จากโรงเรียนชาวนา สู่การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน


อย่าทำตัวว่า "รู้มากกว่า" อย่าเอาแต่ความรู้เชิงทฤษฎีไปใส่ และคาดหวัง (คาดคั้น) ให้ผู้ป่วยปฏิบัติตาม

ดิฉันติดตามอ่านเรื่องของโรงเรียนชาวนาจากบล็อกของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เสมอๆ แม้จะไม่ได้อ่านทุกตอนอย่างละเอียด แต่ก็เห็นภาพกระบวนการเรียนรู้ของชาวนา ได้เห็นศักยภาพของชาวนา รู้สึกชื่นชมนักเรียนโรงเรียนชาวนาที่มีการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ได้ไม่จบสิ้น

จากต้นแบบโรงเรียนชาวนา นำไปสู่วิธีการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยต้องมีชีวิตอยู่กับเบาหวาน และเบาหวานไม่ใช่ภาวะที่อยู่นิ่ง แต่มีความเป็นพลวัตร แถมเรื้อรังยาวนาน ผู้ป่วยจึงต้อง "เรียนรู้ตลอดชีวิต" ในเรื่องการดูแลตนเองและการจัดการกับความเจ็บป่วย ย้ำว่าเป็น "การเรียนรู้" ของผู้ป่วย ไม่ใช่ "การสอน" โดยเจ้าหน้าที่ที่เราคุ้นเคยกัน ทำอย่างไรสิ่งนี้จึงจะเกิดขึ้นได้

สิ่งแรกที่ควรทำคือการปรับเปลี่ยนที่ระบบบริการผู้ป่วย โดยเฉพาะความคิด ความเชื่อและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ โดยอย่าทำตัวว่า "รู้มากกว่า" อย่าเอาแต่ความรู้เชิงทฤษฎีไปใส่และคาดหวัง (คาดคั้น) ให้ผู้ป่วยปฏิบัติตาม แต่ควรเปิดโอกาส เอื้ออำนวย และสนับสนุนให้ผู้ป่วยศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเอง และต้องเข้าใจว่าในกระบวนการเรียนรู้ของผู้ป่วย มักมีการลองผิดลองถูก จนกว่าจะได้แบบแผนที่ใช้ได้ผลสำหรับเขา เจ้าหน้าที่ต้องเอื้ออำนวย ไม่ใช่ปฏิเสธหรือขัดขวางกระบวนการเรียนรู้นี้

ระหว่างการเรียนรู้ ต้องมี "ตัวชี้" ที่จะช่วยบอกทิศทาง เช่น ค่าระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยผู้ป่วยในการเรียนรู้เรื่องอาหาร การตรวจเลือดก่อนอาหารและหลังอาหารสักระยะหนึ่ง จะบอกได้ว่าอาหารแบบใดมีผลต่อน้ำตาลในเลือดอย่างไร ผู้ป่วยก็จะเรียนรู้และปรับด้วยตนเองได้

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ป่วยเบาหวาน เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพยังต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับการทำหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ของผู้ป่วย ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความเชื่อเกี่ยวกับคน ว่า "คนมีศักยภาพ มีเหตุผล รักตัวเอง ต้องการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น"

ถ้าใครยังไม่รู้ซึ้งในเรื่องนี้ ดิฉันขอแนะนำให้อ่านเรื่องโรงเรียนชาวนา แล้วท่านจะเห็นประจักษ์

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 4735เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2005 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท