"โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๘) : ช่วงท้ายของชีวิต


บันทึกนี้แสดงช่วงท้ายของชีวิตคุณครู "โกมล คีมทอง" และคุณครู "รัตนา สกุลไทย"

 

 

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

 

ตอนที่ ๘ ... ช่วงท้ายของชีวิต

 

ช่วงท้ายของชีวิต


ในเขตพื้นที่ของเหมืองและหมู่บ้านที่โกมลไปอยู่นั้น เป็นพื้นที่อันตราย เพราะอยู่ในเขตปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งโกมลก็รู้ดี เพียงแต่คิดว่าตนเองอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คิดว่าตนจะเป็นพิษภัยแก่ผู้ใด ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์มีมากเกินไป จนเขาไม่ให้ความสำคัญแก่ปัญหานี้เพียงพอ เขาเคยเขียนจดหมายถึงอาจารย์สุลักษณ์ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๓ เล่าเรื่องดังกล่าวไว้ว่า

“ในช่วงเวลาที่ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ๑๐ วัน มีการยิงกันตายวันละศพ รวมแล้ว ๘ ศพ ข่าวว่าคนยิงนั้นตำรวจคุ้มกันอยู่ด้วยซ้ำ และไม่มีการจับกุมแต่อย่างไร สถานที่ยิงอยู่ห่างจากกิ่งอำเภอไปไม่เท่าไร คนยิงก็รู้เห็นกันอยู่ แต่ไม่มีใครหาญเข้าแสดงตัวว่าเห็นคนยิง ผู้จัดการเหมืองห้วยในเขาอยู่ในสถานะที่น่าเวทนามาก เพราะหวาดกลัวไม่น้อย อดที่จะสงสารไม่ได้ ชาวบ้านเองก็พรั่นพรึงอยู่เช่นกัน เวลาค่ำคืนจะไม่ค่อยออกเดิน งานศพของคนที่ตายเงียบเหงา เพราะไม่มีคนกล้าไป พอคนหนึ่งตาย คนไปเยี่ยมศพถูกลอบยิงตาย คนไปเยี่ยมศพคนถูกลอบยิงตายกลับถูกลอบยิงอีก หลายซับหลายซ้อนกันอยู่อย่างนี้จนเข็ดขยาดกันหมด เราสองคน [โกมลกับสมชาย--ผู้เขียน] ก็อดหวาดตามคนอื่นไปด้วยไม่ได้ แต่ก็ยังเดินกลางค่ำกลางคืนอยู่อย่างเดิม กลับบ้าน ๕ ทุ่ม เที่ยงคืนประจำ คนในบ้านรับรองความปลอดภัยให้ เขาให้คำมั่นว่าชีวิตครูเขารับรองเอง แต่จะไปเชื่ออะไรกันนัก ชีวิตที่นั่นอยู่ด้วยความรู้สึกว่าเราบริสุทธิ์ใจและให้ความจริงใจต่อเขามากกว่า เราเชื่อมั่นอยู่ว่าเราไม่มีอะไรที่เป็นพิษและภัยกับใคร เราก็น่าจะไม่มีภัยด้วย อีกอย่างหนึ่งก็ได้อาศัยความเชื่อในเรื่องกรรม ซึ่งถ้าได้เคยทำไม่ดีเอาไว้ ก็น่าที่จะได้รับการชดใช้กันเสีย จะหลีกเลี่ยงกันอยู่ทำไม หรือหลีกเลี่ยงก็ไม่น่าจะเลี่ยงไปได้ อาศัยหลักยึดเสียอย่างนี้ ก็เลยไม่สู้วิตกอะไรนัก”

 

และยังเคยบอกอาจารย์สุลักษณ์เมื่อเจออุปสรรคและเริ่มรู้สึกท้อถอยว่า ตนอยากกลับเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อร่วมทำ วิทยาสาร กับท่าน ทั้งที่เดิมเขากำหนดเวลาว่าจะอยู่ที่บ้านส้องประมาณ ๒ ปี

ปลายเดือนมกราคม ๒๕๑๔ อุทัยได้ไปเยี่ยมโกมลเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อชวนเขาไปร่วมงานสัมมนาที่กรุงเทพฯ และเขียนเล่าบรรยากาศช่วงนั้นไว้ในข้อเขียนไว้อาลัยว่า

“ข้าพเจ้าค้างคืนกับเขาที่บ้านพักในบริเวณเหมือง แต่เรามีเวลาได้นอนจริง ๆ น้อยมาก คืนนั้นเรานั่งคุยกันท่ามกลางความมืดจนดึกดื่น โดยมีคุณรัตนา สกุลไทย ร่วมสนทนาอยู่ด้วยตลอด ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่า เมื่อข้าพเจ้าพบเขาครั้งนี้เขาเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ดูเขาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น ข้าพเจ้าทราบจากปากเขาว่า เขาเริ่มฝึกสมาธิและอดอาหารในตอนเย็นทุกวัน และความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาให้ความสนใจกับตัวเองน้อยมาก หนวดก็ไม่โกน การแปรงฟันก็ใช้เกลือแกงแทนยาสีฟัน ก่อนที่ข้าพเจ้าจะกลับ เราได้คุยกันจนนาทีสุดท้ายและเขายังเป็นห่วงข้าพเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากในวันที่ข้าพเจ้ากลับนั้น มีกองทหารกำลังทิ้งระเบิดทำลายแหล่งพักพิงของผู้ก่อการร้าย เขาแนะนำให้ข้าพเจ้าเดินจากเหมืองไปขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านพรุกระแชง อยู่ห่างจากบ้านพักของเขาประมาณสองกิโลเมตร ข้าพเจ้าก็เชื่อเขา และเขาได้ยืนดูข้าพเจ้าจนลับตา ข้าพเจ้ามิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า การจากกันครั้งนั้นจะเป็นการจากกันครั้งสุดท้าย หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับจากการเข้าร่วมสัมมนาที่กรุงเทพฯ แล้ว เขามีจดหมายถึงข้าพเจ้า สอบถามเรื่องราวของการสัมมนา จดหมายของเขาลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ นัดแนะและชักชวนข้าพเจ้าไปท่องเที่ยวหมู่บ้านกับเขา โดยกะว่าจะตะลุยไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายในจังหวัดปักษ์ใต้ เพื่อจะได้ดูสภาพความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ข้าพเจ้าตอบจดหมายรับปากเขาไปได้เพียงไม่ถึงอาทิตย์ ก็ได้ทราบข่าวว่าเขาถูกยิงถึงแก่ชีวิต”

 

คุณอุดม เจ้าของเหมืองให้สัมภาษณ์ภายหลัง ซึ่งทำให้เห็นภาพเชื่อมต่อของเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจนขึ้นว่า ประมาณปี ๒๕๑๒-๒๕๑๓ ทางราชการจะตัดถนนจากบ้านนาสารผ่านบ้านส้องถึงอำเภอฉวาง และมาขอรถแทร็กเตอร์ของทางเหมืองไปช่วยตัดถนน ต่อมาอีกปี ทางราชการก็มาขอให้ช่วยทำทางไปหมู่บ้านเหนือคลองเพราะตอนนั้นยังไม่มีถนนขึ้นไป ครั้นตัดถนนเสร็จต้นปี ๒๕๑๔ ทหารจากค่ายทหารในชุมพรก็ยกกำลังพร้อมลากปืนใหญ่ขึ้นไปถล่มพวกคอมมิวนิสต์ที่หมู่บ้านเหนือคลอง ปรากฏว่าบ้านเรือนชาวบ้านถูกเผา ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นก็เลยเกิดความรู้สึกว่าเหมืองไปรับใช้บ้านเมือง ทำให้เขาเดือดร้อน

 

“เผอิญตอนนั้นผู้แทนราษฎรของเขตนั้นที่ชื่อ คุณชอบ พารา ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสมัยจอมพลถนอมว่าทำไมถึงไปปฏิบัติกับชาวบ้านอย่างนั้น เขาต้องการรูปประกอบเรื่อง ผู้แทนคนนั้นก็ไปที่ตลาดบ้านส้อง ไปพบกับเสรี ปรีชา คนขายยาเร่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ บอกว่าได้ตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้สำหรับชาวบ้านแล้ว ช่วยไปถ่ายรูปมาให้ทีสิ เสรีรับปากด้วยนึกเห็นครูโกมลว่ามีกล้องถ่ายรูป ประกอบกับตอนนั้นครูโกมลเคยไปที่หมู่บ้านนั้นหลังจากทำถนนเสร็จ เพราะแกจะเขียนเรื่องลงในวิทยาสารว่าแกเป็นคนตั้งโรงเรียนชุมชนแห่งแรกขึ้นที่เหมืองบ้านส้อง ครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านเหนือคลองก็บอกว่าไม่ใช่แห่งแรกหรอก เขาตั้งก่อน ที่โน่น โกมลก็ไปที่นั่น ได้ไปคุย ก็ได้เรื่องที่จะเขียน และอยากจะถ่ายรูปโรงเรียนประกอบ จึงชวนไปถ่ายรูปด้วย”

 

พวกคอมมิวนิสต์เกิดสงสัยครูโกมล คิดว่าเป็นสายลับปลอมตัวมาสืบราชการลับให้กองทัพบก ประกอบกับทางเหมืองก็รู้เห็นเป็นใจช่วยทางราชการตัดถนนขึ้นไปทางบ้านเหนือคลอง รวมทั้งเสรีเอง ซึ่งขึ้นไปปลูกบ้านอยู่ปากทางเข้าบ้านเหนือคลอง เลยถูกระแวงว่าเป็นการมาอยู่เพื่อติดตามพฤติกรรมชาวบ้าน จึงทำให้ครูสองคน และเสรี คนนำทาง ถูกยิงเสียชีวิต

 

 

 

พจน์ กริชไกรวรรณ ... ผู้เรียบเรียง

ตีพิมพ์ ณ นิตยสารสารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

 

.....................................................................................................................................................

ช่องไฟส่วนตัว ...

 

ช่วงท้ายของชีวิตคุณครู "โกมล คีมทอง" และคุณครู "รัตนา สกุลไทย" เป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลดใจมากที่คนดีคนหนึ่งของประเทศนี้เข้าไปอยู่กึ่งกลางระหว่างความขัดแย้งในระบบการเมืองการปกครองของรัฐ

 

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

......................................................................................................................................................

แหล่งข้อมูล

พจน์ กริชไกรวรรณ.  ประวัติครูโกมล.  http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (๙ มกราคม ๒๕๕๕).

 

......................................................................................................................................................

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 

หมายเลขบันทึก: 474803เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2012 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอร่วมรำลึกถึงครูดีๆที่จากไปแต่กาย..อนุสรณ์แห่งวีรกรรมยังคงอยู่เป็นศรีของแผ่นดิน..ขอบคุณที่นำมาเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันค่ะ

 

ขอบคุณพี่ นงนาท สนธิสุวรรณ เช่นกันครับที่เข้ามาให้กำลังใจทุกตอน

เหลืออีกเพียงตอนเดียวเท่านั้นครับ ;)...

  • ได้อ่านบันทึกดีๆในวันครู
  • ขอบคุณครับ
  • เพิ่งขับรถผ่านบ้านส้องเมื่อวันเสาร์นี้เอง

รู้สึกอินจัง... หายใจลึกๆยาวววๆเข้าไว้

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท