พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒


พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ แปลและเรียบเรียงจาก The Story History of the King of Siam ของ ดร.เลียวนาร์ด แอนดายา (Dr.Leonard Andaya) ที่ได้แปลจากต้นฉบับเดิมภาษาฮอลันดาของ เยรามีส ฟาน ฟลีต งานชิ้นนี้ของ ฟาน ฟลีตได้เริ่มเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๘๒ ในขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพ่อค้าของบริษัท อิสต์อินเดียของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของราชวงศ์อยุธยาตั่งแต่พระเจ้าอู่ทองจนถึงพระเจ้าปราสาททองอย่างกระชับ ความละเอียดมากน้อยแต่แล้วแต่ความสำคัญของเหตุการณ์ตามแต่ละราชกาล ขาดก็แต่เพียงพระศรีเสาวภาคย์ที่ต่อจากสมเด็จพระเอกาทศรถเท่านั้น ซึ่งต่างกับ “พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ค้นพบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ เพียงสั้น ๆ เอาแต่ใจความสำคัญและมี วัน เดือน ปีกำกับทุกเหตุการณ์ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเมื่อเทียบกับพงศาวดารฉบับวัน วลิตและพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ของไทย แต่เมื่อเทียบศักราชกันแล้ว นับว่าพงศาวดารฉบับนี้มีความเก่าแก่กว่าพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐถึง ๔๐ ปี นับว่าเป็นพงศาวดารฉบับกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน

เยรามีส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) เป็นชาวเมือง ซีดัม (Shiedam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฟาน ฟลีตเริ่มเข้าทำงานอยู่ในบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๕ อีก ๓๑ ปีต่อมาได้ย้ายมาประจำอยู่ในกรุงศรีอยุธยาซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการของ โยน เซาตัน ในปี พ.ศ. ๒๑๗๙ จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้จัดการศูนย์การค้าแทนโยน เซาตันที่หมดวาระหน้าที่ไป

ฟาน ฟลีตยังได้เขียนหนังสือสำคัญเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาอีกสองเล่มคือ พรรณนาเรื่องอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๑๗๙) ว่าด้วยอาณาจักรสยาม ที่ตั้ง สภาพการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคมในสมัยนั้น อีกหนึ่งเล่มคือ จดหมายเหตุฟาน ฟรีต (พ.ศ. ๒๑๘๓) กล่าวถึงความเป็นไปตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม การจลาจลวุ่นวายและการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าปราสาททอง ทั้งสองฉบับนับว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างยิ่งไม่แพ้กัน

จุดประสงค์ของการเขียนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ นอกเหนือจากเป็นการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอาณาจักรสยามให้กับ อันโตนิโย แวน ไดเมน ผู้สำเร็จราชการรัฐของประเทศเนเธอร์แลนด์ประจำปัตตาเวียในอินเดียแล้ว ฟาน ฟลีตยังได้เขียนถึงจุดประสงค์ของการเขียนไว้อย่างชัดเจนในช่วงต้น ดังนี้ :


“เนื่องจากตำนานเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินสยาม การสืบราชสมบัติ และพระนามพร้อมทั้งคุณลักษณะของพระองศ์ (เท่าที่รู้) ยังไม่เคยมีพวกเราผู้ใดนำมาเปิดเผย”

วาทิน ศานติ์ สันติ

หมายเลขบันทึก: 472906เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2011 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2016 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาส่งความสุขด้วยปฏิทินชุด "รอยยิ้มของพ่อ" ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471969

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท