พลิกปัญหาเป็นความรู้ เสริมชุมชนสู่เสรีนิยมใหม่


ในยุคที่โลกหมุนเร็วมากขึ้นด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี "ชุมชนท้องถิ่น" ในเขตพื้นที่ ซึ่งเคยมีวิถีชีวิตสงบเรียบง่ายอยู่ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม ต้องเผชิญหน้ากับ "ความเปลี่ยนแปลง"
เร็วมากขึ้นตามไปด้วย แน่นอนว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งกระทบต่อทรัพยากรและชีวิตผู้คนในชุมชนท้องถิ่นอย่างมากเช่นกัน การใช้ ข้อมูล ความรู้ และการมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น  ถือเป็นอาวุธสำคัญซึ่งหลายฝ่ายต่างเห็นว่าจะช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถฝ่าข้ามสถานการณ์ที่ยุ่งยากนี้ไปได้   และ  "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น" ก็เป็นอีก "เครื่องมือ" หนึ่งที่ชุมชนท้องถิ่นนำไปใช้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองอย่างได้ผล..... ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------พื้นที่ ภาคกลาง-ตะวันตก-ตะวันออก เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าไม้อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสาย ในขณะที่ชายฝั่งทะเลก็อุดมด้วย สัตว์น้ำนานาชนิด แต่ในช่วงเวลา 30-40 ปี ที่ผ่านมา ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ "อู่ข้าว อู่น้ำ" ของประเทศ แห่งนี้กลับต้องเผชิญหน้า กับปัญหาสารพัด  ทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทำมาหากินฝืดเคือง รายได้ไม่พอรายจ่าย  ปัญหาสุขภาพ  รวมทั้งการเสื่อมถอยของความเป็นชุมชน ท้องถิ่น อันโน้มนำไปสู่การเกิดปัญหาสังคมของชุมชนท้องถิ่น ในหลายๆ ด้าน ผศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ ผู้ประสานงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าเช่นนี้ การใช้ ข้อมูล ความรู้ และการมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น  ถือเป็น "อาวุธ" สำคัญซึ่งหลายฝ่ายต่างเห็นว่าจะช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถฝ่าข้ามสถานการณ์ที่ยุ่งยากนี้ไปได้ สกว.สำนักงานภาค จึงได้ ริเริ่มงานวิจัยแบบใหม่ หรือ "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น" ที่เปิดโอกาสให้ ชาวบ้านทำวิจัย โดยมีหลักการสำคัญ3 ข้อ ได้แก่ ชุมชนเป็นผู้กำหนดปัญหา หรือโจทย์การวิจัยเอง , เน้นกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน กับผู้เกี่ยวข้อง ,มีการเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยการทดลองปฏิบัติจริง โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนท้องถิ่น  สร้างกระบวนการเรียนรู้ในการหาแนวทางในการจัดการกับปัญหา หรือ สถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยได้เริ่มต้นให้การสนับสนุนโครงการวิจัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันมีโครงการวิจัยทั้งหมดประมาณ 60 โครงการ "ประเด็นที่ชุมชนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก เลือกมาเป็นหัวข้อในการทำวิจัยท้องถิ่นล้วนเป็นปัญหาที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องประตูระบายน้ำ  เป็นปัญหาความขัดแย้งทั้งระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง ชาวบ้านกับกับหน่วยงานภาครัฐและนายทุนผู้ประกอบการ,การหาแนวทางฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง,การศึกษาเปรียบเทียบในการเกษตรยั่งยืนที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพตามแนวเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของคุณภาพดินและสุขภาพอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้สารเคมีและต้นทุนการผลิตสูง,การหาแนวทางจัดการภาวะหนี้สินของชุมชนด้วยการพัฒนาการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์และอีกหลายชุมชนไม่เลือกปัญหาที่มีความขัดแย้งแต่ได้เลือกศึกษาประเด็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรม มาเป็นประเด็นในการสร้างกิจกรรมเพื่อดึงคนให้มารวมตัวกันเป็นกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกันได้มาดำเนินการ" ผู้ประสานงาน สกว.สำนักงานภาค ให้รายละเอียดเพิ่มเติมที่ผ่านมาพบว่า  ผลจากการดำเนินโครงการวิจัยของชุมชนเล็กๆ ในพื้นที่ได้นำไปสู่ การแก้ปัญหาในระดับชุมชนและท้องถิ่น  ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นหลายโครงการยังสามารถเชื่อมโยงการแก้ปัญหาไปถึงนโยบายอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น  ชุมชนแพรกหนามแดง  มีปัญหาความขัดแย้งในการปิด-เปิด ประตูน้ำระหว่างชาวบ้านฝั่งน้ำจืด และน้ำเค็มยืดเยื้อยาวนานมากว่า 20 ปี สามารถคิดค้นแบบ "ประตูระบายน้ำ" ขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีกลไก ที่สอดคล้องกับระบบน้ำของชุมชน ความขัดแย้งจึงคลี่คลายลง ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ของการใช้ข้อมูล และมีความมั่นใจในภูมิรู้ ศักยภาพในการแก้ปัญหาของชุมชนด้วยตัวเอง โดยมีกิจกรรมร่วมคิด ร่วมทำกันอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน องค์ความรู้ ของชุมชนแพรกหนามแดง ถูกยกระดับให้เป็นกรณีศึกษา การจัดการน้ำในระบบนิเวศ 3 น้ำของประเทศ "เนื่องจากชุมชนที่ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีทุนเดิมไม่เท่ากัน ฉะนั้นรูปธรรมความสำเร็จจึงแตกต่างกันไป  แต่สิ่งที่ได้ชัดเจนก็คือ  งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้เข้าไปปรับวิธีคิด และวิธีการทำงานของชุมชนท้องถิ่นต่างไปจากเดิม ประการแรกคือ จากการคิดแบ่งพรรค แบ่งข้าง มาเป็นการคิดแสวงหาความร่วมมือทั้งจากคนในชุมชน  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง พยายามสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ แสวงหาจุดร่วม แสวงหาโอกาส แสวงหาภาคี นักวิชาการผู้สนับสนุน ให้มาแก้ปัญหาร่วมกัน  ซึ่งทำให้การทำงานมีความก้าวหน้าไปได้ ประการที่สองที่สำคัญ คือ ชุมชนเปลี่ยน ความรู้สึก มาเป็น ข้อมูล ความรู้ ซึ่งจะถูกนำไปสู่การวางแผนออกแบบกิจกรรมเพื่อที่ทดลองแก้ปัญหาร่วมกัน หลังจากที่มีการทดลองปฏิบัติก็จะมีการสรุปประเมินผล เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ที่ยิ่งทำก็จะยิ่งมีความรู้มากขึ้นและเก่งขึ้น  งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทำให้ชุมชนสามารถสร้างความรู้  มีความเชื่อมั่น มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง จนกลายเป็นภูมิคุ้มกันตัวเองขึ้นมา สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมีปัญหาใหม่หรือสถานการณ์ใหม่ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ชุมชนก็สามารถจัดการได้ซึ่งนี่คือ หัวใจสำคัญของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น" ผศ.ดร.อาวรณ์ กล่าวสรุป รูปธรรมจากการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นของชุมชนเล็กๆ ในพื้นที่ภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมาศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันงานวิจัยท้องถิ่นจะมีผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังไม่เพียงพอสิ่งที่ต้องเพิ่มเติม คือ ต้องสร้างความรู้ที่นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนของคนทำงานด้วยกัน และสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม คือ การต้องยกระดับความรู้ขึ้นมาไปสู่นโยบาย เป็นกฎหมาย หรือจะนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการทำงานของภาคส่วนต่างๆ  ทั้งหน่วยงานรัฐ  ความรู้ในเชิงนโยบาย และความรู้ที่เป็นสากลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยท้องถิ่น เป็นงานยาว และงานยาก ไม่หวังผลเร็ว อาจต้องใช้เวลาเป็นล้านนาที  พูดกันนานเป็น 5 ปี 10 ปี 20 ปีฉะนั้นจึงต้องอาศัยความอดทน "ทุ่มเทอย่างเต็มที่... แต่ไม่รีบเร่ง" แต่สามารถเก็บผลของงานและประสบการณ์รายทางได้เรื่อยๆ ในที่สุดแล้วด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ด้วยวิธีการที่มุ่งสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อชุมชน ต่อเครือข่ายภาคีท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ จะช่วยให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมได้ต่อไป.
คำสำคัญ (Tags): #ima#it#rsu
หมายเลขบันทึก: 47403เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2006 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท