดำรัสที่ว่า  “แต่อย่าไปรวมกันสองรูปโดยทางเดียวกัน  ส่วนเราจักไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน” ในประเด็นนี้พระสาวกย่อมชัดเจนในแนวทางเพราะพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงไว้แล้ว ไม่คลุมเครือ

     ดังนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำดังที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาเชิงรุกอย่างเป็นกระบวนการภายใต้องค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ดียิ่ง

     ประเด็นที่ห้า การเสด็จออกไปโปรดผู้นำเจ้าลัทธิชฎิล  3  พี่น้องซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนหมู่มากแห่งยุคสมัยมีผู้คนทุกระดับเข้ามาเป็นศิษย์ทั้งระดับกษัตริย์ ระดับขุนนาง ระดับคหบดี และระดับประชาชนทั่วไปจนสามารถทำให้ชฎิลทั้งสามนำบริวารเข้ามีส่วนร่วมอีก  1,000  คน  โดยอุรุเวลกัสสปะพี่ชายคนโตอยู่เหนือคุ้งน้ำ  มีบริวาร  500  คน  นทีกัสสปะ พี่ชายคนรองอยู่กลางคุ้งน้ำ  มีบริวาร  300  คน  ส่วนคยากัสสปะน้องชายคนสุดท้ายอยู่ใต้คุ้งน้ำ  มีบริวาร  200  คน จากสถานการณ์นี้เองที่ทำให้การเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกได้ส่งผลกระทบไปทั่วชมพูทวีปอย่างมหาศาล

     ประเด็นที่หก การเสด็จออกไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยสามารถทำให้พระเจ้าพิมพิสารพร้อมประชาชน  จำนวน  11  นหุต ได้ดวงตาเห็นธรรม  ส่วนประชาชนอีก  1  นหุตเกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วแสดงตนเป็นพุทธมามกะคือผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง  และได้มีส่วนร่วมในการบริจาคถวายวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่เป็นผลมาจากการจับยุทธศาสตร์การเผยแผ่ของพระพุทธเจ้าที่มุ่งสู่แกนนำทุกระดับชั้นก่อนขยายสู่ประชาชนในทุกระดับต่อไป

     ประเด็นที่เจ็ด การเปิดโอกาสให้เพศหญิงเข้ามาบวชในพุทธศาสนาโดยอนุมัติให้พระนางปชาบดีเข้ามาบวชเป็นภิกษุณีรูปแรก นับว่าเป็นการเปิดพุทธศาสนาเชิงรุกรูปแบบใหม่อย่างน่าสนใจยิ่งเพราะสตรีอินเดียสมัยนั้นไม่มีโอกาสออกบวชอย่างนักบวชชายจากลัทธิศาสนาอื่น ๆ นั่นก็หมายความว่าเพศหญิงได้มีส่วนร่วมในพุทธศาสนาเชิงรุกอย่างไม่เคยปรากฏในลัทธิศาสนาใดในประวัติศาสตร์มาก่อน

     ในประเด็นดังกล่าวนี้ แม้จะเปิดโอกาสให้เพศหญิงเข้ามาบวชในพุทธศาสนาก็จริง แต่ถ้าสังเกตให้ดี เพศชายก็ยังมีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาเชิงรุกมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากเพศหญิงมีข้อจำกัดในด้านสรีระมากกว่าเพศชายนั้นเอง

     ประเด็นที่แปด การอนุมัติให้พระประยูรญาติออกผนวช โดยเฉพาะการออกผนวชของสามเณรราหุล นับว่าเป็นการเผยแผ่เชิงรุกในระดับรากแก้ว ที่ทำให้คนทุกระดับชั้น วรรณะ  เพศ วัย  สถานภาพทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามเณรซึ่งถือว่าเป็นเหล่ากอแห่งสมณะแล้ว จะได้รับการฝึกอบรม ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย ๆได้เข้ามาสู่ร่มเงาของพุทธศาสนา นับว่าเป็นวิธีการเผยแผ่ที่ได้ผลมากที่สุดที่จะทำให้ศาสนาของพระองค์มั่นคงตราบนานเท่านาน

     จากประเด็นทั้ง 8 แสดงให้เห็นถึงการทำพุทธศาสนาเชิงรุกของพระพุทธเจ้าที่สำคัญ 3 ประการคือ 1) ทำพุทธศาสนาเชิงรุกโดยการเผยแผ่สู่ระดับผู้นำก่อน เช่น ชฎิลสามพี่น้อง กษัตริย์ เป็นต้น เพราะเมื่อจับยุทธศาสตร์ผู้นำได้แล้ว การจะนำพุทธศาสนาเชิงรุกเข้าสู่ผู้ตามยิ่งเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น  2) ทำพุทธศาสนาเชิงรุกโดยการกระจายพระสาวกสู่กลุ่มชนในพื้นที่ต่าง ๆ เข้าลักษณะ Division  of  work  คือการแบ่งงานกันทำ โดยไม่ให้งานกระจุกอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป  3) ทำพุทธศาสนาเชิงรุกโดยการเผยแผ่แก่พระประยูรญาติ ดังที่กล่าวมาแล้ว

                และผลจากการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกดังกล่าว ทำให้พระพุทธเจ้าได้พุทธบริษัท  4  อันประกอบไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ที่มีความรู้ความสามารถสูง ในพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพญามารที่เข้ามากราบทูลให้ปรินิพพานว่า เราจะไม่ปรินิพพานจนกว่า พุทธบริษัททั้ง 4 คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาของเราจะเฉียบแหลม ได้รับการแนะนำที่ดีจนแกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เมื่อเรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ก็สามารถบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายและยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท (วาทะหรือลัทธิอื่นนอกพุทธศาสนา) ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรม (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 10, 2539 : 113-115)

     นอกจากนี้ยังตรัสอีกว่า  เราจะยังไม่ปรินิพพานจนกว่าศาสนาของเราจะบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 10, 2539 : 115-116) ดังนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำจึงสรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้

                1.ปริยัติ คือการศึกษาเรียนรู้ในพระธรรมวินัยให้กระจ่างแจ้ง สามารถตีความหมายได้ดี ทรงจำได้ด้วยใจ และแสดงได้คล่องปาก

     2.ปฏิบัติ คือการนำพระธรรมคำสั่งสอนนั้นมาลงมือประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง จนสามารถนำความรู้สู่ภาคปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิตที่ผสมกลมกลืนระหว่างวิชชา (ความรู้)และจรณะ(ความประพฤติ)

     3.ปฏิเวธ คือการปฏิบัติจนได้รับผลของการปฏิบัตินั้นกล่าวคือเป็นอริยบุคคลในระดับใดระดับหนึ่ง

     4.การเผยแผ่ คือการที่สามารถบอกสอนได้ จำแนกแจกแจงได้อย่างดี มีทักษะในการอธิบายขยายความ ให้คนทั่วไปเข้าใจตามได้อย่างง่ายดาย

     5.มีปาฏิหาริย์ปราบวาทะของลัทธิศาสนาอื่นได้ คือความสามารถแก้ไขปัญหา ตอบโต้ประเด็นข้อขัดแย้งได้ดี ตามหลักการทางพุทธศาสนา

                ด้วยเหตุที่พุทธบริษัท  4  คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ที่เข้มแข็งนี้เอง ทำให้เจ้าลัทธิศาสนาต่าง ๆ ต้องปลอมเข้ามาบวชในพุทธศาสนาเพื่ออาศัยลาภสักการะ จนนิครนถ์บางส่วนจ้างคนมาทำร้ายพุทธศาสนา เช่นกรณีการลอบฆาตกรรมพระมหาโมกคัลลานะ กรณีของนางกิญจมานวิกาที่กล่าวหาว่าท้องกับพระพุทธเจ้า หรือการท้าทายพุทธศาสนา จนพระพุทธเจ้าต้องแสดงยมกปาฎิหาริย์ เพื่อปราบนักบวชนอกศาสนา เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 475372เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2012 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท