การรับรองรัฐและการรับรองรัฐบาล


การรับรองรัฐและการรับรองรัฐบาล

การรับรองรัฐและการรับรองรัฐบาล

๑. การรับรองรัฐ
การเกิดรัฐใหม่โดยประชาคมที่มีระเบียบในทางการเมืองใหม่ หรือประเทศที่หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมหรือเป็นดินแดนที่เคยอยู่ในความดูแลของประเทศอื่น หรือมีการแบ่งแยกดินแดนของรัฐหนึ่งไปก่อตั้งรัฐใหม่ ย่อมมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรองรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมีทฤษฎีเกี่ยวกับการรับรองรัฐ ๒ ทฤษฎี คือ 
๑.๑ ทฤษฎีประกาศหรือยืนยัน (Declaration Theory)
ทฤษฎีนี้เห็นว่า การที่มีรัฐใหม่เกิดขึ้นเป็นข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบด้วยองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ ประชากร ดินแดน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย ก็แสดงว่ารัฐเกิดขึ้นจริง จึงไม่จำเป็นต้องมีการรับรองรัฐนั้นอีกเพราะไม่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายแต่อย่างใด การรับรองรัฐเป็นเพียงการรับรู้ การประกาศ การยืนยันถึงสภาพความเป็นรัฐใหม่เกิดขึ้นในสังคมระหว่างรัฐเท่านั้น ศาลอนุญาโตตุลาการเคยวินิจฉัยว่า ตามความเห็นซึ่งเป็นที่ยอมรับกันส่วนใหญ่ในหมู่ผู้เขียนตำรากฎหมายระหว่างประเทศ การรับรองรัฐไม่ใช่ทำให้รัฐเกิด แต่เป็นเพียงการประกาศเท่านั้น รัฐดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง และการรับรองก็เป็นเพียงการประกาศถึงการดำรงอยู่ของรัฐซึ่งมีอยู่แล้ว
๑.๒ ทฤษฎีก่อตั้งหรือเงื่อนไข (Constitutive Theory) 
แนวคิดของทฤษฎีนี้ถือว่า การที่รัฐสมาชิกเดิมของสมาคมระหว่างรัฐให้การรับรองรัฐใหม่ ก่อให้เกิดผลที่สำคัญในทางกฎหมาย กล่าวคือ การรับรองทำให้รัฐใหม่มีสภาพความเป็นรัฐที่สมบูรณ์ แม้รัฐใหม่จะมีองค์ประกอบของรัฐ (มีประชากร มีดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน มีรัฐบาล และมีอำนาจอธิปไตย) ก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ จนกว่าจะได้รับการรับรองจากรัฐสมาชิกเดิมของสมาคมระหว่างรัฐ การรับรองจากรัฐอื่นจึงเป็นเงื่อนไข หรือองค์ประกอบของการเป็นรัฐเพิ่มเติมจากองค์ประกอบในเรื่องประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตย
แต่ทฤษฎีก่อตั้งหรือเงื่อนไขอาจก่อให้เกิดปัญหาดังนี้
๑. ตามทฤษฎีนี้ เมื่อรัฐใหม่ไม่ได้การรับรอง ย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ในทางกฎหมายกับรัฐสมาชิกเดิม เช่น ทำสนธิสัญญา รวมทั้งไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และเมื่อรัฐใหม่ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบระหว่างประเทศในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐอื่น
๒. ทำให้รัฐใหม่เป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศเฉพาะกับรัฐเดิมที่ให้การรับรองเท่านั้น รัฐใหม่ก็จะมีเพียงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศกับรัฐเดิมบางรัฐ แต่ไม่มีสิทธิและหน้าที่กับรัฐเดิมบางรัฐ
๓. ขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันของอำนาจอธิปไตยระหว่างรัฐ เพราะทำให้รัฐเดิมมีอำนาจในทางการเมืองเหนือกว่ารัฐใหม่ และใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางการเมือง

๒. การรับรองรัฐบาล
การรับรองรัฐบาลในกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึงเฉพาะการรับรองคณะบุคคลที่เข้ามามีอำนาจกระทำการในนามของฝ่ายบริหารที่ผิดไปจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น การรับรองรองรัฐบาลที่เกิดจากการปฏิวัติ หรือการรับรองรัฐบาลที่มีอำนาจปกครองดินแดนส่วนหนึ่งของรัฐโดยแย่งอำนาจปกครองไปจากรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐ
๒.๑ หลักการรับรองรัฐบาล 
๒.๑.๑ ทฤษฎีความชอบธรรมของรัฐบาล (The Doctrine of Legitimacy หรือ Tobar’s Doctrine) แนวคิดทฤษฎีนี้คือ รัฐไม่ควรรับรองรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม เช่น รัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการปฏิวัติ
ทฤษฎีนี้มีที่มาจากนาย Tobar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเอกวาดอร์ ซึ่งเห็นว่าในทวีปอเมริกาใต้มีการปฏิวัติเป็นประจำ จึงชักชวนประเทศคอสตาริกา ฮอนดูรัส นิการากัว และเอลซัลวาดอร์ ซึ่งอยู่ในอเมริกาใต้ทำสนธิสัญญาเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๑๙๐๗ โดยมีข้อกำหนดห้ามภาคีสนธิสัญญาให้การรับรองรัฐบาลที่ได้อำนาจด้วยการใช้กำลังบังคับ ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ใช้ทฤษฎี Tobar เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการรับรองรัฐบาลของเม็กซิโกที่ได้อำนาจจากการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๓ และไม่รับรองรัฐบาลทหารของอาเจนตินาซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อ ค.ศ.๑๙๖๒
แต่การรับรองรองรัฐบาลโดยใช้ทฤษฎี Tobar มีข้อโต้แย้งว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของรัฐใดรัฐหนึ่งไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมีการใช้กำลังและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชนชาติของรัฐอื่น 
๒.๑.๒ ทฤษฎีประสิทธิภาพของรัฐบาล (The Doctrine of Effectiveness หรือ Estrada’s Doctrine) ทฤษฎี Estrada มีที่มาจากการประกาศของนาย Estrada รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเม็กซิโกเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐ ว่า เม็กซิโกจะไม่อ้าง (ทฤษฎี Tobar) หลักการในการรับรองรัฐบาล เนื่องจากการพิจารณาเห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ถือได้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐ เพราะเรื่องของรัฐบาลเป็นกิจการภายใน ไม่ควรที่รัฐอื่นจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม เม็กซิโกคำนึงเพียงว่ารัฐบาลดังกล่าวเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการควบคุมกิจการภายในของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถทำตามพันธกรณีระหว่างประเทศได้
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลโดยไม่ชอบธรรมนั้น ตามทฤษฎี Estrada รัฐอื่นควรปฏิบัติเพียงดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไปตามปกติ หรือระงับความสัมพันธ์ทางการทูตไว้ชั่วคราวเท่านั้น
ตามปกติแล้วในการรับรองรัฐบาลจะมีการรับรองโดยพฤตินัยก่อน เช่น การแลกเปลี่ยนทูต หรือไม่เรียกทูตกลับ การทำสนธิสัญญากับรัฐบาลใหม่ และการรับกงสุล (แต่การเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศและการส่งกงสุลไม่ถือว่าเป็นการรับรองโดยพฤตินัย) หลังจากนั้นจึงมีการับรองโดยนิตินัย เช่น การส่งโทรเลข จดหมาย หรืออาจทำสนธิสัญญาที่มีข้อกำหนดถึงการรับรองรัฐบาลใหม่

หมายเลขบันทึก: 473796เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท