นกเอี้ยง


บนหลังคาตึกห้านกเอี้ยงด่างฝูงใหญ่ บินโฉบลงมาหากินเหยื่อที่สนามหญ้าหน้าตึก

นกเอี้ยง              บุญช่วย  มีจิต

บนหลังคาตึกห้านกเอี้ยงด่างฝูงใหญ่ บินโฉบลงมาหากินเหยื่อที่สนามหญ้าหน้าตึก  พร้อมส่งเสียงอ้อยอีเอียง ๆ เซ็งแซ่ไปหมดจนฟังไม่ได้ศัพท์  บ้างจิกตีกัน  บ้างแย่งอาหาร บ้างเล่นน้ำจากปลายสายยางที่ภารโรงเปิดรดสนามหญ้าเจิ่งนองไปทั่ว

                สมพงษ์นั่งอยู่บนระเบียงชั้นห้า  มองลงมาเห็นพฤติกรรมของนกเอี้ยงเหล่านี้เป็นประจำ  ถึงแม้จะรำคาญเสียงดังของพวกมันบ้าง  แต่เขาแอบมีสุขลึก ๆ ในใจ  เพราะถึงแม้โรงเรียนที่เขาอยู่จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร  แต่ด้านหลังยังมีทุ่งนา ต้นสน และต้นไม้อื่น ๆ จำพวกมะขามเทศ  และพุทรา พญาสัตบรรณ จึงมีนกนานาชนิดมาอาศัยอยู่จำนวนมาก  โดยเฉพาะนกเอี้ยงฝูงใหญ่  เขามักจะมองออกไปนอกหน้าต่างเก็บเกี่ยวความสุขจากธรรมชาติเสมอ ๆ  เมื่อมีเวลาว่างจากสอน 

                ในคาบโฮมรูมวันหนึ่ง  หลังจากที่นักเรียนบางส่วนที่แต่งตัวผิดระเบียบ  โดยเฉพาะทรงผมที่ไม่แน่ใจว่าเป็นนักเรียนหรือนางแบบนายแบบกันแน่  ที่ถูกครูหัวหน้าหมวดจัดการเอากรรไกรมาตัดให้เป็นรอยแหว่งเว้าไปทั้งหัว  เป็นการตักเตือนว่าผมยาวแล้วนะ ไปตัดได้แล้ว  ขณะที่จะเริ่มอบรมกิริยามรรยาทซึ่งวัน ๆ มีเรื่องต้องพูดแข่งพวกเขาปากเปียกปากแฉะอยู่แล้ว นกเอี้ยง นักเรียนชั้น ม.3 ทับ สิบ ก็กล่าวน้ำขึ้นก่อนว่า

                “  การเรียนจะดีหรือไม่ดีไม่ได้อยู่ทรงผมไม่ใช่หรือ ?”  เธอตั้งกระทู้ถาม

                “ ใช่ ”   สมพงษ์ตอบเรียบ ๆ

                “ แล้วทำไมมายุ่งกับพวกหนู”  เธออภิปรายต่อ

                “ ทำไมไม่ปล่อยให้อิสระ ทำไมไม่เห็นใจวัยรุ่นกันบ้าง เขาก็อยากหล่ออยากสวยเป็นธรรมดา ” นกเอี้ยงพูดต่อโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ครูที่ปรึกษาได้อ้าปากพูดเลย

                และนักเรียนกลุ่มนั้นก็ระบายอะไรออกมาอย่างหมดเปลือก  จนฟังไม่ได้ศัพท์ว่าใครพูดอะไรบ้าง  จนครูสมพงษ์ยกมือห้ามแล้วบอกว่า

                “ เอาละถ้าจะแสดงความคิดเห็น  ให้พูดทีละคน  พูดพร้อมกันมันฟังไม่รู้เรื่อง ”

                เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจเงียบลงพักใหญ่  แล้วก็ดังขึ้นกว่าเดิมว่า

                “ คาบนี้ปล่อยให้โต้วาทีกันไปเลย ”  นกเอี้ยงพูดพร้อมกับหาเสียงไปในตัวกับเพื่อน ๆ ว่า

                “ จริงไหมพวกเรา” 

และมีเสียงรับ

                “ จริง ๆ ๆ ”  ดังเซ็งแซ่

                “ ฟังครูก่อน”  เขาขอโอกาสพูดบ้าง  เพราะนักเรียนกำลังอยู่ในอารมณ์เดือดแทนเพื่อน ๆ ที่ถูกลงโทษด้วยการกล้อนผม  ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่าวิธีการลงโทษแบบนี้จะยังมีอยู่ในระเบียบของทางราชการหรือไม่

                “ ก็เพราะมันผิดระเบียบของโรงเรียนนะสิ  ”  เขาพูดแบบไม่แน่ใจนัก

                “ พวกเธอคิดดูซิ  ถ้าคนข้างนอกเขาเห็นพวกเธอเดินไปด้วยทรงผมแปลก ๆ อย่างนี้จะคิดอย่างไร”  เขาพยายามอธิบาย

                “  ก็บอกแล้วว่า นักเรียนมีหน้าที่เรียน แล้วมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของพวกหนูทำไม ”

                พวกเขาเถียงอย่างไม่ลดละ

                “ ใช่นักเรียนมีหน้าที่เรียนเป็นหน้าที่หลัก  แต่นักเรียนก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียนด้วย ”  ครูสมพงษ์พยายามอธิบายให้อิงกฎระเบียบเข้าไว้

                “ ระเบียบอะไร ระเบียบอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ระเบียบที่บังคับและเหยียบย่ำน้ำใจเด็กอย่างนี้พวกเราไม่ยอมรับ พวกเราต้องใช้อารยะขัดขืน”  นักเรียนกลุ่มนั้นอภิปรายต่อด้วยคำพูดยอดฮิตที่จำมาจากสื่อ

                พอได้ยินคำว่า  “ อริยะขัดขืน”  สมพงษ์ก็สะดุ้ง  เพราะคำ ๆ นี้ดูจะคุ้น ๆ หูและพวกผู้ใหญ่ที่ไม่พอใจอะไรก็ใช้อารยะขัดขืนนำมาใช้ก่อน  เขาไม่นึกว่า ความคิดอย่างนี้จะลุกลามมาถึงเด็ก ม. ต้น อย่างกลุ่มของนกเอี้ยง

“ ถ้าพวกเธอไม่พอใจกฎระเบียบก็มีอยู่สองช่องทาง คือ เข้าพบผู้อำนวยการแจ้งให้ท่านทราบแล้วท่านจะหาทางแก้ไขให้ต่อไป  หรือ อีกวิธีหนึ่ง  พวกเธอก็เลือกสภานักเรียนเข้าไปเป็นตัวแทน และใช้เสียงข้างมากเข้าไปแก้ที่ระเบียบเสียก่อน”

                เขาพยายามระงับความรู้สึกลึก ๆ เอาไว้  พูดด้วยน้ำเสียงปกติ  ไม่แสดงสีหน้า ท่าทางพิรุธออกมาให้เด็กเห็น

                “ วิธีที่ครูว่ามันใช้ไม่ได้  การเข้าพบผู้อำนวยการก็ไม่แน่ใจว่าท่านจะแก้ไขให้หรือเปล่า ดีไม่ดีผู้เข้าพบอาจจะโดนข้อหาก่อความไม่สงบและถูกตัดคะแนนความประพฤติหรือเรียกผู้ปกครองมาพบก็ได้ โรงเรียนนี้เอะอะอะไรก็ตัดคะแนน ตัดคะแนน เอะอะก็เรียกผู้ปกครองมาพบ ”

                กลุ่มของนกเอี้ยงยังไม่ยอมลดราวาศอก ออกความคิดเห็นต่อไปอีกยืดยาว

                จากการแสดงความคิดเห็นในวันนั้นทำให้สมพงษ์ได้รู้อะไร ๆ มากขึ้น  แต่เขาไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยอะไรได้มากไปกว่า  การให้คำแนะนำซึ่งไม่แน่ใจว่า  คำแนะนำบางอย่างของเขาจะไปกระทบเข้ากับใครบ้างหรือไม่ เพราะได้ข่าวว่า  หัวหน้าระดับแต่ละระดับ  ก็มีระดับแห่งความเข้มในกฎระเบียบที่นักเรียนบอกว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันสักเท่าใดนัก  เอะอะไรก็เอาระเบียบมาข่มขู่อยู่เสมอ ๆ  และลงโทษอย่างรุนแรงในความคิดของพวกเขา

                สายแล้ว หมดคาบแรกไปนานแล้ว   ฝูงนกเอี้ยงบินไปหลบแดดที่ต้นไม้หลังโรงเรียน ส่งเสียงอ้อยอีเอียง ๆ มาอย่างมีความสุข  ไม่ยินดียินร้ายกับสังคมรอบข้างที่นับวันจะมีตึกสูง ๆ โรงงานใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ อันจะทำให้พวกมันไม่มีต้นไม้จะเกาะอาศัย  ต้องหอบหญ้ามาทำรังในหน้าจั่วหรือหลังคาตึกแทน

                ในคาบว่าง  สมพงษ์ก็ไปนั่งตรวจงาน เตรียมความพร้อมอยู่ห้องพักของหมวด....เหมือนเช่นเคย

                “ พูดดี นโยบายดี แต่ปฏิบัติไม่ได้”  

นกเอี้ยง อาจารย์หญิงวัยเลยกลางคนไปแล้วเอ่ยขึ้น  เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อคำพูดของท่านผู้อำนวยการที่พูดฝากไว้ในการประชุมประจำเดือนเมื่อวาน

                “ ผู้อำนวยการไม่เข้าใจหัวอกครูผู้สอนบ้างเลย  ”  อาจารย์นกเอี้ยงระบายเอากับทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนั้น โดยไม่สนใจว่า  ใครจะฟังหรือไม่ฟัง  หรือนำไปฟ้องท่านผู้อำนวยการ  หรือ ในใจลึก ๆ แล้วต้องการให้คำพูดของเธอไปเข้าหูผู้อำนวยการด้วยซ้ำไป

                “ อะไร ๆ  ก็มาลงที่ครู ”   อีกคนหนึ่งพูดต่อ

                “ นักเรียนไม่มาเรียน  นักเรียนมาเรียนแต่ไม่เข้าห้องเรียน  นักเรียนเข้าห้องเรียนแต่ไม่ฟังครูสอน  

ผอ.เคยไปเดินดูบ้างไหม ”

                ครูชายที่อาวุโสสูงสุดในหมวดแสดงความคิดเห็นบ้าง

                “ นักเรียนทุกวันนี้มันไม่เห็นหัวครูอาจารย์หรอก  เดินชนกันมันยังไม่ยกมือขอโทษเลย ”

อีกท่านหนึ่งระบายอารมณ์ออกมาอย่างเผ็ดร้อน

                “ สั่งงานอะไรก็ไม่ทำ  การบ้านก็ไม่ส่ง  รายงานก็ไม่มี  แล้วอย่างนี้จะให้คะแนนได้อย่างไร ”

อีกคนพูดถึงความน้อยอกน้อยใจนักเรียนบางกลุ่มที่สำลักเสรีภาพเสียจนครูพูดอะไรไม่ได้ เวลาเรียนก็เอาแต่คุยกัน  เอากีตาร์ขึ้นมาดีดเล่นบ้าง ส่องกระจกทั้งวัน  ฟังแต่บลูทูธ หรือ โทรศัพท์ตลอดเวลา ยังกะมีธุรกิจพันล้านยังไงยังงั้น ไม่เคยสนใจในเรื่องการเรียนการสอนเลย  ทำให้คุณภาพของการศึกษาแย่ลงเรื่อย ๆ

                “ วันครู คือ วันด่าครู ”  อีกคนระบายโพล่งออกมา

                “ ทีวีทุกช่อง พิธีกรทุกคน ตั้งแต่เช้ายันดึก  ด่าแต่ครูอย่างเดียว  โดยเฉพาะพวก....ที่อ้างตนว่าเป็นนักอะไรต่อมิอะไรนั่นยิ่งแล้วใหญ่....อยากให้พวกมันมาสอนดูซิ  จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไหม ”

                “ ทุกวันนี้การปกครองแย่มาก ๆ ทำโทษเด็กก็ไม่ได้ ”    ครูหัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียนพูดบ้าง

ทั้ง ๆ ที่บอกว่าทำโทษเด็กไม่ได้  แต่ยังเห็นนักเรียนยืนโอบเสาให้ตีตูด  หรือ ด่าตะคอก ขู่เข็ญ นักเรียนอยู่เสมอ ๆ หรือทำโทษด้วยวิธีให้ขนหิน ขนทรายจนค่ำมืดเป็นประจำ

                “ เรื่องอย่างนี้จะให้ฝ่ายปกครองและกิจการนักเรียนแก้ฝ่ายเดียวไม่ได้หรอก  มันช่วยกันทุกฝ่าย ”

หัวหน้าฝ่ายปกครองพูดบ้าง

                ดอกไม้สีสดสวย  เสียงเพลงอวยพรวันเกิดจบลง  ก็ถึงวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ  ประธานในที่ประชุมซึ่งก็คือผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นเอง เปิดการประชุมว่า

                “ การจัดการเรียนฟรี 15 ปี จะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ”

                ผู้อำนวยการกล่าวฟันธงเสียงดังออกลำโพง  วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา 

                “ มันจะไม่ได้ผลทางปฏิบัติ ”

                “ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ก็จะต้องถูกยุบไม่น้อยกว่า 2 ห้อง ”

                “ บุคลากรลูกจ้างชั่วคราวก็จะต้องเลิกจ้าง  ครูอัตราจ้างก็จะไม่มี ”

ท่านพูดวาดภาพให้เห็นว่า  จากนโยบายจัดการศึกษาฟรี  ไม่ให้โรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มได้อีกว่า  จะเป็นสาเหตุให้บริหารโรงเรียนไม่ได้  ทำผลสัมฤทธิ์ด้านต่าง ๆ ลดไปด้วย

                “  ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนอะไรทั้งนั้น  ทั้งเสื้อผ้าฟรี อุปกรณ์การเรียนฟรี  จะได้คนละเท่าไหร่ อย่างไร ยังไม่มีอะไรชัดเจนทั้งสิ้น  จะจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ให้โรงเรียนทำเองหรือมาจากเขตพื้นที่ ”

                ท่านผู้อำนวยการกล่าวปรารภต่อที่ประชุมครูประจำเดือน  ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารดีเด่นและวิทยากรระดับต้น ๆ ของเขตพื้นที่การศึกษา  ขอให้ทุกคนเตรียมรับมือกับวิกฤติการศึกษาที่จะเกิดขึ้นต่อไป  และได้แสดงความคิดเห็นอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ อย่างแหลมคมอีกมากมาย

 

 

การประชุมยุติลงไปแล้ว  นักเรียนกลับบ้านเกือบหมดแล้ว เพราะครูประชุมทีไรต้องปล่อยเด็กกลับก่อนด้วยการร่นคาบเรียนทุกครั้ง

                แสงแดดอ่อน ๆ ทอทาบอาคารเรียนเป็นเงาทอดยาวตามแสงตะวัน  มันเป็นบรรยากาศยามเย็น  นกเอี้ยงฝูงเดิมบินมาเล่นน้ำ  หากินเหยื่อ และใช้เป็นที่ระบายอารมณ์จิกตีกัน ส่งเสียงเจื้อยแจ้วดังสนั่นไปทั่ว

                สมพงษ์นั่งเหม่อใจลอยดูฝูงนกเอี้ยงอยู่บนอาคาร  พลางนึกถึงคำพูดของนกเอี้ยงศิษย์รักคนพูดเก่งประจำห้อง  นึกถึงคำพูดของนกเอี้ยงอาจารย์ประจำกลุ่มภาษาไทยผู้มากด้วยประสบการณ์และอุดมการณ์  คำพูดของผู้อำนวยยังดังก้องหูอยู่ตลอดเวลาว่า

เขาเริ่มวิตกกังวลว่า  การศึกษาของไทยล้มเหลวจริง ๆ  หรือ รัฐมนตรีคนแล้วคนเล่า ผลัดกันเข้ามาแล้วแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลยหรือ แล้วใครจะเป็นผู้มาแก้วิกฤติทางการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย   ชี้ตรงไหนก็เจอปัญหาตรงนั้น  หากระบบการศึกษายังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุดแล้วไซร้

ก็คงจะเหมือนกับฝูงนกเอี้ยงที่เอาแต่แหกปากร้องทะเลาะกันตลอดเวลา  โดยไม่คิดเฉลียวใจว่า ต้นไม้และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กำลังจะเปลี่ยนไป  จะต้องไปทำรัง วางไข่ตามซอกตึกและหลังคา  อนาคตของเยาวชนและของชาติจะเป็นเช่นไร  จะเป็นเหมือนนกเอี้ยงฝูงนี้หรือ  เอาแต่ส่งเสียงโพนทะนาต่อว่าผู้อื่นว่า เป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวทั้งหลายทั้งปวง  โดยไม่มองที่ตัวเองว่า  มีส่วนทำให้การศึกษาของชาติทรุดหนักลงไปด้วยหรือไม่ 

                ค่ำมืดสิ้นแสงอาทิตย์แล้ว เหลือแต่แสงไฟสลัว ๆ จากหลอดไฟเก่า ๆ ริมรั้ว ฝูงนกเอี้ยงกลับรังนอนไปแล้ว นักเรียนและครูก็กลับบ้านกันหมดแล้ว  เหลือแต่ความมืดและความเงียบสงัดเข้ามาปกคลุม  สมบูรณ์ยังคงนั่งเหม่อใจลอย  คิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอดทั้งวัน  ไม่สามารถสลัดความคิด ความวิตกกังวลออกไปได้ว่า

อนาคตของการศึกษา  อนาคตของเด็กไทยจะเป็นอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 473750เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านเรื่องนี้จบแล้วอดไม่ได้ที่จะร่วมแสดงความคิดเห็น

ปัญหาเรื่องการศึกษาของประเทศไทยมีมานานมาก ครั้งหนึ่งเคยมีโครงการ "การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัฒน์" สนับสนุนโดยธนาคารกสิกรไทย ต่อมาผู้ร่วมโครงการถูกเรียกว่า "เพื่อนร่วมทางปฏิรูปการศึกษาไทย" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดที่จะร่วมมือกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย แต่ล่วงเลยมาจนถึงป่านนี้การศึกษาของไทยก็ยังจมปลัก

ฉันเคยถามหลายคนว่าการเรียนในระบบการศึกษามีทั้งหมดกี่ปี ปีละกี่วัน วันละกี่ชั่วโมง แล้วบอกพวกเขาว่าถ้าเราฝากอนาคตของชาติไว้กับการศึกษาในระบบ(ยังไม่ต้องคิดถึงว่าระบบล้มเหลวหรือไม่)ก็ถือเป็นความโง่อย่างที่สุดเพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ถ้าเราเข้าใจคำกล่าวที่ว่า "มองกว้าง คิดไกล ใฝ่รู้ และเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยทุกคนเป็นครูทุกที่เป็นห้องเรียน" แล้วจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กก้าวไปในแนวทางดังกล่าว ก็เชื่อว่าคุณภาพการศึกษาไทยคงจะดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มาก

ตลอดชีวิตของฉันแทบไม่เคยได้ยินว่าโรงเรียนจะทำให้นักเรียนเข้าใจถึงเหตุผลที่พวกเขาต้องมาเรียน ทุกวันนี้การไปโรงเรียนมีเหตุผลแคบ ๆ เพื่อ "เรียนหนังสือ" และเราก็ยังปล่อยให้เป็นไปอยู่เช่นนั้น

จะมีประโยชน์อะไรถ้าการศึกษาเพียงแต่สร้างคนที่จะมาทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ แลกกับค่าตอบแทน เพราะการที่สังคมจะอยู่กันอย่างสงบสุขได้นั้นต้องการอะไรมากกว่านั้นมากนัก

ทุกวันนี้การเรียนรู้จากนอกห้องเรียนป้อนและปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดที่ไกลจากความเป็นมนุษย์ให้แก่ทุกคนในสังคมมากขึ้น ๆ โดยไม่มีใครจัดการอะไร จึงไม่แปลกที่คนไทยสมัยนี้จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แค่คำว่า "เหตุผล" เราก็เอาไปปนกับคำว่าเหตุหรือเหตุจูงใจ สะอิดสะเอียนที่สุดเวลาที่ได้ยินใครบอกว่า "เราต่างมีเหตุผลของตัวเอง" โดยเหตุผลที่อ้างเป็นแค่เหตุหรือเหตุจูงใจเท่านั้น และทุกวันนี้ก็ยังมีการสร้างวาทะกรรมและมายาคติผิด ๆ เพื่อประโยชน์แฝงเร้นของผู้สร้างแล้วผู้คนในสังคมก็หยิบมาอ้างในยามที่จะฉกฉวยประโยชน์

ที่น่าสลดใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการศึกษาในระบบคือวิธีคิดที่ใช้ในการวัดผลการศึกษาที่ดูจะสะเปะสะปะไร้ทิศทางขนาดข้อสอบระดับปริญญาตรียังมีคำถามว่า "ใครเป็นผู้แต่งกามนิต-วาสิฏฐี" ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่อาจารย์ช่วยเขียนวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษา

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้คิดจะติเตียนใครแค่อยากจะบอกว่าถ้าเราไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหนและจุดหมายของเราอยู่ที่ไหนเราก็คงกำหนดเส้นทางที่เหมาะสมไม่ได้หรอกนะ

ช่วยกันแสดงความคิดเห็นครับ

ระบบการศึกษาของไทยมันล้มเหลวมานานแล้ว ด้วยเหตุสามประการ

1.นักเรียนมาโรงเรียนแล้วไม่เข้าโรงเรียน

2.เข้ามาโรงเรียนแต่ไม่ขึ้นเรียน

3.ขึ้นเรียนแต่ไม่สนใจฟังครูสอน

4.เอาแต่เล่นเกม โทรศัพท์ ฟังซาวด์เบ้าท์

5.ไม่สนใจเนื้อหาก ไม่สนใจครูสอน

ขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาแสดงความคิดเห็น อยากจะเขียนเรื่องอื่น ๆ อีกมาก แต่จำกัดที่ผมไม่ใช่นักเขียน ทั้งเนื้อเรื่องและถ้อยคำสำนวนไม่เหมาะสมกลมกลืน ที่สำคัญไม่มีเวลา และขยันไม่พอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท