"โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๕) : ครูเล็ก ๆ ของแผ่นดิน


เมื่อได้เป็นครูแล้ว คุณครู "โกมล คีมทอง" ทำมากกว่าหน้าที่ของครูที่สอนหนังสือเด็ก ๆ

 

 

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

 

ตอนที่ ๕ ... ครูเล็ก ๆ ของแผ่นดิน

 

ครูเล็ก ๆ ของแผ่นดิน



“เรื่องของโรงเรียนแต่เดิมมา เราทำเป็นแบบสำเร็จรูป ทำแบบออกมาแบบหนึ่งแล้วบังคับใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร เหมือนการตัดเสื้อโหลขายอย่างนั้น ความเหมาะสมไม่ค่อยได้คำนึงถึง แต่การศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำกันง่าย ๆ อย่างการตัดเสื้อโหลหรือตัดชุดทหารเกณฑ์ เราน่าที่จะได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างคนในที่ต่าง ๆ ปัญหาของคนในที่ต่าง ๆ ว่ามีอย่างไร สภาพทางการอาชีพที่แตกต่างกันเหล่านี้ เราควรจะต้องนำมาพิจารณาจัดหลักสูตร จัดเรื่องการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป มากกว่าที่จะจัดให้ทุกอย่างมาอยู่ในฟอร์มหรือแบบเดียวกันหมดทั่วประเทศ นี่เป็นประเด็นกว้าง ๆ ที่อยากจะมาทำเรื่องการโรงเรียนชุมชน”



จดหมายถึง อาจารย์แถมสุข นุ่มนนท์

ฉบับวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓


โกมลใช้เวลาในการศึกษาและดูงานเกี่ยวกับด้านนี้อยู่ประมาณสามเดือน จึงได้ลงมือจัดชั้นเรียน และเปิดทำการสอนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๓ โดยเขาเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนแห่งนี้ ขณะนั้นมีนักเรียนชั้นเด็กเล็ก (อายุ ๕ ขวบ) ๒๔ คน ภายหลังสำรวจพบเด็กอายุเกินเกณฑ์ (อายุ ๘-๑๓ ปี) ไม่ได้เรียนหนังสืออีกจำนวนหนึ่ง จึงจัดชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ ๑ เพิ่ม จำนวนเด็กจึงเพิ่มเป็น ๔๐ คน จัดระบบการศึกษาแบบโรงเรียนชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทยในสมัยนั้น

คำว่า "โรงเรียนชุมชน" ตามความต้องการของโกมล โรงเรียนควรจะมีบทบาทต่อชุมชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นหมายถึงว่าโรงเรียนนี้ไม่เพียงแต่จะตั้งหน้าตั้งตาสอนเด็กไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ต้องการที่จะให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าทุกคนเป็นเจ้าของโรงเรียนนี้ มีสิทธิและมีส่วนรู้เห็น ตลอดจนมาใช้สถานที่ของโรงเรียนในโอกาสต่าง ๆ โรงเรียนชุมชนจึงไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่สอนให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ วิชาที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ก็ไม่จำเป็นต้องสอน ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องกรุงเทพฯ ยุโรป หรืออเมริกา แต่เรียนเรื่องบ้านของตัวเองให้ดีเสียก่อน เช่น การทำนา การทำสวนยาง ฯลฯ เพื่อเด็กจะได้รู้สึกภูมิใจในท้องถิ่นของตัว ไม่ดูถูกภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสร้างสมกันมา ทั้งยังให้การศึกษาแผ่ขยายไปยังผู้ใหญ่ในชุมชนนั้น


ส่วนเรื่องครูผู้ช่วยนั้น โกมลก็มิได้ยึดเรื่องวุฒิเป็นหลัก ดังชาวบ้านธรรมดา ๆ เช่น ลุงเฉย ฉิมพลี ก็ถูกชักชวนให้มาสอนเรื่องศิลปะ เรื่องศีลธรรม แก่เด็กนักเรียนด้วยเช่นกัน โดยช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๑๓ ก่อนเปิดเรียน เขาขอให้ลุงเฉยวาดภาพเพื่อทำอุปกรณ์การสอน เมื่อโรงเรียนเปิด ก็ขอร้องให้ลุงเฉยเป็นครูพิเศษอยู่เดือนหนึ่ง ต่อมาจึงเลื่อนมาเป็นครูประจำชั้น โดยใส่ชุดชาวนาไปสอนหนังสือ แต่หลังจากโกมลเสียชีวิต ทางเหมืองก็ไม่ได้รับลุงเฉยเป็นครูเพราะไม่มีวุฒิ ป้าแจ้ว ฉิมพลี ซึ่งเป็นภรรยาเล่าเรื่องลุงเฉยให้ฟังภายหลังว่า ลุงเฉยเป็นคนพูดเก่ง เรียนจบเพียงชั้นประถมสี่ แต่เคยบวชเรียนจนสอบได้นักธรรมโท หลังจากสึกก็ไปเป็นทหาร ไปรบที่เชียงตุง เชียงราย ก่อนเสียชีวิตในปี ๒๕๑๙ ลุงเฉยได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้ ลุงเฉยยังรำมโนห์ราได้ ทั้งเมื่อมีงานศพ ก็ร้องเพลงกระบอกให้ด้วย


ครูผู้ช่วยอีกคน คือ สมชาย เลขวิวัฒน์ นั้น จบการศึกษาจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เดิมเจอกับโกมลครั้งแรกบนขบวนรถไฟเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๓ ขณะที่สมชายไปสวนโมกข์ ส่วนโกมลไปบ้านส้อง เมื่อถูกอัธยาศัยกัน โกมลจึงชวนมาร่วมทำงานที่โรงเรียน ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๓ สมชายมาถึงที่เหมือง โกมลจึงให้ช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ การสำรวจเด็ก การชักชวนชาวบ้านให้เห็นความสำคัญของการส่งเด็กมาเรียน ต่อมาภายหลัง ทั้งคู่ก็ออกตะเวนเยี่ยมตามบ้านของชาวบ้าน ได้เจอศิลปิน กวี นักเล่านิทาน ฯลฯ



ในการออกตระเวนตามหมู่บ้าน โกมลได้เห็นว่า เด็กซึ่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ มานาน ๒-๓ ปี ก็ยังอ่านหนังสือได้ แต่ปัญหาที่พบคือ เขาไม่มีหนังสืออ่าน เมื่อเรียนจบแล้วก็ออกมาทำนาทำสวน ความรู้ทางหนังสือที่เรียนมาจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ เขาจึงมีความคิดที่จะสอนเรื่องวิชาชีพให้แก่นักเรียนและชาวบ้านด้วย เช่น การทำไร่ข้าวโพด ไร่กาแฟ การเพาะเห็ดฟาง การปลูกไม้ผล หรือการเลี้ยงไก่ รวมถึงการทำแปลงผักในโรงเรียน เพราะเขาคิดว่าอาจเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านนำไปทดลองทำสวนครัวของตนเอง แต่อย่างน้อยเขาก็คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนบ้าง ดังที่เขาเคยเขียนไว้ในข้อเขียนเรื่อง “สวนครัว” ว่า

“การสวนครัวนั้น น่าที่จะช่วยแก้และต่อเติมจุดบกพร่องทางการศึกษาได้ไม่น้อย ขณะที่ทำแปลงยกร่องผัก เด็กจะได้รู้จักการทำงานร่วมกัน การร่วมมือร่วมแรง และรู้จักคุณค่าของการทำงานออกแรงขุดดิน ซึ่งงานขุดดินการศึกษาทุกวันนี้ สอนให้ดูถูกและเหยียดหยามตลอดมา”


ในจดหมายฉบับวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๓ ถึงไพฑูรย์ โกมลพูดถึงเรื่องส้วม และเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งแม้แต่ในยุคที่เริ่มมีการปฏิรูปทางการศึกษาแล้ว ก็ใช่ว่าจะยอมรับแนวคิดนี้กันได้ง่าย ๆ

“ผมกำลังให้เขาขุดส้วมหลุมตามแบบของ Unesco ที่ราคาถูกที่สุดและมิดชิดมากที่สุด เพื่อใช้ส้วมหลังนี้ในโรงเรียนของเรา และเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านไปด้วย อาจารย์คงนึกออกว่าสภาพชาวบ้านของเราโดยทั่วไป วิธีถ่ายของเขาทำอย่างไร ชาวบ้านไม่ใช้ส้วมเลย ซึ่งถ้าไม่เดือดร้อน คือไม่เกิดอะไรขึ้น ผมก็ไม่เห็นมีความจำเป็นอย่างไร ที่จะต้องให้เขามีส้วม แต่นี่เพราะไม่ใช้ส้วมแล้วทำเอาผมเดือดร้อนอีกด้วย"


“เรื่องมีอยู่ว่า ผมจะต้องคิดหาเครื่องแบบนักเรียน และต้องมาสะดุดอยู่ที่รองเท้า ผมตั้งปัญหาถามตัวเองว่า มีความจำเป็นเพียงไรที่จะต้องมีรองเท้า เด็กที่นั่น ตั้งแต่เล็กจนโตไม่ต้องสวมรองเท้า เขาก็อยู่กันมาได้ ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีใครกลัวว่าเท้าจะร้อนจะพอง เพราะธรรมชาติเสริมให้เท้าของแกหนาเพียงพอ อย่างนี้แล้วเราจะไปเกณฑ์ให้แกเดือดร้อนเพื่ออะไร พ่อแม่แกก็เดือดร้อน เราให้แกสวมเพราะว่านั่นเป็นฟอร์มที่กระทรวงกำหนดไว้หรือเพื่อความสวยงาม ถ้าเป็นสองอย่างนี้ ผมก็ไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องไปบังคับให้ใช้ ความสวยงามของเครื่องแบบก็เป็นแต่เรื่องที่สมมุติขึ้น ถ้าเรากำหนดว่าเครื่องแบบควรมีแต่เสื้อกับกางเกง หรือผ้าถุง แล้วเราบอกว่าอย่างนี้แหละสวย มันก็น่าจะสวย นี่ผมคิดว่าบางอย่างที่ไม่มีเหตุผลพอ เราก็ควรจะตัดออกเสียบ้าง ยึดมากถือมากหนักแย่ไปเลย ปล่อยเสียบ้างก็น่าจะสบายขึ้น"


“ผมพูดเรื่องส้วมกับเรื่องรองเท้าขึ้นมา เพราะในที่สุดมาได้เหตุผลขึ้นว่า เด็กชาวบ้านเป็นโรคพยาธิกันมาก เพราะสาเหตุคือ การถ่ายไม่เป็นที่ ไม่มีส้วม และไม่มีรองเท้า จึงแพร่เชื้อโรคนี้ได้ง่าย เด็ก ๆ ยิ่งเป็นกันมาก ผมก็เลยได้เหตุผลที่จะบอกให้เด็กต้องมีรองเท้าสวมใส่”


ทั้งเขายังมีความคิดจะเปิดหลักสูตรพิเศษสำหรับชาวบ้านด้านการดูแลสุขภาพของตนเอง เรื่องการปฐมพยาบาล โดยนำเด็กหญิงที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และอยู่บ้านเฉย ๆ มารับการอบรม รวมถึงเรื่องการฝึกอาชีพด้านการตัดเย็บแก่ผู้หญิงในหมู่บ้านด้วย ครูของโรงเรียนชุมชนจึงเป็นทั้งผู้สอน พัฒนากร และอนามัยไปในตัว

นอกจากนี้ ยังคิดจะบรรจุศิลปะพื้นบ้านทางปักษ์ใต้เข้าไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนชุมชนแห่งนี้ด้วย เป็นต้นว่า มโนห์รา หนังตะลุง เพลงกระบอก กลอนประเภทต่าง ๆ เพลงหนัง ลิเกย่อ และคตินิทานชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านที่มีความรู้เป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่บรรดานักเรียนน้อยซึ่งเป็นลูกหลานของตนเอง


ส่วนการสร้างอาคารของโรงเรียน ตลอดจนเครื่องเล่นต่าง ๆ สำหรับเด็ก โกมลคิดใช้วัสดุพื้นบ้าน เช่น ไม้ไผ่ หวาย ดังบ้านพักครูช่วงแรก ก็สร้างด้วยไม้ไผ่เช่นกัน นอกจากนี้ เขายังทำห้องสมุด ซึ่งมิใช่สำหรับเด็กเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านก็สามารถมาร่วมใช้หาความรู้ได้อีกด้วย

โรงเรียนชุมชนของเขาจึงสอดคล้องและเป็นไปเพื่อชุมชนนั้นอย่างแท้จริง


 

พจน์ กริชไกรวรรณ ... ผู้เรียบเรียง

ตีพิมพ์ ณ นิตยสารสารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

 

.....................................................................................................................................................

ช่องไฟส่วนตัว ...

 

"ครูไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่ต้องพัฒนาชุมชนให้เจริญไปพร้อม ๆ กับโรงเรียนและเด็กนักเรียนด้วย"

คุณครู "โกมล คีมทอง" กำลังทำเช่นนั้น

หากเดี๋ยวนี้ ก็ืืคือ การออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่น

 

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

......................................................................................................................................................

แหล่งข้อมูล

พจน์ กริชไกรวรรณ.  ประวัติครูโกมล.  http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (๙ มกราคม ๒๕๕๕).

 

......................................................................................................................................................

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 

หมายเลขบันทึก: 474582เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2012 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • อ่านแล้วมีพลังมากเลยค่ะ
  • เหมือนได้กลับไปเป็นสาวรุ่นอีกครั้ง..อิ อิ
  • มีความหวัง ความฝัน และการพัฒนา
  • ...ขอบคุณคุณครูโกมล2 ค่ะ...^_^

v_v อ่ะ ... พี่พยาบาล สีตะวัน ;)...

ไม่รับตำแหน่งนี้ได้ป่ะ สูงเกินไป

การพัฒนาสุขภาพกายและใจ ฟิลด์พี่ชัด ๆ นี่ครับ อิ อิ

ขอบคุณครับพี่ ;)...

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป ..หากความคิด ความฝัน อุดมการณ์มิเปลี่ยน

แต่อาจปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัย

... ตำแหน่งที่ว่าก็ไม่ห่างไกลกันเลยนะคะท่านอ. วัต

สุขสันต์วันเด็กแห่งชาติคร่าาาาาา...^_^

สวัสดีวันเด็กค่ะอ. เสือใหญ่ (วันนี้งด ดุ ๑ วันเน้อเจ้า :)

นิมิตหมายที่ดี กับหลักสูตรสอดคล้องกับท้องถิ่นค่ะ เมื่อก่อนที่โรงเรียนป๋า มีบ่อปลา มีสระเลี้ยงกบ

ตอนนี้ที่รร. ปู มี ผักสวนครัว รั้วกินได้ กิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาติจะช่วยหล่อหลอมจิตใจเด็กน้อยค่ะ

สิ่งที่ควรสร้างเป็นกระแสระดับชาติ คือ ปลูกฝั่งความคิด ศักดิ์ศรีของมนุษย์เราเท่าเทียม วัดที่ความดี

ทุกสรรพสิ่งในโลกต่างพึ่งพากัน ทุกงานล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญ เราทุกคนคือประเทศนี้ ขอบคุณค่ะ

คำคมกริบเลยนะครับ พี่พยาบาล สีตะวัน ;)...

สุขสันต์วันคนมีหลานเป็นเด็กครับ ;)...

"เราทุกคนคือประเทศนี้" คำใหญ่ด้วยนะครับเนี่ย

ดูหนักแน่นและจริงจังมากเลยวันเด็กนี้

ขอบคุณมากครับ คุณ Poo ;)...

อ้าว อิ่มแล้วงง หรือง่วงหนาเนี่ย เราทุกคน คือ เจ้าของประเทศนี้

เพราะ จะได้ช่วยกัน รัก หวงแหน และ ตอบแทน คุณแผ่นดิน ค่ะ

จริงจัง จริงใจ ไม่ทอดทิ้ง ใคร แน่นอนเจ้า อ. เสือใหญ่ ใจ .. .:)

อิ่มหนมจีนเผื่อแล้ว ลำยามแลง เหงาแย่เลยเนาะอ. เสือ ไม่มีสอน อิ อิ :)

สวัสดีวันเด็กค่ะอาจารย์

ชอบการนำผู้ช่วยที่มีประสบการณ์มาเป็นครูสอนโดยที่ไม่คำนึงมากมายเกี่ยวกับคุณวุฒิ เพราะจริงๆแล้วประสบการณ์มีค่ามากกว่ากระดาษแผ่นนั้นจริงๆ เหตุผลหนึ่งที่ตัดสินใจลาออกจากการสอนมาทำงานในโรงงานเพราะว่าภาควิชาที่สอนในตอนนั้นคือเคมีอุตสาหกรรม และตัวเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ทุกวันสอนจากในตำรา รู้สึกผิดต่อนักศึกษา และรู้สึกว่าเราทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และก็เป็นความจริง หากวันนี้ได้กลับไปสอนอีกครั้ง การสอนของตัวเองคงต่างจากเมื่อสิบปีก่อนลิบลับ

ขอบคุณที่ช่วยนำความทรงจำกลับมาอีกครั้งค่ะ

วันนี้พักให้เต็มอิ่มนะคะ ;)

หากคนไทยคิดถึงการทำเพื่อแผ่นดินเกิดมากกว่าตัวเอง ปัญหาหลายอย่างคงไม่เกิดขึ้นมากเท่าที่เห็น คิดถึงคนญี่ปุ่นต่อแถวรับอาหารหลังเหตุการณ์สึนามิ การสอนให้รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบต่อแผ่นดิน ใช้เวลาปลูกฝังมายาวนาน เหมือนกล้วยไม้ที่กว่าจะออกดอกได้ ช้าเช่นการศึกษา

วันนี้เด็กออกค่ายลูกเสือฯ ยังไม่ได้ออกจากบ้าน ทำอะไรไม่ถูกเลยเนี่ย 555

อ.เสือใหญ่ ใจดีที่สุดในโลก แต่ใจร้ายที่สุดในใจ ;)...

เรียน อาจารย์ ...ปริม ทัดบุปผา... ;)...

ประเด็น "ผู้ช่วยสอน" จากผู้มีประสบการณ์ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในเมืองไทย กับ คนสายอาชีพครูที่ยึดประกาศนียบัตรตามกฎหมาย คงต้องรอดูต่อไปว่า จะมีการปรับระบบ แก้ไขอะไรบางอย่าง ให้ลงตัวเพื่อประโยชน์การศึกษาได้หรือไม่ ต่อไปครับ

แต่สำำหรับอุดมศึกษา ... ไม่มีองค์กรควบคุมมากนัก "ผู้ช่วยสอน" ใช้ประโยชน์ได้ดี หากมีความสามารถ แต่หลัง ๆ ความสามารถพูดถึงทีหลัง เส้นใหญ่พูดถึงมาก่อน ทำให้วิชาการเขว้ไปมากขึ้น

ปี พ.ศ.๒๕๕๘ เปิดเสรีอาเซียนเมื่อไหร่ รับรองได้ว่า ปัญหาของสถาบันอุดมศึกษาสั่นอีกรอบแน่นอน ใครตั้งรับไม่ทัน มีโอกาส สมองไหลกันอีกรอบ แต่ก็ไม่ทราบว่า เขาตั้งรับกันแค่ไหน คงต้องรอต่อไปครับ

ขอชื่นชม "ความเป็นคนจริง" ของอาจารย์ ...ปริม ทัดบุปผา... นะครับ ฟังเรื่องราวการตัดสินใจแล้ว ทำให้ทราบว่า มีคนที่ขาด หิริ-โอตัปปะ อีกเยอะแยะในมหาิวิทยาลัย ความรู้สึกผิดต่อลูกศิษย์น้อยกว่าปัญหาค่านิยมและปากท้อง

วันนี้กำลังมึนครับ ยังไม่ได้ก้าวย่างไปไหนเลย ขอคิดก่อนนะครับอาจารย์ ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

โอ๊... ตื่นเต้น และตื่นตาตื่นใจอย่างไรไม่รู้ค่ะครู

กำลังรู้สึกลึกๆอยู่ว่า ระยะนี้...เราต้องใช้เวลาฝึกฝนอบรมบ่มเพาะพื้นฐานขั้น หยั่งรากให้มั่นคง...

สร้างห้องเรียนเอง...กว่าจะถึงคราแตกหน่อต่อใบ...ทางความคิด คงต้องใช้เวลาไม่น้อย...

ด้วยความรู้สึกว่า ระหว่างเดินตามเสียงของหัวใจ...ความใฝ่ฝันเพิ่มพูนศรัทธานั้น

เหมือนดั่งว่าความคิด ไม่ค่อยปรากฏ!

แต่จู่ๆ ความรู้เหล่านี้ก็หลั่งไหลมา จาก...ทุกสารทิศ

ขอบคุณอย่างยิ่งค่ะครู สาธุจริงๆ

....

...ว่าแล้วก็ขอรบกวนครูตรงนี้เลยนะคะ

อยากได้ "สื่อการเรียนรู้" ของคุณครูพนัส แผ่นดิน

ที่ได้จัดทำสำหรับนักศึกษาหนะค่ะ (ทุกชุด) รวมทั้งที่นำบันทึกไปจัดทำทุกฉบับด้วยค่ะ

เผอิญว่าขณะนี้ กำลังเตรียมตัว เตรียมความพร้อมสำหรับการสมัครเป็นศิษย์ สถาบันอาศรมศิลป์อยู่ค่ะ

คาดว่า ต้องผสานทั้งด้านสุขภาพ...กสิกรรม... การศึกษา...โดยจะทำเป็นโครงงานที่บ้าน... ในชุมชน หมู่บ้านเราเลย

แต่อ่อนซ้อม... หลักการเขียน(รายงาน)อย่างยิ่ง เขียนตามใจหลาย การโยงยังมะลุ่มปุ้มปุ้ย(สะเปะสะปะ)สุดๆ

มีสถาบัน มีศูนย์กลาง จัดกระบวนการ...มีหลัก มีกรอบ กว้างๆ ก็ยังพอมีหวังที่จะฝึกตนพอได้ พอเป็นพอไป พอดีเนาะ :)

ฝากติดต่อคุณครูแผ่นดินด้วยนะคะ และโปรดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งสิ้นพร้อมเลขที่บัญชีหลังไมค์ด้วยค่ะ

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง สาธุค่ะ

ลองติดต่อไปยังคุณแผ่นดินโดยตรง น่าจะได้ข้อมูลที่แท้จริงมากกว่าครับ ;)...

ลองติดต่อตามเบอร์ ที่ลงในหนังสือแล้วค่ะ แต่ติดต่อไม่ได้

จะลองติดต่อผ่าน gmail ดูค่ะ ขอบคุณมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท