ขุมความรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤติวัยรุ่น


แก้ปัญหาเด็กติด Net Game online
สรุปขุมความรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤติวัยรุ่นของครู  ผู้บริหารจากโรงเรียนที่เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการตลาดนัดความรู้  ณ  โรงแรมรอยัลซิตี้  กทม.

                สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา  ได้จัดโครงการตลาดนัดความรู้  ครูเพื่อศิษย์ประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเด็กไทยวัยใส  :  ฝ่าวิกฤติวัยรุ่น  ระหว่างวันที่  25 27  สิงหาคม  2548  ณ  โรงแรมรอยัลซิตี้  กทม.  โดยมีผู้บริหารโรงเรียน ครู  เข้าร่วมประชุมจำนวน  50  คน  จากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค
วัตถุประสงค์ของโครงการ
          1.  เพื่อจัดการกระบวนการให้ สพบ. เข้าใจและดำเนินการการจัดการความรู้ในสถาบันได้และเตรียมการเป็นวิทยากรการจัดการความรู้    2.เพื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดการความรู้ในรูปแบบของ ชุมชนนักปฏิบัติ   (Community  of  Practices)    ซึ่งเป็นชุมชนนักปฏิบัติของครูเพื่อศิษย์วัยรุ่น
กลุ่มเป้าหมาย
                เป็นครูและผู้บริหาร จาก  25  โรงเรียนทุกภูมิภาคโดยแบ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับครูผู้ปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาวัยรุ่น  และกลุ่มผู้บริหารในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตลอดจนกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาของนักเรียน  การจัดตลาดนัดความรู้ครูเพื่อศิษย์ครั้งนี้  สถาบันฯ  ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง  จากสถาบันการส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)   (โดยศ.นพ.วิจารณ์  พานิชและคณะ)  ในการเป็นวิทยากรบรรยาย และจัดกิจกรรมด้วยวิธี  Story  telling  ตลอดแนว  นับได้ว่าการจัดตลาดนัดความรู้ใน  3  วัน  มีคุณค่ายิ่ง  คือ ได้แก่นความรู้และขุมความรู้การแก้ไขปัญหาวัยรุ่น   สถาบันฯ  ขอขอบคุณคณะครูและผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ 
ขุมความรู้
1.  สาบานตนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
                การแก้ไขปัญหาเด็กวัยรุ่น  วิธีการหนึ่งซึ่งมีหลายโรงเรียนทำสำเร็จและได้ผลดีก็คือ  การให้สาบานตนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ในเรื่องของการลักขโมยของและผู้บริหารเห็นว่าการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้  ได้ผลดีมาก  ดังนั้น ผู้บริหารที่มาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้  จึงมีนโยบายในการนำหลักคุณธรรมมาใช้ในการบริหารและบูรณาการให้เข้ากับงานวิชาการโดยมีนโยบายให้ครูสอดแทรกเรื่องคุณธรรมให้กับเด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
2.  ครูคือกัลยาณมิตร
                อาจารย์สมชัย  สินแท้  จากโรงเรียนหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าว่าพบปัญหาเพศสัมพันธ์ในเด็กนักเรียน และเด็กตั้งครรภ์  แต่โรงเรียนไม่ได้ไล่ออกทว่ากลับมีนโยบายในการดูแลช่วยเหลือโดยมีครูเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด  คอยแนะนำ  ให้กำลังใจและไม่สนับสนุนการทำแท้ง  โดยให้เด็กเป็นผู้คิดหาทางออกแก้ไขปัญหาเองก่อน  โดยตนเองจะเป็นผู้ให้ข้อคิด  และชี้ให้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการทำแท้ง  และเสนอแนวทางเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสกลับมาเรียนต่อได้อีก
3.  วัฒนธรรมโรงเรียน สภานักเรียน
                ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับผู้บริหาร  สรุปได้ว่าครูต้องให้เด็กมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดซึ่งพบว่าสภานักเรียนของโรงเรียนกัลยาณวัตร  และโรงเรียนน้ำพองวิทยา  จ.ขอนแก่น  สามารถจัดกิจกรรมนักเรียน  โดยนักเรียนดำเนินการกันเอง  จนเป็นวัฒนธรรม     มีการปกครองดูแลกันเองโดยไม่ต้องรอครู  แต่ทั้งนี้ครูจะเป็นผู้ดูแลอยู่ห่าง ๆ โดยให้ข้อคิด  และส่งเสริมการทำงานของสภานักเรียนอย่างสร้างสรรค์
4.  เรื่องเล่า (อาจารย์ชูเดช) : การแก้ปัญหาของนักเรียนโดยนักเรียนเพื่อนักเรียน
                  การแก้ปัญหาขยะ  สิ่งแวดล้อม  ในโครงการเรารักโรงเรียน
วิธีแก้ปัญหา
                1.  สภานักเรียน  จัดทำธรรมนูญนักเรียนและกำหนดมาตรการในการลงโทษโดยการปรับ   ถ้ามีการทิ้งขยะ (2  บาท  ต่อ 1ชิ้น)
                2.  ผลสำเร็จจากการปฏิบัติมา  5  เดือน  คือ  ได้โรงเรียนรับรางวัลสิ่งแวดล้อมดีเด่นจาก สพท. ขอนแก่น เขต 4
5.  อาจารย์พัชรินทร์  จากโรงเรียนวัดศรัทธาธรร ม   เล่าความสำเร็จของโครงการ   
เพื่อนรักเพื่อน    ดึงเพื่อนเลิกเสพ
                1.  แก้ปัญหายาเสพติดโดยการจัดอบรมนักเรียนที่พุทธมณฑลในโครงการ  “เพื่อนรักเพื่อน”  ให้นักเรียนรุ่นพี่ที่ผ่านการอบรมได้นำผลการปฏิบัติจากการอบรมมาสอนน้อง  และได้ผลดี
                2.  จัดกิจกรรมที่ปฏิบัติร่วมกัน  ทำให้เกิดความสามัคคี  มีการทำงานร่วมกัน  ต่อมาโรงเรียนได้ขยายเครือข่ายโครงการ “เพื่อนรักเพื่อน”  ทำให้รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่  สามารถเตือนน้อง ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องได้
                3.  โรงเรียนเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ  จึงไม่ปรากฏยาเสพติดอีกเลย
6.  บทบาทสมมุติ :  ตำรวจโรงเรียน
                พฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น  ส่วนใหญ่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้แก่
                1.  หนีเรียน  เล่นเกมส์
                2.  ติดเกมส์  เพราะร้านเกมส์อยู่หน้าโรงเรียน
วิธีแก้
                1.  ประสานงานกับตำรวจ   และแจ้งครูผู้ปกครอง
                2.  พบผู้ปกครอง  ทำทัณฑ์บนนักเรียนกรณีหนีเรียนไปเล่นเกมส์
                3.  นักเรียนต้องลงเวลาเรียนทุกเช้าที่ฝ่ายปกครอง
                4.  โรงเรียนกำหนดให้มีข้อตกลงหลากหลาย   ถ้านักเรียนปฏิบัติไม่ได้ต้องออกจากโรงเรียน
                5.  มีตำรวจโรงเรียน  (บทบาทสมมุติ)  คอยควบคุมการหนีโรงเรียน
                6.  เข้าค่ายธรรมะโดยมีพระเป็นวิทยากรอบรม และเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย
ผล  คือ  พฤติกรรมหนีเรียนไปเล่นเกมส์ลดลง
7.  ปัญหาการลักขโมย 
                  สาเหตุเกิดจาก   นักเรียนไม่อยู่กับพ่อแม่  อยู่กับป้า  ขาดความอบอุ่น   และขโมยกระเป๋า สตางค์ของอาจารย์มีสมาธิสั้น   (ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน)
วิธีแก้ปัญหา
                1.  ส่งนักเรียนไปพบจิตแพทย์ทุกเดือน   โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลครั้งละ   3,000   บาท    พบว่านักเรียนมีความผิดปกติของฮอร์โมน   ดังนั้นอาจารย์ที่ปรึกษา  อาจารย์แนะแนวจึงช่วยกันดูแล   ทำให้ พฤติกรรมชอบขโมยเปลี่ยนไป  และกลับมาช่วยงานของโรงเรียนร่วมกับครู  และเลิกขโมย
8.  ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว
                นักเรียนชายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่บังคับเพื่อน  ไม่เข้าเรียน  รังแกเพื่อน/ครูหาสาเหตุโดยการเยี่ยมบ้าน  พบว่าเกิดจากปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน
วิธีแก้ปัญหา    ขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง  มีการสัมภาษณ์เด็ก  ครูพยายามสร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองกับเด็กขณะเดียวกัน  ผู้ปกครอง  และครู  ช่วยกันแก้ปัญหา  โดยให้นักเรียนมาช่วยเหลืองานของครู   ครูยกย่อง  เมื่อทำดี  ทำให้เกิดมีความภาคภูมิใจ  ส่งผลให้พฤติกรรมดีขึ้น    และผลการเรียนดีขึ้น
9.  รับนักเรียนที่เหลือจากที่อื่น
สาเหตุ   นักเรียนยากจน  และไม่มีที่เรียน  เพราะขาดที่อยู่  ขาดหลักฐานของตัวเองโรงเรียนจึงรับมาเรียนและดูแล   จัดกิจกรรมหารายได้ระหว่างเรียนเพื่อช่วยเหลือครอบครัว  เช่น  ให้ช่วยขายของในโรงเรียน และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน และใช้กิจกรรมวิถีพุทธ   โดยการบูรณาการกิจกรรมวิถีพุทธทุกวันศุกร์ 1 – 2  นาทีก่อนเรียน  ทำให้เกิดการให้โอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
10.  ปัญหายาเสพติด
                โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง   มีปัญหาคือนักเรียนดื่มเหล้า  ฝ่ายปกครองให้ออก   แต่อาจารย์ใหญ่ให้ภาคทัณฑ์ไว้ก่อน  และให้โอกาสแก้ตัวให้โอกาสปรับพฤติกรรมใหม่    ทำให้ผลการเรียนเกรดดีขึ้น  และให้ทำสัญญาไว้ว่าถ้าทำผิดอีกจะต้องมีการชดใช้สังคมมีการให้บริการสังคม
วิธีแก้      1.  จัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาพฤติกรรมนักเรียนที่ติดสุรา
                2.  สร้างจิตสำนึกให้ตระหนักในพิษภัยของสุรา
11.  โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน
                โรงเรียนแห่งหนึ่งมีจำนวนนักเรียน  2,000 กว่าคน  จึงใช้พลังเด็ก ผลักดันให้เกิดโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน”   ซึ่งมีความเป็นมาดังนี้นักเรียนชั้น  ป.4   หนีเรียนโดยหลบหนีอยู่ในโรงเรียน และทะเลาะกันแต่ไม่รุนแรงโรงเรียน  จึงแก้ปัญหาโดยใช้เด็ก ป.4 จัดกิจกรรมโดยเริ่มจากนักเรียน  ได้แก่การค้นหาสาเหตุ (เด็ก)  เด็กแก้   เด็กคิด  เด็กทำ 

 เสนอตั้งโครงการเยาวชนพิทักษ์  โรงเรียนตั้งประธานเครือข่ายนักเรียน  (ภาวะผู้นำ )  และจัดทำ โครงงานพิทักษ์ผดุง
โครงการพิทักษ์ผดุง  วิธีดำเนินการ
                                1.  ตั้งประธานเครือข่าย  61  คน จากจำนวนนักเรียน 61  ห้อง  สร้างประธานเครือข่ายให้มี  ภาวะผู้นำตั้งหัวหน้า  เครือข่ายดูแลนักเรียนกันเอง
                                2.  หัวหน้าและตัวแทนนักเรียนนำเสนอ  ผลการดำเนินการโดยมีผู้บริหาร และครู  สนับสนุนติดตามผล   โดยสรุปคือครูให้นโยบาย
     ผู้ปกครองสร้างแนวร่วมกับนักเรียน + ครู  มีส่วนช่วย  = แก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์

ผลที่ได้      ปัญหาต่าง ๆ ลดลง  หมดไปในที่สุด
                                3.  โรงเรียนจัดโครงการส่งเสริม  ได้แก่ 

         -  โครงการช่วยเหลือดูแลนักเรียน

        -  เยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน   100%

        -   ปลูกจิตสำนึกให้ครูผู้ร่วมงานทุกคนตระหนักหน้าที่

        -  ครูทำงานอย่างมีส่วนร่วม

       -  วางระบบดูแลช่วยเหลือ
12.  ปัญหาติดสารเสพติด
                โรงเรียนแห่งหนึ่งนักเรียนติดยาเสพติด , ยาบ้า , กาว  โดยนักเรียนประกอบ  ซื้อ  ขาย  มีการมั่วสุมบนต้นไม้  โรงเรียนแก้ปัญหาโดยจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือและดึง  ผู้นำชุมชน  ครู   ผู้ปกครอง   และนักเรียน  ให้มีส่วนร่วม  จัดทำโครงการ  ได้แก่  โครงงาน
                (1.)  วิถีพุทธ
                (2.)  กีฬา และ 

                (3.) บวชเณรภาคฤดูร้อน
13.  กิจกรรมขายสินค้าในโรงเรียน
สาเหตุ        โรงเรียนแห่งหนึ่งมีนักเรียน ป.5   ตกซ้ำชั้น  ปัญหา  เกิดมาจากการขาดเรียนประจำ
โรงเรียนแก้ปัญหาโดยการ
                1.  ครูประชุมหาข้อมูล พบว่าพ่อของนักเรียนติดยาเสพติด  และนักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก และอาศัยอยู่กับแม่
                2.  ครูพูดจาให้นักเรียนเข้าใจ   และให้การช่วยเหลือ     โดยใช้กิจกรรมต่อไปนี้
                     2.1  ใช้กิจกรรมให้ช่วยขายสินค้าในโรงเรียนมีการติดตาม  พฤติกรรมของนักเรียนที่ขาดเรียนอย่างต่อเนื่อง 
                     2. 2 เยี่ยมบ้าน
                    2.3  ติดตามดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
                    2.4  สอนพิเศษเพิ่มเติมให้สามารถอ่านหนังสือได้และให้ทำกิจกรรมต่อเนื่องหลากหลาย
                    2.5  ใช้กลุ่มเพื่อนสนิทโน้มน้าวชักจูงให้ทำความดี (เพื่อนดี ๆ )
ผล   คือ  นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น
14.  ย้ายโรงเรียน
                นักเรียนคนหนึ่งมีพ่อแม่เป็นผู้มีอิทธิพล  จึงซึมซับพฤติกรรมจากพ่อแม่  มีลักษณะเป็นนักเลง  มีการปล่อยเงินกู้  ในโรงเรียน สร้างปัญหา  ไม่เรียน  หนีเรียน  มาสาย สูบบุหรี่  ตั้งแก๊งครูนำนักเรียนในแก๊งบางคนมาสอบสวนนักเรียนจะสารภาพผิดแต่กลับไม่โยงถึงลูกพี่   ครูสอบสวนอีกโดยมีหลักฐานมีการจดบันทึก  และเชิญผู้ปกครองมาพบจนนักเรียนที่ตั้งตัวเป็นนักเลงยอมรับ  แต่ลาป่วยเป็นประจำ  โรงเรียนแก้ปัญหาไม่ได้จึงเสนอขอให้ย้ายสถานศึกษา  แจ้งให้ผู้ปกครองเข้าใจ และผู้ปกครองยอมให้ลูกย้ายโรงเรียนออกไปส่วนนักเรียนที่เหลืออยู่ 10  กว่าคนครูสามารถดูแลให้ดีขึ้นได้  โดยให้ความรู้ และให้พัฒนาทักษะชีวิต
15.  อภัยทาน  :  ใช้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหา
                นักเรียนกลุ่มหนึ่งหนีเรียนประจำครูว่ากล่าวไม่ดีขึ้น  ฟ้องครูประจำชั้น  ก็ไม่ได้ผล  จึงแก้ไขโดยการ
                1.  สลายกลุ่มแล้วให้ความใกล้ชิดกับนักเรียน   ให้ความรู้  พัฒนาทักษะชีวิตส่วนใหญ่ฝึกให้เป็นนักกีฬา 
                2.  ให้อภัยซ้ำซาก  ดีขึ้น    แต่ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ
                3.  ครูต้องรู้จักเด็ก  และเข้าใจเด็ก
                4.  ถ้าเกเร  หนักมากก็คัดออก  นักเรียนที่เหลือก็ประคับประคองต่อไป
                อาจารย์นิตยาภรณ์  เล่าว่าในโรงเรียนขยายโอกาส  มีนักเรียนถูกให้ออกจากโรงเรียน   และในโรงเรียนแห่งใหม่ขอเข้าเรียนต่อ   แต่พอมาโรงเรียนแห่งใหม่ก็ไม่เข้าเรียนอีก  ครูเก็บข้อมูลไว้ตลอด  และเชิญผู้ปกครองมาพบทำให้รู้ปัญหาว่าว่าติดเกมส์  ในที่สุดครูที่มีหน้าที่สอนคอมพิวเตอร์จึง  นำไปแก้ปัญหาโดยเชิญผู้ปกครองซึ่งมีฐานะดีมาพบมีการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง  และให้นักเรียนมาช่วยงานครูในห้องคอมและอยู่ในความดูแลของครู  มีการสอนความรู้ให้และครูให้ความสนิทสนมจนนักเรียนเกิดความไว้วางใจ  อยู่ในโรงเรียนและเข้าเรียนวิชาอื่นไม่หนีอีก  และเมื่อมีเวลาว่างก็จะมาช่วยครูอยู่ที่ห้องคอมพิวเตอร์เสมอ
16. ครูลดพฤติกรรมที่มีผล กระทบต่อนักเรียน
                ครูอุบลวรรณ  เล่าว่า  นักเรียนคนหนึ่งมีปัญหาหลายด้าน  ได้แก่
                1. ความก้าวร้าว
                2. ติดยาเสพติด
                3.  การเรียนตกต่ำ
แก้ปัญหาโดย        1.  ครูลดพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อนักเรียน เช่น  ด่าว่า หรือลงโทษ แต่ใช้หลักเมตตาธรรม
                           2.  ประสานกับผู้ปกครองให้ช่วยแก้ไข
                           3.  ใช้กระบวนการลูกเสือช่วยแก้ปัญหาโดยให้สมัครเป็นลูกเสือ
                           4.  ครูกระตุ้น    และส่งเสริมจุดเด่นของนักเรียนที่มีพฤติกรรม   ก้าวร้าวให้ได้แสดงออกในทางที่ดี
                           5.  สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเรียนว่าตนเองมีความสามารถ
ผล                          1.  นักเรียนได้รับรางวัลจากกิจกรรมลูกเสือ
                               2.  พฤติกรรมนักเรียนดีขึ้น 
ประเด็นสำคัญครูต้องเข้าใจกระบวนการในการแก้ปัญหาวิกฤติวัยรุ่น
17.  ช่วยครูสอนคอม  (Computer)
                ปัญหานักเรียนติดเกมส์    แต่มีความรู้คอมพิวเตอร์  ครูจึงแก้ปัญหาโดยให้ช่วยครู  ทำงานในห้องคอมพิวเตอร์โดยให้อยู่ในความควบคุมของครูในห้องคอมพิวเตอร์  และส่งเสริมให้ใช้ความรู้ที่มีอยู่ช่วยครูสอน Com  ให้กับนักเรียนรุ่นน้องทำให้นักเรียนเลิกติดเกมส์  และนักเรียนอยู่ในโรงเรียนอย่างมีความหมาย  ส่งผลให้พฤติกรรมนักเรียนดีขึ้น
18. บวชเณร
                ปัญหา   นักเรียนบางคนไม่เรียน  เพราะนักเรียนมีปัญหาอยู่กับตา , ยาย  หรือ ปู่และย่าขาดความอบอุ่น
วิธีแก้      เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ   จึงปรับพฤติกรรมนักเรียนโดยวิธีการ   ถ้าเป็นนักเรียน ผู้ชายให้ไปบวชเณรที่วัดใกล้โรงเรียน  15  วัน  ในภาคฤดูร้อนและนักเรียนหญิงผู้หญิงให้บวชชีพราหมณ์  และให้ฝึกสมาธิปฏิบัติธรรม  ผลที่ได้คือ รู้จักเข้าเรียน  ครูปล่อยใจว่างไม่จับผิดมากนักเพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กขาดโอกาส  แต่ครูเฝ้าดูแลและมอบแกนนำนักเรียนช่วยดูแลผลคือนักเรียนมีพฤติกรรมดีขึ้น  และเข้าเรียนตรงเวลา
19.ทำสัญญาใจ
                นักเรียนติดเกมส์โดยเฉพาะนักเรียนม.1  ครูแก้ไขโดยติดต่อผู้ปกครองไปเยี่ยมบ้านร่วมกับครูประจำชั้นจัดทำกิจกรรมเสริม  เช่น   ชม V.D.O  ช่วงพัก  โดยครูเปลี่ยนเวรกันมาพูดคุย  แนะนำ  ชี้แจงถึงโทษของการเล่นเกมส์และได้ขอความร่วมมือจากร้านค้า  และตำรวจให้แก้ไข  จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักเรียนได้  50  คน  โดยความสำเร็จได้มาจากความร่วมมือกับผู้ปกครอง และมีการบันทึกให้นักเรียนสัญญาใจ  (จะไม่ทำอีก)  โดยมีผู้ปกครองรับรู้ด้วยรวมทั้งมีบันทึกการลงเวลามาเรียน
20.  ให้กำลังใจ
                ปัญหาสูบบุหรี่  ครูแก้ปัญหาโดยการพูดคุยกับนักเรียนในทางที่ดี  ไม่ดุด่าว่ากล่าวมีการจัดค่ายพัฒนาทักษะชีวิต  ใช้วิธีการติดตามพูดคุยกับเด็ก   ตลอดจนแนะนำให้เลิกบุหรี่โดยการใช้ลูกอม  และให้กำลังใจให้โอกาสแก่เด็กตลอด  (นักเรียนม.4  เข้าใหม่)  ให้เกียรติเด็กกล่าวคำชื่นชมที่สามารถเลิกได้  รวมทั้งส่งเสริมให้เล่นกีฬาโดยสรุปใช้วิธี
                1.  ให้กำลังใจ
                2.  สร้างความเชื่อมั่นในตัวเขา  ทำให้นักเรียนรักตนเองและเห็นคุณค่าในตัวเอง

21.  ปรับพฤติกรรมผู้ปกครอง
ปัญหา  คือนักเรียนกลับบ้านไม่ตรงเวลา  ครูหาข้อมูลพบว่านักเรียนไม่ชอบพฤติกรรมพ่อ  (ติดเหล้า)  ครูจึงไม่พูดคุยกับพ่อไม่ให้บ่นว่าดุลูกพ่อยินดีเปลี่ยนพฤติกรรมและเด็กก็กลับบ้าน  ขยันเรียนไม่หนีเรียนอีก
วิธีแก้      1.  หาสาเหตุ
              2.  ปรับพฤติกรรมผู้ปกครอง
อาจารย์สมพล  ปัญหานักเรียนหนีเรียน  เยอะมาก  โดยเฉพาะมีอยู่ หนึ่งกลุ่มที่หนีเรียน  เวลาเช้าแต่งตัวชุดนักเรียนมาโรงเรียนแต่ไม่ถึงโรงเรียนใกล้เพราะโรงเรียนมีร้านขายบุหรี่เหล้าเด็ก  5  คน  แอบขโมยต้นไม้ไปขายแล้วเอาเงินไปซื้อบุหรี่ไปเที่ยวผู้ปกครองไม่ให้ความสนใจส่วนใหญ่พ่อแม่แยกทางกัน  ขโมยต้นไม้ .......เจ้าของแจ้งความ .......สืบสวนเอาต้นไม้ไปขาย.......ได้ต้นไม้กลับมา หนีเรียนจึงถูกลงโทษ  ตัดคะแนน  60  และบางคนย้ายที่เรียนที่เหลือครูจึงคิดวิธีแก้เอาตัวไปสาบานกับพระพุทธรูป  ให้นั่งสมาธิและสาบานจะไม่หนีโรงเรียน  จะไม่ประพฤติผิด  แล้วจากนั้นลาออกไป  2  คน  เหลือ  3  คน  พฤติกรรมดีขึ้น  เข้าเรียน  หนีน้อยลง
สรุป  ประเด็นใช้ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์


  เด็กติดเกมส์  Net   ติดสื่อลามกเกมส์
วิธีการ    1.  สุนัขเฝ้าบ้าน  (เฝ้าระวัง)  พัฒนาตนเองเทคนิคการควบคุมสื่อลามกไม่ให้เข้ามาเมื่อเข้ามาเอาออก
                2.  ให้ความรู้  วัคซีน  ให้ข้อมูล CDโป้   เพื่อนำไปวางนโยบายแก้ปัญหาครูยึด VCD   ให้วัคซีนครูแก้ไม่ได้  ให้ความรู้ครูที่เกี่ยวข้อง  เทคโนโลยี  เด็กขาโจ๋ไม่เรียน   ใช้คอมฯทำความสนิทสนมกับเด็กนำไป 3.  สร้างเครือข่ายดูแล  ให้ความรู้ Net  ทั้งที่ดี  และไม่ดี
สรุปเด็กติด  Net  ใช้กระบวนการจัดการ ใช้เทคนิคทาง  Com.  บล็อกออก   ครูต้องรู้เท่าทันกับเด็ก 

ติดเกมส์ลามกแก้โดย *  ทุกวัน  08.00 – 08.30 น.  สอนในโรงเรียนให้เห็นโทษของเกมส์ลามก 
ผลที่ได้ปัญหาลดลง

รวบรวมโดย

วันทนา เมืองจันทร์

Km Idea

30 Sep 05

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4731เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2005 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากมายครับเดี๋ยวผมจาเอาไปใช้ในการบริหารสภานักเรียนครับ

ดีมากเลยอะดีมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท