"โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๗) : ความสนใจในศิลปวัฒนธรรม นำไปสู่การรู้จักคุณครู "รัตนา สกุลไทย" เพื่อนร่วมอุดมการณ์


บันทึกนี้แสดงถึงความสนใจต่อศิลปวัฒนธรรมและการเริ่มต้นรู้จักคุณครู "รัตนา สกุลไทย" เพื่อนร่วมอุดมการณ์

 

 

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

 

ตอนที่ ๗ ... ความสนใจในศิลปวัฒนธรรม นำไปสู่การรู้จักคุณครู "รัตนา สกุลไทย" เพื่อนร่วมอุดมการณ์

 

ความสนใจด้านศิลปวัฒนธรรม

 

“พี่เขียนจดหมายฉบับนี้เมื่อฝนตก อากาศเย็นเห็นเม็ดฝนตกลงเป็นสาย อดจะนึกถึงสายพิณไม่ได้ ข้าง ๆ พี่มีเด็กชาวบ้านมานั่งเล่นพวกอุปกรณ์เด็กเล่นอยู่ ๔-๕ คน และแว่วเสียงคำบอกของคนแก่ประจำหมู่บ้านกำลังเล่านิทานพื้นบ้านให้ครูของเราจดเพื่อทำบันทึกเก็บไว้ สภาพทุกอย่างที่นั่นเป็นไปอย่างเนิบนาบ ไม่เร่งร้อน คนหนุ่มมาอยู่ที่นี่จึงน่าจะได้อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ ข้อคือ ความสะดุดหยุดความทะยานอยาก ที่ไม่รู้จะอยากจะต้องการเพื่ออะไรแน่ อีกอย่างหนึ่งสำหรับบางคนอาจจะเห็นชีวิตนี่เป็นชีวิตเฉื่อย เหนื่อยหน่ายน่าเบื่อก็ได้”

 

 

จดหมายถึง สายพิณ หงส์รัตนอุทัย

 

เพียงเดือนกว่าหลังจากโรงเรียนเปิด โกมลก็เริ่มมีปัญหานั่นคือ เขาคิดว่าทางเหมืองไม่พร้อมในเรื่องการสนับสนุนด้านเงินทุน ที่สำคัญคือ เขาคิดว่าเจตนารมณ์ของการก่อตั้งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาขึ้นนั้นแตกต่างกันโดยพื้นฐานของปรัชญาโรงเรียนชุมชน จุดแตกหักอยู่ที่ปัญหาความขัดแย้งกับผู้จัดการเหมืองนั่นเอง เริ่มแต่ปัญหาส่วนตัวระหว่างสมชายกับผู้จัดการเหมือง และการที่ผู้จัดการเหมืองเริ่มเข้ามาแทรกแซงบทบาทการบริหารงานในโรงเรียนของโกมล

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น โกมลก็เริ่มเบนความสนใจไปในเรื่องการสำรวจหมู่บ้าน เขาต้องการค้นหาสิ่งที่ดีงามที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว เพื่อเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นสมบัติสืบต่อ ๆ ไปถึงชนรุ่นหลัง จึงได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้หมดไปด้วยการเยี่ยมเยียนชาวบ้าน เดินขึ้นเขาลงห้วยและบุกป่าฝ่าหนามไปถึงชานเรือนของชาวบ้านทุกหลังคาเรือน ได้ซักถามความรู้สึก ความเป็นอยู่ รายได้รายจ่ายของครอบครัว ความต้องการของแต่ละบุคคล เพื่อจดบันทึกและถ่ายรูปประกอบการจัดทำคตินิทานของชาวบ้านที่นับวันจะสูญหายตกหล่น รวมถึงการเก็บเครื่องมือเครื่องใช้โบราณเพื่อรวบรวมทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน และการที่เขาออกไปอยู่ในชนบทและเคารพนับถือชาวชนบท ทำให้เขาเข้าใจและเคารพศิลปะพื้นบ้านด้วย จนถึงขนาดกระตุ้นให้ชาวบ้านรื้อฟื้นการแสดงการรำมโนห์ราแบบโบราณที่กำลังถูกอิทธิพลของมหรสพสมัยใหม่เบียดจนไม่เหลือพื้นที่ให้ดำรงอยู่ต่อไป โดยทำให้มีชีวิตอยู่ชั่วระยะหนึ่ง พ่อเฒ่าที่เล่นมโนห์ราได้เป็นอย่างดี ที่ตีทับได้เป็นอย่างเก่ง กลับได้แรงกระตุ้นจากคนหนุ่มอีกวาระหนึ่ง ความภูมิใจในของดั้งเดิมกลับมีขึ้นอีกอย่างไม่น่าเชื่อ

เพียงไม่กี่เดือนของการตระเวนสำรวจหมู่บ้าน โกมลกับเพื่อนร่วมงานสามารถรวบรวมนิทานพื้นบ้านได้กว่า ๓๐ เรื่อง ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับมโนห์ราก็มีไม่น้อยกว่า ๑๕๐ หน้า ยังไม่รวมเรื่อง หนังตลุง เพลงกระบอก นิทานสัปดน ซึ่งยังไม่ได้ศึกษา

เข้าใจว่า ความสนใจเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทานเก่าแก่ เรื่องโบราณต่าง ๆ ของโกมลนั้น มีมาแต่เดิม ประกอบกับการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท การได้ออกต่างจังหวัดตามภาคต่าง ๆ ได้พบเจอและพูดคุยซักถามเกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้าน นิทานปรัมปรา เรื่องเล่าต่าง ๆ จากคนเฒ่าคนแก่ซึ่งทรงภูมิปัญญามากมาย รวมถึงขณะเรียนอยู่ชั้นปีสุดท้าย เขามีโอกาสได้เรียนวิชาเบื้องต้นแห่งคติชาวบ้าน กับ อาจารย์เทือก กุสุมา ณ อยุธยา อีกด้วย และมาได้ความรู้เพิ่มเติมจาก อาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ครั้งมาศึกษาดูงานการศึกษาที่สงขลาเพื่อเตรียมจัดชั้นเรียน



และในที่สุดถึงกับเสนอให้อาจารย์สุลักษณ์นำเอามโนห์รามาแสดงให้ชาวไทยและชาวต่างชาติชมที่กรุงเทพฯ จนถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของหมู่บ้านแห่งนั้น ทั้งยังขอให้อาจารย์สุลักษณ์ช่วยหาทุนเพื่อไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกด้วย



จดหมายที่โกมลเขียนถึง อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฉบับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๓ คงบรรยายภาพให้เห็นว่าเขาได้ทำและคิดอย่างไรต่อชาวบ้านบ้าง

“ชีวิตผมที่นั่นได้พบได้เห็นอะไรดีพอสมควร พบคนแปลก ๆ รู้จักคนแปลก ๆ งานออกจะหนักสมบุกสมบัน การกิน การอยู่ การนอน เป็นไปอย่างง่าย ๆ บางทีกินไปด้วยร้องห่มร้องไห้ไปด้วยเพราะเผ็ด บางคืนนอนตากลม ตากยุง ไม่มีแม้ผ้าห่ม เรื่องหมอนเรื่องเสื่ออย่าได้ถามเลย แต่เมื่อคิดถึงผลบางอย่างที่ได้แก่ชาวบ้านแล้ว ก็พอจะเป็นเครื่องปลอบใจได้บ้าง”

 

โกมลกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง ตอนที่พาคณะมโนห์รามาแสดงการรำสาธิตแบบโบราณที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๓ ความรักความผูกพันและความสำนึกในบุญคุณ ทำให้เขาอยากให้นิสิตคณะครุศาสตร์ได้ดูด้วย จึงได้ติดต่อผ่านทางอาจารย์สุมนเพื่อกำหนดเวลากัน แต่บังเอิญมีอุปสรรค คณะมโนห์ราจึงได้แสดงเพียงที่สยามสมาคม คุรุสภา และวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร



อาจารย์สุลักษณ์ บอกว่า เมื่อโกมลนำคณะมโนห์ราขึ้นมา เห็นได้ชัดว่าเขาเข้ากับชาวบ้านได้อย่างไร ว่าความรักใคร่ซึ่งกันและกันมีมากเพียงใด ว่าต่างฝ่ายต่างเคารพกันถึงขนาดไหน ท่านพยายามบริการมโนห์ราคณะนี้อย่างสุดฝีมือ เพื่อไม่ให้โกมลเสียชื่อ และผู้หลักผู้ใหญ่ตั้งแต่เจ้านาย รัฐมนตรี และทูตานุทูต ต่างก็ให้ความสนใจในการแสดงครั้งนี้มาก

“เมื่อโกมลกับคณะมโนห์ราพักอยู่ ณ คุรุสัมมนาคาร ที่ถนนพญาไท นักการศึกษาผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดขึ้นต่อหน้าข้าพเจ้าและตัวเขาว่า ถ้าใครมีลูกศิษย์ที่คิดทำการอย่างเสียสละเช่นโกมล คน ๆ นั้นจักชื่อว่าเป็นคนโชคดีมาก โกมลโต้ตอบอย่างถ่อมตัวและอย่างจริงใจที่สุด ว่าเขาเองไม่ได้เสียสละอะไรมากมายถึงเพียงนั้นดอก คำ ๆ นี้ข้าพเจ้ายังจำได้ติดหู แต่ก็ยังรู้สึกว่าทั้ง ๆ ที่เขาพูดจริง แต่เขาก็ทำจริงยิ่งกว่าที่พูดมากนัก”

 

 

รัตนา สกุลไทย

 

ช่วงที่โกมลพาคณะมโนห์รามาแสดงที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๓ เขากับ ชวน หลีกภัย ส.ส.หนุ่มจากจังหวัดตรัง ได้รับเชิญจากชมรมศึกษิตเสวนา ให้มาพูดเรื่องปัญหาของคนใต้ให้สมาชิกฟัง ที่ร้านหนังสือศึกษิตสยาม รัตนา ซึ่งในเดือนตุลาคม เพิ่งลาออกจากการเป็นอาจารย์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มาหมาด ๆ และกำลังเตรียมไปสอนภาษาไทยให้กับหน่วยสันติภาพอเมริกันในเดือนเมษายน ๒๕๑๔ ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยกำลังรอบรรจุอยู่ ได้มาร่วมฟังด้วย

รัตนาอายุไล่เลี่ยกับโกมล แต่เรียนเร็วกว่า เธอเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๘๘ ที่บ้านริมคลองมหาสวัสดิ์ ข้างวัดศรีประวัติ ฝั่งธนบุรี เป็นลูกคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้อง ผู้หญิง ๕ คน ผู้ชาย ๒ คน ของนายทองดี และนางอัจฉรา สกุลไทย จบชั้นมัธยมปีที่ ๘ จากโรงเรียนราชินีล่าง รั้วน้ำเงิน-ชมพู สายอักษรศาสตร์ แล้วมาต่อที่รั้วชมพู-เทา ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๐๕ เมื่อเรียนจบเธอได้เกียรตินิยมอันดับ ๒ ต่อมาเข้าเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๘-๒๕๑๓ ที่สถาบันเดิม

สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชินี เพื่อนร่วมรุ่นเคยกล่าวถึงรัตนาไว้ในหนังสือรุ่นว่า เธอชอบวรรณคดีไทยมาก และมักไปเดินเลือกซื้อหนังสือโบราณที่สนามหลวงเป็นประจำ

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า สมัยที่รัตนาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ เคยซื้อขนมจากแม่ค้าหาบเร่ ต่อมาเธอถูกผู้ใหญ่เรียกไปเตือนทำนองว่าการกินของจากหาบกับพื้นนั้น ไม่สมศักดิ์ศรีของอาจารย์ ขออย่าให้ทำเช่นนั้นอีก

เธอเป็นผู้หญิงร่างเล็ก สวมแว่นสายตา ปกติเธอเป็นคนขรึม ไม่ค่อยพูดจายิ้มหัวกับใครนัก ออกจะเป็นคนจริงจังกับชีวิต มีความคิดความเห็นเป็นของตนเอง จนบางคนมองว่าเธอเป็นคนแปลก ๆ มีบุคลิกที่ไม่เหมือนใคร ความจริงการแสดงออกของเธออาจเป็นผลเนื่องจากความไม่สมหวังในสภาพสังคมที่เธอมีส่วนร่วมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรอบระเบียบหรือการบริหารงานบางอย่างในระบบราชการ การลาออกจากการเป็นอาจารย์เพื่อไปเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือให้แก่หน่วยสันติภาพฯ คงเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาสังคมที่เธอใฝ่ฝัน เมื่อมีโอกาสแวะมาเยี่ยมโกมลที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา จึงได้สัมผัสชีวิตชนบทอันงดงาม ได้พบกับความซื่อใสของเด็ก ๆ และความจริงใจของชาวบ้านซึ่งอยู่ห่างไกลความเจริญ จากจดหมายของเธอที่มีมาถึงครอบครัวและเพื่อนฝูง เธอบรรยายถึงความสนุกสนานเมื่อได้มาเล่นกับเด็ก ๆ หรือเมื่อดูจากภาพถ่ายก่อนเธอเสียชีวิตไม่นาน ก็คงเห็นได้ชัดเจนว่าบรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนที่ประสบการณ์ดังกล่าว ได้ช่วยทำให้เธอกล้าที่จะมองโลกด้วยความหวังมากยิ่งขึ้น

 

อาจารย์สุลักษณ์เคยเขียนถึงรัตนาว่า

“แม้ข้าพเจ้าจะรู้จักเขาในระยะสั้น แต่ก็รู้ได้ว่าเขาเป็นตัวของเขาเอง ยิ่งกว่าที่จะยอมให้ระบบหรือสังคมดูดกลืนเขาไป เขาต้องการค้นหาสาระหรือแก่นแท้ของชีวิต อาจจะมุทะลุหรือพูดไม่เข้าหูคน แต่เขาเป็นคนที่มีความจริงใจเป็นอย่างมาก และในหลายกรณีเขาเป็นคนที่น่าสงสารมาก เขาเป็นคนยากนักที่สังคมไทยสมัยนี้จักพยายามเข้าใจ และเขาก็ไม่เข้าใจสังคมอันเหลวเละเฟะฟอนนี้ด้วย เขาลงไปสวนโมกข์เพื่อจะไปแสวงหาสัจธรรม และเขาไปหาโกมลซึ่งเขาก็เพิ่งได้รู้จัก เพื่อไปรับใช้เพื่อนมนุษย์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะหาสาระให้แก่ชีวิต แต่แล้วก็ต้องไปจบชีวิตลงเสียก่อน”

 

ในวันที่พบกันครั้งแรกนั้น โกมลได้เล่าเรื่องงานของตนเองที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา รัตนาเมื่อฟังแล้วรู้สึกสนใจ และซาบซึ้งในสิ่งที่เขาริเริ่ม จึงปวารณาตัวว่าจะไปช่วย ในที่สุดทั้งคู่ก็ติดต่อกัน และมีโอกาสไปเยี่ยมโกมลที่เหมืองบ้านส้องราวปลายเดือนมกราคม ๒๕๑๔

ต่อเหตุการณ์นี้ อาจารย์พุทธทาส แห่งวัดธารน้ำไหล เคยเล่าให้คณะที่ไปร่วมงานย้อนรอย ๒๐ ปี โกมล คีมทอง ฟังเมื่อต้นปี ๒๕๓๔ ว่า

“แรกเริ่มเดิมทีเดียวนั้น เขาแวะมาที่นี่ทุกครั้งก่อนที่จะไปเข้าป่า มีเพื่อนสตรีมาคนหนึ่งด้วย ชื่อคุณรัตนา คุณโกมลก็มาคุยกับอาตมา เพื่อนสตรีนั้นก็ไปคุยกับคุณเฉิน หงส์สนันทน์ อุบาสิกาแก่ ๆ ที่ทางเขตอุบาสิกาโน้น แล้วอาตมาก็คุยกับคุณเฉินว่ามันยังไงกันที่จะเข้าไปแสดงบทบาทในป่าอย่างนี้ สารภาพตรง ๆ ว่าเต็มไปด้วยความวิตกกังวล เป็นห่วงว่าจะเป็นอันตราย แต่เมื่อมองในแง่ที่ว่า โอ๊ย ! ช้างมันไม่มีใครฉุดให้หยุดได้ ที่หยุดมันไม่มี ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ก็เลยไม่ได้แสดงความคิดเห็นในทางที่จะคัดค้านอย่างไร ได้แต่พูดไปตามประสาคนแก่ที่ไม่รู้อะไรมากมายว่า ระวัง ๆ เท่านั้นแหละ ระวังให้ดี ๆ ระวังให้สุขุมให้รอบคอบ คุณโกมลได้แวะมาที่นี่ไม่น้อยกว่า ๔-๕ ครั้ง แม้ประเดี๋ยวประด๋าวก็อุตส่าห์แวะมาก่อนที่จะเข้าไปในป่า”

 

 

 

พจน์ กริชไกรวรรณ ... ผู้เรียบเรียง

ตีพิมพ์ ณ นิตยสารสารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

 

.....................................................................................................................................................

ช่องไฟส่วนตัว ...

 

คุณครู "โกมล คีมทอง" ให้ความสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเรื่องราวที่ทำให้ใกล้ชิดชาวบ้านมากขึ้น อีกทั้งยังได้มีโอกาสรู้จักคุณครู "รัตนา สกุลไทย" ผู้ร่วมอุดมการณ์ ที่ประวัติได้แสดงถึงความเด็ดเดี่ยวและน่าทึ่ง ถือเป็น ผู้หญิงเหล็ก ในสมัยนี้

วิชา แหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยคุณครู "โกมล คีมทอง" ถือเป็นผู้บุกเิบิกของการศึกษาไทยเลยทีเดียว

 

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

......................................................................................................................................................

แหล่งข้อมูล

พจน์ กริชไกรวรรณ.  ประวัติครูโกมล.  http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (๙ มกราคม ๒๕๕๕).

 

......................................................................................................................................................

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 

หมายเลขบันทึก: 474752เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2012 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อรุณสวัสดิ์วันครูค่ะคุณครูเสือ...

ผู้ร่วมอุดมการณ์(อุลตร้าแมน..อิ อิ)

แวะมาสวัสดีวันครูค่ะ..

มีความสุขมากมาย (งดดุ 1 วัน) นะคะ...^_^

สวัสดีวันครูครับ พี่พยาบาล สีตะวัน ;)...

วันนี้งดดุ เพราะไม่ได้สอน อิ อิ

ขอบคุณมากครับพี่ ;)...

ถึงครู...ด้่วยดวงใจ...สุขสรรค์วันครู..ตลอดกาลครับ..

นมัสการพระคุณเจ้า Phra Anuwat

ขอบพระคุณมากครับท่าน ;)...

 

ครูดีมีวิชาน่านิยม

ศิษย์ชื่นชมส่งใจรักเป็นนักหนา

ทั้งสอนสั่งศีลธรรมและจรรยา

ช่วยนำพาชีวาเป็นสุขเอย

..........................,....

นงนาท สนธิสุวรรณ

๑๖ มกราคม ๒๕๕๕

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม

 

ขอบคุณมากครับ พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ ;)...

  • สวัสดีคุณครูค่ะ และขอบคุณสำหรับบันทึกดี ๆ เพื่อเชิดชูครูค่ะ
  • ได้ทั้งความรู้ ความรัก ศรัทธาและหลักธรรม ครบอรรถรส ไม่แปลกใจเลยค่ะที่มาจากฝีมือพ่อพิมพ์ผู้เป็นเสาหลักของ G2K

ขอเป็น "เสาไม้จิ้มฟัน" ก็พอมั้งครับ อาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya ;)...

ครูตัวเล็ก ๆ ไร้ร่องรอย เสมือนไร้ตัวตน ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท