"โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๒) : ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ปณิธานความเป็นครู


หลังจากบันทึก "โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๑) : ภูมิหลัง ได้ทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการทำความรู้จักคุณครู "โกมล คีมทอง" ในบันทึกนี้ จะนำเข้าสู่การหล่อหลอมความเป็นครู ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อะไรทำให้คุณครู "โกมล คีมทอง" มีภาพแห่งความเป็นครูที่ชัดเจนมากขึ้น เชิญติดตามครับ

 

 

 

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

 

ตอนที่ ๒ ... ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ปณิธานความเป็นครู

 

 

น้องใหม่ หน้าที่ใหม่

 

การแสดงออกของโกมลเมื่อเริ่มเข้าเรียนที่คณะครุศาสตร์ในปี ๒๕๐๙ นั้น ดูจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษให้แลเห็นเด่นชัดมากนัก นอกไปเสียจากความกระตือรือร้นในความเป็นครูมากกว่าคนอื่น ๆ เขายังคงมองกิจกรรมในคณะฯ และในจุฬาฯ อยู่อย่างห่างๆ ให้ความสนใจกับชุมนุมภาษาไทยที่ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (ปัจจุบัน คือ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ) ทำงานอยู่ ไพฑูรย์เป็นเพื่อนรุ่นพี่ และเป็นผู้ชักชวนให้เขามารู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในเวลาต่อมา นอกจากนี้เขายังสนใจทำหนังสือกับเพื่อนรุ่นเดียวกันจากคณะต่าง ๆ คือหนังสือน้อง ๐๙ (บางคนว่า อนุสารวรรณศิลป์ จุฬาฯ) นำมาขายแก่บรรดานิสิตที่หน้าจุฬาฯ โดยเนื้อหาในนั้น ได้ตีพิมพ์ "จดหมายถึงพ่อคิด" ซึ่งอาจถือได้ว่างานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่เขียนเล่าประสบการณ์ในชีวิตมหาวิทยาลัย

เมื่อได้อ่านสมุดบันทึกประจำวัน ปี ๒๕๑๐ หรือ อนุทิน ๒๕๑๐ ของโกมล จะพบว่า เขาสนใจเรียนภาษาฝรั่งเศส และสังคมศึกษามาก ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้การท่องจำมากทั้งคู่ นี้ทำให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมนุมสังคมศึกษาของคณะตั้งแต่อยู่ปี ๑ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการชุมนุมชุดใหม่ในปลายปีการศึกษานั้น เขากลับพลาดตำแหน่งรองประธาน รวมถึงตำแหน่งหัวหน้าชั้นปีที่ ๒ โดยที่ความขยันขันแข็งในการเรียน ความใฝ่รู้ และการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงงานทางด้านหนังสือ ก็เริ่มส่อแววให้เห็นได้ตั้งแต่ปีแรกนี้

 

จนกระทั่งหยุดภาคเรียนในเทอมปลาย (พฤษภาคม ๒๕๑๐) โกมลได้ไปร่วมค่ายอาสาพัฒนานิสิตนักศึกษาไทย-อิสลาม ที่ค่ายบ้านทอน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถือว่าเป็นการไปค่ายครั้งแรก และที่ปัตตานี ซึ่งมีนาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา (รมต.ว่าการกระทรวงมหาดไทย) รุ่นพี่คณะครุศาสตร์เป็นผู้อำนวยการค่าย เขาเองรับหน้าที่ช่วยงานด้านวิชาการให้กับค่ายนี้ เขาจึงได้ไปรู้ไปเห็นวิธีการจัดและดำเนินการค่าย ทำให้ในเวลาต่อมา โกมลได้เข้าไปร่วมและจัดกิจกรรมค่ายอีกหลายครั้งอย่างสนุกและกระตือรือร้น

นอกจากนั้น ความสนใจใฝ่รู้ทั้งในและนอกห้องเรียนยังชักพาให้เขาไปสมัครเรียนภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเรียนเฉพาะวันอาทิตย์เพียงชั่วโมงเดียว เป็นโอกาสให้รู้จักกับรุ่นน้องผู้หญิงจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่สนิทสนมด้วยคนหนึ่ง ที่ชื่อ สายพิณ หงส์รัตนอุทัย

 

 

ปีที่ ๒ ปีแห่งการศึกษางานค่าย

 

ในช่วงปีที่ ๒ โกมลเริ่มสนิทสนม ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับไพฑูรย์ สินลารัตน์ และอุทัย ดุลยเกษม มากขึ้น ทั้งนี้ โกมลได้ออกจากบ้านญาติมาอาศัยอยู่ที่หอพักธรรมนิวาสถาน แถวถนนวิสุทธิ์กษัติย์ ข้างวัดมกุฎกษัตริยาราม โดยมีอาจารย์วศิน อินทสระ เป็นอาจารย์ผู้ดูแลหอพัก ความมีอิสระจากผู้ปกครองมากขึ้นดังกล่าว ทำให้เขาสามารถทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่

ช่วงปีนี้โกมลเริ่มให้ความสนใจกับการศึกษามากขึ้น โดยอยากรู้ความเป็นไปของการศึกษาในบ้านเมืองว่าเขาทำกันอย่างไร อะไรคือจุดบกพร่องและจุดอ่อน สภาพความเป็นจริงกับสภาพที่เรียน ๆ กันอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร เพื่อนกลุ่มนี้เคยคิดที่จะตั้งชุมนุมวิชาการศึกษาขึ้นในคณะครุศาสตร์ เพื่อร่วมสนทนากันในเรื่องของการศึกษา พากันไปเที่ยวเยี่ยมเยือนโรงเรียนตามที่ต่าง ๆ โดยคิดไกลถึงขนาดว่าอย่างน้อย ๆ ก็จะดึงอาจารย์ที่เคารพนับถือ ให้ไปรู้จักความจริงของสภาพแวดล้อมกับตนบ้าง และคิดกันถึงขนาดที่จะแก้ไขความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของคนในคณะครุศาสตร์ทีเดียว ดังข้อเขียนของโกมลเองเรื่อง "ความว่างเปล่า" ในหนังสือ เพลิงชมพู ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นสูจิบัตรประกอบงานบอลล์ของคณะครุศาสตร์

 

"เคยคิดลามปามมาถึงคณะในฐานะผู้ผลิต ไฉนจึงยัดเยียดให้กันแค่ความรู้ ความคิดที่สำคัญกว่าไม่ได้ให้ การปลูกฝังให้รักและหยิ่งต่ออาชีพไม่มี การสร้างอุดมคติแก่นิสิตไม่มี ด้วยเหตุนี้เมื่อจบออกไปแต่ละรุ่น จึงได้คนทำงานครูเป็น ๖๐% เท่านั้น อีก ๔๐% ถูกกลืนหายเข้าแดนสนธยาไปเสีย ความผิดพลาด ความสูญเสีย ทั้งนี้ทุกคนตระหนัก ทั้งนิสิตและคณะ แต่ไม่เคยเลยที่จะได้เห็นท่าทีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น"

 

จากจุดเริ่มต้นของการคิดตั้งชุมนุมวิชาการศึกษา ผนวกกับความสนใจในกิจกรรมโดยเฉพาะค่ายอาสาเป็นพิเศษนี้เอง ที่เป็นพลังให้โกมลได้ดำเนินการจัดตั้ง "ค่ายพัฒนาการศึกษา" ขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในปี ๒๕๑๑ ที่แปดริ้ว บ้านบางขวัญ ตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเขาเป็นผู้อำนวยการค่าย หลังจากกลับจากค่ายฝึกผู้นำนิสิตนักศึกษาอาสาพัฒนา ที่บ้านนายาง จังหวัดหนองคาย ซึ่งทำให้เขามีเพื่อนต่างสถาบันมาก รวมถึงค่ายอาสาสมัครของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่บ้านหนองแปน บ้านโนนสูง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

โกมลถือได้ว่าเป็นคนแรก ๆ ที่เริ่มตั้งค่ายพัฒนาการศึกษาเฉพาะ คือไปให้การศึกษาเด็ก ไปช่วยโรงเรียน ถือเป็นค่ายแบบใหม่ของสโมสรนิสิตจุฬาฯ (เดิมเป็นค่ายของคณะครุศาสตร์) เพราะมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษามากกว่าเรื่องการสงเคราะห์ หรือการก่อสร้างถาวรวัตถุให้แก่ชาวบ้าน และค่ายนั้นก็ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม นั่นแสดงว่าเขาสนใจในงานอาสาสมัคร งานเสียสละ เท่า ๆ กับงานด้านความคิด ด้านปัญญา

จากประสบการณ์ในงานค่ายนี้เอง อาจเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจไปเป็นครูที่บ้านส้อง อันเป็นสถานที่แห่งสุดท้ายก่อนถูกยิงเสียชีวิต

 

สามทศวรรษต่อมาหลังจากที่โกมลเสียชีวิต ไพฑูรย์เล่าให้ฟังว่า การที่โกมลอยู่ในวงกิจกรรมค่ายอาสา ค่ายการศึกษา ทำให้เขารู้สึกว่าชนบทเป็นสิ่งที่ต้องการการกระตุ้น ผลักดัน แก้ไข เมื่อเขาไปเห็นเด็กต่างจังหวัด ใจหนึ่งนั้นคงนึกเปรียบเทียบกับตนเอง ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดเช่นเดียวกัน เขาคงรู้สึกสะท้อนใจ และคิดว่าต้องให้ความช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส เขาเองมองกิจกรรมนักศึกษาในสมัยนั้นว่าไปทางด้านสนุกสนานเฮฮา จึงคิดว่ามันต้องมุ่งไปสู่สิ่งที่ดีงามกว่านี้ เขาหวังให้น้องใหม่ คนในครุศาสตร์ ได้มองการศึกษา การทำงานในด้านการศึกษา ในภาพใหม่ ๆ คือการที่จะได้เข้าใจความเป็นจริงของการศึกษาที่เป็นอยู่ เข้าใจสังคมที่การศึกษาจะไปมีบทบาท

ทั้งโกมลยังเข้าใจดีว่ากิจกรรมค่ายที่ตนเองทำนั้น มิได้หมายถึงการออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน สงเคราะห์เขา หรือช่วยแก้ปัญหาให้เขา แต่ชาวค่ายเองต่างหากที่เป็นผู้ได้ นอกจากน้ำใจจากชาวบ้านชนบทที่ชาวค่ายได้รับแล้ว ประสบการณ์ไม่กี่วันที่นักศึกษาจากในเมืองได้มีโอกาสไปพบเห็น ได้ร่วมคิด ถกเถียง เปิดมุมมองใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากตำรับตำราต่างหาก ที่จะยังประโยชน์ให้แก่ชาวค่ายในโอกาสอื่น ๆ ต่อไป

 


ปีที่ ๓ ปีแห่งการเรียนรู้โลกภายนอก

 

ชีวิตของโกมลมาเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อตอนเรียนอยู่ปีที่ ๓ เขาใช้ชีวิตเพื่อความรู้และความคิดที่กว้างขวางลึกซึ้งมากที่สุด หลังจากที่คลุกคลีกับงานอาสาสมัครมามากพอควรแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าเขาหันเหชีวิตมาสนใจกิจกรรมทางด้านความคิดความอ่านและปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเริ่มวางมือจากงานค่าย มาติดตามกิจกรรมแทบทุกประเภท โดยเฉพาะด้านการศึกษา เขาแทบจะไม่ขาดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นที่หอประชุมคุรุสภา หอสมุดแห่งชาติ โรงพยาบาลสงฆ์ หอประชุมจุฬาฯ หอประชุมธรรมศาสตร์ และแม้จนหอประชุมเอ.ยู.เอ. รวมถึงได้ร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษาต่างสถาบันอีกด้วย

 

"ชมรมปริทัศน์เสวนา" มีส่วนอย่างสำคัญในการปลูกฝังคุณลักษณะหลายอย่างให้กับโกมล และเขาเองได้เป็นสมาชิกประจำของชมรมนี้อยู่เสมอ ๆ ทำให้เขามีโอกาสพบปะกับผู้รู้และนักคิดต่าง ๆ มากมาย ได้ฟังทัศนะต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างจริงจัง คุณสมบัติประการหลังติดตัวเขาไปตลอดเวลาจวบจนสิ้นชีวิต

"ชมรมปริทัศน์เสวนา" ตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างจริงจัง โดยอาศัยสติปัญญาเป็นเกณฑ์ มิได้ถือขีดขั้นแห่งการศึกษาเป็นเกณฑ์ เด็กนักเรียนมหาวิทยาลัยใด ๆ หรือเด็กนักเรียนโรงเรียนใดใคร่จะมาร่วมก็ได้ ในช่วงแรกได้อาศัยท่านเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุณาเป็นองค์อุปการะ ให้ใช้โบสถ์ร้างของวัดรังษีสุทธาวาสเป็นที่พบปะกัน ต่อมาจึงได้ใช้ร้านหนังสือศึกษิตสยามของอาจารย์สุลักษณ์ที่สามย่านเป็นสถานที่นัดพบ ชมรมดังกล่าวเป็นที่รวมของนักคิด นักเขียน นักกิจกรรม หรือรวมเรียกว่าปัญญาชน โดยต่างมีความคิดเห็นอิสระ ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันได้ แต่สิ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถรวมตัวกันได้ คือ ความรู้สึกไม่พอใจในระบบที่เป็นอยู่ ต้องไม่ลืมว่าสมัยต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ ประเทศไทยยังถูกปกครองโดยกลุ่มเผด็จการทหารต่อเนื่องกันมานานกว่า ๒๐ ปี นับจากรัฐประหาร ๒๔๙๐

 

เมื่อโกมลไปฟังไปถามแล้ว ก็เก็บมาถกเถียงอภิปรายกันกับเพื่อนสนิท สถานที่ถกเถียงอภิปราย นอกจากชมรมปริทัศน์เสวนา ก็มักเป็นห้องอาหารครุศาสตร์ ร้านกาแฟ และแม้กระทั่งบ้านของไพฑูรย์เป็นบางครั้ง เรื่องที่พูดคุยกันนั้นมีสารพัดชนิด แต่ทุกเรื่องก็มักจะมุ่งไปที่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างไร มีคุณค่าเพียงใด ถูกต้องเหมาะสมเพียงใด และจะทำอะไรกันได้บ้าง เป็นต้น

ครั้นเมื่อสมาชิกชมรมปริทัศน์เสวนาหลายคนเรียนจบแล้ว และยังอยากพบปะแลกทัศนะกันเช่นนี้อีกเดือนละครั้งสองครั้ง จึงรวมตัวกันตั้งชมรมศึกษิตเสวนาขึ้นสำหรับผู้ที่พ้นภาระจากการเรียนในสถาบันการศึกษา โกมลร่วมอยู่ในกลุ่มทั้งสองนี้มาเกือบจะโดยตลอด ส่วนรัตนา เพื่อนที่เสียชีวิตพร้อมกับเขา มาร่วมแต่กับกลุ่มศึกษิตเสวนาในระยะท้าย ๆ ของปี ๒๕๑๓

 

ทั้งโกมลและเพื่อนรุ่นพี่ของเขา คือไพฑูรย์ ต่างเห็นคุณค่าและประโยชน์ของชมรมปริทัศน์เสวนาเป็นอย่างมาก ด้วยเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะทำให้นิสิตเป็นอิสระในทางปัญญามากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความมั่นใจที่จะกล้าทำกล้าต่อสู้มากขึ้น ดังนั้น จึงสนับสนุนให้มีกิจกรรมเช่นนี้ขึ้นในสมัยที่โกมลเป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษาของคณะครุศาสตร์ ในชื่อของ "แผนกศึกษาสนทนา" โดยมีอุทัยเป็นผู้ช่วย แต่ก็ทำอยู่ได้ไม่นานนัก หลังจากหมดสมัยของเขาแล้ว กิจกรรมเช่นนี้ก็หมดไป

เมื่อโกมลเป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษาของคณะครุศาสตร์ในปีนี้นั้น เขาได้จัดกิจกรรมทางด้านความคิดและวิชาการขึ้นอย่างกว้างขวาง เขาจัดฉายภาพยนตร์ความรู้ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เชิญวิทยากรภายนอกและภายในมาปาฐกถา อภิปราย จัดทัศนศึกษาภาคเหนือและจังหวัดใกล้เคียง งานชิ้นสำคัญก็คือการจัดสัมมนานักเรียนฝึกหัดครูเรื่อง "บทบาทของครูในสังคมปัจจุบัน" ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ของคณะครุศาสตร์ และของวงการนักเรียนฝึกหัดครู

นอกจากนี้ โกมลยังเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา และเมื่ออยู่ปลายปีที่ ๒ เขาก็เป็นหนึ่งในคณะบรรณกรของ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ ๕ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ อีกด้วย

 


ปีสุดท้าย ปีแห่งการตั้งมั่นตามปณิธาน

 

ขณะขึ้นปีที่ ๔ โกมลได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการนิสิตของคณะให้เป็นสาราณียกรหนังสือต้อนรับน้องใหม่ ครุศาสตร์รับน้อง ๒๕๑๒ ซึ่งทำความว้าวุ่นใจให้กับเขามากพอควร เพราะใจหนึ่งก็อยากทำหนังสือตามที่ตนคิดฝันไว้ว่าจะให้มีเนื้อหาอันทรงคุณค่า มีความถูกต้อง มีความงาม และได้ประโยชน์คุ้ม คือใช้งบประมาณไม่มาก เพราะน้องใหม่ก็หาเงินมาอย่างยากลำบาก โดยปรารถนาจะนำความคิดอันเกิดจากการพูดและถกเถียงกันในเรื่องของคนทำหนังสือมาปฏิบัติ แต่ใจหนึ่งก็กลัวเรื่องการฝึกสอน และเรื่องการเรียน ทั้งนี้มีไพฑูรย์ เพื่อนรุ่นพี่ของโกมล ซึ่งตอนนั้นทำงานสอนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการทำหนังสือ และได้ เทพศิริ สุขโสภา เพื่อนชมรมปริทัศน์เสวนาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ช่วย

หนังสือรับน้องของคณะเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาและรูปแบบที่แหวกแนว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เพราะตามธรรมเนียมการทำหนังสือ ต้องมีพระบรมฉายาลักษณ์ และบทอาศิรวาทสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงหน้าแรก แต่โกมลกลับอัญเชิญพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวกับการศึกษามาลงเป็นหน้าแรกแทน โดยที่เขาไปอ่านพบในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ คอลัมน์ "ลำนำเจ้าพระยา" ซึ่ง นิตยา นาฏยะสุนทร เจ้าของคอลัมน์อัญเชิญมาลงไว้ และรู้สึกประทับใจ จึงอยากให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่คณะซาบซึ้งในวิญญาณครูตามพระบรมราโชวาทนั้นด้วย

 

จากข้อเขียนของโกมลที่ชื่อ "สุนทรพจน์ให้คณะเชียร์" เขาได้บรรยายขั้นตอนการทำหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ได้รวบรวมหนังสืออนุสรณ์จากสถาบันต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๓๕ เล่มมาศึกษา และบอกเล่าจุดมุ่งหมายเชิงอุดมคติของหนังสือต่อนิสิตครูรุ่นน้องว่า

 

"หนังสือนี้ข้าพเจ้ามิได้ทำเพื่อตัวข้าพเจ้าหรือเพราะเห็นแก่ผู้ใด ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะดีและถูกต้องต่อการที่จะทำอะไรเพียงเพื่อเอาใจหรือเพื่อความพอใจให้กับบางคน แต่ได้ทำขึ้นเพื่อให้ท่านได้อ่าน และได้ตระหนักในภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของท่านต่อสังคม ให้ท่านได้เห็นความสำคัญในตัวท่าน ต่อประเทศชาติ ให้ท่านได้รอบรู้เท่าทันกับสภาพสังคม ให้ท่านได้คิด ได้หาจุดมุ่งหมายแน่วแน่ในชีวิต ได้มองออกไป ได้ไถ่ถอนตัวเองออกจากความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ทั้งมวล ได้มองสังคมและโลกด้วยความคิดจะให้จะช่วย แทนที่จะรับและรับดังที่คนส่วนมากเป็นอยู่"

 

ส่วนเพื่อนของโกมลซึ่งชอบทำและเขียนหนังสือเหมือนกันที่ชื่อ เกษม จันทร์น้อย และต่อมาเป็นคนทำหนังสือ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีของจุฬาฯ เอ่ยถึงกรณีนี้ว่า

 

"เมื่อขึ้นปี ๔ ถึงเวลาที่โกมลจะแสดงฝีมือในการทำหนังสือเขียนหนังสือตามทัศนะของเขาเอง ข้าพเจ้าจำได้ติดหูติดตาว่า หนังสือรับน้องใหม่ครุศาสตร์ปีนั้น รูปร่างแปลกแหวกแนวชาวบ้าน และข้าพเจ้าเคารพความคิดของโกมลว่า เขากล้ามากที่ทำอย่างนั้น เพราะการทำหนังสือที่แหวกวงล้อมของคนปัจจุบันออกไปได้แบบนั้น แสดงให้เห็นว่าเขากล้าในสิ่งที่ถูก และเป็นผู้นำในสังคมด้วย ความจริงความคิดของโกมลไม่ใช่ของใหม่สำหรับเวลานั้น หลายคนคิดจะทำแบบนั้น แต่ไม่มีใครกล้า เพราะกลัวถูกตำหนิ ซึ่งมันก็เป็นการตำหนิผิด ๆ นั่นเอง หนังสือเล่มนั้นได้มาตรฐานในสายตานักทำหนังสือด้วยกัน แต่เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความเอาจริงเอาจังในวิชาการ และเป็นแก่นสารอย่างหนักแน่น ตรงข้ามกับของคณะอื่น ๆ ที่ฟุ่มเฟือยและ 'ไม่มีอะไร' ในนั้นเลย เราเคยพูด 'ไม่มีอะไร' ในนั้นว่า หากประหยัดเงินค่าจัดทำลง จะสามารถเหลือเงินเอาไปสร้างโรงเรียนชนบทได้หลายหลัง"

 

ในปีสุดท้ายของชีวิตมหาวิทยาลัย โกมลให้ความสนใจกับกิจกรรมภายนอกมากขึ้น โดยค่อย ๆ ละงานอื่น ๆ เกือบหมด และรับทำงานให้ชมรมปริทัศน์เสวนา จนเขาได้รับเลือกจากบรรดาเพื่อน ๆ ให้เป็นประธานของชมรม ในช่วงปี ๒๕๑๒-๒๕๑๓ ปรากฏว่าเขาเป็นประธานที่เอางานเอาการ จัดทั้งด้านสัมมนา ทั้งด้านปาฐกถาและอภิปราย และช่วงเทอมสุดท้ายในชีวิตการเรียนในห้องสี่เหลี่ยม เขายังรับเป็นบรรณกรให้ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๓

ขณะเดียวกัน โกมลก็เริ่มมีงานเขียนโดยเฉพาะบทความที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและอื่น ๆ ปรากฏเผยแพร่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จำนวนไม่ใช่น้อย ทั้งใน ศูนย์ศึกษา จารุสัมพันธ์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จุฬาฯ สาร เป็นต้น ข้อเขียนของเขานั้นอ่านง่าย มีความไพเราะและนุ่มนวลทางภาษา เพราะเขาเขียนออกมาจากความคิดความรู้สึกของตนเอง ผลงานของเขาจึงเป็นผลงานในทางความคิด พอ ๆ กับในทางภาษา

 

ไพฑูรย์เล่าว่า การเขียนหนังสือ ทำให้โกมลมีโอกาสไปสัมภาษณ์ ไปคุยกับครู กับบุคคลต่าง ๆ ในวงการศึกษา เพื่อเตรียมตัวเป็นครูที่ดี เช่น ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง บุคคลที่เขาไปคุย ไปสัมภาษณ์ ไปติดตามฟังการบรรยาย การอภิปรายตามที่ต่าง ๆ นั้นเอง ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความก้าวหน้าในทางความคิดของเขา โดยบุคคลต่าง ๆ ในชมรมปริทัศน์เสวนาก็มีส่วนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เขาให้ความนับถือและยกย่องในอุดมการณ์และวิธีการ เพราะเปิดโอกาสให้ตัวเขาเองและพรรคพวกได้โต้แย้ง ถกเถียง และคงความเป็นตัวของตัวเองได้ดี จนหลายคนในสถาบันการศึกษาของเขาหาว่าเขาถอดแบบมาจากอาจารย์สุลักษณ์ด้วย ทั้งท่วงทำนองการเขียน ตลอดจนบุคลิกลักษณะ

บุคคลที่โกมลนิยมในความคิดทางการศึกษาคนหนึ่งคือ อาจารย์ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ซึ่งเขาเอ่ยถึงอยู่บ่อย ๆ อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นครูของเขาเอง คือ อาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ผู้เคยสอนวิชาภาษาไทยขณะเขาเรียนอยู่ชั้นปี ๑ และวิชาการศึกษากับสังคม เมื่อเขาอยู่ชั้นปีสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตาม เขาเคารพและนับถือทุก ๆ คนที่ได้ให้ความรู้และความคิดอันกว้างขวางแก่เขา แม้ว่าจะเป็นครูหรือคนเล็ก ๆ ที่ใด ๆ ก็ตาม

 

 

พจน์ กริชไกรวรรณ ... ผู้เรียบเรียง

ตีพิมพ์ ณ นิตยสารสารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

 

.....................................................................................................................................................

ช่องไฟส่วนตัว ...

 

คุณครู "โกมล คีมทอง" ได้รับโอกาสจากเพื่อนและวิ่งเข้าหาโอกาสที่จะเดินตามความฝันของตนในการเป็นครูเพื่อสังคม

อยากเป็นครูเช่นใด ย่อมเติบโตไปเป็นครูเช่นนั้น

โปรดสังเกตครับว่า บุคคลแวดล้อมของคุณครู "โกมล คีมทอง" คือ เบ้าหลอมสำคัญที่ทำให้คุณครูเชื่อมั่นว่า ตนเองได้เดินมาถูกทางแล้ว

ในวงการการศึกษา ผู้ที่มีชื่อในบันทึกนี้ล้วนแต่มีความเก่งกาจในด้านการศึกษาไทยและพัฒนาการสังคมทั้งสิ้น

 

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

......................................................................................................................................................

แหล่งข้อมูล

พจน์ กริชไกรวรรณ.  ประวัติครูโกมล.  http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (๙ มกราคม ๒๕๕๕).

 

......................................................................................................................................................

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 

หมายเลขบันทึก: 474200เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2012 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • เมื่อตอนเรียนครูมีหนังสือโกมล คีมทองหลายเล่ม
  • มูลนิธิโกมล อยู่ซอยช่างทองหล่อ
  • ตรงกันข้ามกับวัดวิเศษการ ที่ผมเคยไปอาศัยอยู่
  • ที่มูลนิธิมีหนังสือหลายประเภทเลยครับ

อืมม อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ;)...

ตอนนี้ผมมีหนังสือของคุณครูโกมลอยู่แค่เล่มเดียว

กำลังตามล่าอีกประมาณ ๓ เล่ม แต่ยังหาไม่ได้เลยครับ

มี "คมความคิดครูโกมล" ๒ เล่ม สงสัยอาจจะต้องสั่งทางสำนักพิมพ์แน่เลย

ขอบคุณมากครับ ;)...

ขอร่วมรำลึกแด่คนดีศรีสังคม ท่านโกมล คีมทองค่ะ

ในมุมมองส่วนตัว เชื่อมั่นว่า การที่เด็กๆ ได้รับการปลูกฝัง ให้อ่านเรื่องราวประมาณนี้ เค้าจะมีมุมคิด บางงครั้งจุดประกาย ได้แรงบันดาลใจ หรือเป็นฮีโร่ต้นแบบ ในใจเลย อย่างเช่น ร่นน้องที่ อ่าน ปุลากง ตั้งแต่เล็ก ก็จะจำฝังใจ และอยากดำเนินรอยตามครู มีมิตรสมัยมหาลัย เค้าได้อ่านหนังสือ จนกว่าเราจะพบกัน ของท่าน ศรีบูรพา จบแล้ว เค้าก็เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต จากหนุ่มหรู ไฮโซ มาเป็นหนุ่มรู้จักคิดมากขึ้น ดีใจแทนค่ะ

สภาพแวดล้อม มีส่วนสำคัญ ... คนดีๆ ย่อมคิดดี ทำดี ไปยังสถานที่มีผู้คน ดีๆ เน้อเจ้า

ยินดีที่ได้อิ่มลำ ยามเย็นอบอุ่นกับคู่รักวัยดึกของอ. เสือ นะคะ :)

ขอบคุณมากครับ อาจารย์ขจิต หนุ่มเชียร์เสื้อขาว ;)...

เปิดแรงบันดาลใจ ใครรับรู้ได้ก็ยังประโยชน์ต่อคนนั้น ใครรับรู้ไม่ได้ คงต้องค้นหาบางสิ่งบางอย่างในชีวิตของตัวเองต่อไป

ขอบคุณมากครับ คุณ Poo ;)...

ขอถามนอกประเด็นนะครับ ทำไมวันพุธอาจารย์ไม่มีสอนเลยครับ 555

นับถืออาจารย์ที่เขียนได้ "มีอะไร" มากมาย ต้องค่อยๆ อ่าน

เรียน อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ;)...

สำหรับภาคเรียนนี้ (๒/๕๔) ช่วงเช้าผมจะมีประชุมกรรมการของคณะฯ

ช่วงบ่าย ผมออกไปดูแลนักศึกษาที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาครับ (แต่หลัง ๆ น่ะ ไม่ค่อยไปตรงเวลาสักเท่าไหร่)

แต่ไ่ม่มีวิชาตัวเองสอนแหละ

ขอบคุณครับ ;)...

มิได้ครับ คุณหมอบางเวลา ป. กุ้งเผา

ผมแค่ทำหน้าที่จัดเอกสารใหม่ให้ดูง่ายเท่านั้นเองครับ

แต่ "มีอะไร" อยู่ในงานเขียนงานนี้

งานเขียนที่ทำให้เราต้องกลับมาถามตัวเอง

หรือระลึกถึงตัวเองตอนที่เรียนปริญญาตรีอยู่

ขอบคุณนะครับ ;)...

ป.ล. อย่าลืมติดตามให้จบนะครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท