ดำ เด็กข้างบ้าน 6/2 ชาตรี สำราญ


เมื่อเขียนจินตนาการหลายบรรทัดได้ ต่อไปก็ให้เขียนเรื่องสั้นหลายตอนจบ แต่เขียนแบบ ความเรียงสั้น ๆ ไม่ใช่เขียนแบบเรียงความ ความเรียงสั้น ๆ 5-6 บรรทัดจบตอนหนึ่ง เขียนหลายๆ ตอนจึงจบเรื่องหนึ่ง

ถามว่าจะฝึกให้เด็ก ๆ ผู้เรียน เขียนความเรียงสั้น ๆ 3 บรรทัดอย่างเดียวหรือ ขอตอบว่า เปล่าเลย ถ้าผู้เรียนเขียนความเรียง 3 บรรทัดได้ความดี สั้น กระชับ ใจความชัดเจน อ่านเข้าใจความหมาย ใช้คำได้สมเหตุสมผล คำมีพลัง เร้าใจ ถ่ายทอดความคิดสู่ผู้อ่านตรงประเด็นแล้ว ก็ขยับขึ้นสู่การสอนให้เขียนเรื่องสั้นหลายบรรทัดแบบกลอนเปล่า เช่น

วรธัมม์ ( นามแฝงของพระวรศักดิ์วรธัมโม ) เขียนใน "ฝนประปราย" ว่า

 

ความเป็นมนุษย์*

อย่าให้ชีวิตของเรา

เป็นปัญหาต่อผู้อื่น

อย่าให้ปัญหาของผู้อื่น

เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองใจของเรา

มีอยู่แต่การสัมพันธ์

ช่วยเหลือกันระหว่างมนุษย์

ที่น่าดูน่าชมอย่างยิ่ง

 

การให้*

อย่าคิดถึงแต่ "สิ่งที่จะให้"

จะเกิดการเปรียบเทียบระหว่างของเรากับผู้อื่น

แต่จงดู "ความรู้สึกที่มีต่อการให้"

อันปรากฎแก่จิตเถิด

จะไม่มีเวลามาเปรียบเทียบกับของผู้ใดหรือสิ่งใด

และเป็นการให้ที่แท้จริง

 

*วรธัมม์ ฝนประปราย กรุงเทพฯ.มปป.ธรรมสภา.

 

ถ้าผู้อ่านมีพื้นฐานทางธรรม จะอ่านกลอนเปล่าทั้ง 2 บทนี้อย่างได้อรรถรส และเห็นทางที่จะนำใจไปสู่ความสะอาด สว่าง สงบ วรธัมม์ ใช้ภาษาง่าย ๆ ตรงไปตรงมา แต่ชี้แนะได้ตรงประเด็น เพราะผู้เขียนเข้าถึงธรรมที่เขียน และเข้าถึงคำที่นำมาเขียน ภาษาที่สื่อออกจึงอ่านเข้าใจง่าย

และอีกบทหนึ่งที่หยิบยกมาจาก "นกหนึ่ง" ของ ชาตรี สำราญ ที่เขียนว่า

 

นกหนึ่ง

แน่วแน่.....นิ่งนึก

รอยลึกร่องแผลที่ลำแข้ง

บ่งบอกกาลเวลา

แห่งพันธนาการชีวิต

ห่วงเห็นหมื่นแสนนก

หลงหลับเกาะคอนนิ่ง

ลืมแลพฤกษ์ไพรใหญ่กว้าง

และอิสระแห่งจิตวิญญาณ

หลับอยู่ในความหลับมิรู้ตื่น

 

ลองสังเกตดูคำที่นำมาเขียนเป็นคำง่าย ๆ ธรรมดา ๆ แต่พอนำมาเรียงร้อยแล้ว สามารถจารึกรอยแห่งความเจ็บปวดของผู้เขียนได้ คำง่าย ธรรมดาแต่ทว่ากว่าจะเค้นออกมาเขียนเป็นประโยคแต่ละประโยคยากมาก

นกหนึ่งคืออะไร รอยลึกร่องแผลที่ลำแข้งคืออะไร หมื่นแสนนกคือใคร พฤกษ์ไพรใหญ่คืออะไร คำเหล่านี้ผู้อ่านต้องอ่านแล้วตีความเอาเอง ตรงนี้เองคือเสน่ห์ของการอ่านบทกวี

เมื่อเขียนจินตนาการหลายบรรทัดได้ ต่อไปก็ให้เขียนเรื่องสั้นหลายตอนจบ แต่เขียนแบบ ความเรียงสั้น ๆ ไม่ใช่เขียนแบบเรียงความ ความเรียงสั้น ๆ 5-6 บรรทัดจบตอนหนึ่ง เขียนหลายๆ ตอนจึงจบเรื่องหนึ่ง เช่น ชาตรี สำราญ เขียนเรื่อง "ฟอสซิล" ว่า

 

๑.

เมื่อมีชีวิตอยู่

เจ้ามากประโยชน์ต่อโลก

ครั้นตายไป

ยิ่งเนิ่นกาลนานเวลา

เจ้ายิ่งมีคุณค่าต่อโลก

ฟอสซิล

 

๒.

ฟอสซิล

เจ้าดุจดั่งเฒ่า

ผู้มากด้วยเรื่องราวเล่าขาน

ถึงความเนื่องต่อของสรรพสิ่ง

จากอดีตสู่อดีต

ตามช่วงแห่งธรณีกาล

ที่พ้นผ่านนานนับล้าน ๆ ปี

ซึ่งฝังไว้ใต้พื้นพิภพ

แหละแล้วความลับแห่งโลก

ค่อย ๆ เปิดเผยขึ้นมา

หลังการขุดค้นพบซากเจ้า

ฟอสซิล

 

๓.

เพียงแรกมองเห็น

เจ้าคือ หิน ก้อนหนึ่ง

ที่ขุดได้จากชั้นดินลึกลงไป

แต่เมื่อพิจารณา พบว่า

เจ้ามีเรื่องราวเล่าขาน

ถึงกาลเวลาที่ผ่านพ้น

พบเห็นอัศจรรย์ การก่อเกิดเจ้า

ซากสิ่งที่กลายเป็นหินทั้งหลาย

นับเนื่องแต่ร่องประทับรอยเท้าสัตว์

มูลสัตว์ ถ่านหิน ซากสัตว์

ซากพืช ซากไม้กลายเป็นหิน

นี่คือปรากฎการณ์

ธรรมชาติรักษาธรรมชาติ

ก่อเกิดโดยดินโคลน

และหรือแร่ธาตุบางชนิด

โอบอุ้มหุ้มห่อซากสัตว์ ซากพืช

ไว้ในอ้อมอกแห่งความสมดุลย์

นานนับล้าน ๆ ปี

จนสิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ แปรเปลี่ยนสภาพ

เป็นหิน

ทิ้งรอยพิมพ์ภาพของสิ่งที่หุ้มห่อไว้ ให้เห็น

นี่คือ ฟอสซิล

 

๔.

นานนับนาน นอนเงียบอยู่ใต้แผ่นดิน

ผู้คนเหยียบย่ำผ่านพ้นไปมา

นิ่ง เงียบอยู่อย่างนั้น

จวบจน สมเหตุ และปัจจัย

เจ้าได้รับการขุดค้น มาแสดงให้คนชม

และแล้วเรื่องราว ความเป็นมาของเจ้า

ก็ถูกกล่าวขานถึง ฟอสซิล

นิ่งของเจ้าเหมือนจะบอกว่า

ความดี ความงาม ความจริงนั้น

นานเพียงใดก็ไม่เสื่อมสูญ

เมื่อถึงที่ ถึงเวลาจักปรากฎเห็น

นี่คือ อมตะธรรมจาก ฟอสซิล

 

๕.

ฟอสซิล

นามของเจ้าหมายถึง

"สิ่งที่ขุดได้จากพื้นดิน"

หรืออีกนามหนึ่งว่า

"ซากดึกดำบรรพ์"

อันมีปรากฎเห็นอยู่ในปัจจุบัน

ไม้กลายเป็นหิน

ปลากลายเป็นหิน

หอยกลายเป็นหิน

กระดูกไดโนเสาร์กลายเป็นหิน

และอีกหลากหลายของซากสัตว์ พืช

ที่ขุดขึ้นมาได้จากชั้นดินลึก ๆ

ถ้าหากขุดพบซากสิ่งเหล่านี้ได้ในแหล่งเดียวกัน

มาก ๆ เรียกซากนี้ว่า

" ซากบรรพชีวิน "

นี่คือ อีกนามหนึ่งของเจ้า ฟอสซิล

 

๖.

เจ้าคือ ศิลาจารึก ด้วยมือของธรรมชาติ

เจ้าคือ ตำราประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ที่ยิ่งใหญ่

เจ้าคือ ตำราวิชาการ ธรณีที่ลึกล้ำ

เจ้าคือ ห้องสมุดโลก

เจ้าคือ พิพิธภัณฑ์ของสรรพศาสตร์

เจ้าคือ อนุสาวรีย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์

เจ้าคือ ผู้ยืนยันกฎแห่งไตรลักษณ์

ซึ่งมีมานานนับล้าน ๆปี

ที่ชี้ให้เห็นว่า

สรรพสิ่งทั้งหลายหาได้มีความเที่ยงแท้แน่นอน

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับสลายไป

เพราะเจ้าคือ ฟอสซิล

ซากดึกดำบรรพ์ของกาลเวลา

เจ้าคือ ทางที่เชื่อมอดีต ปัจจุบันสู่อนาคต

 

๗.

เพราะเจ้าคือ ทางแห่งสรรพศาสตร์

ข้าจึงเห็นคุณค่าของเจ้า

มองเจ้าด้วยความเคารพในความเป็นเจ้า

ฟอสซิล

เจ้าควรอยู่ตรงนั้น ตรงที่เจ้าอยู่

อยู่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนหลากหลาย

ที่ใคร่ศึกษาเรียนรู้

ฟอสซิล ขอเจ้าจงอยู่ตรงนั้น ตรงที่เจ้าเคยอยู่

อยู่ตรงแหล่งที่อยู่ของเจ้าต่อไป

อยู่อย่างสงบเถิด ฟอสซิล

 

จะเห็นได้ว่า "ฟอสซิล" เขียนแบบเรื่องสั้น ๆ หลายตอนจบ ผู้เขียนจะต้องมีการวางเค้าโครงเรื่อง เลือกสรรคำเพื่อนำเขียนไว้อย่างดีแล้วจึงเขียน ที่สำคัญที่สุดผู้เขียนจะต้อง รู้เรื่องที่เขียน อย่างดี ดี ขนาดขมวดเป็นความคิดรวบยอดในตอนสั้น ๆ แต่ละตอนได้ และสามารถแสดงความรู้สึกผสมความรู้ทางวิชาการต่อเรื่องที่เขียนในตอนจบได้ จึงจะเห็นได้ว่าการฝึกเขียนความเรียงสั้น ๆ 3 บรรทัดนั้นจะช่วยในการแก้ปัญหาการเรียนรู้ได้อย่างดี ถ้าผู้สอนเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเขียนและเพียรสอนให้เกิดผลบรรลุจุดประสงค์ 

 

 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...


 

หมายเลขบันทึก: 473978เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท